“ทุกเรื่องรักคือเรื่องผี”

คำโปรยของ Atlantics นั้นชวนฉงนฉงายแต่ก็สรุปใจความสำคัญของหนังได้อย่างงดงาม ในแง่หนึ่งมันบ่งชี้สิ่งที่หนังเรื่องนี้เล่าถึง นั่นคือเรื่องราวของความรักที่ผนวกกับเรื่องผี แต่ในอีกแง่หนังก็เผยให้เห็นความร้าวรานที่เรื่องรักและเรื่องผีมีร่วมกันได้อย่างคมคาย

ที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล เรื่องราวความรักหนุ่มสาวกับเรื่องเหนือธรรมชาติมาบรรจบกัน ไม่ต่างจากคลื่นสมุทรที่ซัดสาดกระทบฝั่ง หนังเล่าถึงอาด้า เด็กสาวในครอบครัวยากจนที่หมั้นหมายอยู่กับเศรษฐีหนุ่มผู้ปรนเปรอเธอด้วยมื้ออาหารหรูและไอโฟนเครื่องใหม่สีชมพู ทว่าใจเธอนั้นรักอยู่กับสุไลมาน หนุ่มก่อสร้างชีวิตแร้นแค้นที่ถูกนายทุนขูดรีดทุกวี่วันกับการใช้แรงงานสร้างตึกทันสมัยริมหาดโดยไม่ได้ค่าตอบแทน ทำให้เขาตัดสินใจออกเรือกับเพื่อนๆ ไปเสี่ยงโชคกลางมหาสมุทรแอตแลนติก หวังได้ขึ้นฝั่งยุโรปที่ประเทศสเปน กระทั่งไม่กี่วันก่อนงานแต่งนั่นเองที่อาด้าถึงได้รู้ข่าวว่าเรือลำดังกล่าวจมลงกลางทะเล และคนรักของเธอไม่รอดชีวิต…

หนังเล่าถึงโศกนาฏกรรมของคู่รักที่ถูกพลัดพรากให้ไกลกันไม่เพียงคนละทวีป แต่ยังห่างกันคนละฟากฝั่งของชีวิตกับความตาย อาด้าถูกทิ้งให้ต้องดิ้นรนกับทางเลือกที่เหลืออยู่กับชีวิตข้างหน้าที่ไม่มีคนรักอยู่อีกต่อไป คำสัญญาถึงชีวิตอันสุขสบายกว่ากับว่าที่สามีนั้นก็เป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลในสายตาของทุกคนรอบตัว ด้วยมันจะพาทั้งตัวเธอและครอบครัวออกจากความยากจน แต่หัวใจของเธอก็แหลกสลายเกินกว่าจะเดินหน้าต่อไปได้ 

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ของอาด้าจึงถูกวางอยู่ท่ามกลางโศกนาฏกรรมอีกมากมายในสังคมเซเนกัล หนังพินิจพิเคราะห์ตัวละครผู้อยู่ตรงกลางโศกนาฏกรรมเหล่านี้อย่างละเอียดลออ ทั้งในฐานะเด็กสาวผู้สูญเสียคนรัก เด็กสาวผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตผู้ลี้ภัย เด็กสาวผู้มีทางเลือกชีวิตอันจำกัดด้วยกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของครอบครัว และเด็กสาวธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ต้องเผชิญความเศร้าของชีวิตบนเส้นทางการเติบใหญ่

แม้นี่จะเป็นผลงานกำกับหนังยาวเพียงเรื่องแรก แต่คนทำหนัง —นักแสดงสาวชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเซเนกัลอย่าง มาติ ดิอ็อป (Mati Diop) ผู้เคยฝากผลงานการแสดงแจ้งเกิดใน 35 Shots of Rum (2008) ของผู้กำกับชั้นครู แคลร์ เดอนีส์ (Claire Denis)— ก็พิสูจน์ฝีมือของเธอได้อย่างน่าประทับใจ คำชื่นชมที่หนังได้รับนั้นไปไกลมากกว่าเสียงฮือฮาตามพาดหัวข่าวว่าเธอเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่มีหนังได้เข้าสายประกวดหลักของคานส์ สิ่งที่พอจะเป็นข้อพิสูจน์คือรางวัลกรังด์ปรีซ์จากคานส์ (รางวัลหนังยอดเยี่ยมอันดับสองรองจาก Parasite) และล่าสุดได้เป็นตัวแทนหนังจากเซเนกัลที่เข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้ายเตรียมเข้าชิงรางวัลหนังนานาชาติยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

ดิอ็อปไม่รีรอที่จะดึงคนดูเข้าสู่ความหนักหนาสาหัสของชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กตัวน้อยในดาการ์ ในขณะที่การออกเรือไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในยุโรปของพวกหนุ่มๆ นั้นดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยจนไม่ใช่เรื่องประหลาด (ย้อนไปเมื่อปี 2008 ดิอ็อปเคยทำสารคดีสั้นเรื่อง Atlantiques ที่ตามสัมภาษณ์ชายหนุ่มผู้ตั้งใจออกเดินเรือเช่นนี้ และสารคดีที่ว่าก็กลายมาเป็นเค้าโครงในการทำสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาด้วย) หนังยังแสดงให้เห็นสิ่งที่เด็กสาวต้องเผชิญในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่แรงกดดันในการตัดสินใจเรื่องชีวิตคู่ การประพฤติปฏิบัติตน ไปจนถึงการโดนลากไปตรวจพรหมจรรย์

แต่แทนที่จะเล่าเรื่องอย่างสมจริงสมจังตามสไตล์หนังดราม่าสัจนิยมทั่วไป ดิอ็อปท้าทายด้วยการปรุงแต่งเรื่องราวหนักอึ้งนี้ด้วยมนตร์เสน่ห์ชวนพิศวง เริ่มจากเปลวเพลิงที่ลุกไหม้โดยไร้คำอธิบายในงานวันแต่งของอาด้า ส่งให้นายตำรวจหนุ่มเข้ามาสืบสาวราวเรื่อง ทว่าเขาเองกลับมีอาการป่วยปริศนาโดยมักหมดสติลงไปโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับบรรดาหญิงคนรักของหนุ่มๆ ที่เรืออับปางกลางทะเล ในตอนค่ำคืน พวกเธอออกเดินไปไหนต่อไหนด้วยนัยน์ตาขาวโพลง และตื่นขึ้นมาตอนเช้าโดยจำอะไรไม่ได้แม้แต่น้อย

ตรงนี้เองที่ภูติผีเข้ามามีบทบาทในหนัง เหล่าผู้สูญชีวิตไปใต้ท้องสมุทรกลับมาในรูปแบบของอาการป่วยประหลาด เพื่อยึดครองร่างผู้มีชีวิตอยู่ให้ทำในสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ในตอนยังมีชีวิต และตรงนี้เองหนังชวนให้นึกถึงภาพยนตร์อีกเรื่องที่ว่าด้วยอาการประหลาดและการครอบงำชีวิตโดยพลังที่มองไม่เห็น นั่นคือ รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour) หนังปี 2015 ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

หนังของอภิชาติพงศ์เล่าถึงเหล่าทหารในขอนแก่นที่ป่วยเป็นโรคหลับไม่ตื่นเป็นเวลานาน เสียงลือเสียงเล่าอ้างบอกว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกเขาถูกทหารยุคโบราณดึงพลังไปใช้สู้รบในมหาสงครามในอดีต เมื่อนำมาเทียบเคียงกับ Atlantics เราจะเห็นว่าการครอบงำทับชีวิตคนที่ยังอยู่นั้นมาจากต้นตอที่ต่างกันและให้ผลที่ไม่เหมือนกัน หากประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของอดีตใน รักที่ขอนแก่น นั้นทรงอิทธิพลเหนือชีวิตคนในปัจจุบันจนพวกเขาแทบเดินหน้ากันต่อไปไม่ได้ เราอาจกล่าวได้ว่า Atlantics นั้นนำเสนอด้านกลับที่ให้ความหวังกว่ามาก เพราะท้ายที่สุดภูติผียืมร่างผู้ยังมีชีวิตมาเพื่อชำระสะสางสิ่งที่ยังค้างคา เพื่อเอาคืนสิ่งที่เคยกดขี่พวกเขาในตอนที่ยังมีชีวิต ไม่ว่าจะระบบราชการอันเน่าเฟะหรือนายทุนฉ้อฉล และเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อบอกลาคนรักเพื่อที่พวกเขาจะได้ก้าวต่อไปในชีวิตได้

มหาสมุทรแอตแลนติกที่หนังจดจ้องอยู่เรื่อยๆ ในหนังจึงไม่ใช่เพียงผืนน้ำใหญ่ไพศาลที่เชื่อมจากทวีปหนึ่งสู่อีกทวีปเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเสมือนสุสานที่รองรับโศกนาฏกรรมแห่งยุคสมัยของบรรดาผู้ลี้ภัยที่ไปไม่ถึงฝั่ง ที่ห้วงลึกเบื้องใต้ของมันจึงมีบาดแผล ความหวัง และความหวนไห้อับปางอยู่เป็นจำนวนนับไม่ถ้วน หนังพาเราไปสำรวจบาดแผลเหล่านั้น ในวันที่มันถูกคลื่นทะเลซัดกลับมาเกยฝั่ง และชีวิตคนที่ยังอยู่ที่ต้องสั่นไหวไปเพราะมัน

ความทะเยอทะยานของดิอ็อปสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากการพยายามผสานองค์ประกอบเรื่องราวอันหลากหลายเข้าหากัน รวมทั้งการครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งในแต่ละประเด็นที่หนังสัมผัส ทั้งเรื่องความรัก การก้าวพ้นวัย เรื่องผี ไปจนประเด็นทางสังคมอันหนักอึ้ง เธอจัดการให้องค์ประกอบเหล่านี้อยู่ร่วมกันในหนังเรื่องเดียวกันได้อย่างเก่งกาจ โดยไม่รู้สึกสะเปะสะปะแถมยังเพิ่มมนตร์เสน่ห์แสนพิสดารให้กับหนัง เพราะองค์ประกอบที่แตกต่างกันเหล่านี้มีความแหลกราญอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่ง 

ไม่ว่านี่จะเป็นเรื่องรักที่เป็นเรื่องผี หรือเรื่องผีที่เป็นเรื่องรัก ความร้าวรานในหัวใจของตัวละครอย่างอาด้านั้นก็ชัดเจนเสียจนน่าปวดใจ ขณะที่การกลับมาอีกครั้งของผู้ถูกกดขี่จึงมอบความหวังกลายๆ ว่าเสียงพูดและเจตจำนงของพวกเขาจะไม่อับปางไปพร้อมกับร่างกาย การได้เผชิญหน้ากับคนรักที่หวนคืนก็ได้มอบความหวังเพียงพอสำหรับอาด้าที่จะก้าวเดินต่อไปเช่นกัน แต่ในช็อตสุดท้ายของหนังที่เธอจ้องมองเงาสะท้อนของตัวเองในกระจก เรารู้ดี—เช่นเดียวกับที่เธอรู้—ว่าไม่ว่าเธอจะเลือกเดินต่อไปอย่างไร ความรักครั้งนี้ก็จะตามหลอกหลอนและปลอบประโลมเธอไปชั่วชีวิต

Fact Box

Atlantics มีให้รับชมแล้ววันนี้ทาง Netflix