ในบรรดาเพลงโปรดที่คุณร้องตามได้ทุกท่อน—ช่วยไม่ได้ที่ชื่อของศิลปินจะเป็นที่ติดปากอันดับแรก บางคนอาจจดจำไปถึงชื่อผู้แต่งเนื้อร้องและทำนอง แต่ที่จะลงลึกสนใจใครสักคนผู้ ‘ทำงานเบื้องหลัง’ บทเพลงเหล่านั้น อาจมีไม่มากนัก

คนเบื้องหลังอันมีส่วนสำคัญในการรังสรรค์บทเพลงให้ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ ‘โปรดิวเซอร์’ ผู้ดูแลการผลิตเพลงนับแต่ต้นจนจบกระบวนการ

ในเครดิตบนปกซีดีชุด Cyantist ของ อะตอม-ชนกันต์ รัตนอุดม ที่ออกมาเมื่อปลายปีก่อน มีชื่อของ บอล – กันต์ รุจิณรงค์​ มือกีตาร์ประจำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ปรากฏอยู่ 3 ตำแหน่ง

หนึ่ง คือตำแหน่งนักดนตรีที่เล่นกีตาร์ไฟฟ้าในแทร็กที่ 5 และ 6

สอง คือตำแหน่ง arranger ที่ทำหน้าที่เรียบเรียงเพลงทั้งหมดในอัลบัม

และสาม คือตำแหน่งโปรดิวเซอร์

ใช่, เบื้องหลังเพลงในอัลบัมที่มียอดฟังเฉพาะใน YouTube รวมกันหลายร้อยล้านวิว คือการร่วมงานกันระหว่างศิลปินรุ่นใหม่แนวโซลป็อปกับโปรดิวเซอร์ที่มีความร็อกแอนด์โรลเข้าเส้น พิสูจน์ได้จากทุกเพลงของอพาร์ตเมนต์คุณป้า ซึ่งผ่านการโปรดิวซ์ของบอลด้วยเช่นกัน

ระหว่างที่คุยกัน บอลออกตัวว่า ต่อให้เขาไม่ใช่คนโปรดิวซ์ เขาเชื่อว่าเพลงของอะตอมก็น่าจะเป็นเพลงดังอยู่ดี เพราะเป็นเพลงที่ดีมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว แต่ในการสัมภาษณ์เกือบทุกครั้ง อะตอมจะให้เครดิต ‘พี่บอล’ ในฐานะเป็นโปรดิวเซอร์ที่คอยให้คำแนะนำและเป็นพี่ชายที่ทำให้เขาได้ทำงานดนตรีอย่างเข้มข้นขึ้น

ถ้าอัลบัม Cyantist ของอะตอมเป็นเหมือนห้องแล็บที่ใช้ในการทดลองทางอารมณ์ของตัวศิลปินเอง Sexy Pink Studio ซึ่งเป็นห้องทำงานของบอลก็คงเป็นเหมือนห้องแล็บที่ใช้ทดลองทางดนตรีของอะตอมและศิลปินอีกหลายคนที่เคยร่วมงานกับเขาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่บอลเล่นคืออะไร

สมัยผมเด็ก เป็นยุคที่ Casiotone กำลังฮิตมาก ผมก็เริ่มจากตรงนั้นก่อน พอมีเมโลดี้อะไรมา เราก็เล่นตามได้ พ่อแม่คงเห็นแววก็เลยส่งเสริมและให้ไปเรียนเปียโนตอน 5 ขวบ พอตอนอายุสัก 12 ก็เริ่มหัดเล่นกีตาร์ เริ่มจากหัดเองก่อน หลังจากนั้นก็มีไปเรียนบ้าง อาจารย์ที่สอนกีตาร์ให้ผมคนแรกๆ ก็คือพี่ชัย บลูส์ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนดนตรีที่ Berklee (Berklee College of Music) ที่อเมริกา ก็เล่นกีตาร์มาตลอด

รู้ตัวมาแต่เมื่อไรว่าจะมุ่งมาสายดนตรีอย่างเต็มตัว

ผมมีภาพจำอย่างหนึ่งที่ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ คือตอนพ่อพาไปที่ไร่ที่เพชรบูรณ์ แล้วพ่อบอกว่า วันนี้จะมี เพลิน พรมแดน มาเล่นนะ ตอนนั้นผมน่าจะเป็นเด็กจิ๋วเลย ขี่คอพ่อ แล้วก็ไปดูดนตรีลูกทุ่ง ภาพมันติดตาเลย แสง สี เสียง มันอลังการมาก แต่เอาเข้าจริงเวลาไปต่างจังหวัดตอนเด็กๆ แล้วไปดูคอนเสิร์ตนี่ไม่เคยได้ดูถึง เพลิน พรมแดน หรอก เพราะเมื่อก่อนถ้าเป็นวงลูกทุ่ง กว่าหัวหน้าวงจะขึ้นก็เที่ยงคืน ไอ้เราสองทุ่มก็ม่อยกระรอกแล้ว แต่ตอนเด็กเราเห็นภาพนั้น ถึงจะไม่ได้จำเป็นเสียงว่าเป็นยังไง แต่ก็อาจจะเป็นประสบการณ์ที่มีอิทธิพลอยู่ในใจว่าอยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเล่นดนตรี

พ่อบอกว่า วันนี้จะมี เพลิน พรมแดน มาเล่นนะ ตอนนั้นผมน่าจะเป็นเด็กจิ๋วเลย ขี่คอพ่อ แล้วก็ไปดูดนตรีลูกทุ่ง ภาพมันติดตาเลย แสง สี เสียง มันอลังการมาก

จริงๆ ในใจมันก็เหมือนรู้อยู่ในระดับหนึ่งมาตลอดว่าเราอยากทำอย่างนี้ เพราะก่อนจะเลือกเรียนด้าน Performance ที่ Berklee ตอนแรกเราก็ไปเรียนอะไรที่มันไม่ใช่มาก่อนอย่างสองอย่าง ก็เลยเริ่มคิดว่า สงสัยเราจะต้องมีอาชีพนักดนตรี มันรู้อยู่แก่ใจว่าเราชอบสิ่งนี้ ถ้าเราทำอย่างอื่นก็คงไม่แฮปปี้เท่า ก็ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่สนับสนุนและเชื่อว่าเราทำได้

ชีวิตในมหาวิทยาลัยด้านดนตรีโดยตรงอย่าง Berklee เป็นอย่างไรบ้าง

สนุกครับ ได้เจอคนเก่งๆ แล้วก็ได้เรียนกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์ แต่พูดตรงๆ ว่าตอนเข้าไปเรียนนี่ยากพอสมควรเลย เพราะก่อนหน้านั้นเราไม่ได้เรียนอะไรเป็นฟอร์แมตสักเท่าไร อาศัยว่าอ่านโน้ตได้แล้วเอามาปรับใช้ ปีแรกก็เลยต้องขยันเป็นพิเศษกว่าชาวบ้านเขา เพราะแค่จำโน้ตบนคอร์ดก็ยุ่งยากแล้ว ต้องจำให้ได้ทุกคอร์ด แล้วก็ต้องทำความคุ้นเคยกับกีตาร์ให้ได้มากที่สุด ให้เหมือนกับมันเป็น nature อย่างหนึ่งของร่างกายเรา พอขึ้นปี 2 ถึงได้ลงตัวขึ้น

ความที่โรงเรียนผมค่อนข้างเปิดกว้าง ใครชอบดนตรีแบบไหนก็มีให้ศึกษา ผมก็เลยไปลงเรียนวิชานั้นวิชานี้ที่ทำให้ได้ประสบการณ์ว่าดนตรีแบบไหนควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งมันช่วยเปิดโลกทางดนตรีของเราให้กว้างขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น

แล้ววงอพาร์ตเมนต์คุณป้าเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนไหน     

พอเรียนจบ กลับมาเมืองไทย ผมเล่นดนตรีกลางคืนก่อน เล่นที่ Saxophone แล้วก็เล่นตามโรงแรม เพราะอยากจะทดลองสนาม เล่นดนตรีกลางคืนอยู่สัก 2-3 ปี ถึงได้เริ่มฟอร์มวงกับคุณจ้า (ทรรศน์ฤกษ์​ ลิ่มศิลา – มือกลอง) ซึ่งเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนที่ Berklee คุณจ้าก็แนะนำให้รู้จักกับคุณตุล (ตุล ไวฑูรเกียรติ – นักร้องนำ) และคุณใหม่ (ภู่กัน สันสุริยะ – มือเบส) แล้วก็ไปชวนคุณปั๊ม (ปิย์นาท โชติกเสถียร – มือกีตาร์) มาอยู่ด้วยกัน แล้วเริ่มทำอัลบั้มด้วยกันจากนั้นเป็นต้นมา

งานของอพาร์ตเมนต์คุณป้าที่มี ตุล-นักร้องนำเป็นคนแต่งเนื้อร้องและทำนองเอง ช่วยทำให้ขั้นตอนการโปรดิวซ์ง่ายขึ้นหรือเปล่า

จริงๆ แล้วสำหรับอพาร์ตเมนต์คุณป้า ทุกคนมีความเป็นโปรดิวเซอร์หมด เพราะ input ส่วนหนึ่งมาจากทุกคนอยู่แล้ว แล้วด้วยความที่อายุวง 16 ปีแล้ว เราอยู่กันมานาน ก็ยิ่งทำงานง่าย เหมือนกับเรารู้ว่าใครต้องทำอะไรบ้าง ทุกคนมีหน้าที่ชัดเจน

ความที่ทุกคนในวงมีส่วนออกความเห็นเหมือนเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกัน มีปัญหาเรื่องการคิดไม่ตรงกันบ้างไหม

ไม่ค่อยมีนะ เพราะทุกคนเป็นเพื่อนกันมานาน ไม่ค่อยทะเลาะกันแล้ว อีกอย่าง พออายุมากขึ้น มันยิ่งน้อยลงน่ะ อย่างชุดที่ 1 ถ้ากลับไปฟังเพลงจะสังเกตได้เลยว่ามันนัวเนีย ยั้วเยี้ย มันเยอะ พลังก็เยอะ แต่พอเริ่มอายุมากขึ้น ทุกอย่างมันเริ่มคลี่คลายไปตามวัย บางอย่างที่ไม่จำเป็นก็ไม่ได้ใส่ลงในเพลง เลือกเฉพาะที่เราคิดว่ากลมกล่อม

ที่บอกน้อยลงไม่ได้หมายความว่าพลังในการทำงานของเราน้อยลงนะ แต่มันเป็นพลังคนละแบบ ตอนที่เด็กกว่านี้ ทุกอย่างมันต้องถั่งโถม ทุกอย่างมันต้องเยอะ แต่พออายุมากขึ้น พลังงานอาจจะถูกส่งโดยความกลมกล่อม ความประณีต แล้วก็ความเป็นแบนด์ที่เล่นด้วยกันมานาน รู้ทางกัน เรียกว่าพลังไม่ได้ดร็อป แต่เปลี่ยนไปอีกทางหนึ่ง

พอเริ่มอายุมากขึ้น ทุกอย่างมันเริ่มคลี่คลายไปตามวัย บางอย่างที่ไม่จำเป็นก็ไม่ได้ใส่ลงในเพลง เลือกเฉพาะที่เราคิดว่ากลมกล่อม

อย่างชุดล่าสุดที่อัดเกือบเสร็จแล้ว ครึ่งนึงเป็นเพลงฟัง อีกครึ่งเป็นเพลงตีอกชกปาก แต่ก็ไม่ได้ตีอกชกปากอะไรมาก เพราะว่าพออายุประมาณนี้กัน ความเกรี้ยวกราดมันก็หายไปเยอะแล้ว

บอลเริ่มโปรดิวซ์งานให้ศิลปินอื่นตั้งแต่เมื่อไร

งานแรกๆ ที่ถือว่าทำแบบเป็นเรื่องเป็นราวคืออัลบัมชุด Gran Turismo ของคุณบุรินทร์ตอนปี 2553 ที่เป็นอัลบัมเดี่ยวชุดแรกของเขา กับคุณบุรินทร์นี่สนิทกันมากเพราะตอนเรียนที่อเมริกาก็เรียนอยู่เมืองเดียวกัน เจอกันอยู่ตลอด ฟังเพลงเหมือนกัน ชอบดนตรีแนวเดียวกัน เลยทำให้ทำงานด้วยกันง่ายมาก มีความเห็นดีเห็นงามกัน (หัวเราะ)

เพลง ‘ปรากฏการณ์’ ในอัลบัม Gran Turismo เป็นเพลงเดิมของอพาร์ตเมนต์คุณป้ามาก่อน การเอาเพลงของวงตัวเองมาทำใหม่ให้ศิลปินคนอื่น วิธีทำงานแตกต่างกันอย่างไร

มันเป็นเพลงวงผมมาก่อนก็จริง แต่พอเอามาทำใหม่ให้ศิลปินคนอื่นร้อง จะมาทำเหมือนอพาร์ตเมนต์คุณป้าก็ไม่ใช่ เพราะนั่นมันคือตัวพวกผม

บุรินทร์เขาชอบเพลงนี้ก็เลยให้ผมเอามาทำ ซึ่งถึงจะเป็นเพลงเดียวกัน แต่ทำออกมาเป็นคนละกลิ่นกับอพาร์ตเมนต์คุณป้าเลย ของอพาร์ตเมนต์คุณป้าจะเป็นแบบเซอร์ๆ หน่อย ของบุรินทร์ก็จะดู upscale ขึ้นมา เป็นแบบบิ๊กแบนด์ ซึ่งจริงๆ การโปรดิวซ์เพลงที่เป็นของวงเรามาก่อนมันสนุกอยู่แล้ว เพราะเราเห็นภาพว่าเพลงเก่าเป็นยังไง พอเป็นเพลงที่ต้องทำใหม่ก็ต้องทำให้แมตช์กับศิลปินคนนั้น ซึ่งอย่างบุรินทร์ ผมก็มองว่าต้องมีเครื่องเป่า เพลงนั้นรู้สึกว่าจะเป็นพี่โก้ Mr.Saxman เป็นคนเป่า

แล้วสายร็อกอย่างบอล มาโปรดิวซ์งานป็อปจัดๆ อย่างงานของอะตอมได้อย่างไร

ผมเจออะตอมตั้งแต่ตอนแรกที่เขายังอยู่ค่ายสนามหลวง พอได้ยินเดโมเพลง ‘ทางของฝุ่น’ แล้วก็อยากทำเพลงให้เลย เพลงนั้นเป็นแรงบันดาลใจแรกที่ทำให้เราอยากทำเพลงให้คนนี้ หลังจากนั้นก็คือเจอกัน ใช้ชีวิตทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันเพราะอะตอมก็ร้องคอรัสให้บุรินทร์ ผมก็เล่นให้บุรินทร์ด้วย แล้วก็ทำเพลงด้วยกันมาเรื่อยๆ

อะตอมมีเพลงที่แต่งไว้อยู่แล้วหลายเพลง ตอนเลือกว่าจะทำเพลงไหนก่อน เราเลือกเพลง ‘Please’ เป็นเพลงเปิดตัวของเขา เพราะรู้สึกว่ามันป็อปดี ซึ่งทุกคนก็แฮปปี้กับผลลัพธ์ที่ได้กลับมา แต่จนถึงตอนที่ทำเสร็จทั้งอัลบั้มแล้ว ผมก็ยังชอบเพลง ‘ทางของฝุ่น’ ที่สุดนะ อาจจะเพราะมันเป็นแนวคล้ายๆ Bluesy Soul ซึ่งเป็นทางที่ผมชอบอยู่แล้วด้วย ผมถึงชอบเป็นพิเศษ มันเป็นเพลงแรกของเขาที่เราได้ยิน แล้วก็ยังเป็นเพลงที่ชอบที่สุดอยู่

เล่าถึงหน้าที่และขั้นตอนทำงานของโปรดิวเซอร์ให้ฟังหน่อยสิ

หน้าที่เบ็ดเตล็ดของโปรดิวเซอร์คือเจเนอรัลเบ๊ คอยตามทุกอย่าง เริ่มจากเอาเพลงเดโมมา แล้วก็ visualize ว่าเพลงนี้มันควรจะเป็นอย่างไร จังหวะจะเป็นแบบไหน คีย์ก็ต้องเทียบให้นักร้องดูว่าคีย์นี้เหมาะสมกับเขาหรือเปล่า แล้วก็วางตัวผู้เล่น วางตัวนักดนตรี จนถึงขนาดพออัดทุกอย่างเสร็จก็ต้องคิดว่าใครจะมิกซ์ดี พอมิกซ์เสร็จก็ต้องคิดว่าใครจะมาสเตอร์ดี เป็นกระบวนการทำงานตั้งแต่เริ่มจนถึงจบ

คำว่า ‘โปรดิวเซอร์’ สำหรับนิยามของผม ผมคิดว่าการเป็นโปรดิวเซอร์มันไม่ใช่การที่เราจะใส่ตัวเองเข้าไปในเพลงของคนอื่น เราต้องค้นหาคาแรกเตอร์ของบุคคลคนนั้น แล้วดูว่าอะไรเป็นข้อดี อะไรเป็นข้อด้อย อะไรเป็นข้อดีที่เราควรจะต้องดึงออกมาให้คนเห็นเยอะๆ ข้อด้อยก็ไม่ต้องให้มันออกเยอะมาก

หน้าที่เบ็ดเตล็ดของโปรดิวเซอร์คือเจเนอรัลเบ๊ คอยตามทุกอย่าง

ผมเชื่อว่าในการทำงานโปรดิวเซอร์ เราไม่ควรจะใส่ตัวเราเองเข้าไปในเพลงของคนอื่น อย่างงานวงตัวเองกับงานที่ผมทำให้คนอื่นมันเป็นคนละแนว เราก็ต้องเปลี่ยน mindset เวลาทำงานตัวเอง เราก็เป็นตัวเราเต็มที่ แต่เวลาทำให้คนอื่น เราก็ต้องไม่พยายามเอาตัวของเราเองไปใส่มากเกินไป เราควรต้องหาข้อดี หาคาแรกเตอร์ของศิลปินคนนั้น แล้วก็ทำให้ออกมาดีที่สุด

ข้อดีของอะตอมที่โปรดิวเซอร์มองเห็นมีอะไรบ้าง

อะตอมเขียนเพลงดี ร้องเพลงดี เล่นดนตรีเก่ง สามอย่างนี่ก็ถือว่าวินวินแล้ว จริงๆ ทำงานกับอะตอมไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไร เพราะว่าเราใช้ชีวิตในทางดนตรีด้วยกัน เล่นดนตรีด้วยกัน เหมือนกับเป็นพี่น้อง ทำให้เข้าใจตรงกันในเรื่องงานโปรดักชันส่วนใหญ่ แล้วเขามีเพลงที่เขียนไว้อยู่แล้วเยอะ ซึ่งพอทำงานกับคนที่เขียนเพลงเอง เราก็จะเข้าใจคาแรกเตอร์ของคนนั้นได้ชัดเจนกว่า

ที่บอลบอกว่า งานอย่างหนึ่งของโปรดิวเซอร์คือการวางตัวนักดนตรีในแต่ละเพลง อยากรู้ว่าทำไมถึงเลือกเล่นกีตาร์เองในเพลง ‘ทางของฝุ่น’ กับเพลง ‘อ้าว’

จริงๆ ถ้าน้องๆ อัดกันเองได้ ผมก็จะให้เขาอัดกันเอง อย่างตัวอะตอมเองเขาเล่นกีตาร์ได้ เราก็ให้เขาอัดกีตาร์เอง แล้วเขาก็มีจูเนียร์ (จุติโชค อัศรัสกร) มือกีตาร์ของวงเขาด้วย เพราะอยากให้น้องๆ ได้เรียนรู้วิธีการทำงานกันด้วย แต่เพลง ‘ทางของฝุ่น’ มันมีไลน์ที่คิดกันมาคร่าวๆ ตั้งแต่ตอนทำเดโม แล้วในเดโมผมก็เล่นเอง ก็เลยอัดเองสักหน่อย ส่วนอีกพาร์ทในเพลงก็ให้จูเนียร์เล่น ส่วนเพลง ‘อ้าว’ เกิดจากว่าตอนนั้นอยู่ในห้องอัด แล้วเรารู้สึกว่ามันต้องการอะไรเพิ่มสักอย่าง ผมก็เลยอัดเอง เผื่อจะเสริมอะไรให้ได้

สี่เพลงสุดท้ายของอัลบัม Cyantist คือ ‘Good Morning Teacher’ ‘อย่าบอก’ ‘ช่วงนี้’ และ ‘พอ’ ทำไมบอลถึงเลือกส่งไปมิกซ์ที่อเมริกา

มันเป็นความอยากทดลองของผมด้วยว่า ถ้าเราส่งไปมิกซ์ที่เมืองนอก คนมิกซ์เขาจะตีโจทย์ให้เพลงของอะตอมเป็นอย่างไร อยู่เมืองไทยมันก็สะดวกดี คนมิกซ์ก็เพื่อนกัน มีอะไรก็โทรหาได้ตลอด แต่พอข้ามประเทศ มันจะต้องมีการบรีฟกันพอสมควร เพราะเราต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจว่าเนื้อเพลงมันเกี่ยวกับอะไร แต่ผลที่ได้มาก็แฮปปี้ เพราะ input บางอย่างเขากล้าทำมากกว่าคนมิกซ์ในบ้านเรา ความเข้มข้นของดนตรีจะแตกต่างไป แต่ไม่ได้บอกว่าดีกว่านะ มันเหมือนผสมแล้วได้คนละสีกันมากกว่า

เวลาฟังเดโมของแต่ละเพลงเป็นครั้งแรก ปฏิกิริยาของบอลคืออะไร

เวลาผมฟังเพลง มันเหมือนกับได้ยินเสียงในหัวว่ามันควรจะออกมาเป็นแบบไหน จากนั้นก็ลองมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับศิลปิน กับทีมว่า เฮ้ย อย่างนี้ถูกไหม แบบนี้ชอบไหม แล้วก็คิดว่าต้องมีเครื่องดนตรีอะไรบ้างถึงจะแม็ตช์กับเพลงนั้น

อย่างผมไม่ถนัดทำพวกโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่าไร แต่ก็จะมีกวิน (กวิน อินทวงษ์) เป็นเหมือนมือขวาที่พอผมได้ยินอะไร หรือนึกถึงอะไร ก็สามารถบอกเขาได้ แล้วเขาก็จะใช้โปรแกรมทำออกมาให้ได้เสียงตรงกับที่เราคิด กวินก็เป็นโค-โปรดิวเซอร์อัลบัมของอะตอมด้วย

กับกวินนี่ก็รู้จักกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยเขาเล่นดนตรีอยู่ที่ Cosmic Café แล้วเขาก็เป็นแฟนเพลงของอพาร์ตเมนต์คุณป้ามาก่อน ถึงขนาดเคยอัดเทปที่ตัวเองเล่นคีย์บอร์ดแล้วส่งมา เพื่อจะให้ทางวงเอาเขามาเล่นดนตรีด้วย พอรู้จักกัน ผมก็ชวนเขามาเล่นแบ็กอัปให้บุรินทร์ แล้วก็ชวนทำอัลบัมใหม่ของบุรินทร์ด้วย

การทำงานกับคนที่วัยแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกวินหรืออะตอม ถือเป็นบาลานซ์ที่ดีไหม

ใช่ พูดถูกเลย มันบาลานซ์ อะตอมกับกวินเขาเป็นฝ่ายวัยรุ่น ผมเป็นฝ่ายผู้ใหญ่ ซึ่งจริงๆ อำนาจตัดสินใจอยู่กับผม แต่ผมก็ต้องฟังเด็กๆ เพราะเวย์ในการทำเพลงของเขาเป็นวัยรุ่น ซึ่งมันก็ดีไปอีกแบบ เพราะฉะนั้นทุกเพลงมันเลยเกิดจากทั้งสองมุมมาชั่งน้ำหนักกัน ดูว่าถ้ามันอยู่ตรงกลางแล้วโอเคไหม ถ้าหนักมาอีกทางหน่อยจะโอเคหรือเปล่า

ความวัยรุ่นมันเป็นกระแสที่ดีในการทำเพลงนะ อย่างเพลง ‘อ้าว’ มันมีความ catchy มี phrase ที่คนเอาไปใช้ได้ แต่เพลงนี้ถ้าไม่ใช่ผมโปรดิวซ์ ก็น่าจะดังอยู่ดี เพราะว่าเพลงมันดีอยู่แล้ว เพียงแต่การตีโจทย์ของโปรดิวเซอร์อาจจะไม่เหมือนกัน ผมเชื่อว่าคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดคือเพลงดี ถ้าเพลงดี มันก็จะมีหนทางของมัน พอเปิดให้คนฟัง ก็ต้องมีคนชอบ

มาที่งานของบุรินทร์ชุดล่าสุดบ้าง การโปรดิวซ์งานนี้เป็นอย่างไรบ้าง

อย่างที่บอกว่าเราสนิทกันมากอยู่แล้ว ก็เลยไม่ยาก ถ้าจะมียากกว่าของอะตอมนิดนึงก็ตรงที่คุณบุรินทร์ไม่ได้เขียนเพลงเอง ขอเล่าย้อนว่าอย่างชุดใหม่นี่ อะตอมก็เป็นคนแต่งเนื้อเพลง แต่เราใช้วิธีนั่งด้วยกันทุกคนตั้งแต่แรก คุยกันว่าเราต้องการเนื้อเพลงแบบนี้ มีคีย์เวิร์ดให้บ้าง แล้วอะตอมก็เขียนให้ อัลบัมนี้นี่ทำกันตั้งแต่ศูนย์ จนนับถึงตอนนี้ก็ทำมา 7 ปีแล้ว ทำจนไอ้อะตอมออกอัลบัมมาก่อนแล้ว (หัวเราะ)

แต่งานชุดนี้ของบุรินทร์นี่สนุกมาก เพราะใช้นักดนตรีเยอะมาก คือบางทีก็ปวดกบาลเรื่องจัดคิวนักดนตรี เพราะอย่างที่รู้ว่าตารางของนักดนตรีไม่ค่อยฟิกซ์เท่าไร แต่ก็สนุกจริงๆ ของบุรินทร์นี่ผมอัดกีตาร์เองด้วย เพราะผมเล่นแบ็กอัปให้เขาอยู่แล้ว เป็นโปรดิวเซอร์ด้วย ก็เลยคิดว่าเราควรจะอัดเอง ต่างจากของอะตอมที่เราอยากให้โอกาสน้องๆ รุ่นเดียวกับเขาเล่น

นอกจากเพลงของบุรินทร์และอะตอมแล้ว เพลง ‘ปล่อย’ ของ ป๊อบ-ปองกูล ก็เป็นงานของบอลเหมือนกัน

เพลง ‘ปล่อย’ นี่อะตอมก็เป็นคนเขียนนะ แต่โจทย์ของเพลงที่เขาให้โปรดิวเซอร์มาก็คือ อยากให้เป็นเพลงป็อปที่ซาวนด์ไม่เหมือนเพลงป็อป ซึ่งเอาจริงๆ มันไม่ใช่โจทย์ยากสำหรับผม เพราะผมก็ชอบลองทำอะไรแปลกๆ อยู่แล้ว เลยนึกถึงความเป็นโมเดิร์นร็อกที่ซาวนด์กีตาร์มันจะลอยๆ พอกีตาร์ลอยๆ คนแรกที่ผมนึกถึงก็คือ เบิร์ด วง Desktop Error แล้วเขาก็เป็นคนอัดเพลงนี้ พอเพลงนี้ออกมาตอนนั้นก็เป็นซาวนด์ที่ไม่ค่อยจะเหมือนเพลงแกรมมี่ส่วนใหญ่สักเท่าไร แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป เราทำไว้ให้อยู่ตรงกลางๆ โดยสอดแทรกซาวนด์ดนตรีที่ไม่ค่อยได้ใช้กับเพลงป็อปเข้าไป

งานโปรดิวเซอร์นี่ผมว่ามันก็คล้ายกับงานเพนท์ติงเหมือนกันนะ เป็นงานอาร์ตที่เราเห็นมันตั้งแต่เป็น rough sketch จนออกมาเป็นชิ้นงาน

ส่วน ‘ภาพจำ’ ที่เป็นซิงเกิลล่าสุดของป๊อบ เพลงนี้เริ่มจากป๊อบคุยกับคนเขียนเพลงที่ชื่อน้องแอ้ม (อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์) ก่อนว่าอยากได้เนื้อเพลงแบบไหน พอได้เพลง ผมก็มาฟังแล้วตีความเพลงว่าออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งทั้งสองเพลงที่ทำ ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันยากเพราะมันเป็นเพลงที่ดีทั้งคู่ เราให้เพลงเล่าเรื่อง แล้วก็ทำให้มู้ดของเพลงมันดำเนินต่อไป

อย่างทำเพลงให้ป๊อบ ผมก็ยังทำงานเป็นทีมอยู่ แต่จะทำกับ ขลุ่ย – บริพัตร หวานคำเพราะ เพราะ arranger แต่ละคนจะมีลายมือที่ไม่เหมือนกันในการทำงาน อย่างกวินก็จะวัยรุ่นนิดนึง ส่วนของขลุ่ยก็จะเหมาะกับเพลงป็อปๆ ที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย

นอกจากอัลบัมใหม่ของอพาร์ตเมนต์คุณป้าที่จะออกกลางปีนี้ จะมีงานโปรดิวซ์เพลงของศิลปินคนอื่นออกมาให้ได้ฟังกันอีกไหม

น่าจะเป็นคุณหมู Muzu จริงๆ ผมกับเขารู้จักกันมาเป็นสิบปีแล้ว เล่นดนตรีมาด้วยกัน แล้วต่างคนก็ต่างไปคนละทาง แต่ยังไม่เคยทำงานด้วยกันเป็นเรื่องเป็นราวสักที  นี่เขากลับมาให้โปรดิวซ์งานให้ ก็น่าจะสนุกดีครับ เป็นอีกแนวเลย

ระหว่างการเป็นโปรดิวเซอร์กับนักดนตรี อะไรสนุกกว่ากัน

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการเป็นโปรดิวเซอร์กับการเป็นนักดนตรีแล้ว เป็นนักดนตรีสนุกกว่าตรงที่ได้เล่นสด ได้เจอคนดู แต่ว่าไม่ได้สนุกกว่ากันสักเท่าไรนะ แค่พอเป็นโปรดิวเซอร์ดีเทลมันเยอะกว่า มันก็คนละแนว แต่เอาเป็นว่าผมให้เล่นดนตรีสดสนุกกว่านิดนึงก็แล้วกัน

งานโปรดิวเซอร์นี่ผมว่ามันก็คล้ายกับงานเพนท์ติงเหมือนกันนะ เป็นงานอาร์ตที่เราเห็นมันตั้งแต่เป็น rough sketch จนออกมาเป็นชิ้นงาน เราได้เห็นการเติบโตของงานมาเรื่อยๆ มันสนุกตรงที่ได้เห็นทุกขั้นตอน กว่าจะออกมาเป็นเสียงแบบนี้ได้ มันต้องทำอะไรบ้าง

ทุกวันนี้ผมก็ยังสนุกและได้เรียนรู้อยู่ทุกวัน ไม่ได้คิดว่าเราประสบการณ์เยอะหรือว่าเราเก่ง ทุกอย่างมันมีการลองผิดลองถูกมาตลอด จนบางทีเรารู้ว่า อย่างนี้เราอย่าทำเลย มันไม่รอดแน่ๆ แต่แบบนี้มันน่าจะเวิร์กกว่า แล้วบ้านผมเป็นห้องอัดด้วย เราก็เลยได้ลองนู่นลองนี่สารพัด หรือบางทีเวลาคนอื่นมาอัด เราก็ได้เห็นว่าเขาอัดกันด้วยวิธีไหน เราก็จำมาใช้ได้

เท่าที่คุยกัน ดูเหมือนยังไม่มีงานไหนเลยที่บอลมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็คือทุกเพลงเป็นเพลงที่ดีมาตั้งแต่เดโมแล้ว อยากรู้ว่าที่ผ่านมาเคยเจอเคสที่เป็นเพลงไม่ดีบ้างไหม

มีครับ จริงๆ ไม่ใช่ว่าเพลงมันไม่ดีหรอก ทุกเพลงมีข้อดี แต่มันอาจจะไม่เหมาะกับสไตล์ผมมากกว่า ก็เลยรู้สึกว่าถ้าต้องทำ คงอึดอัดที่จะทำ เลยเลือกที่จะปฏิเสธไป

ที่บอกว่าไม่เหมาะ ไม่ได้หมายถึงแนวเพลง แต่มันเป็นเซนส์ของผมว่าบางทีเมโลดี้มันอาจจะเด็กเกินไปสำหรับผม เพราะเนื้อเพลงก็สำคัญ ทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบมันสำคัญทั้งนั้น บางเพลงอาจจะเหมาะกับคนเจเนอเรชันเด็กกว่ามาทำ มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะผมอาจจะไม่ได้เป็นคนที่ทำซาวนด์ทันสมัยเหมือนคนยุคนี้ ผมยังทำซาวนด์ที่ตัวเองชอบ ไม่ได้ทำตามกระแส

มีศิลปินไทยคนไหนที่เราสนใจอยากโปรดิวซ์งานให้

ตอนนี้ผมอยากทำอะไรก็ได้ที่มันเป็นเพลงลูกทุ่ง ไม่ได้คิดว่าเป็นคนไหน แต่ว่าอยากทำดนตรีแนวลูกทุ่ง เพราะว่าหลังๆ มาชอบแผ่นเสียง พอได้ฟังแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งเก่าๆ แล้วรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ดี ทั้งลูกทุ่ง ทั้งหมอลำ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีโอกาส แต่ก็อยากจะลอง

การเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และนักดนตรี ยังฟังเพลงได้เพลินๆ แบบคนฟังทั่วไปไหม

ถ้าฟังเพลง เปิดใจฟังสบายๆ แบบฟังให้มีความสุขดีกว่า อย่าไปฟังแบบจับผิดหรืออะไรเลย ไม่อย่างนั้นชีวิตจะไม่มีความสุข ดนตรีมันไม่มีอะไรผิด อะไรถูกหรอก ดนตรีทุกอย่างมันมี audience ของมันอยู่ ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่ได้จำเป็นต้องเนี้ยบเป๊ะ บางอย่างมันผ่อนปรนได้

ช่วงนี้บอลฟังเพลงแนวไหนอยู่

ฟังหมดเลยนะ แต่ตอนนี้กำลังชอบดนตรีคิวบา ซึ่งถ้าไปฟังดีๆ มันจะไม่ไกลจากเพลงลูกทุ่งเท่าไร แต่ก็แล้วแต่ช่วงอีกล่ะ เพราะผมชอบฟังไปเรื่อยๆ แล้วยุคนี้เราอยากฟังอะไร เราก็คีย์เข้าไป นอกจากจะได้ฟังที่อยากฟังแล้วยังได้ฟังอะไรที่ต่อยอดไปเรื่อยๆ ด้วย ผมเลยไม่ได้ฟิกซ์ว่าต้องฟังสไตล์ไหน แค่คิดว่าอันไหนที่น่าสนใจก็ลองฟังดู แล้วก็คุ้ยเขี่ยไปเรื่อยๆ มันก็จะเจอข้อมูลที่น่าสนใจต่อๆ ไป

การฟังเพลงเยอะๆ ฟังให้มันกว้างๆ reference ในหัวของเราก็จะกว้างขึ้น ทำอะไรก็จะได้ไม่อยู่ในกรอบ ยิ่งพอเราฟังเพลงหลากหลาย มันก็จะเหมือนกับการเพิ่มข้อมูลให้ฮาร์ดดิสก์ในหัวของเรา

เป็นฮาร์ดดิสก์ที่ไม่เคยเต็มด้วยหรือเปล่า

บางทีก็มีเต็มเหมือนกัน แต่มันก็ลบตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วมันก็ต้องเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ด้วย ทุกอย่างนี่ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณการที่เราได้ไปเรียนเมืองนอก ได้ไปเห็นของที่มันเป็นของดีๆ แล้วการที่เราฟังเพลงเยอะๆ เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่อย่าไปฟังแบบย้ำคิดย้ำทำ อย่าไปฟังแบบจับผิด หาส่วนที่ดีของเพลงนั้นๆ แล้วก็เอ็นจอยกับดนตรีจะสำคัญที่สุด

บอลโตมาในยุคเทป เริ่มทำเพลงตั้งแต่ยุคซีดี พอมาถึงยุคที่อะไรๆ ก็ออนไลน์เป็นหลักอย่างนี้ ต้องปรับตัวบ้างไหม

ต้องปรับตัวเยอะนะ จากยุคก่อนที่สวรรค์อย่างหนึ่งของคนฟังเพลงก็คือการไปเดินร้านซีดีแล้วก็ซื้อซีดี แต่พอมายุคนี้มันก็ดีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือความเป็นดิจิทัลมันเป็นเหมือน back catalogue ถ้าเราอยากศึกษาดนตรีแบบไหน มันก็มีให้ฟังออนไลน์ อย่างอยากฟังดนตรีคิวบา เสิร์ช Cuban music ก็มีให้เราฟัง แต่ข้อเสียก็อย่างที่รู้กันว่าพอไม่มีซีดี มันก็เกี่ยวกับเรื่องรายได้ของศิลปินและนักดนตรีด้วย เพราะว่าเมื่อก่อนเงินก็มาจากการขายซีดี แต่ตอนนี้ก็ต้องปรับตัวโดยอาจจะต้องเล่นดนตรีสดให้เยอะขึ้น เล่นคอนเสิร์ต หรือว่าทำเพลงอยู่เบื้องหลัง

หนักใจกับเรื่องพวกนี้ไหม

ไม่หนักหรอก เพราะยังไงโลกมันก็ต้องหมุนไป อย่างตัวผมเองเห็นมาตั้งแต่เทป ซีดี ตอนนี้ซีดีก็เริ่มจะหายไปจากโลกนี้ แต่เรากลับมาหาของเก่าๆ อย่างแผ่นเสียงแทน คือผมว่าตอนนี้มันเป็นยุคของทุกอย่าง พอหมดอย่างหนึ่งก็มีอย่างอื่นมาทดแทน แต่สำหรับคนรุ่นผม ก็ยังนึกถึงความรู้สึกตอนซื้อซีดีอยู่ มันตื่นเต้นดี ได้ดูเครดิตคนทำ อัดที่ไหน ใครร้องคอรัส มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งนะ

ทำเพลงให้ศิลปินมาก็หลายคน ใช้เวลาอยู่กับแต่ละเพลงตั้งแต่ต้นจนจบ พอจะเก็งได้ไหมว่าเพลงไหนจะดัง

มันไม่สามารถบอกได้จริงๆ นะว่าเพลงไหนจะดัง แล้วส่วนใหญ่เพลงที่เราชอบมาก มันจะกลางๆ แต่เพลงที่เราชอบกลางๆ กลับดังมาก อย่างเพลง ‘อ้าว’ นี่ผมคิดว่ามันเป็นเพลงที่ดี เป็นเพลงที่โอเค แต่เรารู้สึกว่าชอบกลางๆ แต่พอออกไป โอ้โห ดังเปรี้ยงเลย เพราะฉะนั้นอย่ามาถามผมเรื่องเพลงไหนจะดัง เพราะเพลงไหนที่ผมบอกว่าจะดัง ส่วนมากจะไม่ค่อยรอด เพลงไหนที่ไม่คิดว่าจะดัง กลายเป็นดัง (หัวเราะ) ผมบอกได้แค่ว่าเพลงนี้มันเป็นเพลงที่ดีนะ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะร้อยล้านวิวนะ

เพราะถ้าผมบอกได้ว่าเพลงไหนทำออกมาแล้วจะดัง ป่านนี้วงผมก็คงร้อยล้านวิวไปนานแล้วครับ

Fact Box

บอล – กันต์ รุจิณรงค์ เรียนจบด้าน Performance จาก Berklee College of Music ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาฟอร์มวงอพาร์ตเมนต์คุณป้ากับเพื่อนๆ นักดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยออกอัลบั้มแรก บางกอกเลิฟสตอรี เมื่อปี 2546 และกำลังจะออกอัลบั้มที่ 5 ชื่อชุด อพาร์ตเมนต์คุณป้า เดือนพฤษภาคมนี้

ทุกวันนี้ นอกจากทำเพลงของตัวเอง เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินชื่อดังอย่างต่อเนื่อง เล่นแบ็กอัพให้กับ บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ และเปิดห้องอัดต้อนรับศิลปินที่มาทำเพลงกันที่ Sexy Pink Studio ของเขาแล้ว บอลยังต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปดูแล Ten Suns ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ตกแต่งแบบทันสมัยแต่คงรสชาติดั้งเดิมไว้ ซึ่งเปิดมาได้ประมาณครึ่งปีแล้ว

ถึงจะต้องทำอะไรหลายอย่างที่ต้องแบ่งทั้งเวลาและสมอง จนบางครั้งก็มีช่วงเหนื่อยบ้าง แต่เขาก็บอกว่า “ทำในสิ่งที่รัก ยังไงก็สู้และไม่เบื่อหรอก”

Tags: , , , ,