‘I am Generation Equality : Realizing Women’s Rights’ คือธีมวันสตรีสากลโลกปี 2020 เน็ตฟลิกซ์ร่วมกับยูเอ็น วีเมน จึงร่วมมือกันเปิดตัว Because She Watched คอลเลคชั่นของภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดีที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เพื่อนำเสนอมุมมองและประเด็นเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจ ‘สตรี’ มากขึ้น โดยได้รวบรวมความคิดเห็นจากนักแสดงและผู้สร้างหญิงคนเก่งจากทั่วโลกถึง 55 คน มาร่วมคัดสรรเรื่องราวหลากหลายให้ได้โลดแล่นอยู่บนหน้าจอเน็ตฟลิกซ์ตลอดทั้งปี
ผู้หญิง 55 คนทั่วโลกที่ร่วมเลือกสรรเรื่องราวให้เน็ตฟลิกซ์นั้นมีทั้ง มิลลี่ บ็อบบี้ บราวน์ (นักแสดงนำ Stranger Things) ,ลอรี นัน (ผู้เขียนบท Sex Education) ,ซัลมา ฆาเยก (นักแสดงนำ Frida) รวมไปถึงคนไทยเพียงคนเดียวในแคมเปญนี้ก็คือ ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ผู้เริ่มแคมเปญที่เรียกร้องให้ยุติการคุกคามทางเพศ #DontTellMeHowToDress และพิธีกรรายการ Asia’s Nex Top Model
เส้นทางการก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันของซินดี้ไม่ได้เรียบง่าย เธอต้องผ่านการต่อสู้กับตัวเองและการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในหลายเรื่องกว่าจะกลายเป็น ซินดี้ สิรินยาผู้เป็นกระบอกเสียงให้กับสังคม เธอเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่อายุ 13 ที่ได้เข้าเริ่มเข้ามาในวงการนางแบบ จวบจนวันนี้ 20 กว่าปีแล้ว เธอเห็นการแบ่งแยกและการมองคุณค่าของผู้หญิงในสังคมไทยอย่างชัดเจน
“สำหรับคนที่ทำงานในวงการบันเทิงแล้ว มีแต่คนมองเราจากรูปลักษณ์ภายนอก ถูกมองว่าผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุโดยเฉพาะนางแบบ หุ่นต้องแบบนี้ หน้าตาต้องเป็นแบบนี้ เราไม่มีค่านอกจากภายนอกที่คนอื่นเห็น เราอึดอัด”
การมองคุณค่าผู้หญิงเพียงรูปลักษณ์ภายนอกนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการมองเพศหญิงเป็นเพียงวัตถุ และอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงในลำดับต่อไป ซินดี้เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา นั้นเป็นเพราะที่ผ่านมาสื่อจำนวนหนึ่งได้ถ่ายทอดประเด็นความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงเสมือนความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้หญิงจำเป็นต้องยอมรับให้ได้ หรือเป็นอะไรที่ผู้คนสามารถเห็นจนชินตา
“แล้วถ้าเด็กผู้ชายดูอยู่ที่บ้าน เขาก็จะมองว่า อ๋อ ทำแบบนี้กับผู้หญิงได้เป็นเรื่องปกติ สำหรับเด็กผู้หญิงก็อาจจะคิดว่า นี่คือเรื่องธรรมดาที่ตัวเราต้องเจอ ดังนั้น สื่อทุกรูปแบบก็ควรจะคำนึงถึงสิ่งนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวงการข่าวหรือวงการบันเทิง”
จากพาดหัวข่าวในวันนั้นสู่นิทรรศการ Don’t Tell Me How To Dress ที่โด่งดัง
แม้ว่าจะมีความสนใจเรื่องความเท่าเทียมกันของทุกเพศรวมถึงสนใจปัญหาความรุนแรงในเพศหญิงมาตั้งนานแล้ว แต่จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อผู้หญิงอย่างจริงจังของซินดี้ คือการที่เช้าวันหนึ่งเธอได้อ่านหนังสือพิมพ์แล้วเจอพาดหัวข่าวว่า “อย่าแต่งตัวโป๊ แล้วคุณจะปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ” และเมื่อเปิดไปอ่านด้านในก็พบแต่เนื้อหาสอนผู้หญิงว่าให้แต่งตัวอย่างมิดชิด เธออ่านแล้วโกรธจนเสียงสั่น และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่เธอได้เริ่มสื่อสารสิ่งนี้ออกไปทางโซเชียล ผลตอบรับจากการสื่อสารในครั้งนี้ได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะผู้คนต่างออกมาพูดคุยเรื่องปัญหาความรุนแรงของผู้หญิง สิ่งที่ผู้หญิงถูกกล่าวหาและถูกกระทำมาตลอด เธอจึงคิดหาหนทางทำให้การรณรงค์ในครั้งนี้มีความจริงจังมากขึ้น
ก้าวแรกของซินดี้ในฐานะกระบอกเสียงเพื่อรณรงค์เรื่องความเสมอภาคทางเพศคือการที่เธอเดินทางไปที่สำนักงานยูเอ็น วีเมน (UN Women) บอกเล่าไอเดียที่เธอต้องการจะจัดนิทรรศการรวบรวมเสื้อผ้าของผู้หญิงในวันที่พวกเขาโดนกระทำความรุนแรงทางเพศมาจัดแสดงให้เห็นเลยว่าผู้หญิงเหล่านี้ได้แต่งตัวโป๊เปลือยหรือไม่ และพบว่าโดยส่วนมากผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงดังกล่าวแต่งตัวมิดชิดอย่างยิ่ง ซึ่งก็กลายมาเป็นนิทรรศการ Don’t Tell Me How To Dress ที่จัดแสดงที่ห้างสยามพารากอนไปเมื่อปี 2018
“ปีที่แล้วซินดี้ไปยื่นหนังสือกับกรมตำรวจว่า ถ้าคุณจะออกคำพูดหรือแคมเปญแนะนำ อย่าใช้คำพูดให้ฝ่ายผู้หญิงต้องปกป้องตัวเอง อย่าใช้ถ้อยคำที่ว่า “ระวังอย่าโดนลวนลาม” ถามจริงๆ ว่ามันแปลว่าอะไร ระวังยังไง ทำไมไม่บอกฝ่ายที่กระทำผิดว่า “อย่าไปลวนลาม””
นอกจากนี้ ซินดี้ยังเล่าให้ฟังอีกถึงประเด็นที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศแล้วพบว่า 91 เปอร์เซ็นต์ของคดีที่ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ ผู้กระทำส่วนมากมาจากคนที่เธอรู้จัก คนในครอบครัว คนในชุมชน เพื่อน แฟน หรือแม้แต่สามี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยแแนวคิดหรือมายาคติที่เชื่อว่าผู้หญิงยังเป็นทรัพย์สินของผู้ชาย หรือผู้หญิงยังไม่มีความเท่าเทียมในเรื่องของคุณค่าในตัวเองเทียบเท่ากับผู้ชาย เพราะฉะนั้นผู้ชายจึงสามารถทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้
“มีการทำเซอร์เวย์จาก 4-5 ประเทศ ในเอเชีย ถามผู้ชายว่าทำไมคุณถึงทำกับผู้หญิงแบบนี้ เหตุผลส่วนใหญ่ตอบว่า เพราะผมเป็นผู้ชาย ผมจึงทำได้ คำถามก็คือ แล้วผู้ชายคนนี้เขามีความคิดแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นคนบอกว่า You’re more worth than women”
การปลูกฝังแนวคิดเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกันตั้งแต่วัยเด็กคือรากฐานสำคัญในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ซินดี้เชื่อว่า พวกเราถูกปลูกฝังมาเหมือนๆ กัน ผู้หญิงและผู้ชายต่างก็ถูกปลูกฝังในเรื่องคุณค่าแบบผิดๆ เพราะฉะนั้นเราทุกคนควรกลับไปศึกษาดูว่าเรากำลังใส่ความคิดแบบนี้ให้กับลูกจากที่ไหน จากตัวเอง จากพ่อแม่ หรือจากสังคม ดังนั้น โปรเจกต์ต่อไปของซินดี้ก็คือ การสร้างสรรค์หนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก 5-8 ขวบ เพราะซินดี้เห็นว่าช่วงเวลานี้คือช่วงที่จะสร้างความคิดทุกอย่างให้กับเขาตั้งแต่นี้ตลอดไป เราต้องต้องเริ่มที่จะให้เขาภาคภูมิใจในตัวตนของตัวเอง ให้เขาเคารพคนอื่นไม่ว่าจะเพศใด สีผิวใดก็ตาม ให้เขาเข้าใจว่าร่างกายเป็นของเรา เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธการจับ นี่คือพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ และสังคมยังไม่เข้าใจตรงนี้ดีพอเพราะคิดว่าเด็กยังไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้
“ซินดี้ไม่ได้แยกเรื่องความเป็นลูกสาวและลูกชาย ซินดี้ไม่เคยสอนว่าห้ามตีผู้หญิงเพราะเขาเป็นผู้หญิง แต่ซินดี้จะบอกว่า อย่าไปตีเขาเพราะเขาไม่ชอบ เขาเป็นคน หรือสมมติว่ามีแม่บ้านบอกลูกชายว่าเป็นเด็กผู้ชายต้องอย่าร้องไห้ เราก็จะบอกแม่บ้านว่าเขาเจ็บ เลือดออกอยู่ ให้เขาร้องเพราะเขาเป็นคน คนเจ็บ สามารถร้องไห้ได้ มันไม่มีความผู้หญิงผู้ชาย อีกอย่างหนึ่ง ในบ้านเรานั้นเรื่อง consent สำคัญมาก เวลาลูกเล่นกันแล้วมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า “I don’t wanna play anymore” เราจะคอยดูว่าอีกฝ่ายเคารพอีกฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า ถ้าเกิดต้องพูดหลายรอบเราก็จะอธิบายเรื่อง consent ให้เขาฟังและลูกของซินดี้ก็เข้าใจเรื่อง consent ตั้งแต่ 5 ขวบ วันนี้มันเป็นเรื่องของของเล่น แต่ในวันข้างหน้ามันจะเป็นเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าเดิม”
นอกจากนี้แล้วซินดี้ยังอยากแนะนำซีรีส์ 2 เรื่องให้กับผู้ชมทุกท่านให้ได้ตื่นจากความหลับใหลที่มีต่อความรุนแรงในสังคม ตื่นจากการเพิกเฉยเรื่องสิทธิของสตรี และร่วมปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวให้กับคนรอบข้างรวมถึงตัวเอง นั่นก็คือซีรีส์เรื่อง Anne with an E และ Unbelieavable
Anne with an E เป็นซีรีส์แนวพีเรียดดราม่าที่ตอนนี้มีอยู่ 3 ซีซั่น ตัวละครเอกคือ แอน เด็กกำพร้าคนหนึ่งที่เขาต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อที่จะมีตัวตน ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างเพื่อให้ตนเองมีที่ยืนในสังคม ได้รับความรักและความอบอุ่นโดยผ่านเส้นทางการบุลลี่ การแบ่งชนชั้น ที่เธอต้องใช้ความเฉลียวฉลาด ความคิดและจินตนาการที่น่าทึ่งเพื่อข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านี้ให้ได้
“ถึงแม้ว่าเรื่องมันจะเกิดเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว แต่มันก็คือ It’s the same thing , It’s the same issue ถ้าเราดูกับลูกและอธิบายได้ มันก็ทำให้ลูกได้เรียนรู้มากขึ้น” ซินดี้กล่าว
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ซินดี้ยังเลือกซีรีส์เรื่อง Unbelievable มาแนะนำพวกเรา เธอเล่าให้ฟังว่า เรื่องนี้สอดคล้องกับแคมเปญอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรุนแรงของผู้หญิงโดยเฉพาะการคุกคามทางเพศ แล้วหลายๆ ครั้งที่ผู้หญิงโดนกระทำย่อมเกิดบาดแผลทางจิตใจ แค่ถูกกระทำก็มากพอแล้ว แต่เมื่อขอความช่วยเหลือก็จะบาดเจ็บซ้ำๆ เข้าไปอีก เหมือนที่มารี ตัวเอกในเรื่องนี้ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่มีคนร้ายบุกเข้ามาข่มขืนในห้องนอนแต่ไม่มีใครเชื่อเธอ ทุกคนตั้งคำถามตลอดเวลาทั้งฝ่ายผู้หญิงและฝ่ายผู้ชาย ซินดี้ยังกล่าวอีกว่า “ถ้าได้ดูก็จะเห็นภาพที่พวกเราทำแคมเปญ นี่คือ issue ต่างๆ เที่เราพยายามสร้างความตระหนักให้กับสังคม”
พลังของเน็ตฟลิกซ์กับการรณรงค์เรื่องสิทธิสตรี
การร่วมมือกันของยูเอ็น วีเมน และเน็ตฟลิกซ์ในครั้งนี้ถือเป็นการพิสูจน์ว่าสื่อบันเทิงนั้นเป็นช่องทางที่ทำหน้าที่ในการสร้างความตระหนักและสะท้อนปัญหาที่ผู้หญิงรอบตัวเราต้องประสบได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำเสนอภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงต้องเผชิญ สิทธิที่เธอควรจะได้รับในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมที่สำคัญที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ซึ่งก็คือความหลากหลายทางเชื้อชาติและทางเพศ
ทางเน็ตฟลิกซ์เล่าว่า “เราต้องการสร้างความบันเทิงให้คนทั่วไปในขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างความรับรู้ ว่ามันมีความไม่เท่าเทียมตั้งแต่อดีต จนถึงตอนนี้ก็ยังพบเจอเรื่องราวแบบนั้นอยู่ และเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องของพฤติกรรมหรือทัศนคติที่โลกมีต่อผู้หญิง ซึ่งแต่ก่อนมองว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน ต้องอยู่ในครัว ห้ามมีปากมีเสียง แต่ใครจะรู้ว่าผู้หญิงที่มีปากมีเสียงคือผู้หญิงที่เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่เลือกทำตามสิ่งที่สังคมตีกรอบให้ทำ”
นอกจากนี้ ซินดี้ยังเสริมแนวคิดของเน็ตฟลิกซ์ในเรื่องการเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้สังคมมองเห็นคุณค่าของผู้หญิง เพราะเธอเชื่อในศักยภาพ เชื่อในพลังที่ทรงคุณค่าของผู้หญิงทุกคน และสนับสนุนให้ทุกคนได้แสดงออกตามต้องการโดยไม่จำเป็นต้องกังวลกับกรอบของสังคมที่บีบผู้หญิงเอาไว้
“ผู้หญิงไม่มีอารมณ์ทางเพศเหรอ พอเรามีความต้องการอะไรแบบนี้มันจะกลายเป็นว่าไม่ได้ มันไม่ใช่ภาพของผู้หญิง มันมีหลากหลาย เวลาฉันแต่งตัวตอนเช้า ฉันไม่ได้คิดว่าผู้ชายที่จะเห็นคือใครและผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้แต่งตัวเพื่อผู้ชาย เขาแต่งเพื่อความมั่นใจ ผู้หญิงทุกคนไม่ได้อยู่บนโลกนี้เพื่อผู้ชาย”
ซินดี้ได้ทิ้งท้ายให้เราทุกคนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เรื่องความเสมอภาคทางเพศและปัญหาความรุนแรงในเพศหญิงว่า สำหรับใครก็ตามที่มีแพชชั่นในเรื่องนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพราะถ้าข้อมูลคุณไม่แน่น แล้วไม่เข้าใจปัญหาจริงๆ ก็จะมีความเสี่ยงว่าอาจเกิดข้อผิดพลาดในการให้ข้อมูล เราสามารถเป็นได้ทั้งแอคทิวิสต์ตัวยง หรือจะแทรกประเด็นเหล่านี้ลงไปในหัวข้อป๊อปคัลเจอร์ในฐานะของคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ก็สามารถทำได้ และอย่าลืมหาคนที่สามารถร่วมแชร์ความคิดของคุณเพื่อให้เสียงดังยิ่งขึ้น ก่อนที่จะให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า
“หากคุณรู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่ใช่หรือไม่ถูก ให้พูด เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เชื่อในสิ่งที่คุณทำ ถ้ามันใช่จริงๆ อย่ากลัว”
Tags: ซินดี้ สิรินยา บิชอพ, Netflix, WomanRight, woman, Because She Watched, UN Women