สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเป็น Smart City ทั้งรถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า หรือการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลต่างๆ

“เนื่องจากเราเป็นผู้ให้บริการพลังงานสะอาดครบวงจร เรามองว่าจังหวัดภูเก็ตมีความเหมาะสมมากที่สุด ที่จะนำเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลมาใช้งาน เพราะภาพรวมของเรือท่องเที่ยวทางทะเลในภูเก็ตมีมากกว่าสองพันลำที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งมีปัญหาเรื่องมลพิษ ทั้งคราบน้ำมันที่ลงไปในทะเล กลิ่น และเสียง จากเป้าหมายของเราที่อยากผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรือไฟฟ้าน่าจะตอบโจทย์มากที่สุด”

สมฤดี บอกอีกว่า เรือไฟฟ้า บ้านปู เน็กซ์ อีเฟอร์รี่ (Banpu NEXT e-Ferry) มีจุดเด่นเรื่องการประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่มีคราบน้ำมัน ไม่มีเสียงรบกวน และไม่มีมลพิษทางอากาศ ทั้งยังมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากวัสดุหลักในการผลิตเรือเป็นอะลูนิเนียม มีความแข็งแรงทนทาน ช่วยลดการดูแลซ่อมแซม และการเปลี่ยนอะไหล่บ่อย นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งแบตเตอรีไว้กลางลำเรือ เพื่อช่วยลดการสั่นสะเทือน ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกสบายในการนั่งเรือมากขึ้น

“ต้นทุนในการผลิตเรือไฟฟ้าลำหนึ่งประมาณ 35 ล้านบาท รวมแบตเตอรี ระบบเก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งแพงกว่าเรือน้ำมันดีเซลที่ตกอยู่ประมาณ 20 ล้านบาท แต่เรือไฟฟ้าไม่ต้องซ่อมแซมมากนัก เป็นเรื่องของแบตเตอรีที่ต้องดูแล รู้จักวิธีการชาร์จ การบำรุงรักษาเพราะแบตเตอรีมีอายุการใช้งานนานนับสิบปี ถ้าเทียบกับเรือน้ำมันดีเซล จะลดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาลงไป 30% เช่นเดียวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลง ที่หากเป็นเรือไฟฟ้าก็ลดลงไปได้ 20-30% เช่นเดียวกัน”

ขณะที่ ไชยา ระพือพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูเก็ต พัชทรี ทัวร์ จำกัด บอกว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเดินเรือไทยเจอปัญหาไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากมีทัวร์นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเข้ามาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต แล้วมีคนลงทุนทำเรือให้บริการนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้ในราคาถูก หรือทัวร์ศูนย์เหรียญ  

“ก่อนหน้านี้เราเป็นผู้กำหนดราคา แต่พอเปิดมีทัวร์นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก เขาพาคนจีนเข้ามา สร้างเรือเอง ลงทุนทำเรือเอง ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวพังหมด คนในภูเก็ตที่เป็นเจ้าของเรือจริงๆ มีแค่ไม่กี่เจ้าเท่านั้น แต่พอมีโควิด-19 ทุกคนตายหมด นักท่องเที่ยวจีนหายไปหมด เพราะสมัยก่อนมันคือดีมานด์เทียม เราหลอกตัวเองมาโดยตลอด”

ไชยายังเปิดเผยอีกว่า การลงทุนเรือไฟฟ้าของบ้านปู เพราะว่ากระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงสีเขียวเป็นเทรนด์ที่กำลังมา เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องปรับตัวมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่มีความเฉพาะมากขึ้น 

“เรือไฟฟ้าลำหนึ่งแพงมากนะ ไม่ใช่แค่สิบยี่สิบล้าน เรากล้าทำขนาดนี้ เพราะเรามองลูกค้ากลุ่มบนมากขึ้น ถ้าไปทำทัวร์จีนหัวละพันมันทำไม่ได้ เราเปลี่ยนตลาด จากมองตลาดล่างมาเป็นตลาดบน ก็เลยจะตั้งบริษัทใหม่ด้วยเป็น ภูเก็ต พัชทรี พรีเมียม ให้บริการทุกอย่างแบบโรงแรมห้าดาว”

ไชยาคาดว่าจะสามารถทำราคาทัวร์สำหรับนักท่องเที่ยวในระดับกลุ่มบนๆ ได้อยู่ที่ 3,500 บาทต่อคน ในการทัวร์เส้นทางเกาะในอ่าวพังงา ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่บริการรถรับส่ง ไกด์บนเรือ อาหาร และประกัน เป็นต้น

“ส่วนตลาดกลุ่มล่างยังมีอยู่ โดยใช้เรือปกตินี่แหละ ซึ่งเราจะไปแก้ทีเดียวมันไม่ได้ ก็ต้องเริ่มทำกันไป แต่เชื่อว่าหลังโควิด-19 มันจะคัดนักท่องเที่ยว คนก็จะค่อยๆ มากัน เมื่อถึงเวลานั้น เราอาจมีเรือไฟฟ้ามากถึงยี่สิบลำแล้วก็ได้”

สำหรับค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง โกดำบอกว่าปกติเรือน้ำมันดีเซลจะมีต้นอยู่ที่ 10,000 บาท ต่อหนึ่งเที่ยว แต่สำหรับเรือไฟฟ้าจะมีต้นทุนด้านพลังงานเหลือเพียง 2,500 บาทต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง 

นอกจากนี้ทาง ภูเก็ต พัชทรี ทัวร์  ยังได้ลงทุนอีก 200 ล้านบาท ในการสร้างท่าเรืออัจฉริยะของตัวเอง ที่ครอบคลุมตั้งแต่ระบบการสแกน การใช้ริสแบนด์ การแทรคกิ้ง 

Banpu NEXT e-Ferry ถือเป็นเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทย ที่รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ 90 คน ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรีลิเธียมไอออน (LiB) ขนาด 625 กิโลวัตต์ชั่วโมง เรือทำความเร็วได้ประมาณ 15 นอต (knots) ให้บริการเส้นทางในเส้นทางเกาะเจมส์ บอนด์ เริ่มจากท่าเทียบเรืออ่าวปอไปยังอ่าวพังงา ซึ่งประกอบด้วย เกาะพนัก เกาะห้อง เขาตะปู (เกาะเจมส์ บอนด์) และเขาพิงกัน ในอนาคตจะเปิดให้บริการในเส้นทางหมู่เกาะพีพี