ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่เป็นกระแสฮือฮาก็คือ ข่าวลูกบ้านคอนโดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ร้องเรียนวัดในละแวกใกล้เคียงเพราะตีระฆังสร้างเสียงรบกวน จนทางการออกจดหมายเตือนทางวัด

ชาวเน็ตมากมายออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้ มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าวัดควรหยุดกิจกรรมที่สร้างเสียงรบกวน และฝ่ายที่เห็นว่าวัดอยู่มาก่อนและฝ่ายผู้ที่เพิ่งมาอยู่ควรเป็นผู้ปรับตัว

สัปดาห์นี้ เราจะโหนกระแสระฆังและคอนโด ไปดูกันว่ามีศัพท์ภาษาอังกฤษอะไรบ้างที่น่าสนใจ

ระฆัง

ในภาษาอังกฤษ คำพื้นฐานที่ใช้เรียกระฆังก็คือ bell คำนี้น่าสนใจตรงที่อันที่จริงแล้วความหมายกว้างกว่าระฆัง คือขอให้เป็นวัตถุมีโพรงกลวงที่สร้างเสียงให้คนหันมาสนใจได้ ขนาดเล็กใหญ่ไม่สำคัญ ดังนั้น คำว่า bell จึงใช้เรียกได้ตั้งแต่ระฆังขนาดใหญ่แบบที่โบสถ์ Notre Dame ในปารีส ไปจนถึงกระพรวนจิ๋วห้อยคอแมว หรือถ้าไม่ได้มีรูปร่างอย่างระฆังปกติ ก็ขอให้ส่งเสียงเตือนคนได้คล้ายกระดิ่ง เช่น ออดหรือกระดิ่งหน้าบ้าน ก็เรียก doorbell หรือกริ่งจักรยานก็เรียก bicycle bell

คำว่า bell ไปโผล่อยู่ในสำนวนน่าสนใจในภาษาอังกฤษหลายอัน เช่น ring a bell หมายถึง ฟังดูคุ้นๆ ทำให้จำได้รางๆ เช่น Does his name ring a bell? ก็จะหมายถึง ได้ยินชื่อแล้วคุ้นๆ บ้างไหม

อีกสำนวนคือ saved by the bell หมายถึง รอดหวุดหวิด มีอะไรมาช่วยไว้พอดี bell ในที่นี้ไม่ใช่ระฆังวัด แต่เป็นระฆังมวย เพราะสำนวนนี้มีที่มาจากกีฬาชกมวย ทำนองว่ากำลังเพลี้ยงพล้ำจะถูกนับน็อกเอาต์ แต่เสียงกระดิ่งลั่นหมดเวลาเสียก่อน จึงรอดตัวไป เช่น หากวันนี้ไม่ได้อ่านหนังสือมาแต่ดันมีควิซ คิดแล้วว่ายังไงก็ไม่รอด แต่พอกำลังจะเริ่มสอบปรากฏว่าไฟดับพอดี ทำให้ต้องเลื่อนควิซออกไป แบบนี้ก็อาจพูดว่า I was saved by the bell.

นอกจากนั้นยังมีสำนวน bells and whistles อันนี้หมายถึง องค์ประกอบเสริมต่างๆ ดูดีแต่ไม่อาจจะจำเป็น เสริมมาให้ดูเยอะๆ จัดเต็มเฉยๆ เช่น หากซื้อกล้องถ่ายรูปมาแต่แถมอุปกรณ์เสริมมามากมายเต็มไปหมด ทั้งสายคล้อง ขาตั้งกล้อง อะไรต่อมิอะไร ของที่เพิ่มเติมมานอกเหนือจากตัวกล้องที่ใช้ถ่ายรูปจริงพวกนี้ก็จะเรียกว่า bells and whistles สำนวนนี้ว่ากันว่ามาจากเครื่องออร์แกนที่ใช้เล่นดนตรีตามงานวัดฝรั่ง แต่บางแห่งกลัวเล่นใหญ่ไม่พอแล้วคนไม่สนใจ จึงติดอุปกรณ์เสริมอย่างกระดิ่งและนกหวีดเพิ่มเพื่อสร้างเสียงเรียกความสนใจ

ตีระฆังกันตอนไหน

กลับมาที่ระฆังสักนิด วัฒนธรรมตะวันตกใช้ระฆังในหลายโอกาส ทำให้เกิดวลีและสำนวนอื่นๆ อีก เช่น ในงานศพก็จะมีการตีระฆังไว้อาลัย เสียงระฆังในงานศพแบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า knell และเป็นที่มาของสำนวน death knell หมายถึง สัญญาณหรือลางบอกว่าอะไรกำลังจะสิ้นสุดหรือตายลง เช่น The scandal was the death knell for his political career. หมายถึง ข่าวฉาวนี้เป็นตัวดับอนาคตอาชีพสายการเมืองของเขา

พอปีใหม่มาถึงก็จะมีการตีระฆังเช่นกัน คือลั่นระฆังเหมือนในงานศพเพื่อไล่ปีเก่าและตีระฆังเสียงกังวานสดใสต้อนรับปีใหม่ เป็นที่มาของสำนวน ring in the New Year ที่หมายถึง ฉลองขึ้นปีใหม่นั่นเอง (ธรรมเนียมทำนองนี้ปรากฏในกลอนของ Lord Alfred Tennyson ด้วย)

ไม่เพียงเท่านั้น เวลาคู่รักจับมือกันเข้างานวิวาห์ก็จะมีการตีระฆังเช่นกัน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า wedding bell เกิดเป็นสำนวน to hear wedding bells หมายถึง เห็นเค้าว่าคนสองคนจะได้แต่งงานกัน เช่น หากเห็นคนสองคนรักกันหวานฉ่ำ ดูโหงวเฮ้งแล้วได้ร่อนการ์ดแต่งงานแน่ ก็อาจพูดแซวว่า Is that wedding bells I hear? คือ ได้ยินเสียงระฆังวิวาห์แว่วๆ หรือเปล่านะ

ศัพท์แปลกเกี่ยวกับระฆัง

ภาษาอังกฤษมีศัพท์กระแดะที่หมายถึง เสียงระฆัง คือ tintinnabulation มาจากคำนาม tintinnabulum ในละติน หมายถึง ระฆัง ซึ่งมาจากกริยา tintinnare ที่หมายถึง เสียงระฆัง อีกที (กริยานี้เกิดจากการซ้ำเสียงกริยา tinnire หมายถึง หมายถึงเสียงแว่ว เสียงกรุ๊งกริ๊ง เจอในคำว่า tinnitus ที่หมายถึง โรคเสียงในหู แบบที่ได้ยินเสียงวิ้งๆ ในหู) ว่ากันว่า Edgar Allan Poe เป็นคนเอาคำละตินมาประดิษฐ์เป็นคำนี้เพื่อใช้ในภาษาอังกฤษ เห็นได้ในกลอน The Bells ของลุงแก

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์แห่งระฆัง เรียกว่า campanologist หรือ campanist มาจากคำว่า campana ในภาษาละติน แปลว่า ระฆัง (เหมือนกระเบื้องตรา คัมพาน่า ที่มีโลโก้เป็นรูประฆัง) เป็นญาติกับคำว่า campanile ที่แปลว่า หอระฆัง แต่ส่วนใหญ่ใช้เรียกหอระฆังเฉพาะในอิตาลี (หอระฆังเรียกทั่วไปว่า bell tower)

หอระฆังเรียกอีกอย่างว่า belfry (อ่านว่า เบลฟรี) แต่ผู้รู้บางคนบอกว่าอันนี้หมายถึงส่วนที่บรรจุระฆังด้านบนเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทั้งตัวหอ อย่างไรก็ดี เห็นหน้าตาคำนี้แล้วหลายคนอาจคิดว่ามาจาก bell แต่อันที่จริงแล้ว คำนี้แต่เดิมเขียนว่า berfroi ในภาษาฝรั่งเศสเก่า ว่ากันว่ามาจากราก bergen ที่หมายถึง ปกป้อง รวมกับราก *frithu หมายถึง ความสงบ ได้ความหมายรวมออกแนวหอสังเกตการณ์ที่ใช้ดูแลความเรียบร้อยปลอดภัยในเมือง แต่ด้วยหอเหล่านี้มักใช้ระฆังเป็นสัญญาณเตือน คนเลยเข้าใจว่าต้องมาจากคำว่า bell เป็นแน่แท้ จนตัวสะกดเปลี่ยนกลายเป็น belfry

แล้วฝั่งคอนโดล่ะ

มาฝั่งคอนโดเป็นการทิ้งท้ายสักเล็กน้อย คำว่า condominium มาจาก con- ที่แปลว่า ร่วมกัน รวมกับ dominum หมายถึง อำนาจความเป็นเจ้าของ ซึ่งมาจาก dominus ที่แปลว่า เจ้านายหรือเจ้าบ้าน อีกที (เป็นญาติกับ dominate และคำเทือกๆ นี้) รวมกันหมายถึง สิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมกัน นำมาใช้เรียกอาคารชุดคอนโดมิเนียมเพราะว่าลูกบ้านทั้งหลายเป็นเจ้าของร่วมกัน คำนี้พอใช้ๆ ไปย่อเหลือ condo ทำให้หลายคนมองไม่เห็น dominum ที่อยู่ในคำ

ที่น่าสนใจคือ คำว่า condominium นี้ ดองกับคำว่า danger ด้วย นั่นก็เพราะคำว่า danger มาจากคำว่า dominus ที่หมายถึง เจ้านาย เดิมทีคำว่า danger เคยหมายถึง อำนาจของคนเป็นเจ้าขุนมูลนาย ด้วยความที่เจ้านายจะให้คุณหรือให้โทษก็ได้ ความหมายถึงพัฒนาไปในทางแย่ลง กลายมาหมายถึงภยันตรายที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนั้น condominium ยังเป็นญาติกับ dungeon อีกด้วยแม้จะเป็นสถานที่ที่ดูแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่คอนโดและคุกใต้ดินมาโยงกันได้ก็เพราะ dungeon มาจาก dominus เช่นกัน สมัยก่อนเคยสะกดว่า donjon ด้วย ในสมัยที่ชนชั้นปกครองทั้งหลายยังอาศัยในปราสาท คำนี้ใช้หมายถึง หอปราการชั้นในสุด ใช้เป็นที่หลบภัยหากมีข้าศึกบุกเข้าปราสาทมาได้ แต่นอกจากจะใช้เพื่อหลบภัยแล้ว หอพวกนี้มักมีห้องใต้ดินไว้ขังนักโทษหรือเชลยด้วย ไปๆ มาๆ คำว่า dungeon จึงมีความหมายแคบลงและกลายมาใช้เรียก ห้องใต้ดินที่ใช้ขังนักโทษ อย่างในปัจจุบันนั่นเอง

 

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • https://www.merriam-webster.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
  • Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
  • Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: , , , ,