เราเกิดมาพร้อมกับสถานะติดตัวเสมอ สถานะบางอย่างมาพร้อมกับบทบาทและหน้าที่ เมื่อมีหน้าที่รับผิดชอบย่อมตามมาด้วยความคาดหวัง การจัดลำดับขั้นความสำคัญ พัฒนาไปสู่ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสถานะ แบบแผนเหล่านี้ที่ผนวกเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ สร้างให้สังคมมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และทั้งหมดนี้เริ่มต้นตั้งแต่วินาทีแรกที่เราลืมตาตื่นในพื้นที่ที่เราเรียกว่า ‘ครอบครัว’
ความคิดเหล่านี้ผุดขึ้นมาในหัวของผู้เขียนตั้งแต่ภาพแรกที่ได้เห็นในการแสดง As a Daughter ผลงานการกำกับเต็มตัวครั้งแรกของ ยิ้มหวาน—กมลสรวง อักษรานุเคราะห์ หนึ่งในสมาชิก FULLFAT Theatre การแสดงเปิดตัวด้วยภาพหญิงสาวสามคนลืมตาตื่นขึ้นบนโต๊ะอาหาร ตรงหน้าของพวกเธอคือจานเปล่าและที่หัวโต๊ะมีเก้าอี้ที่ดูจะแตกต่างจากเก้าอี้ตัวอื่นซึ่งพวกเธอมักจะมองมันด้วยสายตาที่ยำเกรง หลังจากที่พวกเธอสำรวจตัวเองและของที่อยู่ตรงหน้า สิ่งที่พวกเธอทำคือเอาหัวตัวเองวางพาดบนจานเปล่าเหมือนพวกเธอเป็นอาหารที่พร้อมเสิร์ฟ เป็นภาพที่เกิดขึ้นเพียงครู่เดียวแต่ให้ความหมายที่รุนแรงและทรงพลังสมกับเป็นฉากเปิดเรื่อง
งานแสดงชิ้นนี้เป็นงาน movement ที่ถูกสร้างและพัฒนาร่วมกันระหว่างนักแสดงทั้งสามคน คือ แนน—ณัฐชญา สืบแย้ม, ชิง—นารีรัตน์ เหว่ยยือ และยิ้มหวานที่เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับ ตัวงานแบ่งเป็นซีนย่อยๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน บ้างก็แสดงร่วมกันบ้างก็กระจัดกระจายไปตามพื้นที่แสดงซึ่งเป็นคาเฟ่อบอุ่นชื่อ Sam-Rub Cafe and Cuisine ให้บรรยากาศของความเป็นบ้านหลังเล็กๆ ที่เข้ากับตัวงาน เปิดโอกาสให้ผู้ชมลุกเดินเลือกดูได้ตามอัธยาศัย การแสดงเป็นการเคลื่อนไหวสลับกับเรื่องเล่า บทกลอน หรือคำพูดที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่ทั้งหมดได้สะท้อนภาพรวมของความคิดและความรู้สึกที่ถูกกดทับในฐานะของ ‘ลูกสาว’ สถานะที่ประกอบไปด้วยความเป็นผู้หญิงและความเป็นลูก ก่อนที่จะค่อยๆ พาผู้ชมเข้าไปสำรวจประสบการณ์ส่วนตัวของนักแสดงแต่ละคนถึงความรู้สึกที่พวกเธอมีต่อคำๆ นี้ และทิ้งท้ายด้วยคำถามเล็กๆ ที่ขยายไปสู่สังคมขนาดใหญ่ที่ว่า “หรือว่าพวกเราต่างคาดหวังซึ่งกันและกันมากเกินไปรึเปล่านะ”
นักแสดงทั้งสามคนมีเคมีที่ทั้งเข้ากันดีและทั้งแตกต่างกันมากจนมีจุดเด่นชัดเจนของแต่ละคน งาน movement จึงมีความหลากหลาย ชิงเหมือนตัวแทนของพลังงานลูกสาวที่นิ่งสงบ พยายามทำตามสิ่งพ่อแม่หรือสังคมบอก เก็บกดสะสมความรู้สึกเอาไว้จนสุดท้ายก็ค่อยๆ ปริแตกออก ส่วนแนนเป็นพลังงานของลูกสาวที่มีความขบถ ต่อต้าน เต็มเปี่ยมไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง เป็นแรงสะท้อนที่อยากระบายออกมาแทนผู้หญิงหรือลูกสาวทุกคน แต่สุดท้ายก็ยังออกไปไหนไม่ได้แม้จะแสดงว่าโกรธเกรี้ยวแค่ไหนก็ตาม ยิ้มหวานเหมือนจุดเชื่อมตรงกลางระหว่างพลังงานทั้งสองอย่างนี้ มันสะท้อนถึงความรู้สึกจริงๆ ของคนที่กำลังต่อสู้กับความคิดตัวเองในฐานะลูกสาว ความรู้สึกสับสนและกดดันจากความคาดหวังและความหวังดีของครอบครัว ที่ช่วยเหลือและทำร้ายในเวลาเดียวกัน ยิ้มหวานถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาเป็นการเคลื่อนไหวที่เหมือนจะควบคุมไม่ได้ เดาไม่ถูกว่าจะไปทางไหนหรือจะระเบิดออกมาเมื่อไหร่ ทั้งสามคนมีพื้นฐานการเคลื่อนไหวที่ดีและใช้มันในการสื่อสารได้น่าสนใจมากๆ ทำให้มีนักแสดงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากเครือข่ายละครกรุงเทพ BTF Award ในปีนี้ด้วย (ชิง)
ประเด็นความเป็น ‘ลูกสาว’ ที่ถูกพูดถึงในงานชิ้นนี้ได้ขยายไปไกลกว่าเพียงแค่เรื่องในครอบครัวอย่างเดียว มันเป็นสถานะที่เราไม่สามารถเลือกได้ สลัดมันทิ้งไปก็ไม่ได้ มีแต่จะต้องยอมรับมันไม่ว่ามันจะส่งผลดีหรือผลเสียกับเราก็ตาม การแสดงชิ้นนี้พูดถึง ‘ความเป็นลูก’ และ ‘ความเป็นหญิง’ ในแง่ของสถานะทางการเมืองได้น่าสนใจ ในสังคมไทยที่วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ยังคงมีอยู่ ภาพจำของ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ได้ตีกรอบและกดทับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของผู้หญิงหลายต่อหลายอย่าง สุภาษิตสอนหญิงเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ถูกสอดแทรกอยู่ในงานชิ้นนี้ พร้อมแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่แตกต่างไปจากความดีเฉพาะที่สังคมกำหนดได้ถูกกดทับอย่างไร
อีกประเด็นคือความเป็นลูกที่ซับซ้อนและดูเป็นการเมืองยิ่งขึ้นอีก แน่นอนว่าในกรอบความคิดของสังคมแล้ว ครอบครัวก็ยังสถานะที่ไม่เท่ากัน สถานะของผู้ให้กำเนิด ผู้สร้างกับผู้ถูกสร้าง ลูกคนโตกับลูกคนเล็ก ย่อมมีความไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่ความสัมพันธ์ของครอบครัวมันมีความซับซ้อนเพราะมีเรื่องของความรักมาเกี่ยวข้อง ตามมาด้วยความหวังดีและค่อยๆ พัฒนากลายเป็นความคาดหวัง ทั้งจากผู้ปกครองและจากตัวเราเอง แถมยังมีความคาดหวังจากสังคมมากดดันลูกสาวให้ต้องมีบทบาท เช่น การแต่งงานที่บางครั้งกลายเป็นหน้าเป็นตาให้ครอบครัว กลายเป็นสถานะที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ความคาดหวังที่มีต้นตอมาจากความรักจึงสามารถทำร้ายเราทุกคนในหลายๆ สถานการณ์อย่างปฏิเสธไม่ได้
เมื่อทั้งสองสถานะมารวมตัวกันในคนๆ เดียว สถานะลูกสาวจึงมีทั้งเรื่องของชนชั้น การกดทับ การควบคุม ความรัก ความหวังดี ผลประโยชน์ร่วม ความคาดหวัง ผสมปนเปอยู่ด้วยกันเสมอ ซึ่ง As a Daughter ได้พยายามอธิบายสภาวะข้างในของเหล่าลูกสาวในสังคมนี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งว่ามันสับสน อึดอัด กระอักกระอ่วน รุนแรงและแตกสลายอย่างไรบ้าง
มีหลายซีนที่ชอบและสั่นสะเทือนมากๆ ในช่วงแรกของการแสดงผู้เขียนเห็นน้ำเสียงของการเสียดสีกระแทกกระทั้นผ่านทาง movement ที่เลือกใช้ พอเข้ามาช่วงที่แต่ละคนเริ่มมีเรื่องเล่าของตัวเอง น้ำเสียงของการเสียดสีได้หายไปแล้วแทนที่ด้วยความรู้สึกจริงๆ ที่ส่วนตัวและหนักหน่วง บางครั้งผู้เขียนก็ต้องถอยออกมาจากเรื่องเล่านั้น บางครั้งก็ถูกดึงเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
ที่ชอบที่สุดน่าจะเป็นช่วงที่นักแสดงพยายามจะปีนออกทางประตูหน้าต่างของบ้านหลังนี้ แต่ก็ถูกดึงไว้ด้วยนักแสดงอีกคน ทุกครั้งที่เปิดหน้าต่างหรือประตูได้เธอจะตะโกนออกไปข้างนอกแทนร่างกายของเธอที่ออกไปไม่ได้ ภาพนี้สะท้อนถึงสถานะบางอย่างของเราที่ไม่สามารถวิ่งหนีมันไปได้ และหลายครั้งก็เป็นเพราะตัวเราเองนี่แหละ (ในที่นี้คือนักแสดงอีกคนที่ก็ร่วมชะตากรรมเดียวกัน) ที่จะหาเหตุผลร้อยแปดมาฉุดรั้งตัวเองไว้ ช่วงท้ายที่นักแสดงดึงรูปวัยเด็กของตัวเองออกจากอัลบั้มรูปถ่ายแล้วโยนไปทั่วห้องก็ทรงพลังมากๆ สะท้อนความแตกสลายเป็นเสี่ยงๆ ได้ดี
ที่ติดขัดอยู่เล็กน้อยคือตัวงานและการออกแบบสถานที่มันอยากให้เราสำรวจรายละเอียดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในฉาก (มีของส่วนตัวของนักแสดงทั้งสามคนมาใช้จัดสถานที่แสดง) แต่ตัวการแสดงได้ใช้พื้นที่เกือบทั้งหมดในการแสดงตลอดเวลา มันเลยทำให้เราไม่กล้าที่จะลุกไปเดินสำรวจเท่าไหร่นัก (ต่อให้แจ้งแล้วว่าทำได้ก็เถอะ) ส่วนตัวรู้สึกว่านักแสดงมีเขตแดนบางอย่างที่กางไว้ อาจจะด้วย movement และ energy บางอย่าง ทำให้เราไม่อยากเข้าไปในพื้นที่นั้นๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วการแยกใช้พื้นที่ทำได้ดีแล้ว แต่หากมีช่วงที่ผ่อนแอคชั่นของนักแสดงลงและเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าใกล้นักแสดงและของประกอบฉากมากขึ้น อาจจะทำให้ผู้ชมอินขึ้นกว่านี้ก็ได้ อีกเรื่องคือจังหวะของแต่ละซีนที่บางช่วงรู้สึกว่าความหมายชัดเจนแล้วแต่ซีนก็ยังยืดยาวเกินไป หรือบางซีนมันก็สั้นไปไม่ทันรู้สึก ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่จะสะสมจากการทำงานรูปแบบนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ
จริงๆ แล้วเราทุกคนในตอนนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ As a Daughter คนในสังคมถูกสวมใส่สถานะที่เลือกไม่ได้ ถอดทิ้งก็ยังไม่ได้ ได้แต่หาเหตุผลที่จะทำให้เราอยู่กับสภาวะ ‘ลูกสาว’ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทำตามความคาดหวังของใครอื่น วิธีคิดของโลกใบเดิมอาจกลายเป็นกรงกักขังลูกสาวของเราเอาไว้ แต่โลกทั้งใบกำลังหมุนไป สถานะแบบ ‘ลูกสาว’ ในสังคมกำลังถูกตั้งคำถาม เหล่าลูกสาวจะเติบโตขึ้นไปพร้อมกับคำถามเหล่านั้น พวกเขาจะผ่านช่วงที่เปราะบาง ระเบิดออก แตกสลายเป็นชิ้นๆ แล้ววันหนึ่งพวกเขาจะประกอบตัวเองขึ้นมาใหม่ และโลกใบเดิมก็จะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
Tags: เพศ, อคติทางเพศ