“ถ้าเด็กหญิงในค่ายกักกันของนาซีมีอินสตาแกรม จะเป็นอย่างไร” เป็นคำถามจากคลิปวิดีโอในโครงการ ‘Eva Stories’ ปล่อยออกมา เนื่องในวาระรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในวันที่ 1-2 พฤษภาคม

เพื่อให้ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวของนาซีไม่หายไปไหน มาติ โคชาวี นักธุรกิจชาวอิสราเอล และ มายา ลูกสาวของเขา เป็นเจ้าของไอเดียนี้ โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเบนยามิน เนทันยาฮูด้วย โคชาวีบอกว่า โครงการนี้ใช้เงินน้อยกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเขาตั้งใจจะหาวิธีบันทึกความทรงจำใหม่ในยุคดิจิทัล

วิดีโอที่ปล่อยออกมาทางแอคเคานท์อินสตาแกรมที่ชื่อ Eva.stories มี 70 คลิป โดยเป็นภาพจำลองทั้งการแต่งกายและตำแหน่งที่อยู่ของเอวา เฮย์แมน เด็กหญิงชาวฮังการีวัย 13 ปี ที่ถูกกักกันอยู่ในค่ายเอาทช์วิทซ์ ซึ่งเสียชีวิตในปี 1944

คลิปความยาว 3 นาที 3 วินาที ซึ่งมีผู้ชมเกิน 1 ล้านวิว เป็นเหมือนการนำเอาฟีเจอร์สตอรี่ในอินสตาแกรมมาเรียงต่อกัน เนื้อหาเริ่มตั้งแต่ชีวิตปกติของเธอในฮังการี ไปจนถึงการเดินทางเข้าสู่ชีวิตในค่ายกักกัน และก่อนที่จะเสียชีวิต

จากการความสดใสช่วงต้น ที่เป็นภาพเธอเซลฟีกับเด็กผู้ชายที่ชอบ หัวเราะกับปู่ย่า โทนของภาพก็ค่อยๆ มืดลง โดยเฉพาะช่วงที่ถูกทหารนำชาวยิวไปยังค่ายกักกัน

มายา โคชาวี กล่าวว่า ปัญหาในแต่ละวันที่เอวาต้องเจอ เช่น พ่อแม่เลิกกัน แอบชอบผู้ชาย และความฝันที่ว่าวันหนึ่งตัวเองจะโด่งดัง เป็นเรื่องราวที่น่าจะกระทบใจคนหนุ่มสาวและเห็นภาพตัวเองในสงครามแบบเดียวกับเธอได้

เธอยังบอกว่า เด็กหลายคนรู้สึกเชื่อมโยงและรู้สึกร่วมไปกับประสบการณ์ที่ยากขึ้นและน่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมตามมา โดยเฉพาะการลดทอนความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวให้กลายเป็นเรื่องเบาๆ ด้วยการเซลฟี ใส่แฮชแท็ก และอิโมจิแบบวัฒนธรรมชาวเน็ต

แต่ “การถกเถียงเกี่ยวกับการนำเสนอเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวไม่ใช่เรื่องใหม่” โทเบียส เอบเบรทซ์-ฮาร์ทมานน์ นักวิชาการด้านสื่อมหาวิทยาลัยฮีบรู ซึ่งสนับสนุนการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่กล่าว

 

ที่มา:

Tags: ,