ย้อนไปในช่วงปีใหม่อันแช่มชื่นของช่องบีบีซี สถานีโทรทัศน์สาธารณะของอังกฤษ เริ่มต้นด้วยความสยดสยองของแดรคูลา ผ่านการตีความใหม่โดยสตีเวน มอฟแฟต (Stephen Moffat) และมาร์ค เกทิสส์ (Mark Gatiss) ราวกับจะพยากรณ์ได้ว่าตั้งแต่ต้นทาง ค.ศ. 2020 เป็นปีของปีศาจร้าย เต็มไปด้วยมหันตภัยไม่คาดฝัน 

แดรคูลานั้นเป็นปีศาจที่ถูกตีความไว้หลายทางมาตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ และกลายเป็นว่าการตีความเหล่านั้นเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันทั่วโลกอย่างประหลาด แดรคูลานั้นถูกมองว่าจะเอาเชื้อร้ายจากดินแดนฝั่งตะวันออกมาระบาดในอังกฤษ แถมยังกลายร่างเป็นค้างคาวได้ด้วย ชวนให้นึกถึงภาพของ ‘ซุปค้างคาว’ ที่ถูกเผยแพร่ในช่วงแรกระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นการผลิตซ้ำภาพชาวจีนว่าป่าเถื่อน ล้าหลัง แม้ภายหลังจะมีข่าวว่าภาพนั้นมาจากหมู่เกาะปาเลาในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ได้มาจากเมืองอู่ฮั่นก็ตาม แต่จนถึงตอนนี้เราก็ได้เห็นภาพการเหยียดเชื้อชาติตะวันออกโดยชาวตะวันตกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้

เคลส แบง (Claes Bang) รับบทแดรคูลาใน Dracula (2020) ภาพจาก Evening Standard

ความกลัวค้างคาวนั้นดูเหมือนจะดำรงอยู่ควบคู่ไปกับการเหยียดชาติพันธุ์ สอดคล้องกับค้างคาวและแดรคูลาฉบับแบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) ซึ่งอแบรแฮม แวน เฮลซิง (Abraham Van Helsing) มือปราบแวมไพร์ กล่าวไว้ว่าค้างคาวเป็นสัตว์ชั้นต่ำ (lower animals) รวมไว้กับหนูและนกฮูก วัฒนธรรมตะวันตกนั้นมักมองค้างคาวเป็นสัตว์แห่งปรโลก เช่น ในวรรณคดีเอกภาษาอิตาเลียนชื่อ สุขนาฏกรรมแห่งเทวัญ (La Divina Commedia) ของดันเต อลิกิเยรี (Dante Alighieri) นั้น ซาตานนั้นมีปีกคล้ายค้างคาว และแม้แบรม สโตเกอร์จะเป็นคนเริ่มต้นทำให้แวมไพร์กลายร่างเป็นค้างคาวได้ในนิยายของเขา แต่ก็มีความเชื่อกันมานานแล้วในศตวรรษที่สิบเก้าว่าค้างคาวเป็นตัวแพร่โรคผีดูดเลือด ดังนั้น ณ บริบทปี 2020 ซึ่งมีโรคโควิด-19 ระบาด และครั้งหนึ่งค้างคาวก็เคยถูกมองว่าเป็นต้นตอ แดรคูลาจึงอาจเป็นวรรณกรรมที่เราควรกลับไปมองในมุมชาติพันธุ์ศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ในคราวเดียวกัน

ภาพซาตานในนรก โดยกุสตาฟ โดเร (Gustave Doré) ประกอบมหากาพย์สุขนาฏกรรมแห่งเทวัญ ภาพจาก openculture

จุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงค้างคาวกับแวมไพร์นั้นเริ่มที่การค้นพบค้างคาวแวมไพร์ในทวีปอเมริกาใต้ตั้งแต่ช่วงจักรวรรดิสเปน ความเข้าใจผิดว่าค้างคาวเป็นที่มาของผีดูดเลือดหรือแวมไพร์ ซึ่งดูเหมือนจะระบาดอยู่ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เมื่อมีชาวนาล้มตายลงอย่างเป็นปริศนา ทุกคนก็นำไปฝังศพแล้ววางดอกกระเทียมทับเพื่อไล่ปีศาจ 

หากในความเป็นจริง บรรดาค้างคาวแวมไพร์ ถูกเรียกว่าขานอย่างนั้นเพราะนักสำรวจจากยุโรปเดินทางไปยังทวีปอเมริกาใต้ แล้วค้นพบค้างคาวที่กินเลือดเป็นอาหาร จึงเรียกค้างคาวจำพวกนี้ตามตำนานแวมไพร์มาตั้งแต่ยุคสมัยแห่งการสำรวจของจักรวรรดิสเปน (ซึ่งบางสายพันธุ์ก็ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นค้างคาวดูดเลือด)

ค้างคาวตัวแรกที่ถูกเรียกว่าค้างคาวแวมไพร์ในชื่อวิทยาศาสตร์เป็นชนิดแรกนั้นค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1751 ที่ประเทศเอกวาดอร์ (Ecuador) ได้ชื่อว่า Vampyrum Spectrum คำแรกก็ชัดเจนแล้วว่าเป็นแวมไพร์แน่นอน ส่วนคำหลังไม่เกี่ยวกับแสงเจ็ดสีที่หักเหด้วยพริซึม แต่แปลว่าปีศาจ ความหมายนี้ยังคงอยู่ในคำว่า specter ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่าภูตผี ถ้าคุณสนใจสัตววิทยาหรือชีววิทยา คุณอาจจะพอเดาได้แล้วว่า Vampyrum Spectrum นั้นเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของ False Vampire Bats หรือ Linneus’ False Vampire Bats หรือแปลหยาบๆ ในภาษาไทยคือค้างคาวแวมไพร์ปลอม (ลินเนียส) บางคนก็เรียกว่า Spectral Bat หรือค้างคาวผี 

คนที่เรียกมันว่า Vampyrum คือคอนสแตนติน ซามูเอล ราฟิเนสค์ ชมัลทซ์ (Constantine Samuel Rafinesque-Schmaltz) นักวิทยาศาสตร์ลูกครึ่งฝรั่งเศสเยอรมัน เรียกไว้ในค.ศ. 1815 สาเหตุที่ภายหลังมีคำว่า ‘ปลอม’ ในชื่อก็เพราะเรียกกันจนชินแล้วว่าเป็นค้างคาวแวมไพร์ ทั้งๆ ที่จริงๆ มาค้นพบทีหลังว่าไม่ได้กินเลือดด้วยซ้ำ เข้าใจว่าที่ตั้งชื่อค้างคาวสายพันธุ์นี้เป็นแวมไพร์น่าจะเป็นเพราะขนาดลำตัวใหญ่ บทความหนึ่งในศตวรรษที่สิบแปดกล่าวว่าค้างคาวแวมไพร์นั้นมีปีกที่ใหญ่เพื่อพัดวี กล่อมให้เหยื่อหลับสบายขณะดูดเลือด ดังนั้นสายพันธุ์นี้จะถูกทึกทักว่าเป็นสายพันธุ์แวมไพร์ก็ไม่แปลก ในเวลาต่อมาถึงจะมีการค้นพบสายพันธุ์ที่กินเลือดเป็นอาหารจริงๆ 

ค้างคาวแวมไพร์ปลอมลินเนียส หรือ ค้างคาวผี ภาพจาก Vladimir Dinets ใน phys.org

การค้นคว้าเกี่ยวกับค้างคาวแวมไพร์ในยุคหลังนั้นทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้ว่าค้างคาวแวมไพร์เหล่านี้ไม่สามารถทำให้ใครเสียชีวิตด้วยการดูดเลือดจนหมดตัวได้ ขนาดลำตัวของค้างคาวแวมไพร์แท้จริงแล้วนั้นเล็กมาก และแทบจะไมกินเลือดมนุษย์เลยถ้าสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด หรือหากจะกินเลือดมนุษย์ก็กินในปริมาณไม่เกินหนึ่งช้อนโต๊ะ วิธีการกินเลือดของค้างคาวเหล่านี้ไม่ใช่วิธีการดูดเลือดแบบแวมไพร์ แต่เป็นการกัดและเลียเลือดเข้าปากมากกว่า เมื่อค้างคาวเหล่านี้หาอาหาร จะบินลงที่พื้นแล้ววิ่งเข้าหาเหยื่อ ไม่ได้บินและขยับปีกเพื่อกล่อมเหยื่อให้หลับอย่างที่เข้าใจกันในศตวรรษที่สิบแปด 

เกร็ดน่ารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับค้างคาวสายพันธุ์นี้คือ ค้างคาวแวมไพร์เป็นสัตว์สังคม มักช่วยเหลือกันแต่งขนและสนทนากันขณะแต่งขนไม่ว่าจะอยู่ในป่าหรือในห้องวิจัยก็ตาม ซึ่งมองได้ว่าเป็นการเข้าสังคม ค้างคาวที่อยู่ในห้องวิจัยเมื่อถูกปล่อยสู่ป่ายังมีพฤติกรรมแต่งขนเช่นเดิม แต่อาจไม่ถูกรวมเป็นพวกเดียวกันกับพวกที่อยู่ในป่ามาก่อน กรณีนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ค้างคาวแวมไพร์มีพฤติกรรมกีดกันแบ่งแยกราวกับสังคมมนุษย์ 

นอกจากนี้มันยังแบ่งอาหารให้กันในกรณีที่ค้างคาวตัวอื่นไม่สามารถหาอาหารได้ หากมีค้างคาวตัวใดไม่สามารถหาอาหารได้ ค้างคาวแวมไพร์ตัวอื่นจะขย้อนเลือดที่ตัวเองหามาได้แบ่งให้ตัวที่หาอาหารไม่ได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ผู้รับอาหารตัวเดิมหาอาหารได้ ก็ต้องนำมาแบ่งปันตอบแทนเช่นกัน อันที่จริง ความพยายามจะให้คนทำความรู้จักค้างคาวแวมไพร์นอกเหนือไปจากตำนานนั้นมีตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้าแล้ว แต่ความกลัวสิ่งมีชีวิตจากดินแดนอื่นซึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดเรื่องจักรวรรดินิยมนั้นทำให้ค้างคาวแวมไพร์ยังเป็นสัตว์เดรัจฉานน่าเกลียดน่ากลัว ไม่ต่างจากคนซึ่งมาจากดินแดนอื่น
(คำบรรยายภาพ: ค้างคาวแวมไพร์ปีกขาว (White-winged Vampire Bats) สองตัวกำลังกินเลือดจากตีนข้างหนึ่งของไก่ ภาพโดย J. Scott Altenbach จาก Bat Conservation International)

ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้านั้น จักรวรรดิบริเตนเริ่มตระหนักถึงความอ่อนแอและการล่มสลายของตัวเอง เมื่อจักรวรรดิเริ่มเผชิญการขัดขืนจากดินแดนอาณานิคมต่างๆ จนพ่ายแพ้ในสงครามโบเออร์ (Boer War) ซึ่งสู้รบกับชาวดัตช์ในอัฟริกาใต้ ชาวอังกฤษเริ่มตระหนักถึงความเสื่อมเผ่าพันธุ์ตัวเองจนเกิดวรรณกรรมบุกรุก (Invasion literature ) ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการบุกรุกของคนชาติพันธุ์อื่น ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายสัตว์ 

ส่วนใหญ่แล้ว วรรณกรรมบุกรุกมักจบลงด้วยการปราบปีศาจผู้บุกรุกได้สำเร็จ ในขณะเดียวกัน วรรณกรรมบุกรุกก็ตั้งคำถามกับความศักดิ์สิทธิ์ของขอบเขตของจักรวรรดิซึ่งมีรอยปริแตกให้ผู้บุกรุกเข้ามา นอกจากนี้ ผู้บุกรุกยังตั้งคำถามกับศีลธรรม และการสร้างขั้วตรงข้ามในหลายๆ มิติโดยเฉพาะมิติทางชาติพันธุ์ ซึ่งไม่อาจแยกขาดจากสายพันธุ์ ผู้สนับสนุนจักรวรรดินำแนวคิดวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วินสร้างแนวคิดบันไดวิวัฒนาการ (Evolutionary ladder) ซึ่งจัดวางชาติพันธุ์ต่างๆ ตามลำดับขั้นของวิวัฒนาการซึ่งสอดคล้องกับความ ‘ล้าหลัง’ หรือ ความ ‘ก้าวหน้า’ ของชาติพันธุ์นั้นๆ ยิ่งล้าหลังเท่าไร ยิ่งใกล้สัตว์มากขึ้นเท่านั้น 

วรรณกรรมบุกรุกนั้นเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่งอาจตั้งคำถามหลักการของจักรวรรดิ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความชอบธรรมให้จักรวรรดิใช้ความรุนแรงต่อชาติพันธุ์อื่นต่อไป เพราะจักรวรรดิถูกบุกรุก หลังการสร้างแนวคิดทฤษฎีเชื้อโรค (Germ theory) ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า ภาพเชื้อโรคบุกร่างกายมักถูกอธิบายด้วยภาษาในเชิงการทหาร คนบางชาติพันธุ์นั้นถูกเหยียดว่าเป็นเชื้อโรคบุกเข้าในร่างกายของจักรวรรดิ

แดรคูลาเป็นวรรณกรรมบุกรุกโดยไม่ต้องสงสัย เราอาจเห็นว่าแดรคูลาเป็นวรณกรรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับดินแดนอาณานิคมอย่างตรงไปตรงมา แต่นักวิจารณ์อย่างสตีเวน อารตะ (Stephen Arata) มองว่าแดรคูลากำลังย้อนกลับไปล่าอังกฤษเป็นดินแดนอาณานิคมของตน และถึงแม้ว่านวนิยายเรื่องแดรคูลาจะไม่ได้มีฉากอยู่ที่ประเทศอาณานิคมอังกฤษโดยตรง แต่ดินแดนที่แดรคูลาเดินทางมานั้นถูกโจนาธาน ฮาร์เคอร์ (Jonathan Harker) ตัวละครเอกตัวหนึ่งมองว่าอยู่ใกล้ตะวันออก และพัวพันกับพวกตุรกี นอกจากนี้ การตีความประเด็นอาณานิคมกับแดรคูลานั้น สะท้อนให้เห็นการอ่านแดรคูลาเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อังกฤษกำลังมีปัญหาด้วย เช่นการตีความว่านวนิยายเรื่องแดรคูลาเป็นการสะท้อนความกลัวชาวยิวอพยพ ชาวยิวเหล่านี้มาจากรัสเซีย ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกซึ่งอพยพมายังสหราชอาณาจักรในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้า หลังถูกทางการรัสเซียกดขี่และไล่ล่า ชาวยิวนั้นถูกเชื่อมโยงกับโรคระบาดมาตั้งแต่สมัยกลาง เพราะเชื่อกันว่าเป็นต้นเหตุให้พระเจ้าลงโทษมนุษย์ด้วยโรคระบาด สำหรับนวนิยายเรื่องแดรคูลานั้น นอกจากแดรคูลาจะถูกมองว่ามาแพร่เชื้อโรค เปลี่ยนคนเป็นปีศาจร้ายแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังสอดคล้องกับความเชื่อผิดๆ ที่ว่าชาวยิวใช้เลือดมนุษย์ประกอบพิธีกรรมด้วย

(คำบรรยายภาพ: เบลา ลูโกซิ (Bela Lugosi) รับบทแดรคูลาใน Dracula (1934) หากสังเกตตรงกลางเสื้อของแดรคูลาจะเห็นสัญลักษณ์ดาวแห่งเดวิด (star of David) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ยิวอยู่ด้วย ภาพจาก Radiotimes)

ความคิดว่าตัวละครแดรคูลาสะท้อนความกลัวชาติพันธุ์อันผิดแผกแตกต่างและดูล้าหลังกว่าชาวอังกฤษนั้นปรากฏในการพูดถึงค้างคาวในเรื่องด้วย นวนิยายแดรคูลาแสดงความเสื่อมของจักรวรรดิไปพร้อมกับความล้มเหลวในการควบคุมสัตว์ ค้างคาวกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ท้าทายเส้นแบ่งพรมแดน เพราะมีแนวคิดเรื่องพรมแดนต่างจากมนุษย์ ยิ่งเป็นค้างคาวแวมไพร์ด้วยแล้ว ความหวาดกลัวเรื่องการคุกคามและความเป็นอื่นยิ่งสูง 

ดังที่กล่าวไปแล้ว ในศตวรรษที่สิบเก้านั้น เริ่มมีบทความในหนังสือพิมพ์บอกเล่าข้อเท็จจริงไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับค้างคาวแวมไพร์แล้ว แต่นวนิยายก็ยังเลือกเล่าความเชื่อผิดๆ ซึ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงของจักรวรรดิต่อสัตว์และคนต่างถิ่น ในนวนิยายเรื่องแดรคูลา ควินซี พี มอร์ริส (Quincey P. Morris) นักสำรวจคนหนึ่งในเรื่องและแวน เฮลซิง ต่างพูดถึงค้างคาวแวมไพร์อย่างเกินจริง มอร์ริสเล่าว่าค้างคาวแวมไพร์ดูดเลือดม้าของตัวเองเยอะเกินไปจนม้ายืนขึ้นไม่ไหว ส่วนแวน เฮลซิงเล่าเรื่องกะลาสีเรือแวะพักที่เกาะแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ อยู่ไม่ไกลต้นไม้ใหญ่ที่ดูเหมือนมีผลไม้แห้งเกาะอยู่ ผ่านไปหนึ่งคืนมีคนพบกะลาสีเหล่านี้กลายเป็นศพ เพราะผลไม้เหล่านั้นแท้จริงแล้วคือค้างคาวแวมไพร์

นอกจากนี้ นวนิยายเรื่องแดรคูลายังสะท้อนความกังวลเรื่องความปนเปื้อนทางชาติพันธุ์ผ่านค้างคาวและแสดงให้เห็นว่าชีวิตของสัตว์นั้นท้าทายอำนาจของจักรวรรดิได้ (ถึงแม้ประเทศในทวีปอเมริกากลางและใต้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่อาณานิคมอังกฤษ แต่อังกฤษนำเสนอภาพชนพื้นเมืองในทวีปเหล่านี้ไม่ต่างจากการนำเสนอกลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนอาณานิคม) นวนิยายเรื่องแดรคูลานั้นพูดถึงเหตุการณ์ประหลาด เด็กคนหนึ่งมีรอยกัดเล็กๆ ที่คอหลังออกไปวิ่งเล่นตอนพลบค่ำ ดอกเตอร์วินเซนต์ (Dr. Vincent) หมอเจ้าของไข้ได้อธิบายให้แวนเฮลซิงฟังว่า แผลนี้น่าจะเป็นรอยค้างคาวกัด ไม่แน่ว่ากะลาสีนำค้างคาวแวมไพร์มาเลี้ยงหลังจากเดินทางไปอเมริกาใต้ แล้วค้างคาวหลุดออกมา และอาจผสมพันธุ์กับค้างคาวท้องถิ่น หรือไม่ก็อาจเป็นค้างคาวแวมไพร์ซึ่งหลุดมาจากสวนสัตว์ก็เป็นได้ 

คำอธิบายของดอกเตอร์วินเซนต์ชี้ให้เห็นการสั่นคลอนทางอำนาจ ณ จุดที่ศูนย์กลางใช้เป็นเครื่องมือควบคุมดินแดนในจักรวรรดิ ขบวนเรือไม่ว่าจะเป็นขบวนเรือค้าขายหรือกองทัพเรือก็เป็นเครื่องแสดงถึงอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ในขณะที่สวนสัตว์เป็นเครื่องยืนยันการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับดินแดนล้าหลังหรือป่าเถื่อนได้เช่นกัน การสร้างความรู้นัยหนึ่งคือการควบคุมและแสดงอำนาจ ความกลัวว่าค้างคาวอังกฤษจะผสมพันธุ์กับค้างคาวแวมไพร์สอดคล้องกับความกลัวการปนเปื้อนทางชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง นอกจากนี้ยังสะท้อนความกลัวความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติจากน้ำมือมนุษย์ เหตุที่ค้างคาวแวมไพร์อาจปรากฏตัวได้ในกรุงลอนดอนนั้นแสดงให้เห็นว่าจักรวรรดินิยมนั้นส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศทั่วโลก ค้างคาวแวมไพร์ในเรื่องไม่ได้น่ากลัวเพราะมันมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่น่ากลัวเพราะเรารู้ว่ามันมาจากไหนและเราเปิดช่องให้มันเดินทางมาด้วยตัวเอง ด้วยระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งผันเปลี่ยนไปด้วยจักรวรรดิอังกฤษในยุคนั้น 

วรรณกรรมเรื่องนี้ชี้ให้เห็นการเหยียดชาติพันธุ์และความเกลียดกลัวสัตว์บางประเภท ซึ่งกลายเป็นแพะรับบาปให้แก่ความเสื่อมทรามในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับโรคระบาดหรือไม่ และน่าประหลาดที่ค้างคาวเป็นเหยื่ออยู่บ่อยๆ อย่างเมื่อราวสามสิบปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาค้นพบว่าค้างคาวสามารถเป็นพาหะของโรคเรบีส (Rabies) หรือโรคพิษสุนัขบ้าได้ ทั้งยังเกิดข่าวเล่าลือว่าชาวบ้านถูกค้างคาวบินมาล้อมบ้านและติดอยู่ในนั้นสามวันสามคืน ทำให้เกิดการฆ่าล้างบางค้างคาวเพราะความเกลียดกลัว ทั้งๆ ที่สัตว์อื่นก็เป็นพาหะได้เช่นกัน 

ดูเหมือนว่ายิ่งเรามองสิ่งมีชีวิตใดว่าห่างชั้นจากเราเท่าไหร ความรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตนั้นก็จะดูจะเกิดขึ้นได้ง่ายตามไปด้วย

ค้างคาวแวมไพร์นั้นไม่ได้มีชีวิตอย่างตำนานแวมไพร์ตามที่นักสำรวจในอดีตเข้าใจ แต่ก็ยังเหมือนๆ กับค้างคาวตัวอื่นตรงที่คนชอบเชื่อมโยงกับภูตผีและปรโลก เพราะหากินตอนกลางคืน ค้างคาวเป็นตัวแทนขององค์ความรู้ที่มนุษย์หยั่งไม่ถึงและชวนให้นึกถึงความตาย ค้างคาวแวมไพร์นั้นยิ่งเน้นย้ำชัดว่าเรือนกายของมนุษย์นั้นไม่อาจแยกขาดจากธรรมชาติซึ่งบางครั้งอาจมีหน้าตาเป็นคมเขี้ยวของค้างคาว ใช่ว่าเราจะป้องกันตัวไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะต้องทำลายมันให้ถึงกับสิ้นซาก ค้างคาวแวมไพร์อาจเป็นหนทางในการมองเห็นโลกกว้างใบใหม่ ซึ่งทุกสรรพสิ่งล้วนแตกต่างและไม่อาจเข้าใจได้ หากก็ล้วนแต่เปราะบางเหมือนๆ กัน

Tags: , ,