โดยทั่วไปแล้วคู่รักใต้ดาวร้าย (Star-crossed Lovers) มักหมายถึงคู่ที่ถึงแม้จะรักมั่นผูกพันกันมากเพียงใด แต่ก็มีอุปสรรคขัดขวางให้ความรักนั้นไม่สามารถสมหวังเป็นจริงได้ กระทั่งอาจเคราะห์ร้ายรุนแรงจนทำลายชีวิตคนทั้งสองให้พังพินาศลง เช่นตำนานความรักของโรมิโอกับจูเลียตที่เราน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี

ทว่าในหลายกรณีคู่รักใต้ดาวร้ายได้กินความถึงคนรักที่มีชะตาให้ขัดแย้งกันเอง ความรุ่งโรจน์ของคนนึงกลับพล่าผลาญอีกชีวิตนึงแทนที่จะส่งเสริมและก็เป็นเช่นนี้ในทางกลับกัน ในช่วงศตวรรษที่ 20 เมื่อเราเอ่ยถึงคู่รักระดับตำนานที่โด่งดังในอันดับต้นๆ ก็ย่อมไม่พ้นต้องมีชื่อของเอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) และเซลดา แซร์ (Zelda Sayre) ติดอยู่ในโผอย่างแน่นอน

จุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง

ย้อนกลับไปทศวรรษที่ 1920-1930 ฟิตซ์เจอรัลด์และเซลดา คือคู่ขวัญแห่งยุคแจ๊ซ (Jazz Age) ที่มีภาพปรากฏบนหน้านิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ อย่างที่ไม่มีนักประพันธ์หรือคนในแวดวงวรรณกรรมเคยมีมาก่อน ความโด่งดังของพวกเขาทำให้ชีวิตส่วนตัวกลายเป็นเรื่องน่าสนใจไม่แพ้นวนิยายหรือเรื่องสั้นที่พวกเขาเขียน

เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ และเซลดา แซร์-ฟิตซ์เจอรัลด์ คู่รักคนดังแห่งยุคแจ๊ซ

ฟิตซ์เจอรัลด์พบกับเซลดาครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 1918 ระหว่างที่ฝ่ายชายเข้าฝึกทหารที่ค่ายเชอริแดน เพื่อเตรียมตัวไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งหนึ่ง ในงานเลี้ยงสังสรรค์ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจทหาร เด็กสาวอายุ 17 ที่สวยที่สุดของเมืองมอนโกโมรีได้ทำให้นักศึกษาหนุ่มจากพรินซตันต้องเพียรถามคนทั้งหลายว่าเธอที่กำลังวาดลวดลายบนฟลอร์เต้นรำนี้คือใครกัน?

เซลดาในชุดเต้นรำที่ทำให้เธอโด่งดังและเป็นขวัญใจของหนุ่มๆ

จากค่ำคืนนั้นมาฟิตซ์เจอรัลด์ก็พยายามหาทางติดต่อพูดคุยกับเธอผ่านทั้งทางจดหมายและการนัดพบ เขาได้บอกเล่าโครงการชีวิตที่อยากเป็นนักเขียนผู้โด่งดัง ได้ส่งต้นฉบับบทแรกๆ ของ This Side of Paradise ให้เธออ่าน ได้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนตัวละคร โรซาลินด์ คอนเนจ ใหม่ให้เข้ากับตัวตนของเซลดา ไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้ใช้เรื่องเล่าและบันทึกของเธอมาประกอบเข้าไปในเรื่องราวอีกด้วย เซลดาจึงไม่เพียงแต่เป็นเทพีศิลป์ของฟิตซ์เจอรัลด์ แต่ยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างสรรค์นวนิยายเล่มแรกของเขา

ชัดเจนว่าภายหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ตกหลุมรักเซลดาเข้าอย่างหัวปักหัวปำ ทว่าระหว่างการคบหากันนั้นฝ่ายหญิงก็ยังคงไปไหนมาไหนกับผู้ชายคนอื่นโดยตลอด ฟิตซ์เจอรัลด์เริ่มตระหนักได้ว่านี่คือราคาที่ต้องจ่ายให้กับการคบกับสาวงามบ้านใต้ผู้โด่งดัง

ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเธอจะเป็นไปแบบเคลือบแคลงผสมความหวาดระแวง (ดังเช่นฟิตซ์เจอรัลด์กลัวว่าเซลดาจะเป็นสาวรอบจัดที่มีประสบการณ์ทางเพศมาอย่างโชกโชนก่อนมาเจอเขา) ถึงขนาดต้องเขียนไปเล่าให้เอ็ดมันด์ วิลสัน (Edmund Wilson) นักเขียนชาวอเมริกัน ขณะยังเป็นนักศึกษาร่วมสถาบันพรินซตันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเซลดาไม่น่าจะพัฒนาไปถึงขั้นแต่งงาน

ถึงกระนั้นการหมายหมั้นของทั้งสองก็ได้เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 1919 เมื่อฟิตซ์เจอรัลด์ส่งแหวนเพชรของแม่ให้แก่เซลดาทางไปรษณีย์ ทั้งที่ไม่มีใครรู้เลยว่าเธอได้บอกเล่าให้บิดา (ผู้พิพากษาเคร่งศาสนาซึ่งตั้งแง่กับพฤติกรรมกินดื่มและความฝันจะเป็นนักประพันธ์ของฟิตซ์เจอรัลด์มาตลอด) หรือไม่อย่างไร แต่เธอก็ได้สวมแหวนวงนั้นออกงาน แม้จะรู้สึกลึกๆ ว่าการมีแหวนเล็กๆ ผูกไว้บนนิ้วนางข้างซ้ายกลับทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากมาย

มีเหตุการณ์พิสดารที่ควรต้องบันทึกไว้ตรงนี้ ในช่วงที่เซลดาหมั้นหมายกับฟิตซ์เจอรัลด์แล้ว เธอยังคงออกไปสังสรรค์เที่ยวเล่นกับชายหนุ่มคนอื่น ซึ่งมีคนหนึ่งได้มอบเข็มกลัดเพชรให้เป็นของกำนัล แต่มาภายหลังด้วยความรู้สึกผิดต่อคู่หมั้นที่ ณ เวลานั้นทำงานโฆษณาอยู่ในมหานครนิวยอร์ค เธอจึงเขียนจดหมายแนบเข็มกลัดคืนกลับไปให้ชายหนุ่ม ซึ่งโชคร้ายว่าจ่าหน้าซองไปถึงฟิตซ์เจอรัลด์ ส่วนจดหมายที่เธอจะเขียนถึงฟิตซ์เจอรัลด์กลับส่งไปถึงชายหนุ่มเจ้าของเข็มกลัดแทน

เช่นเดียวกับผู้ชายส่วนใหญ่ที่ตระหนักได้ว่าเหตุบังเอิญนี้นี่เป็นวิกฤติการณ์ที่บอกให้ตนเองต้องทำอะไรบางอย่าง ฟิตซ์เจอรัลด์ได้เลือกการแต่งงาน แต่กลายเป็นว่าจังหวะรุกหนนี้กลับทำให้เซลดาเตลิดหนี คือไม่เพียงปฏิเสธ แต่ยังขอถอนหมั้น เพราะเริ่มเห็นคล้อยตามบิดาว่า ชายคนนี้ไม่น่าจะมีอนาคตดีพอจะเลี้ยงดูอุ้มชูเธอได้

ความผิดหวังทำให้เขาตีรถกลับไปนิวยอร์คเพื่อยื่นใบลาออก และได้ใช้เวลากว่าหลายสัปดาห์ในการกินดื่มเหล้าต่างน้ำ ก่อนจะเก็บข้าวของออกจากอพาร์ทเมนต์เล็กๆ เพื่อย้ายไปรักษาแผลใจที่บ้านเกิด เมืองเซนต์พอล

ฟิตซ์เจอรัลด์ใช้เวลาตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงไปจนถึงฤดูร้อน เพื่อแก้ไข This Side of Paradise ที่ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ใหม่อีกหน

สิ่งที่น่าขบคิดอย่างยิ่งก็คือ ว่าถ้าบังเอิญว่านวนิยาย This Side of Paradise ไม่ถูกตีพิมพ์ หรือไม่ได้กลายเป็นงานขายดีภายหลังจากจำหน่ายออกไป ชีวิตของฟิตซ์เจอรัลด์ถัดจากนี้จะเป็นอย่างไร เขาจะสามารถทนอยู่กับความล้มเหลว หรือความทรงจำเกี่ยวกับเซลดาที่แทรกซึมอยู่ในแทบทุกอณูของ This Side of Paradise ได้ไหม เขาจะลบลืมและแก้ไขทุกอย่างในนั้นใหม่เพื่อให้งานได้ตีพิมพ์ เขียนงานที่สะท้อนถึงความผิดหวังขึ้นมาอีกชิ้น หรือจบชีวิตด้วยการกระโจนออกมาจากหน้าต่างของตึกสูงเช่นที่เขาได้เคยพูดเปรยๆ ไปไว้หรือไม่

อย่างไรก็ตามความสำเร็จของนวนิยายเล่มแรกที่มีข้อเขียนและเรื่องราวต่างๆ ของเซลดาแทรกอยู่อย่างมากมายก็ได้ทำให้ฟิตซ์เจอรัลด์ได้เธอมาเป็นภรรยา

อีกฟากฝั่งของสวรรค์

ภายหลังจากสำนักพิมพ์ Scribner ตกลงตีพิมพ์ This Side of Paradise จดหมายที่แทบไม่เคยมีการตอบกลับตลอดระยะเวลา 5 เดือนของการถอนหมั้นก็ได้มีการตอบกลับมา ความรักที่ฟิตซ์เจอรัลด์เคยบรรยายว่าเหมือนอยู่ในนรกลิมโบ (Limbo) เริ่มฟื้นคืนชีพใหม่อีกครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น ความโด่งดังมีชื่อเสียงอันเป็นสัญญาณของการเป็นคนมีอนาคตทำให้เซลดาตกลงใจแต่งงานกับเขาในเวลาต่อมา

ภาพปก This Side of Paradise ผลงานที่สร้างชื่อให้แก่ฟิตซ์เจอรัลด์ขณะมีชีวิตอยู่

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่ฟิตซ์เจอรัลด์จะพบกับเซลดาไม่นาน เขาเคยตกหลุมรักสุภาพสตรีจากตระกูลมหาเศรษฐีคนหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อเขาบอกรักเธอและพยายามจะขอเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่กระชับแนบแน่นขึ้น เธอจึงได้ย้อนถามกลับไปว่า เขามีอะไรที่จะทำให้เธอซึ่งมีทุกอย่างเพียบพร้อมกว่าตอบตกลง

ความผิดหวังครั้งนี้ได้ทำให้เขาตั้งปฏิญาณตนไว้ว่า เขาจะต้องโด่งดังและร่ำรวยจนไม่ว่าใครคนไหนก็ไม่อาจปฏิเสธ หรือแม้แต่จะเหยียดหยามดูแคลนเขาได้อีกต่อไป

ปมหัวใจนี้กลายเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในนวนิยาย The Great Gatsby และแน่นอนเป็นเรื่องที่เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) เพื่อนรักนักเขียนของเขามักจะนำมากล่าวเสียดสีฟิตซ์เจอรัลด์เสมอมาว่าเป็นพวกที่เชื่อมั่นในความพิเศษเหนือคนธรรมดาของบรรดาผู้มีอันจะกิน

ความสำเร็จจากนวนิยายบวกรายได้จากเรื่องสั้นที่เขาเขียนลงในนิตยสารต่างๆ เช่น Saturday Evening Post และการขายเรื่องให้สตูดิโอภาพยนตร์ทำให้เขามีเงินมากพอจะซื้อแหวนเพชรเม็ดใหญ่และนาฬิกาตัวเรือนทำจากทองคำขาวเป็นของกำนัลแก่เซลดา ซึ่งมูลค่าย่อมสูงกว่าของขวัญที่เขาเคยซื้อให้ก่อนหน้า (ซึ่งเป็นแค่ชุดนอน พัดแบบจีน เครื่องประดับที่ทำให้เธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศสำหรับเขา) อย่างชนิดเทียบไม่ติด

เขาสามารถไปเยี่ยมเซลดาที่มอนโกมอรีได้บ่อยขึ้น เริ่มมีการพูดถึงงานวิวาห์ที่จะจัดขึ้นในมหาครนิวยอร์ค แม้จะยังไม่มีกำหนดการชัดเจนว่าควรเป็นเมื่อไหร่ ร่ำลือกันว่า การแต่งงานระหว่างฟิตซ์เจอรัลด์กับเซลดาเกิดขึ้นเพราะฝ่ายหญิงรู้สึกว่าตัวเองอาจจะกำลังตั้งครรภ์ (สิ่งที่ฟังแล้วอาจจะสะเทือนใจหลายคนอยู่บ้างก็คือ มีการค้นพบจดหมายและบันทึกที่บ่งบอกว่าฝ่ายชายพยายามส่งยาระงับการตั้งครรภ์ให้ฝ่ายหญิง รวมถึงหนทางต่างๆ ที่ทำให้เธอไม่ต้องมีลูก แต่เธอไม่ได้ใช้เลย) ซึ่งแม้ทั้งหมดจะเป็นความเข้าใจผิดของเซลดา แต่สุดท้ายการสมรสของทั้งสองก็เกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 เมษายน ปี 1920

จะเรียกได้ว่าเป็นความโง่เง่าเห็นแก่ตัวของฝ่ายชายก็เป็นได้ ที่ภายหลังจากงานวิวาห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงโฉมงามบ้านใต้ให้กลายเป็นหญิงสาวผู้เฉิดฉายก็เริ่มต้นขึ้นในทันที

ฟิตซ์เจอรัลด์พยายามเข้าไปกำหนดควบคุมชีวิตของเซลดา ที่ภาพลักษณ์แบบเดิมของเธอได้ดึงเอาความทรงจำที่เจ็บปวดต่างๆ เช่น การเป็นหญิงหลากใจที่สามารถไปกับเด็กหนุ่มคนใดก็ได้ย้อนมาฉายใหม่ในทุกครั้งที่ได้เห็นสไตล์และการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ของเธอ

คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า การเปลี่ยนเซลดาให้เป็นแฟลปเปอร์ (Flapper) สตรีผมบ๊อบ ผู้หลงใหลการเต้นรำและดนตรีแจ๊ซที่แน่นอนว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาจึงไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

แฟลปเปอร์ (Flapper) สตรีผมบ็อบที่มีหลุยส์ บรูคส์ (Louis Brooks) เป็นต้นแบบ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ This Side of Paradise เป็นผลงานเพียงเล่มเดียวที่ประสบความสำเร็จ คือมียอดจำหน่ายราวสี่หมื่นเล่มนับตั้งแต่ปีแรกที่ออกจำหน่าย มันสามารถทำให้ฟิตซ์เจอรัลด์และเซลดาสามารถใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่าได้ทั้งนี่นิวยอร์คและยุโรป เพียงแต่นวนิยายเล่มถัดมาที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอกอย่าง The Great Gatsby ก็เป็นงานขายไม่ดีที่เริ่มมาโด่งดังอีกครั้งภายหลังจากฟิตซ์เจอรัลด์เสียชีวิตไปแล้ว

ความสำเร็จสูงสุดของฟิตซ์เจอรัลด์จึงแลดูเหมือนถูกจำกัดไว้ที่นวนิยายเล่มแรก ชีวิตภายหลังการแต่งงาน (และมี ‘สกอตตี้’ ลูกสาวเพียงหนึ่งเดียวของเขา) เหมือนจะค่อยๆ ดิ่งต่ำลง

ตำนานของคู่รักใต้ดาวร้ายถูกขยายจากสองแหล่งข้อมูล แหล่งแรกมาจากกลุ่มที่มองว่า เซลดาคือเหตุผลที่ทำให้ฟิตซ์เจอรัลด์ไม่ได้ทำงานสำคัญ แต่ต้องเพียรเขียนเรื่องสั้นลงตามหน้านิตยสารเพื่อมีเงินมาเลี้ยงดูอุ้มชูภรรยาที่มีรสนิยมในการใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย คนหนึ่งที่เชื่อว่าเซลดาคือคนทำลายพรสวรรค์ของฟิตซ์เจอรัลด์ก็คือเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ มิตรสหายที่สนิทสนมใกล้ชิดกันเมื่อครั้งคู่รักผู้โด่งดังใช้ชีวิตอยู่ในปารีส ซึ่งความคิดดังกล่าวแพร่ขยายออกไปก็ด้วยผลงานหลังมรณกรรมเล่มดังของเขา A Movable Feast

แหล่งถัดมากลับเห็นตรงกันข้ามกับกลุ่มแรกที่มองว่าคนทำลายชีวิตตัวเองและเซลดาคือฟิตซ์เจอรัลด์ที่โดยส่วนตัวแล้วก็เป็นคนเสเพล แต่ก็ขี้หึงและชอบทำตัวเป็นจอมเผด็จการจนทำให้ฝ่ายหญิงเกิดแรงกดดันและถูกวินิจฉัยป่วยเป็นอาการทางประสาท เหมือนเช่นครั้งหนึ่งที่เขาขอให้เซลดาหยุดเขียนด้วยการพูดว่า

“ผมอยากให้คุณหยุดเขียนนิยาย…เพราะไม่ว่าคุณจะเขียนหรือไม่เขียน มันก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร”

“ฉันรู้ สิ่งที่ฉันทำมันไม่มีอะไรสำคัญทั้งนั้น“

“แล้วทำไมไม่เลิกเขียนเสียล่ะ”

“เพราะฉันไม่อยากอยู่กับคุณ ฉันต้องการมีชีวิตอยู่ที่อื่น ที่ที่ฉันสามารถเป็นตัวเองได้”

ความจริงที่ยากจะปฏิเสธได้ก็คือฟิตซ์เจอรัลด์ติดเหล้าอย่างหนัก เขาเป็นฝ่ายนอกใจเซลดาอยู่ครั้งแล้วเล่า จนสุดท้ายเธอต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเข้ารักษาตัวในสถานบำบัดไปถึงบั้นปลายชีวิต และจริงๆ แล้ว เธออาจจะเป็นนักเขียนที่ดีได้หากไม่ตกอยู่ใต้เงื้อมเงาของผู้เป็นสามี

จุดจบของทุกอย่าง

เช่นเดียวกับเพื่อนนักเขียนจำนวนมากที่เลือกงานเขียนและแก้ไขบทภาพยนตร์เพื่อยังชีพ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ฟิตซ์เจอรัลด์ได้ทำงานให้กับสตูดิโอภาพยนตร์ฮอลลีวูด ในฐานะของนักเขียนผู้เคยเป็นดาวรุ่งของวงการ งานของเขายามนี้คือแสงหรุบหรู่ที่ไม่มีความหวังใดๆ แต่เมื่อพิจารณาจากรายได้ก็จะเห็นว่า ฟิตซ์เจอรัลด์สามารถทำเงินได้ไม่น้อยไปกว่าช่วงก่อนหน้าที่เขามีเรื่องสั้นตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เรื่องสั้นที่เขาเขียนในช่วงเวลานี้มักถูกประเมินจากบรรณาธิการต่างๆ ว่าต่ำกว่ามาตรฐาน และก็มักถูกปฏิเสธ

อย่างไรก็ตามการทำงานในแวดวงภาพยนตร์ก็ทำให้เขาห่างเหินจากเซลดาจนแทบเรียกได้ว่าตัดขาดจากเธอเกือบจะสิ้นเชิงในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1930 เขามีสัมพันธ์กับนักเขียนคอลัมนิสต์คนดังนามว่า เชล่าห์ แกรห์ม (Sheilah Graham) ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจกำเริบในปี 1940

พิธีฝังศพของฟิตซ์เจอรัลด์จัดขึ้นอย่างเงียบเหงา คือมีแขกไม่เกินยี่สิบคน โดยหนึ่งในนั้นเป็นแม็กซ์เวลล์ เพอร์กิน (Maxwell Perkins) บรรณาธิการของเขา และสกอตตี้ลูกสาวในวัย 19 ปี

ผู้เขียนบทความจำไม่ได้แล้วว่า ได้อ่านบทสนทนาต่อไปนี้ที่ไหน แต่ก็เป็นบทสนทนาที่ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเหตุการณ์จริง หรือเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น ก็สะท้อนความจริงบางอย่างที่เจ็บปวดและยากจะลืมเลือน อันอาจใช้เป็นบทสรุปของข้อเขียนชิ้นนี้ได้เช่นกัน

เซลดา: ว่าไปแล้วชีวิตคู่ของเราแทบจะไม่เคยมีวันที่ดีสักเท่าไหร่เลย

ฟิตซ์เจอรัลด์: แต่ตอนนั้น ใครก็รู้สึกอิจฉาพวกเรา

เซลดา: มันก็แค่ว่าพวกเราเป็นนักแสดงที่เก่งก็เท่านั้นเอง

อ้างอิง

  • Andrew Hook, F. Scott Fitzgerald A Literary Life, (New York: Palgrave Macmillan, 2002)
  • Linda Wagner-Martin, Zelda Sayre Fitzgerald : an American woman’s life, (New York: Palgrave Macmillan, 2004)
Tags: , , , ,