พ.ศ. 2542 มีการประกาศแนวเขตอุทยานเชื่อมเทือกเขาสองลูก บูโด-สุไหงปาดี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 9 อำเภอ คือ 1 อำเภอในยะลา 1 อำเภอในปัตตานี และ 7 อำเภอในนราธิวาส คาบเกี่ยวพื้นที่กว่า 25 ตำบล 

แต่เเนวเขตอุทยานดังกล่าวนั้นทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน พื้นที่สวนยางและสวนผลไม้ของชาวบ้าน ซึ่งอาศัยและทำมาหากินรอบเทือกเขา ทำให้ชาวบ้านนับหมื่นครัวเรือนจาก 89 หมู่บ้านมีสถานะกลายเป็นผู้บุกรุกผืนป่า 

เครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี คือกลุ่มชาวบ้านที่เชื่อว่าเรื่องนี้มีบางอย่างไม่ถูกต้อง และลุกขึ้นมาส่งเสียงเพื่อทวงคืนสิทธิในที่ดินของบรรพบุรุษ นำมาสู่เรื่องราวการพยายามแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อ ยาวนานกว่า 20 ปี

วิถีชีวิตที่ถูกสั่นคลอน สู่การรวมตัวเพื่อหาทางแก้ปัญหาของชุมชน

สมภพ พร้อมพอชื่นบุญ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม (CISR) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้กล่าวถึงการลงหลักปักฐานของชุมชนรอบเทือกเขาบูโดว่า พี่น้องรอบเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดีอาศัยอยู่ที่นี่มานานแล้ว มีมัสยิดตะโละมาเนาะเป็นศูนย์กลางชุมชน ถ้านับตามปีที่ก่อสร้างมัสยิด จะสามารถย้อนประวัติชุมชนกลับไปได้ถึง 390 ปี

มัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ (มัสยิด 300 ปี) ตั้งอยู่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส นายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2167 สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ลักษณะการสร้างจะใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู

มัสยิดวาดีลฮูเซ็น

ชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดเกือบทั้งหมดทำการเกษตร มีวิถีชีวิตตามภูมินิเวศ ปลูกสวนบนเชิงเขา ปลูกบ้านตามที่ราบ ทำนาในที่ลุ่ม สืบทอดส่งต่อที่ดินกันมารุ่นต่อรุ่นตลอด 300 ปี และมีภูมิปัญญาที่สำคัญคือการทำสวนดูซง ซึ่งเป็นรูปแบบการทําเกษตรของชุมชนมลายูมุสลิม ที่ปลูกผลไม้หลายๆ ชนิดในพื้นที่เดียวกัน ดูซงจึงเป็นแหล่งสะสมพันธุ์ไม้ยืนต้นนานาชนิด พันธุ์ไม้ประดับ และพืชสมุนไพรต่างๆ เป็นแหล่งอาหารที่มั่นคง เป็นแหล่งธรรมชาติที่มีคุณค่าและมูลค่า เป็นพื้นที่ทางสังคมของคนมลายูมุสลิม อีกทั้งยังมีกฎเกณฑ์ในการแบ่งปันผลผลิตร่วมกันในกลุ่มเครือญาติ และมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนในชุมชน (พรพันธุ์ เขมคุณาศัย และคณะ, 2561) 

การประกาศแนวเขตอุทยานในปี พ.ศ. 2542 ส่งผลอย่างมากต่อการทำมาหากินตามวิถีชาวบ้าน ซึ่งพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก การไปกรีดยางหรือเก็บผลไม้ในสวนที่ตนปลูกไว้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการโค่นล้มต้นยางเก่าที่ไม่สามารถกรีดยางได้แล้วเพื่อปลูกทดแทนใหม่นั้น กลายเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากการตัดโค่นต้นไม้ในเขตอุทยานนั้นมีโทษร้ายแรง ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องสูญเสียอาชีพเกษตรกรของตนเอง มีปัญหาหนี้สิน และต้องผันตัวไปทำงานรับจ้างอื่นๆ ที่พอจะทำได้แทน

ชาวบ้านคนแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อปัญหานี้คือ ป่อจิ ดือราแม ดาราแม ปราชญ์ชาวบ้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ที่เกิด เติบโต และอาศัยอยู่ท่ามกลางเทือกเขาบูโดมาตลอดชีวิต โดยป่อจิเริ่มจากการพยายามเข้าไปพูดคุย ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และ NGO รวมถึงได้เดินทางไปพูดคุยกับชุมชนที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนจากการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศไทยด้วยตนเอง

ป่อจิ ดือราแม กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาของเรา จะรอให้คนอื่นมาแก้ให้ไม่ได้ ป่อจิจึงชักชวนคนในชุมชน ตั้งแต่รุ่นหนุ่มสาวไปจนถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านของชุมชนต่างๆ การรวมกลุ่มนี้ต่อมาได้พัฒนาเป็น ‘เครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี’


ป่อจิ ดือราแม

เครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี

การดำเนินงานในช่วงแรกของเครือข่ายฯ เน้นไปที่การเดินสายพูดคุยกับชุมชนรอบเทือกเขาบูโด สร้างความเข้าใจในประเด็นปัญหาที่ดินแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการพยายามสร้างภาคีเครือข่ายและเดินเรื่องร้องเรียนกับภาครัฐ   

ต่วนหามะ รายอคาลี อดีตประธานเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญใน พ.ศ. 2549 ว่า เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดีได้จัดงานประชาคมหมู่บ้าน เพื่อจะหาทางออกร่วมกัน ผู้เข้าร่วมมีทั้งตัวแทนจากแต่ละชุมชน ภาคีเครือข่าย และเจ้าหน้าที่จากภาครัฐหลายหน่วยงาน โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ชี้แจงว่า เรื่องการออกโฉนดที่ดินนั้นทำได้ยาก เพราะข้อกฎหมายไม่เอื้อ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวซ้อนทับกับเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้ใดครอบครองยกเว้นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น การแก้ปัญหานี้จึงอยู่นอกเหนืออำนาจที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นจะตัดสินใจได้

อ้างอิงจากพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทศักราช 2484 มาตรา 4 วรรค 2 ‘ป่า’ หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน หรืออาจจะอนุมานได้ว่า ในหลักคิดแบบนี้ หากพื้นที่ใดมีบุคคลเข้าไปครอบครอง ใช้เป็นที่ดินทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พื้นที่นั้นก็จะพ้นจากสภาพการเป็น ‘ป่า’ เช่นกัน 

ฐานคิดดังกล่าวในหลักกฎหมายของรัฐไทยนั้น มองวิถีชีวิตของผู้คนแยกออกจากการดำรงอยู่ของ ‘ป่า’ ผูกขาดอำนาจการจัดการหรือกระทำการใดๆ กับทรัพยากรในผืนป่าไว้กับภาครัฐ หรือกิจการที่ภาครัฐรับรองเท่านั้น ซึ่งฐานคิดของหลักกฎหมายนี้แตกต่างจากวิถีชีวิตแบบภูมินิเวศรอบเทือกเขาบูโดที่พึ่งพาอาศัย อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติตามแต่สภาพพื้นที่ของตนโดยสิ้นเชิง 

ทางออกที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่ายในปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างชุมชนและอุทยาน จึงไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องกฎหมาย แต่มองลึกลงไปได้ถึงระดับฐานคิดที่ขัดแย้งกัน รัฐไทยบอกว่าคนไม่อาจอยู่ร่วมกับผืนป่าได้ ชาวบ้านบอกว่าพวกเขาอยู่อาศัยกับผืนป่าบนเทือกเขาบูโดมาตลอด รัฐไทยบอกว่าชาวบ้านกำลังบุกรุกเขตอุทยานซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวของประเทศ ชาวบ้านบอกว่าพวกเขามีสิทธิในที่ดินทำกินซึ่งเป็นมรดกที่ครอบครัวของเขาคอยดูแลรักษาและสืบทอดส่งต่อกันมา

เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดีรู้ดีว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ ต้องใช้กระบวนการของภาครัฐในการแก้ไข และกระบวนการนี้เริ่มต้นที่ ‘ทั้งสองฝ่ายต้องถือข้อมูลชุดเดียวกัน


ประธานต่วนหามะ

เดินแนวเขต เข้าใจพื้นที่อุทยาน

อาหามะ ลีเฮ็ง (แบมะ) ผู้ประสานงานเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี อธิบายว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น แนวเขตอุทยานเต็มไปด้วยความคลุมเครือ เพราะแนวเขตอุทยานที่รัฐบาลประกาศนั้นมาในรูปแบบแผนที่มาตรา 1 ต่อ 50000 และไม่ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น หรือสำรวจพื้นที่ชุมชนรอบเทือกเขาอย่างละเอียด ทำให้ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ไม่แน่ใจว่าแนวเขตอุทยานที่เขียนอยู่ในแผนที่นั้น จริงๆ แนวเขตดังกล่าวตั้งอยู่ตรงไหน พาดผ่านหรือครอบคลุมอะไรบ้าง ชาวบ้านจะไปยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนขอบ้านเลขที่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่แน่ใจว่าที่ดินดังกล่าวอยู่นอกเขตอุทยานจริงหรือเปล่า

“ป่อจิไปร้องเรียน ขอให้อุทยานมาลงพื้นที่ ทำรังวัด ทำฐานข้อมูลที่ดิน ก็ถูกปฏิเสธว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เลยไม่สามารถมาคุยได้ว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นของใครบ้าง พอรู้ว่าอุปสรรคแรกคือการไม่มีฐานข้อมูล เราก็เลยชวนผู้แทนผู้เดือดร้อนมาทำข้อมูลเอง ชวนเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานมาเป็นพี่เลี้ยง ให้ช่วยอบรมองค์ความรู้การทำรังวัดต่างๆ ทั้งกรมป่าไม้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องการทำภาพถ่ายทางอากาศและระบบ GPS ก็มาร่วมด้วย”

แบมะสาธิตการจับพิกัด gps

กันยายน พ.ศ. 2549 เสนอปัญหาต่อ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินโครงการรังวัดพื้นที่รายแปลง ในชื่อ ‘พื้นที่นำร่องแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินฯพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส’ และได้รังวัดที่ดินรายแปลง รวมถึงเดินเท้าสำรวจพื้นที่ตามเส้นแนวเขตอุทยานในปีถัดมา 

มะนาวี เด็งโด (แบวี) ผู้ประสานงานเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี และผู้ประสานงานเครือข่ายที่ดินสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าถึงการค้นพบระหว่างไปเดิน GPS ตามเส้นแนวเขตอุทยานกับเจ้าหน้าที่ว่า แนวเขตไม่เพียงทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้าน แต่ยังทับซ้อนกับพื้นที่ราชการอย่างโรงพยาบาลประจำอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสด้วย ซึ่งการค้นพบนี้เป็นการพิสูจน์ว่าแนวเขตอุทยานนั้น มีส่วนที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงของพื้นที่ และการทำฐานข้อมูลเพื่อเขียนแผนที่ฉบับใหม่นั้นจะต้องเกิดขึ้น

“เส้นที่เขาขีดในแผนที่ พอเรามาลองถือเครื่อง GPS เดินเท้าดูจริงๆ ก็เลยพบว่า เส้นมันตัดผ่ากลางโรงพยาบาลเลย ผ่านเสาต้นนี้พอดี แฟลตกับบ้านพักแพทย์ข้างหลังเรานี้ ถ้านับตามที่เขาขีดจริงๆ ก็คืออยู่ในเขตอุทยานเหมือนกัน”


มะนาวีที่โรงพยาบาล

เขียนแผนที่ฉบับใหม่ ทางออกที่ร่วมสร้างระหว่างรัฐและชุมชน

เพื่อจะเขียนแผนที่ฉบับใหม่ เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี มีกระบวนการสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ

1. รวมตัวเขียนแผนผังที่ดิน

“การทำงานกับชุมชนจะต้องเริ่มจากการพูดคุยกันให้เข้าใจก่อน ว่าที่เราจะทำแผนที่ทำมือ เขียนแผนผังที่ดิน มันคืออะไร ทำเพื่ออะไร แล้วจึงจะเริ่มงานได้ ทีมงานเครือข่ายฯ ในพื้นที่นั้นๆ จะแจ้งให้ชาวบ้านไปดูสภาพแปลงตัวเองมาก่อน พอถึงวันนัดรวมตัวทำแผนผังที่ดินกัน ทีมงานเครือข่ายฯ จะเขียนแผนผังลงบนกระดาษขนาดใหญ่ จากนั้นให้ชาวบ้านแต่ละคนมาชี้ว่าที่ดินของตนอยู่ตรงไหน เริ่มจากคนที่อยู่ติดแยกถนนหรือลำห้วยใหญ่ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งได้ง่าย พร้อมให้อธิบายรูปร่างลักษณะที่ดินว่าปลูกอะไร ขนาดประมาณเท่าไหร่ ที่ดินเป็นรูปร่างใด สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรืออื่นๆ แต่ละด้านของที่ดินนั้นติดกับอะไรบ้าง ติดกับที่ดินของใครบ้าง” 

“เหมือนชาวบ้านเอาจิ๊กซอว์มาคนละชิ้น ไม่มีใครรู้จักที่ดินดีไปกว่าตัวเจ้าของที่เอง เราจึงต้องฟังพวกเขา บางคนบอกว่าของผมแปลงติดคลองนะ รูปร่างและขนาดเท่านี้ เราก็วาดลงไป บางคนบอกของผมอยู่ตรงสามแยก เราก็วาดลงไป เราค่อยๆ ประกอบจิ๊กซอว์นั้นลงไปให้ครบ จนออกมาเป็นแผนที่ทำมือ แผนผังที่ดินของชุมชน”

2. เดินดิน จับพิกัด GPS

“เดิมจะทำแค่แผนผังที่ดินกับรวบรวมรายชื่อว่า แต่ละหมู่มีผู้เดือดร้อนเป็นใครบ้าง กี่ราย มีรูปแปลง รายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียง พร้อมแนบบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน เพื่อรับรองว่าที่ดินนี้มีจริงๆ มีเพื่อนบ้านข้างเคียงรับรองอีกชั้น แต่เราก็ยังไม่เห็นภาพว่าแปลงในแผนผังนี้มันอยู่ตรงไหนของแผนที่จริง เพื่อที่จะวัดพิกัดข้อมูล ทาง พอช. ก็เลยมาสอนเราจับพิกัด GPS

“หลังจากทำแผนพังที่ดินเสร็จแล้ว ขนาดและอัตราส่วนจะยังคลาดเคลื่อนอยู่ จึงต้องมีทีมงานไปทำรังวัด เดินเท้าไปจับพิกัด GPS ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทีมงานของเครือข่ายฯ พรานป่าผู้เชี่ยวชาญเส้นทางบนเขา และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านเจ้าของที่ ซึ่งต้องขึ้นไปชี้เองว่า สุดเขตแปลงของตนเองนั้นอยู่ที่จุดไหน กระบวนการนี้อาจต้องใช้เวลาหลายวัน ตามขนาดและความลาดชันของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ทำกิน สวนดูซงที่อยู่บนแนวเขา

“จากแผนผังที่ดินที่ช่วยกันเขียน เราจะต้องเดินเท้าไปยังเหลี่ยมมุมของที่ดินให้ครบทุกจุด เพื่อจดพิกัด GPS จากเครื่องจับพิกัดกลับมา พอเรารู้พิกัดจริง เราก็จะสามารถเขียนแผนที่แปลงที่ดินไปเทียบกับแผนที่ของรัฐ หรือวางทาบไปกับภาพถ่ายทางอากาศได้” แบมะพูดระหว่างชวนพวกเราไปลองเดินจดพิกัด GPS กันจริงๆ ที่สวนของชาวบ้าน

3. เรียนรู้ สร้างฐานข้อมูล GIS 

โปรแกรม GIS เป็นโปรแกรมระบบสารสนเทศน์ภูมิศาสตร์ขั้นต้น เป็นเครื่องมือหลักที่เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดีใช้ในการสร้างฐานข้อมูลที่ดินชุมชน ซึ่งแบวีและแบมะเล่าติดตลกว่า ทีมงานเครือข่ายฯ ต้องใช้เวลาหัดเรียนอยู่หลายเดือนกว่าจะใช้เป็น ยิ่งสมัยนั้นโปรแกรมยังไม่มีเวอร์ชันภาษาไทย ทีมงานเลยต้องหัดภาษาอังกฤษและภาษาของโปรแกรมไปพร้อมๆ กัน 

นอกจากจะใช้เขียนแผนที่จากพิกัด GPS จริงที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ร่วมลงแรง ไปเดินจับพิกัดด้วยกันมาแล้ว ฐานข้อมูลนี้ยังใช้แบ่งหมวดหมู่ที่ดินและลักษณะการทับซ้อนอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกหลังจากประกาศแนวเขตอุทยานมา 8 ปี ที่ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ได้เห็นผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า แนวเขตที่ภาครัฐประกาศนั้น ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านคนใด อย่างไร โดยเครือข่ายฯ สามารถจำแนกลักษณะที่ดินในชุมชนได้เป็นสามกลุ่ม คือ

1. ที่ดินนอกเขตอุทยาน ที่ดินที่ไม่ได้มีการทับซ้อนหรืออยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ดินเหล่านี้จะยื่นเอกสารตามหลักประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อขอเอกสารสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ และออกโฉนดที่ดิน

2. ที่ดินในเขตอุทยาน ที่ดินที่บริเวณทั้งหมด หรือบางส่วนอยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ดินเหล่านี้ต้องทำแผนที่แสดงอาณาเขต และยื่นเอกสารแนบท้ายตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อยื่นเรื่องให้มีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานและขอเอกสารสิทธิ์ต่อไป

3. ที่ดินในเขตป่าสงวน ก่อนจะมีการประกาศแนวเขตอุทยานในปี พ.ศ. 2542 นั้นเคยมีการประกาศแนวเขตป่าสงวนในปี พ.ศ. 2508 มาก่อน โดยเครือข่ายจะยึดหลักตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2507 ว่าด้วยการเพิกถอนเขตป่าสงวนเป็นหลัก แต่หากเจ้าของที่ดินไม่สามารถพิสูจน์ว่าตนอยู่มาก่อนการประกาศแนวเขตป่าสงวน ก็จำเป็นที่จะต้องเคลื่อนย้ายออกจากที่ดินนั้นไป

แผนที่ฉบับใหม่และฐานข้อมูลที่ได้ออกมานั้น อาจะเรียกได้ว่าเป็นแผนที่ที่ดินชุมชนฉบับแรกของไทย ที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขียนขึ้นร่วมกันอย่างแท้จริง ชาวบ้านมีส่วนในการทำข้อมูลและร่างเอกสาร เจ้าหน้าที่รัฐได้ขึ้นไปเห็นสวนดูซง เห็นภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกับป่าของชาวบ้านด้วยสองเท้าและสองตาตัวเอง 

เมื่อมีฐานข้อมูล ก็เห็นปัญหาชัด เมื่อเห็นปัญหาชัด ก็วางแผนแก้ไขได้อย่างเหมาะสม มีการพัฒนาโมเดลแผนที่-ฐานข้อมูลที่ดินฉบับชุมชน จัดทำรายชื่อ พิกัดแปลงที่ดินทับซ้อนทั้งหมดของอำเภอบาเจาะ รวม 15 หมู่บ้าน โดยทำข้อมูลพิสูจน์การครอบครองที่ดิน พร้อมแบ่งประเภทการทับซ้อน เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการเอกสารที่แตกต่างกัน แล้วยื่นเสนอผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท ต่อคณะรัฐมนตรีในปี 2551 นำมาซึ่งการลงมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ความว่า

1. เห็นชอบตามที่ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท (ศจพ.) เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดยมีแนวทางดังนี้

                  1.1 ตัดโค่นยางพาราที่หมดอายุเพื่อปลูกใหม่ทดแทนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 ของพื้นที่ปัญหาที่ดินเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจัดให้มีกลไกการทำงาน ประกอบด้วยนายอำเภอ ผู้แทนอุทยาน ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ยางพารา และผู้แทนชุมชนเป็นผู้พิจารณาร่วมกัน

                  1.2 ให้กรมที่ดินตรวจสอบและออกเอกสารสิทธิ โดยเดินสำรวจออกโฉนดให้กลุ่มที่ดินที่อยู่นอกเขตอุทยานและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ 745 ราย 994 แปลง จำนวนประมาณ 4,116 ไร่

                  1.3 ดำเนินการพิสูจน์สิทธิที่ดินของราษฎรที่อยู่ในที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ  (ส่วนที่นอกเขตป่าสงวน) จำนวน 795 ราย 1,108 แปลง 4,942 ไร่ และที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 322 แปลง 2,439 ไร่ที่ได้มีการจัดทำข้อมูลและแผนที่รายแปลงแล้ว ทั้งนี้ หากพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีการถือครองการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2508 และประกาศเป็นเขตป่าอุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 และมีการทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่อง ให้มีการดำเนินการกันพื้นที่ทำกินออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายนั้นโดยเร่งด่วน

                   1.4 เร่งรัดการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่อำเภอบาเจาะได้ดำเนินการในพื้นที่บริเวณอุทยานบูโด-สุไหงปาดี อีก 8 อำเภอที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศสนับสนุนภาพถ่ายดาวเทียม  (Digital File) ให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ศจพ. เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมพื้นที่ปัญหาที่ดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

2. สำหรับแนวทางการตัดโค่นยางพาราที่หมดอายุให้เพิ่มผู้แทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และกรมทรัพยากรธรณีร่วมเป็นกลไกในการทำงานด้วย

3. ให้ ศจพ. รับความเห็นของกระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ(กบร.) ที่เห็นควรให้ความสำคัญกับการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ไม่สามารถพิสูจน์สิทธิที่ดินที่ทำกินได้โดยให้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนเหมาะสมว่าจะให้ทำกินในพื้นที่เดิมหรือพื้นที่แห่งใหม่หรือมีมาตรการอื่นใดที่เหมาะสมทดแทน สำหรับการพิสูจน์สิทธิที่ดินของราษฎรที่อยู่ในที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยาน (ส่วนที่นอกเขตป่าสงวน) และเขตป่าสงวนแห่งชาติ หากพิสูจน์ว่ามีการถือครองก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และหากถือครองก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ให้เพิกถอนและกำหนดให้มีสภาพป่าสงวนแห่งชาติเพื่อให้ราษฎรที่ถือครองอยู่ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย สามารถขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  24 เมษายน  2550 ส่วนแนวทางการตัดโค่นยางพาราที่หมดอายุเพื่อปลูกใหม่ทดแทนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 ของพื้นที่ปัญหาที่ดิน  สามารถดำเนินการได้ต่อเมื่อมีการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2551 นี้ จึงมีการขยายพื้นที่ทำแผนที่ชุมชนตามแบบแผนนำร่องของอำเภอบาเจาะ จนครอบทั้ง 9 อำเภอรอบอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ในเวลาไม่กี่ปีต่อมา และนำเรื่องเข้าสู่การแก้ไขปัญหาระดับนโยบายได้สำเร็จ

อาจเรียกได้ว่า มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2551 เปรียบเสมือนความหวังของชาวบ้านที่จะได้รับการคืนสิทธิในที่ดินทำกิน อีกทั้งยังเป็นหมุดหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างชุมชนกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เทือกเขาบูโด แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นนโยบายที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีโอกาสร่วมกับภาครัฐในการเขียนนิยามความจริงชุดใหม่ของที่ดินทำกิน ชุมชน และผืนป่าขึ้นมาด้วยกันจากฐานข้อมูลชุมชน

พ.ร.บ. ฉบับใหม่ และปัญหาที่ยังไม่จบลง

จากเหตุการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 นำมาซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา 

พ.ศ. 2562 มีการประกาศพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทับซ้อนใน มาตรา 64 ความว่า 

ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของ ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่ วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ 

เมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง และรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน ที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในที่ดินน้ัน เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

พระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและ ได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้กรอบเวลาตามมตคิณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เรื่อง การแก้ไ ขปัญหาที่ดิน ในพื้นที่ป่าไม้ หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๖/๒๕๕๗ เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบาย การปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ โดยต้องจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการซึ่งจัดทาด้วยระบบภูมิสารสนเทศหรือ ระบบอื่นซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และมีระยะเวลาการบังคับใช้คราวละไม่เกิน ยี่สิบปี และอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาและคุณสมบัติของบุคคล ที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการ หน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพภายในเขตพื้นที่ดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน และการสิ้นสุด การอยู่อาศัยหรือทำกิน และมาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลการดำเนินโครงการ

แม้จะฟังเหมือนเป็นนโยบายที่ดี อุทยานจะมีการพิจารณาตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ให้ผู้มีที่ดินทับซ้อนกับอุทยานทั้งหมดที่มาลงชื่อภายใน 240 วัน เพื่อรับการอนุญาตให้อยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่อุทยานคราวละไม่เกิน 20 ปี แต่ก็มีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งมองว่า พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ทำให้ความพยายามตลอด 20 ปีของพี่น้องบูโด-สุไหงปาดี กลายเป็นศูนย์ เป็นการย้อนกลับไปใช้มติ ครม. ฉบับเก่าจาก พ.ศ. 2541 ซึ่งให้อำนาจตัดสินใจเรื่องปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนแก่ภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ โดยไม่มีเสียงหรือกระบวนการของชาวบ้านเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้จะให้เอกสารรับรองการทำมาหากินชั่วคราวได้ แต่ก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินน้ัน และเป็นการปิดโอกาสที่จะได้คืนสิทธิในที่ทำมาหากินของตนเองในอนาคตอย่างถาวรด้วย

“หลังจากมี ครม. ปี 51 ทุกอย่างดีขึ้นหมดเลย แต่ชาวบ้านก็ยังคาใจ แม้มีการออกหนังสือรับรองให้กรีดยางได้ เก็บผลไม้ได้ แต่ไม่มีเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินทำกินให้ เราดันไปถึงระดับนโยบายได้แล้ว เหมือนรอขั้นสุดท้ายประกาศกับสาธารณะชนเท่านี้เอง พอ พ.ร.บ. 62 ออกมา มันเหมือนล้มกระดาน ทุกสิ่งที่ทำมาล้ม เครือข่ายต้องกลับไปนับ 1 ใหม่” ต่วนหามะกล่าว

ระยะเวลาการไปลงชื่อ 240 วันเพื่อเข้ารับการสำรวจการถือครองที่ดินตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ได้หมดลงไปแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 และปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงดำเนินงานตรวจสอบหลักฐานการถือครองที่ดิน โดยชาวบ้านบางส่วนยินยอมไปลงชื่อเพราะต้องการเอกสารจากรัฐในการทำมาหากิน แต่ก็มีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมรับ พ.ร.บ. 2562 เช่นกัน ปัญหาที่ดินทับซ้อนนี้เลยยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน 

แม้โมเดลการทำฐานข้อมูลแผนที่ชุมชนของพี่น้องบูโด-สุไหงปาดี และมติ ครม. 51 จะเป็นโมฆะไปแล้ว แต่พี่น้องบูโด-สุไหงปาดี ก็ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำกันมาตลอดเวลาสิบกว่าปีนั้นไม่ได้สูญเปล่าเลย กลับกัน มันกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพื้นที่ตรงกลางระหว่างชาวบ้านและภาครัฐนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ได้ยืนอยู่ตรงข้ามกันไปเสียทุกเรื่อง

ปัญหาที่มีมาตลอด 20 ปีนี้ยังไม่จบลง และไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าผลกระทบจาก พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร ผลการแก้ไขปัญหาที่ดินตามมาตรา 64 จะลงเอยแบบไหน แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือ การช่วยกันจับตามองปัญหาที่ปลายด้ามขวานนี้ไปพร้อมๆ กับพี่น้องเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนร่วมกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้านเกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง 

 

 

อ้างอิง

http://www2.narathiwat.go.th/nara2016/travel/detail/2

https://so02.tci-thaijo.org/index.php/HUSOTSU/article/view/171365/123107

Tags: , ,