ก่อนที่ ‘อะโวคาโด’ จะได้รับการเชิดชูให้เป็นหนึ่งในหมวดอาหาร ‘ซูเปอร์ฟูดส์’ มันเคยมีชื่อที่ฟังดูไม่เท่เอาเสียเลย แถบอเมริกาใต้เรียกผลผลิตจากพืชชนิดนี้ว่า ‘ahuacatl’ แปลว่า ‘ผลไม้ลูกอัณฑะ’ ซึ่งน่าจะมีผลจากรูปทรงของมัน ส่วนในพื้นที่ที่ใช้ภาษาอังกฤษเรียกมันว่า ‘alligator pear’ จากรูปทรงคล้ายลูกแพร์ที่มีเปลือกหนาคล้ายหนังจระเข้

จุดเปลี่ยนของมันมาถึงเมื่อไรไม่มีใครรู้ แต่ซูซาน ออลพอร์ต (Susan Allport) เขียนถึงมันในหนังสือ The Queen of Fats เมื่อปี 2003 หลังจากที่ผู้คนเชื่อกันมานานหลายสิบปีว่า การมีหุ่นและสุขภาพดีจะต้องลดปริมาณการรับประทานไขมันให้น้อยลง กระทั่งถึงตอนนี้ใครๆ ต้องหันมาละเว้นการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยคาร์โบไฮเดรต

จู่ๆ ไขมันก็กลับกลายเป็นดี เพราะใครๆ เชื่อว่าคาร์โบไฮเดรตเป็นตัวการทำให้น้ำหนักตัวเกินปกติ ส่วนไขมันดีนั้น กรณีศึกษาบอกว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้วงการอาหารเพื่อสุขภาพต้องปรับแผนการตลาดใหม่ทั้งหมด ยุค ‘ไขมันน้อย’ ต้องถึงวาระปิดฉาก ผลิตภัณฑ์ปิดสลาก ‘Light’ ทั้งหลายที่อุตสาหกรรมอาหารเคยทำกำไร พลันต้องหายสาบสูญไปจากชั้นวางของซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมๆ กับการปรากฏของผลผลิตจากพืชที่มีกรดไขมันอย่าง อะโวคาโด เข้ามาแทนที่

แอปพลิเคชัน Pinterest ยกย่องอะโวคาโดเป็นอาหารยอดนิยมประจำปี 2015 ชมรมวีแกนหรือกลุ่มมังสวิรัติแนะนำอะโวคาโดอย่างออกหน้า หรือแม้แต่ Peta องค์กรพิทักษ์สัตว์ที่รณรงค์ต่อต้านการนำสัตว์มาเป็นอาหาร ก็ยังแนะนำเมนูอาหารหลากหลายที่มีส่วนผสมของอะโวคาโดในเว็บไซต์ของพวกเขา

บ่อยครั้งผู้จำหน่ายมักอ้างถึงคุณประโยชน์ของแร่ธาตุและวิตามินหลากชนิดในผลอะโวคาโด ตั้งแต่กลูตาไทโอน วิตามินซี-อี-เค โพแทสเซียม กรดโฟลิค สารลูทีน โฟเลท ไปจนถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัว ตามด้วยข้อเด่นของมันตรงที่ไม่มีคอเลสเตอรอล อีกทั้งมีสาร Plant sterols ที่ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลของอวัยวะภายใน

และขีดเส้นใต้สองเส้นที่ การรับประทานอะโวคาโดในปริมาณครึ่งลูกทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดน้ำหนักและระดับคอเลสเตอรอลได้ 

อะโวคาโดมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง และหมู่เกาะเวนต์อินดีส เริ่มแพร่กระจายในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 โดยชาวสเปนนำไปปลูกที่เปรู ต่อมาในศตวรรษที่ 18 ได้แพร่เข้าสู่ฮาวาย ฟลอริดา และแคลิฟอร์เนีย

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการปลูกอะโวคาโดที่ฟิลิปปินส์เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว และราวหนึ่งศตวรรษให้หลังจึงมีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย โดยมิชชันนารีชาวอเมริกัน นำไปปลูกครั้งแรกที่จังหวัดน่าน

ในความเป็นจริงแล้ว อะโวคาโดผลสีเขียวน้ำหนักราว 400 กรัม มาจากต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตขึ้นที่ไหนในโลกก็ได้ หากมีดิน อากาศ และน้ำเพียงพอ เพียงแต่อะโวคาโดแตกต่างจากพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ตรงที่มันต้องการมากกว่า นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องดิน อากาศ และน้ำแล้ว มันยังต้องการความใส่ใจ ดูแล แบบทะนุถนอม

เปรียบเทียบกับผลผลิตมะเขือเทศหนึ่งกิโลกรัม ในพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลกใช้น้ำโดยเฉลี่ยราว 180 ลิตร ผักสลัดหนึ่งกิโลกรัมใช้น้ำราว 130 ลิตร ในขณะที่อะโวคาโดหนึ่งกิโลกรัมกลับต้องใช้น้ำถึง 1,000 ลิตร หรือพูดให้เห็นภาพชัดกว่านั้นคือ ต้องใช้น้ำถึง 1,000 ลิตรเพื่ออะโวคาโดสองผลครึ่ง

และน้ำคือปัญหาหลักของพื้นที่ปลูกอะโวคาโด เช่นในแอฟริกาใต้ และอเมริกากลาง โดยเฉพาะเม็กซิโก แหล่งต้นกำเนิดของอะโวคาโด หรือในดินแดนแห้งแล้งอย่างอิสราเอล อะโวคาโดอย่างเดียวก็ใช้น้ำไปถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณการใช้น้ำในประเทศ  

อะโวคาโด กลายเป็นซูเปอร์ฟูดส์ยอดนิยมของสังคมยุคใหม่ ที่ใครๆ พากันเชื่อว่ามันดีต่อสุขภาพ แต่ใครที่ชอบรับประทานอะโวคาโดก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดพ้นจากความเจ็บป่วย คำจำกัดความของ ‘ซูเปอร์ฟูดส์’ ทำให้ทุกคนลืมความจริงที่ว่า ไม่มีผลไม้หรือผักชนิดไหนที่ไม่ส่งผลดีต่อร่างกายของคนเรา แม้แต่ส้ม มะละกอ ข้าวโพด หรือหัวไช้เท้า ฯลฯ ผักผลไม้ที่เราคุ้นเคยมาแต่ไหนแต่ไร ก็ล้วนแต่มีวิตามินและแร่ธาตุที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายไม่แพ้กัน

แต่การรับประทานเป็นอะไรที่มากกว่าการที่ร่างกายได้รับในสิ่งที่ต้องการ ข้อเลือกของอาหารมักมีพร้อมเสมอเพื่อความแตกต่าง ในยุคกลาง แม้แต่เหล่าชนชั้นสูงเองก็ยังเลือกที่จะไม่รับประทานอะไรที่มาจากในดิน ทุกวันนี้ในยุคโลกาภิวัตน์ใครๆ พากันถามหาความแปลกใหม่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก จนต้องมีคนเรียกหาโกจิเบอร์รีจากทิเบต ส้มยูสุจากญี่ปุ่น หรือกีวีจากนิวซีแลนด์ 

ทำให้ความสมดุลทางนิเวศวิทยาที่ไม่ดีของส่วนผสมอันทันสมัยนี้ยังคงอยู่ รวมถึงอะโวคาโดด้วยเช่นกัน

อ้างอิง:

https://www.zeit.de/2016/43/avocado-superfood-anbau-oekologie-trend/komplettansicht

http://thaifarmer.lib.ku.ac.th/f/044688213f6d509bc2675aff9ae42c61f81b05a2a6caa130a58aebafee705d13.pdf

Tags: