49 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือฉากสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย พลังจากนักศึกษา – ประชาชน สามารถขับไล่ 3 ทรราช จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ออกไปนอกประเทศได้ เปลี่ยนระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ดำรงอยู่ยาวนาน นับตั้งแต่สมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 15 ปี ได้สำเร็จ
แต่ในอีกแง่หนึ่ง เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็ต้องแลกมาด้วยเหตุจลาจล ความรุนแรง การสลายการชุมนุม กระทั่งมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 77 คน จากอาวุธหนัก ทั้งรถถัง เฮลิคอปเตอร์ ปืนกล ที่ทหาร ออกมาใช้จัดการกับผู้ชุมนุม ซึ่งในเวลานั้น รัฐบาลจอมพลถนอม เรียกว่าเป็น ‘ผู้ก่อความไม่สงบ’
49 ปีผ่านไป หลายอย่างเปลี่ยนแปลง หลายอย่างยังคงหยุดนิ่ง The Momentum พาไปชมสถานที่จริงที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงในวันนี้ นาทีนี้
และเราจะได้เห็นว่า บางทีทั้งเรื่องราว ทั้งภาพ และสถานที่จริง อาจไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเท่าไรเลย
1. พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
หากจะบอกว่า ‘จุดเปลี่ยน’ ของ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทั้งหมด เริ่มต้นที่จุดนี้ก็คงไม่ผิดนัก ประวัติศาสตร์ตามคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดเล่าตรงกันว่า มีความพยายามจะ ‘ยุติการชุมนุม’ โดยแกนนำนักศึกษาอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และธีรยุทธ บุญมี ที่จุดนี้ หลังจาก 1 วันก่อนหน้า ในการชุมนุมครั้งใหญ่ รัฐบาลจอมพลถนอมได้ยินยอมทำตามข้อเรียกร้อง คือปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนที่ถูกจับกุมจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น และจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี ขณะเดียวกัน แกนนำนักศึกษาบางส่วนยังได้เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่วังสวนจิตรฯ ที่ประทับฯ
แต่เรื่องกลับไม่ได้ง่ายขนาดนั้น กลางดึกของวันที่ 13 ตุลาคม ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 14 ตุลาคม กลับมีข่าวลือหนาหูว่า แกนนำนักศึกษาที่เข้าเฝ้าในหลวงฯ ‘สิ้นบุญ’ กันหมดแล้ว เสกสรรค์จึงได้ตัดสินในนำผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาอยู่บริเวณรอบวังสวนจิตรฯ เพื่อขอ ‘พึ่งพระบารมี’
เช้ามืดวันนั้น พันตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจราชสำนัก ได้อ่านพระราชกระแสรับสั่ง ให้ผู้ชุมนุมสลายตัวตามพระราชประสงค์ แต่ในที่สุด ก็ถูกปิดช่องทางออก ไม่ให้เดินไปทางถนนราชวิถี และเกิดการปะทะกันบริเวณดังกล่าว พลตำรวจโท มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ผู้ช่วยอธิบดีกรมตํารวจ และพลตำรวจตรี ณรงค์ มหานนท์ ผู้บัญชาการตํารวจนครบาล นำกำลัง ‘คอมมานโด’ สกัดผู้ชุมนุม ทั้งด้วยไม้พลอง กระบอง ผู้ชุมนุมหญิงหลายคนก็ถูกตีด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องแตกฮือลงไปในคลอง และปีนรั้วเข้าไปในพระตำหนักสวนจิตรฯ เพื่อหวังพึ่งพระบารมี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ให้นักศึกษาส่วนหนึ่งหลบภัยอยู่ในพระตำหนัก
จุดปะทะเล็กๆ ดังกล่าวกลายเป็นเหตุวุ่นวายตามมา มีการส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีผู้ก่อความไม่สงบ หรืออาจเป็นคนของ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ หลังจากนั้นทหารก็นำอาวุธหนักและกองกำลังเข้าปราบปรามประชาชน กลายเป็น ‘วันมหาวิปโยค’ ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งผ่านโทรทัศน์ในช่วงค่ำวันนั้น
มีคำอธิบายตามมาว่า เรื่องที่หน้าสวนจิตรฯ เป็นคำสั่งของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก ฝ่ายตรงข้ามจอมพลถนอม สั่งการไปยังตำรวจที่อยู่บริเวณนั้น ต้องการสร้างเรื่องให้วุ่นวาย เพื่อเอาจอมพลถนอมและพรรคพวกออกจากศูนย์กลางอำนาจ
แต่จนถึงวันนี้ ผ่านมา 49 ปี ยังคงไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้นหน้าพระตำหนักสวนจิตรฯ และใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
2. วัดชนะสงคราม
เมื่อสถานการณ์ที่สวนจิตรฯ ลุกลาม-บานปลาย ฝูงชนก็เริ่มเคลื่อนตัวกันไปทั่วบริเวณถนนราชดำเนินกลาง และเริ่มก่อจลาจลเพื่อ ‘เผา’ สถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของการปล่อยข่าวเท็จ โจมตีผู้ชุมนุม หนึ่งในนั้นคือ ‘กรมประชาสัมพันธ์’ ซึ่งถูกเผาทำลายจากผู้ชุมนุมเป็นสถานที่แรก ด้วยความเชื่อว่า หากเผากรมประชาสัมพันธ์ได้ ก็ยุติการแพร่ข่าวเท็จได้
ในที่สุด รัฐบาลก็นำกำลังทหารออกมา พร้อมด้วยรถยานเกราะจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เกียกกาย (ม.พัน 4) ซึ่งเป็นกองกำลังสำคัญทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ออกมาควบคุมฝูงชน ในภาพนี้ รถถังพร้อมด้วยยานเกราะจำนวนมากกำลังเคลื่อนผ่านวัดชนะสงคราม เพื่อนำไปรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณถนนราชดำเนิน
14 ตุลาฯ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเหตุการณ์แรก ที่มีการนำ ‘รถถัง’ ออกมาใช้กับประชาชน
3. บางลำภู แนวปะทะระหว่างทหาร-ประชาชน
เพื่อไม่ให้ประชาชนเติมเข้าไปบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐบาลระบุว่าเป็นศูนย์กลางของ ‘เหตุจลาจล’ และสถานที่สำคัญจำนวนมากเพิ่มเติม ทหารได้ตั้งแนวสกัดไว้ที่บริเวณ ‘สี่แยกบางลำพู’ และเริ่มยิงเข้าใส่ประชาชนบริเวณนี้เช่นกัน มีรายงานประชาชนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณดังกล่าว
คนหนึ่งที่อยู่บริเวณบางลำพู และถูกจับในเวลาต่อมาคือ สุธรรม แสงประทุม ซึ่งในเวลานั้นเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสุธรรมเป็นผู้ชักชวนประชาชนให้นั่งกลางสี่แยกบางลำพู พร้อมกับใช้รถดับเพลิงที่ประชาชนยึดจากรัฐมาได้เป็นเวทีปราศรัยขนาดย่อม
สุธรรมถูกจับกุมในเวลาต่อมา โดยไม่มีการตั้งข้อหา และได้รับการปล่อยตัวทันทีในช่วงค่ำ หลังจากที่ฝ่ายจอมพลถนอมยอมแพ้ เขาบอกว่า พันโท มนูญ รูปขจร ผู้ที่จับกุมเขาในเวลานั้น มีแผน ‘ฆ่า’ เขา เพราะด้วยผมเผ้าที่ยาวรุงรัง ทำให้ถูกคิดว่าเป็นทหารพราน เป็นคนของ พลโท วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ซึ่งเป็น ‘ขั้วตรงข้าม’ ของจอมพลถนอม แต่เมื่อขั้วอำนาจเปลี่ยนอย่างฉับพลัน สุธรรมก็ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ
4. โรงแรมรัตนโกสินทร์
โรงแรมรอยัล หรือโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นโรงแรมเก่าแก่ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2485 และเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย
สำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บริเวณล็อบบี้ของโรงแรมแห่งนี้ เป็นสถานที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นภายหลังมีการปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุม แต่ใช้ปฐมพยาบาลได้ไม่นาน ทหารก็เตรียมนำกำลังบุกเข้าสลายพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีประชาชนรวมอยู่เป็นจำนวนมาก
ในที่สุด ทหารก็ใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมในบริเวณดังกล่าวได้ โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในบริเวณนี้ หนึ่งในผู้บาดเจ็บคือ ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) ซึ่งถือไม้หน้าสามประจันหน้ากับทหาร ไม่ให้ทหารเคลื่อนพลเข้าไปใกล้กับพื้นที่โรงแรม จนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ กลายเป็นภาพของ ‘ไอ้ก้านยาว’ ที่เป็นภาพจำและอีกสัญลักษณ์หนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
5. ‘แนวรบ’ หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์
หลังจากมีการระดมรถถัง เฮลิคอปเตอร์ รถหุ้มเกราะ ทหาร และอาวุธครบมือ ประชาชนได้สะสมความโกรธแค้น จนเผาสถานที่สำคัญหลายแห่ง และบางส่วนได้ขับรถเมล์และรถขยะพุ่งเข้าชนรถถัง จนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ฝั่งตรงข้ามโรงแรมรัตนโกสินทร์ บริเวณใกล้กับกรมประชาสัมพันธ์ ยังมีเหตุการณ์ที่ทหารยิงเข้าใส่ จีระ บุญมาก นักศึกษาปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จนเสียชีวิต ภายหลังจากที่เขาพยายามเดินเข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ทหาร
นักศึกษาที่อยู่บริเวณนั้นนำธงชาติเข้ามาเช็ดเลือดจีระ ห่มร่างด้วยธงชาติ และนำศพขึ้นไปวางบนพานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะแห่ศพของจีระข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปยังฝั่งธนบุรี
6. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังการจับกุม ’13 กบฏฯ’ ที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นสถานที่สำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ โดยเริ่มต้นจากการติดโปสเตอร์ เริ่มชุมนุม และประกาศ ‘งดสอบ’ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2516
จอมพล ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงกับประกาศว่า มีคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ทั้งยังได้กล่าวตอนหนึ่งว่า จะเสียนิสิตนักศึกษาไปราว 2% จากจำนวนเป็นแสนคน ซึ่งจำเป็นต้องเสียสละเพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง
ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มคึกคักตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม เป็นต้นมา กระทั่งมีการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นทั่วประเทศ รวมไปถึงนักเรียนและประชาชนทั่วไป เข้ามายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 กลายเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดของประชาชน นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475
เช้าวันที่ 14 ตุลาคม หลังการปะทะกันหน้าพระตำหนักสวนจิตรลดา นักศึกษาได้กลับเข้ามาใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถานที่ในการตั้งรับกับทหาร และตั้งศูนย์พยาบาลสนามขึ้นในมหาวิทยาลัย ภาพของควันดำที่ปกคลุมด้านหลังตึกโดม เมื่อมองจากท่าวังหลัง มาจากการเผาอาคารสำคัญหลายแห่งบริเวณถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจะเป็นกองสลากกินแบ่งรัฐบาล กรมประชาสัมพันธ์ หรืออาคารคณะกรรมการติดตามผลการปฏิบัติราชการ
ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รอดจากการถูกทหารใช้กำลังบุกเข้ามาได้ แต่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
7. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ภาพประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อประชาชนเรือนแสนเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 มุ่งหน้าสู่ถนนราชดำเนิน ยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยตัว 13 กบฏฯ ก่อนเคลื่อนขบวนต่อไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า
ในวันเกิดเหตุ 14 ตุลาฯ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศูนย์กลางของถนนราชดำเนินกลาง กลายเป็นจุดศูนย์รวมของประชาชน เมื่อทหารเริ่มใช้ความรุนแรง ประชาชนก็เริ่มเติมเข้ามายังพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด เวลา 19.15 น. จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ยอมประกาศลาออกจากตำแหน่ง
ในเวลา 19.40 น. ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนไทย ว่าด้วย ‘วันมหาวิปโยค’ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอันสิ้นสุดวันอันยาวนาน โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นรวม 77 คน บาดเจ็บ 857 คน
หนึ่งวันหลังจากนั้น จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม และบุตรเขยของจอมพลประภาส ก็เดินทางออกนอกประเทศ
8. เช่นเคย ไม่มีใครต้องรับผิดแม้แต่คนเดียว…
ในภาพนี้ กำลังทหารกำลังเดินเรียงแถวจากบริเวณบางลำภู ผ่านหน้าวัดชนะสงคราม มุ่งหน้าไปยังถนนราชดำเนินกลาง ข้อมูลจาก www.14tula.com ซึ่งรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์เขียนบรรยายภาพไว้ว่า เป็นทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ฯ พร้อมอาวุธครบมือ
แต่แม้จะมีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากปฏิบัติการของทหาร ก็ไม่เคยมีใครต้องรับผิดจากเหตุการณ์นี้เลยแม้แต่คนเดียว
8 พฤศจิกายน 2516 สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้จัดให้มีการค้นหาความจริงและสอบสวนการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผ่านการทำรายงานของกระทรวงกลาโหม ออกเป็นคำแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี เรื่อง ‘การสอบสวนการสั่งการของจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร และการปฏิบัติการของ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร’ ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2516 โดยยังเชื่อว่าจะสามารถเอาผิดกับทั้ง 3 คนได้
แต่การสืบหาข้อเท็จจริงก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า และค่อยๆ เงียบหายไป ไม่เคยมีใครรู้ว่าผู้สั่งการ ผู้บงการคือใคร และการนำอาวุธหนักจัดการกับประชาชนนั้น เป็นไปด้วยวัตถุประสงค์ใด
ถัดจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ กลับมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ท่ามกลางความคลุมเครือว่ากฎหมายฉบับนี้ ได้รวมถึงผู้ที่สั่งการ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง หรือผู้ที่กระทำผิดหรือไม่ แต่จากการที่ไม่มีกระบวนการเอาผิดกับจอมพลถนอม จอมพลประภาส พันเอกณรงค์ หรือผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะอยู่เบื้องหลังคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น นายตำรวจที่พระตำหนักสวนจิตรลดา หรือกลุ่มของพลโท วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ก็สะท้อนว่ามีการ ‘เคลียร์’ กันได้ของบรรดาชนชั้นนำ
เมื่อไม่มีการดำเนินคดี ทำให้ จอมพลประภาส จอมพลถนอม และพันเอกณรงค์ เริ่มทยอยเดินทางกลับเข้าประเทศไทย ในครั้งแรกๆ ก็พบกับความล้มเหลว แต่ในปี 2519 หลัง ‘ฝ่ายขวา’ จัดการกับขบวนการนักศึกษาได้เด็ดขาด ทั้งหมดก็กลับเข้าประเทศไทยได้โดยไร้ความผิด
แล้วสาเหตุจริงๆ ในความรุนแรงของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คืออะไร? มีทฤษฎีที่แวดล้อมอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นทางการ (ซึ่งคนเชื่อน้อยมาก) อย่างการที่ ‘คอมมิวนิสต์’ เข้ามาแทรกแซงขบวนการนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยจังหวะชุลมุน เพื่อเผาอาคารคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (กตป.) เพื่อทำลายหลักฐานการคอร์รัปชันของกลุ่มราชการ
สุดท้าย เรื่องที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ การพยายามล้มรัฐบาล 3 ทรราช ของพลเอกกฤษณ์ แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน โอสถ โกศิน อดีตรัฐมนตรีที่อยู่ใกล้ชิดพลเอกกฤษณ์นั้น บอกว่าพลเอกกฤษณ์เป็นคนสั่งห้ามไม่ให้ทหารใช้ความรุนแรงเสียด้วยซ้ำ
แต่ที่แน่ๆ กลุ่มของพลเอกกฤษณ์และกลุ่มของจอมพลถนอมนั้นขัดแย้งกันอย่างหนักจริงจากการแย่งชิงอำนาจในกองทัพบก หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผ่านไปได้ไม่ถึง 3 ปี พลเอกกฤษณ์ก็เสียชีวิตอย่างลึกลับจากอาการหัวใจวาย หลังรับประทานข้าวเหนียวมะม่วง ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องเล่าปากต่อปากคือมีความเป็นไปได้ที่พลเอกกฤษณ์อาจถูก ‘วางยา’
หลังจากพลเอกกฤษณ์เสียชีวิตไม่ถึง 4 เดือน กองทัพก็ปั่นป่วน มีความพยายาม ‘รัฐประหาร’ หลายครั้ง จากหลายกลุ่ม โดยในที่สุด ‘ฝ่ายขวา’ ในกองทัพก็เป็นผู้กุมอำนาจ และในที่สุด จอมพลถนอมก็บวชพระกลับไทย กลายเป็นที่มาของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ประวัติศาสตร์ระหว่างปี 2516-2519 จะยังคงเป็นเรื่องลึกลับคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยต่อไป เช่นเดียวกับเหตุการณ์ทางการเมืองอีกหลายเหตุการณ์ในประเทศนี้
ที่แน่ๆ ก็คือทุกคนที่เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุชุลมุนและแย่งชิงอำนาจเหล่านี้ล้วน ‘ตายฟรี’ ไม่เคยมีการดำเนินคดีใครได้ และไม่มีใครต้องรับผิดแม้แต่คนเดียว