“คุณพยายามปั่นอยู่ช่วงกลางๆ ขบวนก็แล้วกัน” เด็กหนุ่มที่มากับเพื่อนอีกสองคนพูดเตือนเราก่อนจะเริ่มออกตัวปั่น ‘ประท้วง’ กันเย็นวันศุกร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

          เรายืนรอขบวนจักรยานที่จะมารวมตัวกันที่ Mariannenplatz กลางกรุงเบอร์ลินเพื่อจะร่วมปั่นกับขบวน Critical Mass Berlin ที่จัดขึ้นทุกเย็นวันศุกร์สุดท้ายของเดือนมาตั้งแต่ปี 2011 เราอดสงสัยไม่ได้ว่ามันจะมีอะไรที่ท้ายขบวนจนเราต้องถามกลับว่าทำไม เขาถึงได้เฉลยแบบยิ้มๆ ว่ามันไม่ได้มีอะไรหรอก แค่บางทีขบวนจักรยานจะยาวมากจนทำให้รถติดตามแยกต่างๆ เป็นเวลานานเกินปกติ แล้วทำให้คนขับรถหลายคนเริ่มหงุดหงิด และกลุ่มที่จะเสี่ยงต่อการโดนต่อยมากที่สุดมักจะเป็นพวกรั้งท้ายขบวน

         บรรยากาศการปั่นรอบเมือง / ภาพ : ADFC

          อีกไม่กี่นาทีถัดมาเราก็เข้าใจคำเตือนเมื่อเห็นขบวนจักรยานนับพันมุ่งหน้าเข้ามายังลานที่เราคอยอยู่ตอนสองทุ่มเศษ

          ในขณะที่การปั่นจักรยานของคนส่วนใหญ่ในบ้านเราเป็นเพียงแค่เรื่องของแฟชั่นที่กำลังจะหายไปจากกระแสหลักและการรณรงค์การปั่นจักรยานในวันปลอดรถ (ปีนี้คือวันที่ 22 กันยายน) ก็กลายเป็นเรื่องที่เงียบเชียบลงเรื่อยๆ แต่การรณรงค์ปั่นจักรยานในเบอร์ลินจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยกลุ่มนักรณรงค์สองกลุ่มที่มีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อแสดงสิทธิการใช้พื้นที่สาธารณะ (ในที่นี้คือถนน) ด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน และยังแสดงถึงการมีตัวตนของคนใช้จักรยานในเมือง แต่การ ‘ประท้วง’ ทั้งสองนั้นมีบุคลิกการรณรงค์ต่างกันเล็กน้อย

          กลุ่มแรกคือ Critical Mass Berlin จัดปั่นทุกเย็นวันศุกร์สุดท้ายของเดือนจะปั่นแบบด้นสด นั่นคือไม่มีใครรู้เส้นทางหรือเวลาการปั่นที่ชัดเจน ถามใครที่มาร่วมปั่นทุกคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีใครรู้เส้นทาง หรือ ไม่มีใครรู้ว่าจะปั่นกันถึงกี่โมง รู้แต่ว่าปั่นทั่วเมืองเบอร์ลินแน่ๆ แต่มีขาประจำบางคนบอกว่าเคยปั่นกันจนเลยเที่ยงคืนกันเลยทีเดียว การปั่นรณรงค์จะเริ่มอย่างเป็นทางการประมาณสองทุ่ม แต่จริงๆ แล้วคนนำได้เริ่มปั่นเชิญชวนคนตามจุดรวมพลนับ 10 จุดทั่วเบอร์ลินมาตั้งแต่หกโมงเย็น กว่าจะถึงจุดเริ่มต้นจริงๆ ก็กวาดนักปั่นมาร่วมทางได้เป็นพันคนและยาวหลายร้อยเมตรเลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งของคนใช้จักรยานกว่าเก้าหมื่นคนที่มาร่วมแสดงสิทธิของตัวเอง / ภาพ : ADFC

          ในขณะที่การรณรงค์ใหญ่ประจำปีที่เรียกว่า Sternfahrt (star ride) โดยกลุ่ม ADFC (Allgemeiner Deutscher Fahrrad หรือ Club of German Cyclist’s Association) ที่จัดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายนนั้น มีเส้นทางและเวลาที่ชัดเจน Sternfahrt หรือที่คนไทยเรียกกันว่าปั่นแบบดาวกระจาย นั่นคือคนใช้จักรยานแบ่งกันเป็น 19 สายจากแต่ละมุมเมืองแล้วปั่นมารวมตัวกันเป็นสองเส้นเพื่อขึ้นทางด่วนจากสองจุดเพื่อมารวมตัวกันที่ Brandenburg Gate ที่ตั้งอยู่กลางเมือง

ภาพมุมสูงของกลุ่มคนใช้จักรยานก่อนเข้าสู่จุดสุดท้ายใกล้ Brandenburg Gate / ภาพ : ADFC

          จุดเด่นของการปั่นเดือนมิถุนายนที่คนใช้จักรยานทั้งเบอร์ลินหลายคนเฝ้ารอคือมันเป็นวันที่พวกเขาจะได้ใช้สิทธิเดียวกับคนขับรถยนต์ – ปั่นจักรยานขึ้นทางด่วน ถ้าอยากรู้ว่าพวกเขาดีใจมากแค่ไหนก็ลองดูช่วงเวลาที่ปั่นลอดอุโมงค์เข้าทางด่วน ชาวจักรยานก็ส่งเสียงโห่ร้องทดสอบความก้องกังวานของอุโมงค์ด้วยความยินดีที่ได้ครอบครองเส้นทางรถยนต์เสียที พอขึ้นจากอุโมงค์ก็ยังได้ชมวิวจากมุมสูงลงไปยัง Tempehof Flughafen สนามบินเก่าแก่ของเยอรมันที่ปัจจุบันได้แปลงร่างเป็นสวนสาธารณะไปเรียบร้อยแล้ว

          ตลอดทางที่ปั่น Sternfahrt นั้นไม่ต่างจากการปั่น Critical Mass รายเดือนที่เราจะเห็นกลุ่มคนที่หลากหลายเข้าร่วมรณรงค์จนถึงขั้นการจราจรจักรยานติดขัดเป็นพักๆ และตลอดเส้นทางหลายสิบกิโลเมตรนั้นไม่ได้มีแต่เพียงผู้ใหญ่ แต่ยังมีเด็กระดับประถมที่ร่วมปั่นกับพ่อแม่หลายครอบครัว

จักรยานรูปทรงแปลกตาก็มีในงานนี้ / ภาพ : ADFC

          ถึงแม้ว่าการปิดถนนรณรงค์การขี่จักรยานในเบอร์ลินจะดูเอาจริงเอาจังมาก เพราะนอกเหนือเจ้าหน้าที่ของกลุ่มรณรงค์ที่ยืนคุมตามแยกต่างๆ ยังมีคุณตำรวจคอยอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทางโดยเฉพาะทางขึ้นและลงทางด่วน (ที่นี่ต้องขออนุญาตประท้วง) แต่สำหรับคนเบอร์ลินแล้วการปิดเมืองปั่นแบบนี้ไม่ได้เป็นการประท้วงแต่อย่างใด กลุ่ม ADFC ซึ่งเป็นล็อบบี้ยิสต์ทางการเมืองกล่าวว่าพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่ามันไม่ถูกต้องที่รัฐบาลใช้เงินภาษีของพวกเขาไปกับการสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนนกับทางด่วนให้กับรถยนต์ในเบอร์ลินเป็นหลักตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมี 1.3 ล้านคันในเบอร์ลินและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกหลักหมื่นคันต่อปี

          คนที่มาร่วม ‘ประท้วง’ ก็มองว่ามันเป็นการแสดงสิทธิที่ทุกคนควรจะสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางด่วน ได้เท่าๆ กัน (แม้จะแค่ปีละครั้ง) และคนใช้รถยนต์ที่ได้รับสิทธิพิเศษทุกวันก็ต้องยอมรับว่า พวกเขาต้องแบ่งพื้นที่ดังกล่าวให้กับชาวจักรยานปีละครึ่งวันในเดือนมิถุนายน

กลุ่มคนใช้จักรยานในทุกรูปแบบมาร่วมปั่นแสดงสิทธิของตนเอง /ภาพ : ADFC

          “ทุกคนก็แค่ออกมาแสดงสิทธิ (การใช้พื้นที่สาธารณะของเรา)” Nicole Reuter สาวเยอรมันที่ย้ายมาเป็นคนเบอร์ลินหลายสิบปีและเคยไปร่วมกิจกรรมอยู่หลายหน ให้ความเห็น เมื่อเราตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีคนหลายพันคนออกมาร่วมปั่นรณรงค์ในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน หรือถึงเก้าหมื่นกว่าคนในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันจักรยานโลกครั้งแรกพอดิบพอดี

          แต่การที่จักรยานได้ขึ้นมาปั่นบนทางด่วนก็ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ เพราะเคยมีครั้งหนึ่งในปี 2008 ที่ตำรวจไม่เห็นด้วยที่จะปิดทางด่วนให้จักรยานโดยอ้างเหตุผลเรื่องอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากจักรยานขึ้นไปร่วมใช้ทางด่วนร่วมกับรถยนต์ในเลนสวนกัน

จักรยานที่ปั่นขึ้นทางด่วนกันเห็นๆ / ภาพ : ADFC

          Nikolas Linck ประชาสัมพันธ์ของ ADFC เล่าว่าทางกลุ่มเคยยื่นคำร้องต่อศาลเรื่องการขอใช้ทางด่วนในวันรณรงค์การปั่นจักรยานประจำปี แต่ทางตำรวจไม่อนุญาต โดยทาง ADFC ได้ออกข่าวแถลงถึงชัยชนะในเดือนมิถุนายน 2009 เมื่อศาลเห็นด้วยกับชาวจักรยานว่า การปั่นรณรงค์ดังกล่าวได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีและมีมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และเส้นทางที่ขออนุญาตใช้นั้นถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเส้นปั่นรณรงค์มาตั้งแต่ปี 1999 จนกระทั่งตำรวจไม่อนุญาตให้ใช้ในปีดังกล่าว ซึ่งศาลให้เหตุผลว่าเรื่องความปลอดภัยที่ทางตำรวจอ้างนั้นฟังไม่ขึ้นเพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะเกิดอุบัติเหตุได้หากใช้เลนสวนกัน นั่นทำให้ชาวจักรยานต่างตั้งหน้าตั้งตาคอยวันนี้ของปีที่จะได้ขึ้นไปปั่นกินลมชมวิวจากทางด่วน

          ถ้าใครได้เห็นบรรยากาศ ‘การประท้วง’ แบบเบอร์ลินแล้วจะเห็นด้วยกับ Reuter ว่าพวกเขาไม่ได้มาประท้วงจริงๆ เพราะแทบทุกคนทำตัวราวกับมาปิกนิกบนอานจักรยานหลังเลิกงาน หลายคนมากันเป็นก๊วนเพื่อนฝูงนั่งเม้าท์มอยดื่มเบียร์ไปพลางก่อนเริ่มปั่น บ้างมาเป็นคู่ บ้างมาเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูก บ้างก็พาน้องหมาใส่กระบะหน้ามาปั่น และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ฉายเดี่ยวหรือมาหาเพื่อนเอาระหว่างทาง เพราะ บางคนมีลำโพงส่วนตัวที่เปิดเพลงเผื่อแผ่ชาวบ้านชวนคนอื่นปั่นไปเต้นไปบนอานจักรยาน

ปั่นประท้วงไปพร้อมดอกไม้ก็มี / ภาพ : ADFC

          แน่นอนว่าเราคงไม่ได้โลกสวยที่จะคิดว่าทุกคนต่างเห็นดีเห็นงามกับการปิดเมืองปั่น ‘ประท้วง’ ในแบบนี้ เพราะถึงจะมีคนริมถนนยืนลุ้นและปรบมือให้กำลังใจอยู่เนืองๆ แต่คนใช้รถยนต์หลายคนก็แสดงสีหน้าเอือมระอาที่ต้องติดอยู่บนถนนยาวหลายร้อยเมตรเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง เพราะปกติรถติดยาวเกินร้อยเมตรหรือเกินสิบห้านาทีต่อหนึ่งแยกก็ถือว่าแย่มากแล้ว

เด็กบางคนปั่นไม่ไหวแต่พ่อแม่ก็พามาให้เขาได้รู้ว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน / ภาพ : ADFC

          แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ได้เห็นหรือมีข่าวการประทะกันระหว่างคนขับรถยนต์และคนปั่นจักรยานในการปั่นสองครั้งที่เราเข้าร่วม จะมีเพียงคนขับรถบางคนเริ่มหงุดหงิดจนต้องบีบแตรลั่นยาวเป็นการประท้วงขบวนจักรยานที่ขี่ผ่าน ชาวจักรยานก็จะร่วมใจกันสั่นกระดิ่งแข่งกันลั่นเป็นการต่อสู้ทางจิตวิทยากันไปเสีย

          การปั่น ‘ประท้วง’ แบบคนเบอร์ลินนั้นแสดงให้เห็นถึงการเคารพสิทธิของการใช้พื้นที่สาธารณะของคนสองกลุ่ม ถึงแม้จะไม่เท่าเทียมกันเสียทีเดียวเพราะคนใช้จักรยานก็ยังไม่สามารถปั่นขึ้นทางด่วนได้ทุกวัน แต่อย่างน้อยก็มีปีละครั้งที่พวกเขาสามารถปิดถนนเพื่อใช้สิทธิกับเงินภาษีที่ทุกคนจ่ายเพื่อสาธารณูปโภคเช่นกัน

คนใช้จักรยานมุ่งหน้าลอดอุโมงค์เพื่อขึ้นทางด่วน / ภาพ : ADFC

          ห้าทุ่มแล้วเราเริ่มรู้สึกเมื่อยหลังจากปั่นไปกว่า 30 กิโลเมตรรอบเมืองเบอร์ลิน เราเลยแอบวิ่งออกจากขบวนแล้วปั่นกลับเข้าอพาร์ทเมนต์แถวจุดเริ่มต้น แล้วเราก็ไม่ค่อยอยากเชื่อว่าขบวนที่เราเพิ่งแยกมายังมีคนนับพันคนคึกคักปั่นกันต่อไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยที่จะแสดงสิทธิของตัวเองแบบที่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะไปหยุดที่จุดไหน หรือจะหยุดก่อนเที่ยงคืนหรือไม่

          จะมีก็คงเป็นคนที่อยู่ร่วมขบวนจนจบถึงจะบอกได้ว่าการ ‘ประท้วง’ คืนนั้นจบที่ไหนเมื่อไร

Tags: , , ,