มีข่าวดีให้สดชื่นหัวใจกันบ้าง เพราะสัปดาห์นี้มีการประกาศรางวัลโนเบลสำคัญๆ หลากหลายสาขา ที่ล้วนให้กำลังใจและยกย่องคนทำงานดีๆ ที่ช่วยคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้แก่โลกใบนี้

แต่กลับมาที่บ้านเรา ที่กำลังเกิดดราม่าเผ็ดร้อนระหว่างระฆังวัดกับคอนโดหรู ที่พาเอาฝ่ายคนดูเครียดตามไปด้วย ว่าเรื่องแบบนี้จะแก้ปัญหาอย่างไรดี  

The Momentum สรุปความเคลื่อนไหวน่าสนใจในรอบสัปดาห์มาให้อ่านกัลล์

 

ระฆังดังเพราะพระตี แล้วถ้าอยากได้สุขภาวะเมืองที่ดี ต้องทำยังไง?

ประเด็นดราม่าระหว่าง ‘ระฆังวัด’ กับ ‘คอนโดหรู’ ดูเหมือนเสียงส่วนใหญ่จะเทไปทางเชียร์ให้วัดไทรตีระฆังต่อ ชาวคอนโดพากันออกมารุมประณาม ‘ปลาเน่า’ ตัวเดียวที่ทำให้เหม็นไปทั้งข้อง คนที่เห็นต่างออกไปก็ถูกไซเบอร์บุลลี่ไปตามระเบียบ ฝ่ายผู้อำนวยการเขตก็ต้องออกมาขอขมาเจ้าอาวาสวัดเป็นที่เรียบร้อย ผู้ว่าฯ กทม.ก็ยืนยันอีกเสียงว่าถ้าจะให้วัดหยุดตีระฆังนั้น ให้คนร้องเรียนย้ายออกจะง่ายกว่า

ท่ามกลางความสนใจของสื่อหลายหัว ฝ่ายวัดไทรได้ออกมาระบุผ่านสื่อถึงผลกระทบที่วัดได้รับจากคอนโดแห่งนี้ โดยเฉพาะมลภาวะทางเสียงขณะก่อสร้าง หรือข้อร้องเรียนเก่าก่อนอย่างเช่นที่มีชาวคอนโดร้องเรียนเรื่องควันจากเมรุเผาศพ ล่าสุดมีข่าวว่าไม่ใช่แค่วัด แต่สำนักงานเขตบางคอแหลม ได้ออกหนังสือเตือนถึงมัสยิดในพื้นที่ ให้ลดการใช้เครื่องขยายเสียงระหว่างประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย

ว่ากันง่ายๆ แล้ว นี่คือการกระทบกระทั่งในชุมชนระหว่างเพื่อนบ้านกับเพื่อนบ้าน ที่เกิดขึ้นในทุกหัวระแหง เพียงแต่ครั้งนี้คู่กรณีเป็นผู้เข้ามาอยู่ใหม่ กับสถาบันทางศาสนาที่อยู่มาช้านาน ประเด็นศาสนาได้ถูกชูขึ้นมากลบ จนสิ่งที่แทบไม่ถูกพูดถึงคือเรื่องของสุขภาวะเมือง (Urban Health) ที่เกี่ยวพันกับการวางผังเมืองและการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่

หนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ มาจากโพสต์ทางเฟสบุ๊กของ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (Pitch Pongsawat) แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวถึงนิเวศน์วิทยาเมืองแบบใหม่ ซึ่งเปลี่ยนไปเนื่องจากการอนุญาตให้มีตึกสูงเกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างแทบไร้ข้อจำกัด และมีแนวโน้มว่าจะขยายจำนวนขึ้นอีกเรื่อยๆ โดยผู้มีอำนาจบริหารจัดการอย่างผู้อำนวยการเขต ก็เป็นข้าราชการที่เข้ามาปกครองตามวาระโดยอาจไม่ได้มีความเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่มากเท่าประชาชนในพื้นที่ ฝ่ายประชาชนก็ไม่ได้มีตัวแทนที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม การปะทะระหว่างคนอยู่มาก่อนกับคนมาอยู่ใหม่ จึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และแก้ไม่ตก มลภาวะทางเสียง ก็เป็นหนึ่งในนั้น

และหากจะว่ากันว่า เสียงระฆังวัดหรือเสียงจากเครื่องขยายเสียงของมัสยิด รวมถึงเสียงก่อสร้างคอนโด ฯลฯ นับเป็นมลภาวะทางเสียง (Noise Pollution) หรือไม่? ตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ฉบับปี 2540 มีการกำหนด ‘ค่ามาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป’ โดยค่าระดับเสียงสูงสุดไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ ส่วนอีกฉบับในปี 2543 มีการกำหนด ‘ค่าระดับเสียงรบกวน’ ไว้ที่ 10 เดซิเบลเอเป็นต้นไป

และในกรณีวัดไทรนี้ ดร. สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ นักวิชาการด้านฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาคำนวณว่า เสียงระฆัง ณ จุดที่ระฆังอยู่คือ 120 เดซิเบลเอ ซึ่งเป็นเสียงดังสูงสุดที่มนุษย์จะได้ยินโดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนเสียงระฆังที่จะได้ยินในคอนโดซึ่งห่างจากวัด 300 เมตร คือ 62 เดซิเบลเอ ส่วนเสียงก่อสร้างคอนโดยังไม่มีใครออกมาคำนวณ แต่หากอ้างอิงจากกฎหมายแรงงาน เสียงที่จะมีการเฝ้าระวังเนื่องจากกระทบต่อการได้ยินของคนงานคือ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเสียงที่เกิดขึ้นจะเกิดระดับมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ผู้ที่มีอำนาจจัดการตามข้อกฎหมายนี้ก็คือสำนักงานเขตโดยตรงอยู่ดี ที่สุดแล้ว เมื่อมีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้นและรัฐไม่สามารถช่วยเคลียร์ปัญหาได้อย่างลงตัว สิ่งที่ผู้อยู่มาก่อนและผู้มาอยู่ใหม่พอจะทำได้ ก็คงเป็นการปรับตัวต่อกันและกันเป็นกรณีๆ ไป

เราจะทำอย่างไรได้ ในเมื่อ ‘เมือง’ มันกลายเป็นอย่างนี้ไปเสียแล้ว

 

ประกาศรางวัลโนเบล 2018 เกือบครบทุกสาขา และสาเหตุที่ปีนี้ไม่มีรางวัลสาขาวรรณกรรม

ประกาศต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 สำหรับรางวัลโนเบลปี 2018 ในสาขาการแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี สันติภาพ และที่ยังรอผลอยู่ก็คือสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่จะประกาศผลวันที่ 8 ที่จะถึงนี้

ส่วนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ปีนี้เลื่อนไปประกาศพร้อมกับรางวัลของปี 2019 เพราะก่อนหน้านี้ดันมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศของสามีของหนึ่งในสมาชิกราชบัณฑิตยสถานสวีเดน ซึ่งเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัล ซึ่ง Carl-Henrik Heldin ประธานคณะกรรมการมูลนิธิโนเบล แถลงไว้ว่า

“ตามหลักการแล้ว ต้องมีการมอบรางวัลโนเบลทุกปี แต่ตลอดประวัติศาสตร์ของรางวัลโนเบล การตัดสินหลายๆ ครั้งก็ถูกเลื่อนไปตามวาระต่างๆ หนึ่งในสาเหตุที่อาจเป็นข้อยกเว้นที่ฟังได้ ก็เช่นเมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่างขึ้นภายในสถาบันผู้ตัดสินรางวัล ที่อาจส่งผลให้การตัดสินนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ”

ปีนี้ รางวัลสาขาการแพทย์ตกเป็นของเจมส์ พี. แอลลิสัน (James Allison) นักวิจัยชาวอเมริกันที่ศูนย์ศึกษาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน มหาวิทยาลัยเท็กซัส และ ทาสุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) แพทย์ชาวญี่ปุ่นที่เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นผู้ค้นพบการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย (cancer immunotherapy) คณะกรรมการรางวัลโนเบลบอกว่างานของทั้งคู่ “ปฏิวัติการรักษามะเร็ง และเปลี่ยนวิธีที่เรามองเกี่ยวกับการจัดการกับมะเร็ง”

ส่วนรางวัลสาขาฟิสิกส์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมอบให้ อาเธอร์ แอชกิน (Arthur Ashkin) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันสำหรับผลงาน ‘คีมจับเชิงแสง’ (Optical tweezer) เป็นหลักการการใช้แขนลำแสงเลเซอร์มาจับสิ่งเล็กๆ ทำให้สามารถตรวจหาและควบคุมอนุภาคและเซลล์สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กได้ มีการนำเทคนิคนี้มาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อสังเกตและศึกษากลไกสิ่งมีชีวิตได้โดยไม่ทำให้มันเสียสภาพ

ส่วนที่สองแบ่งออกเป็นสองส่วนให้กับ เจอร์ราร์ด เมาโร (Gérard Mourou) ชาวฝรั่งเศส กับ ดอนนา สตริคแลนด์ (Donna Strickland) ชาวแคนาดา จากวิธีการพัฒนาเลเซอร์แบบพัลส์ (เลเซอร์ชนิดปล่อยแสงออกมาเป็นจังหวะ) ที่เข้มข้นสูงมากและสั้นมาก จากเทคนิคที่ทั้งคู่เป็นผู้บุกเบิกเรียกว่า chirped pulse amplification (CPA) สามารถที่สร้างพัลส์ความเข้มข้นสูงขึ้นมา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการผ่าตัดดวงตาของหลายล้านคน โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อดวงตาซึ่งบอบบาง

ไฮไลท์สำคัญของสาขาฟิสิกส์นี้ก็คือ สตริคแลนด์เป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งแม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่อยากเชื่อว่าผู้หญิงจะได้รับรางวัลน้อยขนาดนี้

รางวัลสาขาเคมี แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมอบให้กับฟรานเซส เอช. อาร์โนลด์ (Frances H. Arnold) จากผลงาน ‘วิวัฒนาการประดิษฐ์ของเอนไซม์’ ที่ช่วยผลิตเอนไซม์ขึ้นมาใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ และอีกครึ่งหนึ่งมอบให้กับนักเคมีสองคน ได้แก่ จอร์จ พี.สมิธ (George P. Smith) และเซอร์ เกรกอรี พี. วินเทอร์ (Gregory P. Winter) สำหรับผลงานเทคนิค ฟาจดิสเพลย์ (phage display) นำวิวัฒนาการของไวรัสกินแบคทีเรีย มาจำลองกระบวนการสร้างโปรตีนบนผิวแอนติบอดีขึ้นมาจับเป้าหมายได้เจาะจงมากขึ้น

และล่าสุด สาขาสันติภาพ ปีนี้มอบให้กับเดนิส มุเคจิ (Denis Mukwege) สูตินรีแพทย์ซึ่งตั้งโรงพยาบาลและรักษาผู้ป่วยที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศนับพันคน ส่วนใหญ่มาจากสงครามกลางเมืองของคองโก อีกส่วนมอบให้ นาเดีย มูราด (Nadia Murad) ชาวยาซิดี ชนกลุ่มน้อยในอิรักที่ถูกไอซิสจับตัวไปพร้อมกับชาวยาซิดีหลายร้อยคนเมื่อสิงหาคม 2014 และถูกข่มขืนซ้ำๆ และยังถูกละเมิดด้านอื่นๆ แต่หลังจากทุกข์ทรมานนาน 3 เดือน มูราดหลบหนีออกมาได้ และเปิดเผยความทุกข์ทรมานของเธอ ในปี 2016

คณะกรรมการบอกว่า เธอแสดงให้เห็นถึง “ความกล้าหาญอันประมาณมิได้ในการเล่าประสบการณ์ความทุกข์ของเธอ” โดยไม่ยอมรับกฎทางสังคมที่เรียกร้องให้ผู้หญิงต้องเงียบเสียงและละอายจากการถูกล่วงละเมิด

ส่วนผู้ที่ยังรอคอยรางวัลสาขาวรรณกรรม ปีนี้มีรางวัล ‘ทางเลือก’ ของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ดำเนินงานโดย The New Academy ที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อการนี้ ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 12 ตุลาคม แต่ก่อนหน้านี้ ฮารุกิ มูราคามิ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเขียนผู้เข้ารอบชอร์ตลิสต์ ประกาศขอสละสิทธิ์ ซึ่งบางคนก็ตีความแบบขำๆ ว่า รางวัลนี้ไม่เอา จะเอาโนเบลจริงๆ (ซึ่งรอมาหลายปี) จ้าา

 

ไม่จบง่ายๆ เพราะเธอไม่เลือกฉัน สรรพากรจิ้ม ‘เคาน์เตอร์เซอร์วิส’ เจ้าเดียว คืนภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2018 เคาน์เตอร์เซอร์วิสเริ่มให้บริการ VAT refund หรือบริการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยวในเมือง โดยทดลองในสามสาขา ได้แก่ สยาม ถนนพระราม 9 และเยาวราช เพราะเป็นแหล่งช็อปปิ้งยอดนิยม โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องแยกจุดรับคืนภาษีฯ ออกจากตัวร้านเซเวน-อีเลฟเว่นให้ชัดเจน

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือ กรมสรรพากรได้ประกาศรับสมัครตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง (downtown VAT refund for tourists) ระหว่าง 10-17 ก.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าชิงสามราย หนึ่งในนั้นเป็นกลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีเดอะมอลล์และเซ็นทรัลร่วมกันตั้งบริษัทเข้ามาสมัคร

การทดลองให้บริการนี้จะกินเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2018 เป็นต้นไป จนจะไปสิ้นสุดปลายเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเยอะ โดยคาดหวังว่าการเพิ่มจุดบริการคืนภาษีนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายและลดความแออัดในการขอคืนภาษีฯ ที่สนามบิน  แล้วมาประเมินว่า 6 เดือนนี้เป็นอย่างไร จากนั้นจึงจะพิจารณารับตัวแทนเพิ่มต่อไป

ฟังดูรวมๆ ก็โอเคดี แต่แน่นอนว่าการกำหนดให้เคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็นเจ้าเดียวที่รับไปเต็มๆ ในรอบทดลองแบบนี้ ก็ต้องสร้างความไม่พอใจให้กับสองเจ้าที่เหลือ ซึ่งกรมสรรพากรให้เหตุผลที่ปัดตกว่า

  1. รายหนึ่งไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือรับรองนิติบุคคลว่าจะดำเนินการเพื่อเป็นตัวแทนของผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร
  2. รายหนึ่งไม่ได้ยื่นคำขออนุมัติตามแบบที่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ประกอบกับมีการกำหนดจุดบริการ 5 แห่ง ซึ่ง ‘เกินกว่า’ จำนวนจุดบริการ ที่กำหนดไว้ว่ามีเพียง 3 แห่ง ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

เจอแบบนี้ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และบริษัทร่วมทุน ‘แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด’ ร่วมกับบริษัทร่วมทุน ได้แก่ เซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอลล์ และสยามพิวรรธน์ จึงออกมาโต้แย้ง บอกว่า โครงการนี้นำร่องมาจากเอกชนแท้ๆ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวนำเงินที่ได้คืนภาษีมาจับจ่ายสินค้าอย่างอื่นต่อได้ระหว่างเดินทางท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประเทศ และจากนี้จะเตรียมยื่นอุทธรณ์

“เราไม่ได้มีปัญหาต่อการที่ร้านสะดวกซื้อได้รับสิทธิ์ เพียงแต่ต้องการตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นรายเดียว และทำไมต้องแค่ 3 จุด  และเลือกจากอะไร การมีหลายจุดคืนภาษียิ่งดีต่อระบบ เพราะยิ่งช่วยกันกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยว”
พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า 5 จุดที่สมาคมฯ และบริษัทร่วมทุนเลือกนำร่อง คือสยามพารากอน เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเวิลด์ โรบินสัน สุขุมวิท อยู่ใกล้เส้นรถไฟฟ้าและมีปริมาณนักท่องเที่ยวเฉลี่ยมากถึง 90,000-150,000 คนต่อวันต่อสถานที่ และมีการขอคืนภาษีคิดเป็น 60% ของการขอคืนภาษีจากนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าทั่วประเทศ

สำหรับการประเมินผลการทดลองให้บริการ กรมสรรพากรจะดูจาก 1. มูลค่าเงินที่หมุนกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 2. การเจริญเติบโตของยอดขาย 3. ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการที่สนามบินลดลง 4. ตรวจสอบคุณภาพการดำเนินการ

 

โรนัลโดงานเข้า โดนฟ้องคดีข่มขืนสาวเมื่อ 9 ปีก่อน

มากกว่าผลงานในสนามก็ข่าวฉาวกับสาวๆ นี่แหละ ก่อนหน้านี้คริสเตียโน โรนัลโด ยอดดาวเตะชาวโปรตุกีสวัย 33 ปี มักตกเป็นข่าวกับสาวมากหน้าหลายตา ซึ่งคาดว่าสาวๆ ที่ตกเป็นข่าวว่าเคยมีอะไรกับโรนัลโด้มักยินยอมพร้อมใจเสมอ

แต่ล่าสุดแคธรีน มายอร์กา (Kathryn Mayorga) อดีตนางแบบอเมริกันวัย 34 ปี ออกมาเปิดเผยผ่านนิตยสารของเยอรมัน Der Spiegel อ้างว่าเธอถูกซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุกีสล่วงละเมิดทางเพศที่โรงแรมแห่งหนึ่งในลาสเวกัสเมื่อปี 2009

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2009 ขณะนั้นโรนัลโด้ในวัย 24 ปี กำลังย้ายจากสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปร่วมทีมเรอัล มาดริด ซึ่งเจ้าตัวอยู่ในช่วงพักร้อนที่ลาส เวกัส สหรัฐฯ โดยโรนัลโดกับแคธรีนพบกันที่ไนต์คลับแห่งหนึ่ง หลังจากเกี้ยวพาราสีกันอยู่สักพัก โรนัลโดที่หวังจะมีเซ็กซ์กับมายอร์กา จึงชวนขึ้นไปห้องพักที่โรงแรมปาล์ม โฮเต็ล แอนด์ กาสิโน

เธอเล่าเหตุการณ์ตอนนั้นให้ฟังว่า โรนัลโดพยายามที่จะขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่เธอปฎิเสธและบอกว่า ‘ไม่’  อยู่หลายครั้ง แต่มีหรือที่โรนัลโดจะยอม ยังพยายามมีเพศสัมพันธ์จนถึงที่สุด ภายหลังโรนัลโด้ต้องขอโทษ พร้อมกับบอกว่า ปกติผมเป็นสุภาพบุรุษมากกว่านี้

ความจริงแล้ว หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เธอแจ้งความกับตำรวจว่าถูกข่มขืน แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร ซึ่งในช่วงนั้นสื่อทุกสำนักฟันธงว่าเป็น คริสเตียโน โรนัลโด แน่นอน ภายหลังมีการตกลงกับทีมงานของโรนัลโด จึงยินยอมที่จะรับค่าเสียหายเป็นเงิน 375,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการไม่เปิดเผยเรื่องนี้อีกต่อไป

เวลาผ่านไป 9 ปี เธอให้เหตุผลที่เปิดเผยเรื่องดังกล่าวกับสื่อ เพราะเห็นว่าปัจจุบัน ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศออกมาเรียกร้องสิทธิ์มากขึ้น และในตอนนั้นเธอเองก็อ่อนไหว มีความเปราะบางทางอารมณ์ ทำให้ตัดสินใจได้ไม่รอบด้าน

ขณะที่โรนัลโดได้ตอบคำชี้แจงดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ในทำนองว่า ผมไม่ได้ข่มขืนใคร แต่เป็นการยินยอมจากทั้งสองฝ่าย การข่มขืนคืออาชญากรรมที่น่ารังเกียจ

ส่วนตำรวจลาส เวกัส ก็ตัดสินใจว่า จะรือฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมายอร์กาออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าว และต้องดูหลักฐานอีกครั้งว่าจะดำเนินคดีกับโรนัลโด้หรือไม่

สุดท้ายแล้วเรื่องดังกล่าวจะดำเนินไปทิศทางใด โรนัลโดจะโดนคดีหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

 

การปรากฏตัวอีกครั้งของ ‘ฟ่าน ปิงปิง’ หลังหายตัวปริศนา เธอกลับมาพร้อมคำขอโทษและแบกหนี้ภาษีกว่าสี่พันล้านบาท

หลังหายตัวไปแบบลึกลับเมื่อสี่เดือนก่อนและมีข่าวลือว่าถูกทางการจับเข้าคุกไป ในที่สุด ฟ่าน ปิงปิงก็ปรากฏตัวต่อสาธารณะด้วยการเขียนจดหมายสารภาพว่า ผิดไปแล้วและขอโทษที่เลี่ยงภาษี

ตามข่าวล่าสุด ฟ่าน ปิงปิงถูกลงโทษปรับเป็นเงินจำนวน 3 เท่าของภาษีที่พึงจ่าย ซึ่งคิดเป็นเงินไทยราว 4,200 ล้านบาท ยืนยันข่าวลือก่อนหน้านี้ว่า การหายตัวไปอย่างลึกลับนี้เป็นเพราะฟ่าน ปิงปิงจงใจเลี่ยงภาษี โดยแจ้งรายได้เท็จด้วยการใช้แทคติกทำสัญญาสองเวอรชันหรือที่เรียกว่า สัญญาหยินหยาง แล้วเลี่ยงจ่ายภาษีน้อยกว่ารายได้จริง

โดยระหว่างที่หายตัวไปนั้น เธอถูกสอบสวนโดยหน่วยงานกำกับภาษีของชาติ ซึ่งพบว่า เธอหลีกเลี่ยงภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากภาพยนตร์เรื่อง Unbreakable Spirit และงานอื่นๆ ทำให้ต้องถูกเรียกภาษีจำนวน 1,360 ล้านบาท อันเป็นภาษีที่ต้องจ่ายแต่แรก และต้องจ่ายอีก 2,800 ล้านบาทเป็นค่าปรับ

ฟ่าน ปิงปิง ระบุในจดหมายว่า “ชื่อเสียงและความสำเร็จของดิฉัน มาจากการสนับสนุนของชาติและประชาชน หากไม่มีนโยบายดีๆ จากพรรคคอมมิวนิสต์ และความรักความเมตตาเอ็นดูจากประชาชน ก็จะไม่มีฟ่าน ปิงปิงในวันนี้

“กรณีของฉันจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนให้กับคนดังและนักแสดงคนอื่นๆ ที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายในการจ่ายภาษี ที่มาจากงานในวงการบันเทิงคืนให้กับรัฐบาล ต่อจากนี้ ฉันจะเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย และส่งต่อพลังในด้านบวกให้แก่สังคมต่อไป”

การต่อต้านการทุจริต เป็นนโยบายเด่นที่รัฐบาลจีนประกาศกร้าวว่าจะเอาจริงเอาจัง ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่พยายามปราบปรามคอร์รัปชันให้หมดไป แต่แพทเทิร์นของการจับกุมตัวดูจะน่ากังวลไปหน่อย เพราะเล่นพาตัวให้อันตรธานหายไป ระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างก็ไม่มีใครรู้ หรือพุดได้ว่า จีนไม่แคร์เรื่อง due process หรือการมีกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสเลยแม้แต่น้อย

และหลังเกิดเหตุครั้งนี้ ก็มีดาราดังชาวจีนอีกไม่น้อยที่ถูกจับตาจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ รวมถึงนางเอกดังอย่าง ซูฉี และ เจ้าเหว่ย ที่ได้รับค่าตัวจากรายการดังอย่าง Chinese Restaurant 2 ไปจำนวน 250 ล้านบาท ซึ่งผิดกฎหมายที่กำหนดเพดานเอาไว้ว่าห้ามรับค่าตัวเกิน 50 ล้านบาทต่อซีซั่น ซึ่งทั้งคู่ก็รีบเอาเงินส่วนเกินไปคืนแล้ว

เรื่องนี้ยังเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนทั่วโลก เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ทั้งบุคคลและห้างร้านจำนวนไม่น้อยก็ใช้วิธีการหลบเลี่ยงไม่เปิดเผยรายได้ตามจริง เพียงแต่อาจจะไม่ได้เป็นสเกลใหญ่และเป็นที่รู้จักเท่ากับฟ่าน ปิงปิงเท่านั้นเอง

Tags: , , , , , , , ,