ตั้งแต่ด่ออองซานซุจี่ (Daw Aung San Suu Kyi) หรือนางอองซานซูจีได้เข้ามาบริหารประเทศในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2559 โดยปกติแล้ว เธอจะสื่อสารกับประชาชน ผ่านคำแถลงอย่างเป็นทางการหรือการประชุมสาธารณะ เธอไม่ค่อยออกแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์กับสื่อพร่ำเพรื่อมากมายนัก แต่หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ผลักดันให้เธอต้องลงมาสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น
“ฉันไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้เฟซบุ๊กตั้งแต่ทีแรก” ซูจี เขียนลงในโพสต์แรกบนบัญชีเฟซบุ๊กของเธอ ที่มีเครื่องหมายถูกสีฟ้าหลังชื่อบัญชีซึ่งยืนยันว่าเป็นบัญชีจริงที่ผ่านการรับรองแล้ว
“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน บัญชีนี้สร้างขึ้น เพื่อใช้สื่อสารกับประชาชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกับความท้าทายของโควิด-19” ซูจี ระบุในโพสต์
ส่วนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อบัญชีเหมือนกันว่า Aung San Suu Gyi ซึ่งมีอยู่ก่อนหน้านี้และมีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านคนนั้น เป็นของเครือข่ายสาธารณะ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเธอ และแคมเปญต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่หยุดเคลื่อนไหวไปแล้ว ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2561
สืบเนื่องจากการที่กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมาออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศและพื้นฐานระบบสาธารณสุขของเมียนมาที่ยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอในการรับมือหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ นั่นมีส่วนทำให้ซูจีออกมาแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ 2 ครั้ง ในถ้อยแถลงนั้นมีสาระสำคัญที่คล้ายคลึงกัน คือ เธอขอให้ชาวเมียนมาอย่าตื่นตระหนก และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับแนวทางของรัฐบาล อีกทั้งเธอยังได้สาธิตวิธีการล้างมือที่ถูกต้องผ่านคลิปรณรงค์การล้างมือของทางการด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเคสแรกๆ เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2563 ก็ทำให้เธอตัดสินใจเข้าสู่โลกของโซเชียลมีเดีย เพื่อขยายขอบเขตการเข้าถึงประชาชน เนื่องจากมีสถิติรายงานว่ามีชาวเมียนมาใช้เฟซบุ๊กประมาณ 25 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 54 ล้านคน
ในขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของซูจี บนโซเชียลมีเดียครั้งนี้เกิดขึ้นทันทีภายหลังฮิวแมนไรตส์วอตช์ (HRW) ออกแถลงเตือนว่ามีชาวเมียนมาราว 3 แสน 5 หมื่นคนทั่วประเทศที่อยู่ในความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านสาธารณสุขในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด
ซูจีอาศัยเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่แนวทางของรัฐบาล และทำการไลฟ์สดพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องถึงปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนการโพสต์ในลักษณะที่เป็นการแสดงความห่วงใย การส่งกำลังใจ การขอบคุณ ฯลฯ ซึ่งดูแล้วก็เหมือนกับที่เราโพสต์เฟซกันปกติทั่วไปนั่นแหละ
แต่หลังจากผู้เขียนข้อเขียนนี้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความและการไลฟ์สด มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือ การที่เธอยกเอาถ้อยคำปลุกใจจากวรรณกรรมของนักเขียนยุคต่อสู้กู้ชาติมาใช้เป็นแกนหลักอ้างอิงร่วมกัน ในการต่อสู้กับโควิด-19!
มีอะไรในสารจากยุคต่อสู้กู้ชาติถึงยุคโควิด
‘ยุคแห่งการต่อสู้กู้ชาติ’ ในประวัติศาสตร์เมียนมา เริ่มปรากฏขึ้นพร้อมกับการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1886 ในความทรงจำบาดแผลของประเทศเมียนมาเรียกยุคอาณานิคม ซึ่งกินระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ ค.ศ.1886 ถึง ค.ศ.1948 ว่าเป็นยุคที่ประเทศและประชาชนตกอยู่ในสถานะทาส ภายใต้สภาวะบีบคั้นและแรงกดดันจากสถานะของการเป็น ‘ทาสอาณานิคม’ ก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นของกลุ่มนักต่อสู้กู้ชาติเป็นจำนวนมาก ในทั่วทุกหัวระแหงของประเทศเมียนมา บรรดาแกนนำกลุ่มนักต่อสู้กู้ชาติต่างลุกขึ้นมาปลุกระดมพล เพื่อต่อต้านการครอบงำของอังกฤษ ซึ่งเริ่มปฏิบัติการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ช่วงปีแรกของการตกเป็นอาณานิคม ถึง ค.ศ. 1891 และในบางพื้นที่ยืนหยัดต่อต้านการเข้าครอบครองของอังกฤษยาวนานถึง 10 ปีก็มี
ในช่วงทศวรรษแรกของการตกเป็นอาณานิคม พบว่า มีแกนนำกลุ่มต่อสู้กู้ชาติจำนวนมากถึงร้อยกว่าคน สภาวการณ์แข็งขืนดังกล่าว ส่งผลให้อังกฤษต้องสูญเสียกำลังทหารและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ในการปราบปรามกลุ่มนักต่อสู้กู้ชาติ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ในช่วงนี้ได้เกิดวรรณกรรมที่มีแก่นเรื่องหลักเป็นการต่อสู้กู้ชาติเป็นจำนวนมาก คนที่เขียนวรรณกรรมต่อสู้กู้ชาติเป็นคนแรกๆ คือนักเขียนและนักต่อสู้นามว่า ตะขิ่น โก่ ด่อ มาย (Thakhin Kodaw Hmaing) (ค.ศ. 1876-1964) งานเขียนของเขาส่วนใหญ่มุ่งเน้นการขับไล่ระบอบอาณานิคมให้พ้นไปจากเมียนมา พร้อมกับกระตุกเตือนให้ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมเมียนมาอันดีงาม สูงส่ง
ตะขิ่น โก่ ด่อ มาย เขียนงานหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นบทละคร บทกวี พงศาวดาร ตำนาน แต่ที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางและมีชื่อเสียงโด่งดังมากคือ บทกวีประเภท เลโช หรือบทกวีที่หนึ่งบทมีสี่บาท ซึ่งเป็นรูปแบบกวีนิพนธ์ที่เกิดและนิยมแต่งกันมากในสมัยราชวงศ์คองบอง (ค.ศ.1752-1885—ยุคราชวงศ์สุดท้ายก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) เนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงชีวิตทางสังคมโดยทั่วไป ตะขิ่น โก่ ด่อ มาย ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนที่มีฝีไม้ลายมือในการแต่งเลโช ชนิดที่หาคนเปรียบได้ยากในยุคอาณานิคม
งานเขียนอีกประเภทหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กันคือ ฎีกา จริงๆ แล้ว ฎีกาคือวรรณกรรมภาษาบาลี ที่แต่งเพื่ออธิบายความในคัมภีร์อรรถกถาของอรรถกถาจารย์ที่ได้ไขความในพระไตรปิฎกไว้ แต่ตะขิ่น โก่ ด่อ มาย ได้สร้างสรรค์ฎีกาสไตล์ใหม่ในบรรณพิภพเมียนมา แทนที่จะเขียนเรื่องศาสนาตามแบบเดิม เขากลับใช้ฎีกาเขียนอรรถาธิบายถึงระบอบอาณานิคม โดยพยายามโจมตีและชี้ให้เห็นความเลวร้ายของระบอบอาณานิคม และเกทับบลั๊ฟแหลกด้วยวัฒนธรรมพื้นเมือง โดยใช้การยกบทกวีอย่างเลโชและอื่นๆ ขึ้นตั้งและวิเคราะห์ อธิบายขยายความให้ยืดยาวออกไปเป็นร้อยแก้วที่ใช้ประโยคยาวเป็นพารากราฟ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคำสัมผัสแพรวพราวและเลือกใช้คำได้อย่างสละสลวย
ถือว่าเขาประสบความสำเร็จในการใช้วรรณกรรมปลุกระดมให้ผู้คนลุกขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ ถึงขนาดมีการนัดหยุดเรียนและนัดหยุดงานทั่วประเทศเพื่อคว่ำบาตรเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ตลอดทศวรรษ 1920 ว่ากันว่านั่นเป็นผลมาจากฎีกา ที่ชื่อว่า ‘Boycott ฎีกา’ ของตะขิ่น โก่ ด่อ มาย นั่นเอง
สิ่งที่ทำให้งานเขียนของเขามีอิมแพคขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าในงานเขียนของเขามักฝังซ่อนวาทะปลุกใจ ความว่า “เมื่อเกิดวิกฤต เราต้องรวมเลือดเนื้อเป็นหนึ่งเดียว” (Ayei Gyi Hlyin Hping Thwei Si Pyi …) ซึ่งถือว่าเป็นลายเซ็นของเขาเลยก็ว่าได้ และเขาก็ใช้ถ้อยความนี้เดินหน้าปลุกระดมให้ชาวเมียนมาลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบอาณานิคม
เพราะยุคอาณานิคมและนักต่อสู้กู้ชาติคือความทรงจำร่วมของประเทศ ซูจีจึงหยิบยกข้อความปลุกใจของตะขิ่น โก่ ด่อ มาย ที่เคยใช้เดินสายปลุกระดมและหลอมรวมเลือดเนื้อชาวเมียนมาให้เป็นหนึ่งในยุคอาณานิคมและเคยใช้สำเร็จมาแล้ว มากล่าวอ้างซ้ำ เพื่อกระตุกเตือนประชาชนเมียนมาอีกครั้งในยุคโควิด
ในมุมมองทางจิตวิทยา คำที่เลือกใช้และพิมพ์เผยแพร่ให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของตัวเอง หรือ ‘ชาวเน็ต’ ให้ได้รับรู้กันนั้นเป็นตัวแทนที่สะท้อนหรือบอกถึง ‘อะไรบางอย่าง’ ที่อยู่ในใจหรือในความคิดของคนเรา ในแง่นี้ดูเหมือนว่าการที่เธอหยิบยกเอาวรรคทองจากวรรณกรรมยุคต่อสู้กู้ชาติขึ้นมา เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าเมื่อรวมเลือดเนื้อเป็นเชื้อเครือเดียวกัน สามารถขับไล่ระบอบอาณานิคมให้ออกไปจากเมียนมาได้ ก็ไม่ต่างกับการที่กำลังต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม
น่าสังเกตว่าวาทกรรมเพื่อการสร้างสำนึกรักชาติของเมียนมานั้นมีอยู่มากมาย แต่วาทกรรมที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่เสมอในการแสวงหาสำนึกรักชาติในวาระหรือวิกฤตเฉพาะหน้า คือ ชุดความรู้การต่อต้านอังกฤษและฟาสซิสต์ญี่ปุ่นในยุคอาณานิคม เพราะอย่างที่รู้กันดีอยู่ว่าเมียนมายังมีปัญหาด้านเอกภาพและความมั่นคงภายใน อันเนื่องมาจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่สืบเนื่องเรื้อรังมาเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน
และที่ต้องหันกลับไปปักหมุดที่ยุคอาณานิคม เพราะเป็นยุคแห่งความยากลำบากที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้พากันก้าวข้ามผ่านมา สู่ยุคใหม่
โดยนัยนี้… ‘ยุคโควิด’ กำลังเท่ากับ ‘ยุคอาณานิคม’ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการร่วมกันของคนในชาติที่จะต้องข้ามผ่านไปด้วยกัน ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในโครงการร่วมกันเพื่อต่อสู้ ด้วยแนวทางต่างๆ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ชุดความรู้ยุคต่อสู้กู้ชาติ เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของผู้นำเมียนมา ที่นิยมเอามาใช้ ในเวลาที่ต้องการแสวงหาสำนึกรักชาติ ไม่ว่าจะเป็นยุคเผด็จการทหารและยุคประชาธิปไตย
ภาพ: HANDOUT / MYANMAR’S MINISTRY OF INFORMATION (MOI) / AFP
Fact Box
- ในบรรดาประเทศอาเซียนจะพบว่าเมียนมาเป็นประเทศหนึ่งที่ยังมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนตัวเลขที่ไม่สูงมาก ข้อมูลถึง ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2563 รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อรวม 155 ราย รักษาหายแล้ว 43 ราย และเสียชีวิต 6 ราย และเริ่มใช้มาตรการผ่อนปลนคลายล็อกให้รถโดยสารในเมืองย่างกุ้งกลับมาวิ่งได้ อย่างไรก็ดี มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในเมียนมาในความเป็นจริงแล้วอาจมากกว่านี้หรือไม่
- มาตรการที่รัฐบาลใช้คือคุมเข้มไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทุกชาติเข้าประเทศ มีคำสั่งให้ประชาชนหยุดอยู่บ้าน หยุดให้บริการเดินรถประจำทางทุกสาย ยกเลิกงานเฉลิมฉลองต่างๆ มีการจัดตั้งศูนย์กักตัวเฉพาะกิจขึ้น เพื่อยับยั้งโควิด-19 ให้แพร่ไปได้น้อยที่สุด