หากไม่เคยรู้จักมาก่อน ผมคงนึกไม่ถึงว่าหญิงสาวรูปร่างเพรียวสูง ใบหน้าอ่อนหวานพอๆ กับน้ำเสียง และมีรอยยิ้มอ่อนโยนตลอดเวลาที่อยู่เบื้องหน้านั้น จะผ่านการเดินทางมากกว่าร้อยประเทศ และทุกทวีปทั่วโลกมาแล้วด้วยตัวคนเดียว ตั้งแต่การขึ้นรถไฟชั้นสามของอินเดีย จนถึงการเดินป่าบนเส้นทางขั้วโลกเหนือ และอีกหลายทริปที่เรียกได้ว่า ‘ท้าทาย’ หรือบางครั้งก็ ‘เสี่ยง’ ต่อชีวิต
แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนบ่งบอกความเป็นตัวตนนักผจญภัยของ ‘มิ้นท์’ – มณฑล กสานติกุล ได้เป็นอย่างดี
ผมต้องยอมรับว่า หญิงสาวเจ้าของเพจ I Roam Alone ที่มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่าสี่ล้านห้าแสนคน และในแชนแนลยูทูบกว่าสองล้านคน รวมถึงหนังสือบันทึกการเดินทางอีกสองเล่ม เป็นบุคคลที่ได้คิวมาพูดคุยไม่ง่าย เนื่องจากงานของเธอที่ทำให้ต้องออกเดินทางเป็นประจำ และการไม่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อบ่อยนัก
บ่ายวันแดดร้อน อุณหภูมิภายนอกเลยเลขสามสิบองศา ผมมาพบกับเธอที่ร้าน F.I.X Coffee คาเฟ่สไตล์ลอฟต์ย่านสีลม ตัวร้านขนาดย่อม โปร่งโล่ง เพดานสูง และมีกระจกบานใหญ่หน้าร้าน ทำให้แสงส่องสว่างเข้ามาอย่างทั่วถึง แม้กระทั่งชั้นสองที่เรายึดโต๊ะขนาดยาวตรงมุมเป็นที่นั่งพูดคุย จากมุมนี้สามารถมองลงไปยังชั้นล่างได้ ที่ชั้นนี้มีลูกค้าประปรายกำลังนั่งจดจ่ออยู่กับสิ่งของตรงหน้าอย่างเงียบงัน ทำให้มุมของเรามีเสียงดังกว่ามุมอื่นเล็กน้อย หญิงสาวจึงพยายามประคองน้ำเสียงไม่ให้ดังเกินไป ยกเว้นยามหัวเราะที่ดูเหมือนเธอจะปลดปล่อยความรู้สึกออกมาเต็มที่
ไม่นานนัก ผมและเธอก็ค่อยๆ ปรับจังหวะเข้าหากันได้ หญิงสาวนักเดินทางอาชีพอยู่ในชุดกระโปรงสีฟ้าอ่อน ผมสั้นประบ่าทำให้เธอดูอ่อนหวานแต่แฝงด้วยความกระฉับกระเฉง เธอตั้งท่านั่งหลังตรง มือประสานวางบนโต๊ะ แต่มีความผ่อนคลายในท่าที
“เราเพิ่งกลับจากขอนแก่นเมื่อสองวันก่อน” เธอเริ่มต้นเล่าเรื่องการเดินทางไปถ่ายงานเที่ยวล่าสุดที่อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น เธออธิบายว่ามันเป็นอำเภอที่ตกสำรวจด้านการท่องเที่ยว แต่มีคนรู้จักในพื้นที่ซึ่งเป็นอาจารย์ชวนไปเที่ยวเมื่อปีก่อน หลังจากผ่านมาหนึ่งปี เธอจึงกลับไปเยี่ยมเยียนอีกครั้ง “ตอนนี้การท่องเที่ยวดีมาก หน่วยงานดี ทุกอย่างดี มีการรวมตัวของกลุ่มคนในพื้นที่ มีคนเข้ามาเที่ยวเยอะขึ้น เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในหนึ่งปีที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วขนาดนี้” เธอเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย
ตำบลสีชมพู จัดตั้งเป็นตำบลเมื่อปี พ.ศ. 2501 เริ่มแรกขึ้นตรงต่ออำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น แต่เมื่ออำเภอสีชมพูแยกการปกครองออกจากอำเภอชุมแพ เมื่อปี พ.ศ. 2508 จึงขึ้นต่ออำเภอสีชมพู ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นทางภาคอีสานที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพ จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มิ้นท์อธิบายว่า จากที่ได้ฟังจากชาวบ้านมา เป็นไปได้ว่าสมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นของกลุ่มคอมมิวนิสต์ “แต่ไม่ได้คอมมิวนิสต์จ๋า ก็เลยไม่ใช่สีแดง แต่เป็นสีชมพู เหมือนคอมมิวนิสต์ผสมนม” เธอกล่าวติดตลก “มันเป็นอำเภอที่สวยมาก ไปกี่ทีก็อันซีนทุกครั้ง ผู้คนก็น่ารัก ความรู้สึกไม่เหมือนอยู่อีสาน เพราะเราจะคิดว่าอีสานเป็นพื้นที่ราบ แต่ที่นี่จะคล้ายกับพังงา ที่จะมีภูเขาหินปูนโผล่ขึ้นมาเป็นช่วงๆ เราได้ไปปีนภูเขา ได้ไปขี่ม้า สนุกมาก”
“ปีนี้เป็นปีที่ได้กลับมาคุ้ยคอนเทนต์ในไทยเยอะขึ้นมาก” เธอยิ้มและหันไปขอน้ำเปล่าด้วยน้ำเสียงสุภาพ ก่อนหันกลับมานั่งหลังตรง และพูดออกกับผมว่า
“มา!”
1
“คนชอบมองว่าการเดินทางต้องหมายถึงต่างประเทศ แต่ตอนนี้เราก็เดินทางในไทย และยังไม่ได้หยุดเลยนะ”
เมื่อวันที่โรคระบาดมาถึง การเดินทางข้ามประเทศกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนมองว่าอาจเป็นจุดจบของนักเดินทางเป็นอาชีพ แต่มิ้นท์อธิบายว่า แม้โรคระบาดทำให้เธอไม่สามารถเดินทางไปทำคอนเทนต์ที่ต่างประเทศได้อย่างที่เคย แต่ก็เป็นโอกาสดีที่ได้กลับมาเดินทางในประเทศไทยเยอะขึ้น “เราได้คอนเทนต์ในไทยเยอะ และได้ลองไปคอลแลบร่วมกับคนอื่น ซึ่งมันก็ดีเหมือนกันนะ”
“อาจจะมีมุมงงมุมเดียว ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นนักเดินทางเท่าไหร่ คือคนรู้จักเราเยอะมากขึ้น ทำให้เวลาเราเดินทางไปที่ไหนจะไม่ได้รู้สึกว่า โห เราไปในโลกที่ไม่มีใครรู้จัก มันช่างท้าทายเหลือเกิน เพราะนั่นคือสิ่งที่ได้จากการเดินทางในต่างประเทศ” เธอว่า “ความตื่นเต้น การผจญภัย การเจอต่างภาษา ไม่รู้จักใคร ได้เจอมิตรภาพใหม่ เจอความพัง มันเป็นอะดรีนาลีนของเรา”
ผมลองถามเธอว่า การมีคนรู้จักเยอะขึ้น ทำให้การเดินทางของเธอสนุกน้อยลงหรือไม่ เธอกอดอก สีหน้าครุ่นคิดเล็กน้อยก่อนตอบ “สนุกเหมือนเดิม แต่ว่าตื่นเต้นน้อยลง” ก่อนอธิบายเสริมว่า “เราชอบความตื่นเต้น แต่ก่อนเราจะบาลานซ์ความรู้สึกได้ เวลาไปต่างประเทศ เราจะได้ตื่นเต้นสุดๆ เพราะเหตุผลที่บอกไป แต่กลับมาไทยก็จะมีความคุ้นเคย ทั้งผู้คน ทั้งภาษา แต่ปัจจุบันบาลานซ์ตรงนั้นมันหายไป”
“แต่มันก็ไม่ถึงกับตายหรอก” เธอถอนหายใจเล็กน้อย “สิ่งที่เราเจอมันน้อยกว่าคนอื่นมาก”
“ตอนนี้ก็ยังลุยเหมือนเดิม แต่เป็นการลุยในไทย เราได้เข้าป่าไปลองกินนู่นกินนี่ ก็เลยค้นพบว่า ประเทศไทยกินกันเดือดไม่เบานะ เราไปลองกินด้วงมะพร้าวตัวใหญ่ๆ แบบดิบ กินกุ้งเต้น กินจิ้งหรีด กินจนบาดคอไปหมดเลย” เธอหัวเราะและเบ้หน้าเล็กน้อย
“บ้านเรายังมีอะไรให้ค้นพบอีกเยอะมากเหมือนกัน”
2
จะด้วยความบังเอิญหรือสิ่งใดก็ตามแต่ เสียงดนตรีในร้านตอนนั้นกำลังเล่นเพลง ‘Love on the Weekend’ ของ จอห์น เมเยอร์ มันเป็นเพลงที่เล่าถึงคู่รักคู่หนึ่งที่กำลังจะได้เจอกันในสุดสัปดาห์ ช่วงเวลาที่จะพาทั้งคู่แล่นรถเดินทางออกจากความซ้ำซากในระหว่างสัปดาห์
หลายครั้งที่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน ทำให้บางสิ่งในใจมนุษย์สั่นคลอนเพราะความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องภายในอย่าง ความคิด ความเชื่อ หรือเรื่องภายนอก เช่น การงาน และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้ที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจมีสิทธิ์ถูกทิ้งค้างอยู่หลังความเปลี่ยนแปลงนั้น
“เราไม่ค่อยกลัวการเปลี่ยนแปลง เรากลัวการไม่เปลี่ยนแปลง” มิ้นท์พูดถึงโควิดที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อการทำงานของเธอโดยตรง “พอมันเกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน คนก็จะงงว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนต้องปรับตัว ต้องเปลี่ยนคอนเทนต์ ตอนนั้นเราก็ปรับตัวเลย จะเปลี่ยนรูปแบบคอนเทนต์เป็นอย่างไร จะลองเล่าแบบไหน ยังไทอินได้เหมือนเดิมไหม จะเดินทางอย่างไร หาคอนเทนต์เพิ่มอย่างไร จะทดลองทำอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง
“แต่ปัจจุบันพอมันเริ่มลากมายาวและไม่รู้จะจบตอนไหน ตอนนี้มันคือโมเมนต์ของการไม่เปลี่ยนแปลงนะ” เธอเสริมว่าโควิดทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่งและทำให้วางแผนไม่ได้ “มันเหมือนดึงให้ทุกคนลงมาที่เดียวกัน”
“มีพี่คนหนึ่งพูดไว้ แล้วเราชอบมาก จากสมัยก่อนที่คนจะมองว่าบางอาชีพมั่นคง หรือฟรีแลนซ์ไม่มั่นคง แต่พอโควิดมา โห ไม่มีอะไรมั่นคงแน่นอนเลยจ้า” เธอลากเสียง “ทุกอย่างพร้อมจะไม่มั่นคงจริงๆ”
ผมสนใจว่าการไม่กลัว ‘ความเปลี่ยนแปลง’ และพร้อม ‘ปรับตัว’ ของเธอเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไร เธอหยุดคิดเล็กน้อย ก่อนยอมรับด้วยน้ำเสียงขัดเขินและรอยยิ้มว่า ชีวิตที่ผ่านมาของเธอไม่เคยเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ย้อนกลับไปสมัยเป็นนักศึกษา เธออยากเรียนคณะรัฐศาสตร์แต่ก็ไม่ได้เรียนตามที่หวัง สมัครเรียนที่สถาบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ เพราะอยากเป็นเชฟก็ไม่สำเร็จ “เราไม่ได้เกิดมาแล้วบอกว่าฉันจะเป็นทราเวลบล็อกเกอร์ เราเกิดมาอยากเป็นภรรยาทูต” พูดจบ เธอหัวเราะร่า “เราเลยค่อนข้างชินกับการที่มันไม่เป็นไปตามแผน เพราะมันเป็นแบบนี้มาตลอด”
“จนมาถึงจุดนี้ก็ยังคิดอยู่ว่ามาถึงได้อย่างไร และมันจะไปอย่างไรต่อก็ไม่รู้เหมือนกัน” เธอกล่าว “ฉะนั้น การที่เป็นเราในวันนี้ก็ไม่ได้เป็นเพราะว่าเราสมหวัง แต่เป็นเพราะผิดหวังจากหลายๆ อย่าง”
“หากมองย้อนกลับไปจากวันนี้ ชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปตามแผนเป็นข้อดีหรือข้อเสียสำหรับคุณ” ผมลองถาม ตั้งใจจะคว้าชาเย็นที่อยู่ข้างกายขึ้นมาจิบ แต่ก็เปลี่ยนใจ
เธอครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง “ไม่นับเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย” เธอว่า “คนเราต่างกัน บางคนที่ชอบแพลนชีวิต และได้ทำตามแพลน มันก็คงมีมุมที่ดีกับเขา เขารู้ว่าชีวิตเขามีเป้าหมายแน่วแน่ มันดีมากสำหรับเขาในบางสถานการณ์ แต่บางสถานการณ์ก็ไม่อาจดีสำหรับเขา ในขณะที่เรารู้สึกว่าเราวางแผนอะไรไม่ได้ เราก็จะเบลอๆ ไป ไม่ค่อยวางแผนเท่าไหร่ บางสถานการณ์ก็ดี บางสถานการณ์ก็ไม่”
“มันเหมือนมีภูมิคุ้มกันต่างกัน” เธอสรุป “บางเรื่อง trigger เรา บางเรื่องไม่ trigger เรา บางเรื่อง trigger เขา บางเรื่องไม่ trigger เขา”
3
ความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การทำงานของมิ้นท์และ I Roam Alone ต้องมีการปรับเปลี่ยน เธอเล่าเรื่องนี้พลางยกขวดน้ำเปล่าขึ้นจิบ เธอบอกว่าการไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งแทบจะเป็นคอนเทนต์หลักของเธอในช่วงยามปกติ ทำให้เธอได้กลับมาเดินทางในประเทศไทยมากขึ้น
หากลองไล่เรียงดูคอนเทนต์ในแชนแนลยูทูบของ I Roam Alone ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการท่องเที่ยวในชุมชนค่อนข้างเยอะ แตกต่างกันไปด้วยกิจกรรมสนุกๆ ที่มีความหลากหลาย เธอบอกว่าการได้กลับมาเที่ยวในไทย เหมือนเป็นการได้ช่วยโปรโมตพื้นที่ในบ้านตัวเองมากขึ้น ถึงแม้เธอจะยอมรับว่ามันอาจไม่ได้ตื่นเต้นกับใจมากเหมือนแต่ก่อน “เรายอมรับตรงๆ ว่ามีช่วงที่เราเบื่อ” เธอลดน้ำเสียงลงเล็กน้อย “แต่พอได้ไปเที่ยวในชุมชนเยอะๆ แล้วผลลัพธ์คือได้ได้ช่วยโปรโมตสถานที่ ถึงเราจะยังเบื่อ แต่สิ่งที่มันออกมามันยังโอเค เราก็คิดว่า ความเบื่อคงไม่ถึงตายมั้ง”
“มันต้องมีช่วงเบื่อบ้าง เหมือนชาร์จไฟไป แล้วพอการท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มเปิด ทีนี้แหละ เราจะได้ปล่อยพลัง” เธอหัวเราะร่า
มิ้นท์เล่าว่า ด้วยความที่ช่วงที่ผ่านมาทุกอย่างต้องหยุดนิ่ง เธอจึงมีเวลาได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น และได้กลับมาเดินทางเข้าสู่ข้างในตัวเองมากกว่าแต่ก่อน ทำให้เริ่มสนใจเรื่องความรู้สึกของตัวเอง และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งช่วงใหม่ของช่อง I Roam Alone ที่ชื่อว่า ‘เที่ยวแล้วไปไหน’ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการตัดต่อวางโครงเรื่อง
“มันเป็นการ experiment เกี่ยวกับเรื่องข้างใน” เธออธิบาย “เราดึงทั้งทีมงานมาทำด้วยกัน เพื่อจะเป็นปีที่เราได้ลองโต และได้ทดลองไปด้วยกัน” ผมลองถามเธอว่ารูปแบบรายการจะเป็นแบบไหน เธออมยิ้มเล็กๆ และบอกว่าต้องรอดู
ถึงตรงนี้ ผมเปลี่ยนมาชวนเธอคุยถึงเรื่องการทำคอนเทนต์ท่องเที่ยวในอนาคต หากเริ่มมีการเปิดประเทศ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการเดินทางที่จะยากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของความปลอดภัยด้านสุขภาพ ผมอยากรู้ว่าเงื่อนไขที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อการทำคอนเทนต์ขนาดไหน เธอตอบว่า “คงเหมือนเดิม” ก่อนอธิบายเพิ่มว่า “สุดท้ายโลกจะปรับตัวเองไปเรื่อยๆ การท่องเที่ยวน่าจะเหมือนเดิม แต่อาจมีการเล่าด้วยวิธีหรือแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนเดิม”
“มันโตไปด้วยกันแบบนี้ และเราจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงฉับพลันขนาดนั้น เหมือนสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต แล้วโลกก็ค่อยๆ เปลี่ยน มีอินเทอร์เน็ต มียูทูบ มีแพลตฟอร์มต่างๆ”
“ล่าสุดมี Clubhouse ซึ่งเราเข้าไม่ได้ เพราะใช้แอนดรอยด์” เธอพูดถึงแอพพลิเคชันที่กำลังมาแรงและหัวเราะ “เราเหมือนถูกตัดขาดเลย”
เธอยกน้ำเปล่าขึ้นจิบอีกครั้ง ก่อนหันมาเสริม “แต่เรามี TikTok นะ”
4
คำตอบของเธอทำให้ผมแปลกใจเล็กน้อย ผมถามเธอว่า ช่วงเวลาสองสามปีที่ทำช่องยูทูบของตัวเอง มีคนที่รักและสนับสนุนในสิ่งที่เธอทำตลอด แต่ผมอยากรู้ว่า ยังมีอะไรบ้างที่เธอรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีและต้องพัฒนา เธอตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “เรายังไม่เคยรู้สึกว่าทำอะไรได้ดีเลยนะ”
เธอขยายความว่า ทุกอย่างที่เธอทำยังต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ตามจังหวะที่ไหว “ความรู้สึกว่ายังไม่มีสิ่งไหนที่ทำได้ดี ทำให้เรามองว่ามันยังดีได้ขึ้นในอีกทุกวัน เพราะเราชอบการเปลี่ยนแปลงไง”
“เมื่อไหร่ก็ตามที่การทำงานเราเริ่มเป็นแพตเทิร์น เราจะคิดว่าจะลองเล่าเรื่องแบบใหม่ได้ไหม หาวิธีตัดงานใหม่ได้ไหม มันคือความสนุกส่วนตัวที่พยายามทำให้มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต้องมีบางอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอสำหรับฉัน ฉันถึงจะโอเค” พูดจบเธอก็หัวเราะ
ปัจจุบันช่วงชีวิตของมิ้นท์เดินทางมาถึงหลักไมล์หลังเลขสามแล้ว ในมุมหนึ่ง มันคือการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอีกขั้นของชีวิต ผมจึงอยากรู้ว่า ในมุมของเธอ คำว่า ‘โตเป็นผู้ใหญ่’ ของเธอมีนิยามอย่างไร เธอนิ่งคิดเล็กน้อย และเริ่มอธิบายในมุมของการทำงานก่อน “ถ้าในมุมของงาน น่าจะเป็นการโตไปเรื่อยๆ ทำให้เราสนุกไปเรื่อยๆ และไม่รู้สึกว่าย่ำอยู่ที่เดิม”
เธอบอกว่าเธอเป็นมนุษย์ที่ทำงานทุกอย่างออกมาจากความต้องการของตัวเองเป็นหลัก “ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้คนที่ดูงานเรา หรือรับสารจากงานเรา ได้โตในแบบของเขาเองไปด้วย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าแบบไหนนะ อาจจะแค่สนุกก็ได้ เราเข้าใจว่าคนเครียดเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะไม่ทำให้เกิดเลยคือ ความรู้สึกขุ่นมัว”
“แล้วในมุมของชีวิต คุณมองว่าการโตเป็นผู้ใหญ่คืออะไร” ผมถาม เธอตอบสั้นๆ ด้วยรอยยิ้มว่า “มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนอื่น และตัวเอง”
ผมถามเธอย้อนกลับไปเล็กน้อยว่า หากเป็นช่วงวัยเด็ก เธอเคยมองภาพตนเองในวัยผู้ใหญ่ไว้อย่างไร เธอหัวเราะและตอบว่า “ไม่เคยมองเลย เราเป็นคนไม่มองอนาคตเลยจริงๆ” แม้จะเป็นคำตอบทีเล่นทีจริง แต่มันแฝงท่าทีจริงจังเอาไว้ “เราไม่เคยมองว่าโตไปแล้วจะเป็นอย่างไร คำถามที่คนชอบถามว่า มองตัวเองอีกห้าปีข้างหน้าเป็นอย่างไร เราไม่เคยมองเลย เพราะรู้สึกว่า มันกำหนดอะไรได้ด้วยเหรอ”
เหมือนเธอจะอธิบายอะไรต่อ แต่ก็กลืนคำพูดนั้นไว้ และกล่าวสั้นๆ ว่า “เรารู้สึกแบบนั้นเลย”
หลังคำตอบนั้น เกิดความเงียบงันขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ความเงียบที่น่าอึดอัด
5
ในช่วงท้ายๆ ของการสนทนา ผมชวนเธอคุยถึงประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากช่วงเวลาแห่งการหยุดนิ่งที่ผ่านมา ว่ากันว่า ‘การเดินทาง’ จะสอนเราแบบหนึ่ง แต่ ‘การไม่ได้เดินทาง’ ก็สอนเราอีกแบบหนึ่ง เธอบอกว่า มันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้ยอมรับว่าตัวเอง ‘ห่วย’ ในแง่ของ ‘การจัดการกับความสัมพันธ์ของตัวเองและคนรอบข้าง’
“เราเพิ่งได้เข้าใจว่า ความอ่อนแอก็คือความเข้มแข็ง” เธออธิบายความหมายของคำนี้เพิ่มว่า “ก่อนหน้านี้สำหรับเรา ความเข้มแข็งก็คือเข้มแข็ง ใครมองเราจะต้องรู้สึกว่าเราเข้มแข็งตลอด แต่เราได้เข้าใจว่า การเปิดเผยมุมที่อ่อนแอหรือมุมที่ห่วยของเรามันคือความเข้มแข็งนะ”
“การโตจากการเดินทาง และการโตจากการไม่ได้เดินทาง มันไปด้วยกัน เราจะโตแค่ข้างในอย่างเดียวก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่มี Resource มาก่อน” เธอเปรียบว่าการเดินทางคือการเก็บ Resource ที่ทำให้ได้เห็นความแตกต่าง ความไม่เข้ากัน มุมมองของคนในแต่ละมุมโลก และค่อยๆ เชื่อมโยงให้เห็นว่า Resource ที่ได้เก็บจากการเดินทางในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือสิ่งที่ช่วยให้ได้เข้าใจตนเอง และคนรอบข้าง ในช่วงเวลาแห่งการหยุดนิ่งตอนนี้
เธอกางศอกสองข้างบนโต๊ะและประสานมือ พูดทวนสิ่งที่ผมถามไปว่า การเดินทางมามากกว่าร้อยประเทศทำให้เธอเห็นแก่นของการเดินทางคืออะไร ก่อนยกมือข้างหนึ่งขึ้นเท้าคาง และตอบว่า “ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ”
หญิงสาวที่ออกเดินทางไปทุกทวีปทั่วโลกบอกว่า โลกไม่ได้มีประสบการณ์เดียว แม้จะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่มันสามารถมองได้นับล้านมุมมอง เธอยอมรับว่า การเดินทางทำให้เธอรู้ว่าตัวเองไม่ได้เข้าใจมุมมองของทุกคน และไม่ได้ทำให้เธอยอมรับความแตกต่างทุกความแตกต่าง “มันไม่จำเป็นเลย” เธอบอก “การที่เราโตมาแบบนี้ เพราะเราผ่านสังคมมาแบบนี้ เรามีแก่นความเชื่อเราแบบนี้ นี่คือสิ่งที่หล่อหลอมเราขึ้นมา แล้วแก่นความเชื่อเหล่านี้มันก็อยู่ในคนทุกคนเลย ทั้งคนที่ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ซึ่งเราเข้าใจ แต่การที่จะต้องยอมรับเขาเข้ามาในชีวิตเราอาจจะไม่จำเป็น ซึ่งถ้าไม่ยอมรับ เราก็แค่ไม่ต้องไปอยู่ตรงนั้น เพราะเราก็มีแก่นของเราเหมือนกัน มันทำให้เหมือนประนีประนอมกับตัวเองและกับเขามากขึ้น”
อธิบายถึงตรงนี้ เธอกางมือออกบนโต๊ะตรงหน้า และทำท่าเหมือนพยายามอธิบายให้เห็นภาพ ผมมองตามมือของเธอ
“สมัยก่อน เริ่มแรกเราเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางทุกอย่าง เราไม่รู้เลยว่ามันมีความแตกต่างอะไรอยู่ มีแค่ความจริงแท้ของเราคนเดียว อะไรที่ไม่เหมือนความจริงของเรา คือไม่ใช่” เธอลากมือเปลี่ยนจุด “ต่อมา เราก็ได้ขยับมาอีกด่านของชีวิต หลังจากได้เดินทางมามากมาย เราได้เห็นว่ามันมีความจริงแท้หลายอย่าง เราก็จะพยายามไปเข้าใจทุกอย่าง ยอมรับทุกอย่าง แต่สุดท้ายคือ ถ้ายอมรับทุกอย่างแต่ไม่ใช่กับความรู้สึกเราเลยล่ะ มันก็ถือว่าเราไม่เป็นมิตรกับตัวเราเหมือนกันใช่ไหม
“ทุกอย่างมันก็ไล่ตามแต่ละด่านของชีวิตมาเรื่อยๆ ซึ่งก็น่าจะมีอีก แต่ด่านที่เราอยู่ ณ จุดปัจจุบัน คือเรารู้ว่ามันมีความแตกต่างอยู่ เราเข้าใจได้ แต่ไม่จำเป็นต้องยอมรับทุกอย่างเพื่อให้ตัวตนเราถูกกระแทก เราเลือกได้ว่าเราอยากจะอยู่จุดไหนในความแตกต่างนั้น ทำให้ความรู้สึกเป็นมิตรกับตัวเรามากขึ้น และมันสวยงามนะ”
เธอเปลี่ยนกลับมาประสานมืออีกครั้งหลังอธิบายเสร็จ เธอเห็นด้วยที่ผมบอกว่า ความเข้าใจคือสิ่งที่คนสมัยนี้ขาดหายไป และถามเธอว่า “ถ้าบางคนไม่ได้เดินทาง เขาจะหาความเข้าใจได้จากสิ่งไหน” เธอหัวเราะและบอก “ยากจังเลย”
“อย่างชีวิตเราก็วนอยู่กับแค่การเดินทาง โลกเราแคบมากเลยนะ” เธอครุ่นคิดเล็กน้อย ก่อนจะมีรอยยิ้มเหมือนนึกคำตอบขึ้นได้ “มันอาจจะได้จากการมีเพื่อนที่ต่างกับเรามากๆ หรือมีคนใกล้ตัวที่ต่างกับเรามากๆ” เธอว่า “ลองดู อาจจะเจ็บปวด แต่ว่าผลอาจจะดีก็ได้ ชีวิตมันต้องลอง”
6
ถึงตอนนี้ หากพูดชื่อของ มิ้นท์ I Roam Alone แน่นอนว่าทุกคนต้องคิดถึงเรื่องการเดินทาง ผมลองให้เธอคิดว่า หากเป็นเรื่องชีวิต เธอจริงจังเหมือนกับการเดินทางมากขนาดไหน เธอตอบเพียงสั้นๆ ว่า “มาก”
เธอบอกว่าเธอเป็นคนที่ใช้ความรู้สึกเยอะ ใช้ความรู้สึกนำกับทุกเรื่อง มันจึงสำคัญกับชีวิตเธอ และทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะถูกวัดด้วยความรู้สึกทั้งหมด “เราเป็นคนไม่ด้านชา เป็นคนความรู้สึกไว เจ็บง่าย” เธอเสริมและมีรอยยิ้ม
“แล้วคุณจะเจ็บกับเรื่องอะไรที่สุด” ผมถาม
“อกหัก” เธอตอบในทันที
“เราเป็นคนพังกับการอกหัก แล้วเป็นคนพังกับคนใกล้ตัว กับครอบครัว เพราะทุกครอบครัวก็จะมีสิ่งที่เป็นปมหรือเป็นปัญหาของตัวเอง สิ่งเหล่านี้กระทบเรามากที่สุด” เธอบอกว่า หากเป็นเมื่อก่อน เมื่อเจอความเจ็บปวด เธอจะใช้วิธีหนีไปเที่ยวหรือไปเจอเพื่อนเพื่อหนีความรู้สึกตัวเอง แต่ก็ยอมรับว่าเป็นวิธีที่ไม่ค่อยดีในระยะยาว “ตอนนี้เลยเปลี่ยนมาใช้วิธีเผชิญหน้าไปเลย” เธอพูดและหัวเราะ
“มันยากมาก แต่จำเป็น” เธอยอมรับ แม้จะมีรอยยิ้ม แต่ในแววตาของเธอดูจริงจังกับคำพูดเหล่านั้น “สมัยก่อนจะคิดว่า พอรู้สึกไม่ดีก็จะคิดว่าตัวเองอ่อนแอ แต่ตอนนี้คือหยุดอยู่กับมันเลย และคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องแย่ที่จะรู้สึกแบบนี้ ถ้าโดนคนปฏิเสธก็อยู่กับความรู้สึกนั้นไป พอถึงจุดหนึ่งก็ค่อยมานั่งคิดว่า เพราะอะไรเราถึงรู้สึกไม่ดีกับการปฏิเสธ เพราะเขา หรือเพราะเรา
“เราสนใจเรื่องการเข้าใจทุกอารมณ์ของตัวเอง เพื่อให้เราดีลกับความสัมพันธ์อื่นๆ ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ใช่การเอาเกราะมาชนกัน แต่เอาความอ่อนแอมาเจอกัน เราเคยไปเวิร์กช็อป เคยไปฝึกโยคะ เคยเรียนรู้ศาสตร์ในการเข้าใจตัวเองแล้วชอบ เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น เราสามารถเดินเข้าไปบอกพ่อแม่ได้ว่าที่ผ่านมาเรารู้สึกอย่างไรกับเขา แล้วอะไรคือสิ่งที่เราติดค้างมาตลอด แล้วเราอยากรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อแม่เราเอง”
“ไม่น่าเชื่อนะ แต่ก็ทำมาแล้ว” เธอพูดพร้อมรอยยิ้มอีกครั้ง “พอเราเข้าใจทุกความรู้สึกของตัวเอง และเป็นมิตรกับทุกอารมณ์ มันเลยทำให้เราเป็นคนที่เต็มขึ้น”
ช่วงเวลาของผมกับเธอใกล้จะหมดลง ผมถามเธอไปว่า การเดินทางจำนวนมากที่ผ่านมา ทำให้ความรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ออกเดินทางน้อยลงบ้างไหม “ไม่” เธอตอบผมด้วยบุคลิกขี้เล่นเหมือนยามได้เห็นเธอผ่านช่องยูทูบที่คุ้นเคย “เพราะฉันโหดขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะหาคอนเทนต์ที่รู้สึกว่า ก่อนไปต้องเครียดอีกแล้ว ความรู้สึกเหมือนจะกระโดดร่มตลอดเวลา ชอบ สะใจดี”
“คิดว่าความชอบโลดโผนในการเดินทางจะเริ่มนิ่งตอนไหน” ผมถามเธอด้วยรอยยิ้ม
“ไม่รู้เหมือนกัน ก็ขอให้สงบลงในเร็ววัน และขอให้ไม่ตายก่อน” เธอตอบและหัวเราะร่า
7
บรรยากาศช่วงบ่ายยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ทั้งผมและเธอ ไม่มีใครล่วงรู้ว่า การเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศจะกลับมาทำได้อีกเมื่อไหร่ แม้หญิงสาวตรงหน้าจะเป็นนักเดินทางอาชีพ แต่ผมก็สัมผัสได้ว่า ช่วงเวลาแห่งการไม่ได้เดินทางตอนนี้ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ ‘แก่น’ ที่สำคัญบางอย่างในชีวิต และมันอาจสำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่าสิ่งที่การเดินทางให้ก็เป็นได้
“ถ้ามีใครถามว่าช่วงนี้ชีวิตเป็นอย่างไร จะตอบว่าอย่างไร?” ผมถามคู่สนทนาเบื้องหน้า ที่ได้พานพบผู้คนต่างวิถีชีวิต ต่างวัฒนธรรม มานับไม่ถ้วน
“การทดลอง” เธอตอบและยิ้มกว้าง
Tags: I Roam Alone, at the Moment