ออสเตรเลียผ่านกฎหมายที่จะเอาผิดกับบริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เรียกค่าปรับหรือจำคุกพนักงานหากไม่สามารถลบ ‘เนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงที่น่าขยะแขยง’ ได้ในเวลาอันเหมาะสมออกจากแพลตฟอร์มของตัวเอง กฎหมายนี้รีบร่างรีบผ่านออกมาเพื่อแสดงจุดยืนให้บริษัทเหล่านี้เอาจริงเอาจังกับการจัดการเนื้อหา แต่ก็กำลังเกิดกระแสวิพากษ์ถึงความเหมาะสมของเนื้อหาในกฎหมาย

กฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุกราดยิงในมัสยิดไครสต์เชิร์ชในนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม  ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ต้องหาเป็นชาวออสเตรเลียกลุ่มชาตินิยมผิวขาวที่เผยแพร่แถลงการณ์แห่งความเกลียดชังในโลกออนไลน์ก่อนก่อเหตุ และยังใช้เฟซบุ๊กเพื่อถ่ายทอดสดการกราดยิงของตัวเอง ซึ่งข้อเสนอในกฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการถกเถียงเผ็ดร้อนที่ว่า บริษัทโซเชียลมีเดียควรรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นผู้เผยแพร่แค่ไหน เพราะอันที่จริง ผู้ที่นำเสนอเนื้อหาคือผู้ใช้ และโซเชียลมีเดียเป็นเพียงแพลตฟอร์ม แต่กฎหมายนี้จะทำให้บริษัทอย่างเฟซบุ๊กและยูทูบมีส่วนรับผิดกับเนื้อหาที่อยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเองด้วย

“เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะสื่อสารไปยังบริษัทโซเชียลมีเดียให้ชัดเจนว่า เราต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรม” มิตช์ ไฟฟิลด์ รัฐมนตรีการสื่อสารและศิลปะกล่าวกับผู้สื่อข่าวในแคนเบอร์รา

คริสเตียน พอร์เทอร์ อัยการสูงสุด กล่าวว่า นี่น่าจะเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ร่างขึ้นหลังวิดีโอดังกล่าวแพร่กระจายในโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วจนไล่ลบไม่ทัน  

นิยามของ ‘เนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงที่น่าขยะแขยง’ ได้แก่ วิดีโอที่แสดงภาพการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย การข่มขืน หรือการลักพาตัว หากบริษัทโซเชียลมีเดียใดไม่สามารถลบเนื้อหาดังกล่าวออกไป “ได้ทันท่วงที” อาจต้องถูกปรับถึง 10% ของผลกำไรประจำปี และพนักงานอาจจะถูกจำคุกถึง 3 ปี

แน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้ออกมาโต้ตอบ โดยบอกว่า กฎหมายนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ เสียหาย เพราะจะต้องเข้าไปสอดส่องผู้ใช้ทุกคนทั่วโลก ในขณะที่เนื้อหาที่ถูกระบุว่าเป็นความผิดก็อาจถูกโพสต์ซ้ำโดยที่บริษัทไม่ได้รับรู้ด้วย เนื่องจากปริมาณเนื้อหาที่ถูกอัปโหลดนั้นมากมายมหาศาล นอกจากนี้ กฎหมายกำลังรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนมากแต่กลับไม่ได้มีกระบวนการปรึกษาหารือกันระหว่างนักกฎหมาย อุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมมาก่อนเลย

นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าออสเตรเลียจะจัดการกับบริษัทที่ไม่มีสำนักงานอยู่ในประเทศได้อย่างไร หรือจะมีสิทธิในการบังคับใช้กฎหมายลงโทษปรับตามฐานกำไรกับบริษัทข้ามชาติอย่างเฟซบุ๊กได้หรือไม่ และนอกจากโซเชียลมีเดีย ก็ยังมีเว็บไซต์อื่นๆ ที่คอยเผยแพร่เนื้อหาที่ปลุกเร้าความเกลียดชัง ซึ่งอาจลงโทษผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคลไม่ได้

การให้กรอบเวลาว่า “ทันท่วงที” และ “สมเหตุสมผล” นั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ซึ่งอาจนำไปสู่การถกเถียงที่ยืดเยื้อ รายละเอียดทางเทคนิคมากมาย ว่าเราควรคาดหวังแค่ไหนต่อบริษัทที่ต้องรับมือกับผู้ใช้หลักพันล้านคน ในขณะที่กฎหมายคล้ายๆ กันในเยอรมนีระบุว่า ต้องนำเนื้อหาที่ “ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน” ออกไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่ก็เป็นกรอบเวลาที่ปฏิบัติตามได้ยากในความเป็นจริง

“อย่างไรก็ตาม คนออสเตรเลียทุกคนคงเห็นด้วยว่า ช่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลยที่จะปล่อยให้วิดีโอนี้อยู่ในเว็บไซต์ของพวกเขานานกว่าหนึ่งชั่วโมงโดยที่บริษัทไม่ได้ลงมือแก้ไขอะไรเลย” พอเทอร์กล่าว

แต่กฎหมายที่ออกมาอย่างฉับไวและไม่ชัดเจนก็อาจก่อผลเสีย สุนิตา บอส (Sunita Bose) กรรมการผู้จัดการกลุ่มดิจิทัล อิสดัสทรี ซึ่งเป็นตัวแทนของกูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แอมะซอน และเวอไรซอนมีเดีย ในออสเตรเลีย แสดงความเห็นว่า “วิธีการออกกฎหมายแบบ ‘ออกไปก่อน ค่อยแก้ทีหลัง’ อาจจะสร้างความไม่แน่นอนให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในออสเตรเลียขึ้นมา” เธอกล่าว “มันคุกคามพนักงานที่ทำงานในบริษัทต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้าง (user-generated content) ว่าพวกเขามีโอกาสถูกจำคุก หากมีผู้ใช้บริการของแพลตฟอร์มอย่างผิดๆ ทั้งที่พวกเขาอาจไม่รู้เรื่องอะไรเลย” ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุชัดว่า ‘ใคร’ ในบริษัทโซเชียลมีเดียที่ต้องถูกลงโทษ

ปัญหาอีกอย่างจากกฎหมายนี้ซึ่งอาจกระทบชิ่งไปถึงวงการสื่อ ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการคุกคามเสรีภาพสื่อหรือไม่  โฆษกจากนิวส์คอร์ปออสเตรเลียกล่าวว่า จริงอยู่ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัลมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขานำเสนอไปสู่โลก แต่กฎหมายนี้อาจไปไกลกว่าเหตุ “แม้เราจะพยายามทำงานกับรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบ แต่กฎหมายนี้เสี่ยงจะทำให้การรายงานข่าวกลายเป็นอาชญากรรม และยังให้อำนาจคณะกรรมการ eSafety ค่อนข้างมาก ในการพิจารณาลบเนื้อหาข่าวออกไป” ซึ่งบางฝ่ายออกมาแสดงความเห็นว่าสุดท้าย นี่อาจเป็นผลเสียต่อการนำเสนอข่าวซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ

 

ที่มา:

Tags: , , , ,