กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพิ่งจัดงานสัมมนาเรื่อง ‘การเตรียมความพร้อมของอาเซียนรับมือ 4IR (การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4)’ ไปเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นงานสัมมนาย่อยในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียน เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับฟังแนวคิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Forth Industrial Revolution – 4IR ที่เทคโนโลยี ออโตเมชั่น และปัญญาประดิษฐ์ มีความสำคัญต่อการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการ สอดคล้องกับงานศึกษาของกูเกิลและเทมาเส็กที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตจะสร้างงานประจำกว่า 1.7 ล้านตำแหน่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2025 ซึ่งมากเป็นสามเท่าของปี 2018

ด้วยเหตุนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนจึงวางแนวทางการปรับตัวและตั้งเป้าให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก หรือให้มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของ 6 ตลาดใหญ่อาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เติบโตจากมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน สู่ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 หรืออาจถือได้ว่า 4IR เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในวาระการเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้

แต่อนาคตจะเป็นอย่างไร ‘การปฏิวัติ’ คงไม่ได้นำมาแต่เรื่องดีๆ ให้คาดหวัง เช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ผ่านๆ มา จากปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 คือจักรกล ครั้งที่ 2 คือการผลิตปริมาณมาก ครั้งที่ 3 คือออโตเมชัน และครั้งที่ 4 คือการเข้ามาของระบบโครงข่ายไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับ IoT, AI

คิดแล้วต้องทำ เชื่อมโยงเป็นขบวนทัพเดียวกัน

ก่อนจะมองไกลไปตั้งเป้าหมายปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ร่วมกัน ดร. จูเลีย ทิจาจา (Dr. Julia Tijaja) ผู้อำนวยการ ASEAN Integration Monitoring Directorate สำนักเลขาธิการอาเซียน ชวนทบทวนว่า ทั้งสิบประเทศในอาเซียนมีระดับความพร้อมต่อเรื่องนี้ต่างกันแค่ไหน

แต่ปัญหาของการศึกษาระดับความพร้อมของอาเซียนที่มีอยู่ในปัจจุบันก็คือ แต่ละรายงานไม่ได้ครอบคลุมครบทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมออกมา สรุปออกมาเป็นตารางได้ดังนี้

กลุ่ม High Potential : ยังมีรากฐานที่จำกัด แต่มีแววรุ่งในอนาคต
  • บรูไน
กลุ่ม Leading : มีรากฐานแข็งแรงในปัจจุบัน และมีแววรุ่งในอนาคต
  • สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย
กลุ่ม Nascent : ยังมีรากฐานที่จำกัด และมีความเสี่ยงในอนาคต
  • ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา
กลุ่ม Legacy : มีรากฐานแข็งแรงในปัจจุบัน แต่มีความเสี่ยงในอนาคต
  • อินโดนีเซีย

ดร. ทิจาจา ชี้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนอยู่ที่ 7% ของจีดีพีในอาเซียน แต่ตอนนี้มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพียง 16% เท่านั้นที่ได้ใช้เครื่องมือดิจิทัลมาดำเนินกิจการจริงๆ และในอนาคต ตลาดงานในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม 54-56% จะถูกทดแทนด้วยระบบออโตเมชัน

ข้อเสนอแนะของ ดร.ทิจาจา คือ ต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างสาธารณูปโภคที่แข็งแรง ปรับปรุงกรอบกฎเกณฑ์ข้อบังคับ และระบุทักษะที่จำเป็น

รวมทั้งต้องทำให้เป้าหมายต่างๆ ในสามเสา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง นั้นเชื่อมโยงถึงกันและกัน เพราะเราไม่สามารถพูดเรื่อง Big Data โดยละเลยเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) หรือพูดถึงออโตเมชันโดยละเลยมุมมองเกี่ยวกับตลาดและการฝึกทักษะแรงงานได้ รวมทั้งไกด์ไลน์ต่างๆ ต้องนำไปสู่การบังคับใช้และปฏิบัติจริงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องไม่ใช่เรื่องที่รัฐต่อรัฐได้แต่คุยกันเอง

4.0 ของไทย และอุปสรรคที่ต้องยอมรับ

กลับมาที่ประเทศไทย – 4.0 ที่เราพูดถึงคืออะไร ดร. ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไล่เรียงไทม์ไลน์ตั้งแต่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย เน้นไปที่ 1. เกษตรกรรม-หัตถกรรม (1961) 2. อุตสาหกรรมเบา เน้นการทดแทนการนำเข้า (1982) 3. อุตสาหกรรมหนัก เน้นการส่งออก (1997) จนมาถึง 4. เทคโนโลยีและนวัตกรรม (2018-2037) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แต่ ดร. ปัทมา ชี้ชวนให้ทบทวนว่า ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาเนิ่นนาน ชวนให้คิดทบทวนว่าที่ผ่านมา การพัฒนานั้นเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพใช่หรือไม่

จุดแข็งของไทย ได้แก่ รากฐานเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแรง ความหลากหลายทางชีวภาพ และตำแหน่งที่ตั้ง รวมทั้งฐานอุตสาหกรรมและการบริการที่หลากหลาย แต่ข้อจำกัดที่เห็นได้ชัดคือ ขีดจำกัดทางด้านนวัตกรรมที่ถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 44 จาก 126 ประเทศ หรือการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่คิดเป็น 1.04% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก รวมทั้งคุณภาพทุนมนุษย์ที่ยังต้องการการพัฒนา และสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ที่กำลังคืบเข้ามาใกล้ในอีกไม่กี่ปี

ไม่มีโรงงานแปลงโฉมสู่ 4IR อยู่ในอาเซียน

มองภาพรวมไปแล้ว ในมุมผู้ประกอบการ ดร.โทมัส ค็อกฮ์ (Dr. Thomas Koch) หุ้นส่วนอาวุโสของ McKinsey พูดถึงการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อสร้างการแข่งขันในอาเซียน

ดร.ค็อกฮ์ บอกว่า บริษัทส่วนใหญ่เริ่มขยับตัวกันแล้ว แต่ประเด็นสำคัญกว่าการเริ่มขยับตัว ก็คือการขยายผลต่อไป เพราะองค์กรต่างๆ หลังจากมีโครงการนำร่องแล้ว จำนวนน้อยเท่านั้นที่ไปต่อในก้าวถัดไปได้ กล่าวคือ 78% ยังติดแหง็กอยู่ในช่วงเริ่มทดลอง และบริษัทส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาราว 1-2 ปีสู่การเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ

แต่ใครขยับตัวปรับสู่ 4IR ก่อนก็มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมากกว่า ที่น่าสังเกตก็คือ ไม่มีโรงงานของบริษัทใดในอาเซียนเลยที่เป็นผู้นำในการบุกเบิกการเปลี่ยนแปลงนี้ (No lighthouse in ASEAN) ขณะที่จีนมีถึง 5 บริษัท

ที่มา: www3.weforum.org

นอกจากนี้ ความแตกต่างกันของกลุ่มประเทศในอาเซียน ในด้านความพร้อมต่างๆ จะทำให้ 4IR ที่ดูเหมือนเป็นโอกาสในการก้าวกระโดดของทั้งภูมิภาคนี้ มาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะทำให้แต่ละประเทศยิ่งทิ้งห่างกันไปเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ดร.ค็อกฮ์ ให้ดูภาพสรุปว่าการปฏิรูปต้องผสานกันไปทั้งสามมิติ ได้แก่ ปฏิรูปธุรกิจ (ทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น) ปฏิรูปเทคโนโลยี (ปรับปรุงโครงสร้างระบบ) ปฏิรูปองค์กร (พลิกวิธีการทำงานของแผนกต่างๆ) และเพื่อจะพัฒนาไปด้วยกัน ก็ควรเป็นโมเดลการร่วมกัน 6 แขน ได้แก่ ภาครัฐ สตาร์ตอัป ธุรกิจ ผู้ให้บริการเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาซึ่งผลิตคน และบริษัทซึ่งเป็นปลายทางโซลูชัน

ซึ่ง MSMEs ก็เป็นตัวละครสำคัญที่หากมีจำนวนมากๆ มาเข้าร่วม ก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนกับกิจการเล็กๆ ที่มีแววไปต่อ และสร้างโอกาสผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา

พลเมืองต้องไม่ถูกทอดทิ้งในการปฏิวัติ

อรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน พูดเรื่องการเติบโตในยุค 4IR มุมมองจากภาคธุรกิจ บอกว่า ในไทย ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และรัฐพร้อม แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กบางส่วนยังตามไม่ทัน รัฐต้องเข้าไปช่วยแนะนำเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ ที่สำคัญเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ต้องประกอบด้วยสามคุณสมบัติ ได้แก่ Availability, Accessibility และ Affordability (มีให้ใช้ เข้าถึงได้ ในราคาที่เอื้อมถึง)

อย่างไรก็ตาม มีผู้ร่วมงานเสนอประเด็นขึ้นมาว่า ท่ามกลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมอันขับเคี่ยวกันแข็งขันนี้ พลเมืองบางกลุ่มจะปรับตัวอย่างไร หรือมีมาตรการดูแลพวกเขาอย่างไร เช่น แรงงานไร้ทักษะหรือกลุ่มผู้สูงอายุ

ต่อคำถามนี้ อรินทร์และค็อกฮ์ มอกไปที่เรื่องการฝึกทักษะใหม่ (reskill) และการใช้ประโยชน์จากอี-เลิร์นนิงที่สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก ส่วนปัทมามองในแง่ที่ว่า การฝึกทักษะใหม่อาจไม่ไปด้วยกันกับผู้สูงอายุได้ทุกราย น่าจะมีการใช้การปฏิวัติเทคโนโลยีที่ว่านี้มาดูว่าจะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร

อรินทร์เสริมว่า สำหรับตำแหน่งงานที่จะหายไป การใช้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนา (R&D) จะเป็นคำตอบสู่การหาตำแหน่งงานใหม่ๆ ทดแทนตำแหน่งที่ถูกเครื่องจักรแย่งไป

อย่างไรก็ตาม คำตอบเหล่านี้อาจจะยังดูล่องลอยอยู่ในอากาศ และเป็นแนวคิดอย่างกว้างๆ สู่สิ่งที่อยากเห็นและอยากให้เป็น

มาถึงขั้นนี้ อาจจะต้องย้อนกลับไปที่คำย้ำเตือนของ ดร.ทิจาจาที่ว่า เราต้องรีบแปลแนวทางที่คาดหวังเหล่านี้ไปสู่แผนการปฏิบัติจริง เพื่อที่จะการันตีว่าการปฏิวัติ 4IR จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างที่พูด ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน หรือพลเมืองบางกลุ่มในประเทศเดียวกันเอง

Tags: , ,