นักเขียนเรื่องสั้นกับนักเขียนนวนิยายต่างกันตรงไหน เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนเคยได้ให้คำอธิบายในเชิงเปรียบเปรยไว้ว่า นักเขียนนวนิยายก็เหมือนคนออกแบบบ้านหรืออาคารขนาดใหญ่ ซึ่งภายในประกอบไปด้วยห้องต่างๆ ในขณะที่นักเขียนเรื่องสั้นเหมือนคนออกแบบตกแต่งห้องเพียงห้องเดียว
ผู้เขียนคิดว่าคำอธิบายนี้ให้ภาพพจน์ชัดเจนดี เพียงแต่สิ่งที่ถูกซ่อนไว้อุปมานี้ก็คือ ที่สุดแล้วทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายต่างก็มีความยากในตัวเอง สำหรับนักเขียนบางคน เรื่องสั้นหนึ่งเรื่องอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ในการคัดสรรกลั่นกรองมันขึ้นมา ซึ่งระยะเวลาเดียวกันนี้นักเขียนบางคนใช้ในการสร้างคฤหาสน์ หรือปราสาทตัวอักษร
ในสหรัฐอเมริกา สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ จะตัดสินใจพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นของใคร อย่างน้อยๆ เขาหรือเธอต้องเคยมีนวนิยายตีพิมพ์มาก่อน นักเขียนเรื่องสั้นในฐานะอาชีพจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และยิ่งไม่ง่ายเพื่อมีงานตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มโดยไม่ต้องลงทุนพิมพ์เอง
ประเด็นที่เราจะพูดคุยกันนี้ เป็นเรื่องราวของนักเขียนเรื่องสั้นคนหนึ่งซึ่งผลงานของเขาได้รับการยกย่องว่าสามารถพูดถึงความพัง ความหายนะของชีวิตโดยเฉพาะคนที่ล้มเหลวในความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน การดำรงอยู่ และอื่นๆ ได้ดีที่สุด ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งว่าตลอดทั้งชีวิตเขาไม่เคยตีพิมพ์นวนิยายแม้สักเล่มเดียว
ตะวันออกพบตะวันตก
ในปี 1984 ที่แม้ไม่ได้มีเหตุการณ์ใดๆ ตามที่จอร์จ ออร์เวลส์ (George Orwells) ได้วาดภาพไว้ในนวนิยายเล่มดังชื่อเดียวกัน แต่ก็เป็นปีที่นักเขียนหนุ่มวัย 35 จากแดนอาทิตย์อุทัยได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปพบกับนักเขียนชาวอเมริกันพูดคุยเรื่องการแปลเรื่องสั้นเป็นภาษาญี่ปุ่น นักเขียนคนแรกมีนามว่าฮารุคิ มุราคามิ (Haruki Murakami) ส่วนนักเขียนคนหลังมีนามว่า เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ (Raymond Carver)
มุราคามิประทับใจในเรื่องสั้น 2 เรื่อง “So Much Water So Close to Home” และ “Where I’m Calling From” ของคาร์เวอร์ จนตัดสินใจเดินทางไปอเมริกาเพื่อเจอกับคาร์เวอร์ (และได้ถือโอกาสแวะไปมหาวิทยาลัยพรินซตันเพื่อคารวะเอฟ. สก็อตต์ ฟิซ์เจอรัลด์ นักเขียนผู้เป็นศิษย์เก่าที่เขาเคารพยกย่อง)
คาร์เวอร์ไม่มีทางรู้เลยว่าชายชาวญี่ปุ่นที่เขาพูดคุยด้วยนั้นจะกลายเป็นนักเขียนโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งในอีกไม่กี่ทศวรรษต่อมา และเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนนั่งคุยไม่ใช่แค่นักแปล แต่ยังเป็นนักเขียนที่เพิ่งตีพิมพ์นวนิยายเล่มแรก Wild Sheep Chase
คาร์เวอร์ได้เขียนถึงการพบกันครั้งนี้เป็นบทกวีเอาไว้ว่า เราดื่มชา / ครุ่นคิดอย่างสุขุม / ถึงเหตุผลของความสำเร็จ / หนังสือของผมในประเทศของคุณ หลุดปาก / พูดถึงความเจ็บปวดและความเย้ยหยัน / ที่คุณพบและต้องพบอีกครั้ง / ในเรื่องสั้นของผม และองค์ประกอบ / ของความบังเอิญ ที่ทำอย่างไรทั้งหมดจึงได้รับการแปล / ในเงื่อนไขของงานขาย
บทสนทนาระหว่างคาร์เวอร์กับมุราคามิไม่ได้จบลงด้วยหายนะเหมือนครั้งที่ฟิตซ์เจอรัลด์เข้าพบอีดิธ วอร์ตัน (Edith Wharton) ที่เธอได้บันทึกการพบปะกับยอดนักเขียนเอาไว้ว่า “ดื่มชากับเท็ดดี้ แชนเลอร์ และนักเขียนนวนิยาย สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ช่างแย่เหลือเกิน”
อีกทั้งคาร์เวอร์ยังได้สัญญาว่าจะเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมเยียนมุราคามิกับภรรยา ถึงแม้เขาจะไม่ได้ไปและเสียชีวิตในอีกไม่กี่ปีถัดจากนั้นก็ตาม แต่คำถามสำคัญที่ติดตามมาก็คือมีอะไรในเรื่องสั้นของคาร์เวอร์ที่ทำให้มุราคามิถึงกับต้องเดินทางมาเพื่อพบปะพูดคุย นี่เป็นเรื่องที่เราจะได้พูดถึงกันต่อไป
กำเนิดท่ามกลางหายนะ
คาร์เวอร์ได้ตีพิมพ์รวมเรื่องสั้นของเขาก็เมื่อเขาย่างเข้าวัยสามสิบปลายไปแล้ว (เรื่องราวระหว่างคาร์เวอร์กับบรรณาธิการของเขาเป็นอีกเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนที่จะได้พูดถึงต่อไป) ก่อนหน้านั้นเขามีเพียงหนังสือรวมบทกวี เรื่องสั้นที่ลงตามหน้านิตยสารต่างๆ หรือหนังสือเล่มเล็กที่ตีพิมพ์เรื่องสั้นเรื่องเดียว ส่วนเรื่องรัก ตลอดชีวิตแต่งงานเกือบยี่สิบปีนั้น ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยปัญหารุมเร้า การติดเหล้า ตกงาน ความสัมพันธ์อันร้าวรานกระท่อนกระแท่น
ตอนที่ Will You Please Be Quiet, Please (1976) เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ เขากับภรรยาต้องเดินทางไปศาลเพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาเรื่องฉ้อโกงต่อรัฐ ในกรณีแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อรับเงินช่วยเหลือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้สองสามีภรรยาก็เคยถูกฟ้องล้มละลายมาก่อนหน้านั้นแล้ว 2 หน
มารีแอนน์ (Maryann) ภรรยาของคาร์เวอร์ได้หยิบเอา Will You Please Be Quiet, Please ผลงานใหม่หมาดจากความสัมพันธ์ 19 ปีที่คาร์เวอร์อุทิศแด่เธอให้ผู้พิพากษาเห็นว่า สามีของเธอยังเป็นคนที่มีอนาคตไกล ถ้าให้โอกาสเขาแก้ตัว
ชายคนนี้พังพินาศเพราะป่วยเป็นพิษสุราเรื้อรัง เขาเป็นผลิตผลของความฝันที่ล้มเหลวมาทั้งชีวิต เธอพูดทุกอย่างออกมาเพื่อให้สามีเธอไม่ต้องกลายเป็นคนคุก แต่ถึงกระนั้นผู้พิพากษาก็ยังตัดสินว่า คาร์เวอร์มีความผิดจริงและต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 90 วัน โชคยังดีที่เขาไม่ถูกส่งตัวไปเรือนจำในทันที และจะด้วยความช่วยเหลือของบรรดาเพื่อนๆ และคนรู้จักทั้งหลายที่ยื่นร้องจนมีการปรับลดโทษลงเป็นทัณฑ์บนเป็นระยะเวลา 2 ปี (ภาพประกอบ 3)
ว่าไปแล้ว ชีวิตของคาร์เวอร์ก่อนจะได้ตีพิมพ์เรื่องสั้น เรียกได้ว่าเกือบสายเกินเยียวยา เขาเคยรับงานอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่แทบไม่เคยไปสอน มีปัญหาเรื่องชู้สาว เมามายไม่ได้สติถึงขนาดเอาขวดเหล้าตีหัวมารีแอนน์จนบาดเจ็บสาหัส ตอนที่เขาสอนวรรณกรรมที่ UC Santa Cruz เพื่อนอาจารย์ของเขา จอห์น ชีเวอร์ (John Cheever) จำได้เพียงว่า นี่เป็นห้วงเวลาที่ต้องขับไปร้านขายเหล้าสัปดาห์ละสองครั้ง กระทั่งไม่มีใครเคยได้ถอดผ้าคลุมออกจากพิมพ์ดีดเพื่อเขียนงานอะไรเลยด้วยซ้ำ
การได้ตีพิมพ์ Will You Please Be Quiet, Please จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านวิชาชีพของคาร์เวอร์ แม้จะไม่สามารถเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับมารีแอนน์ที่กำลังดำเนินไปสู่จุดสิ้นสุด
ภายหลังจากนั้นไม่นาน สองสามีภรรยาก็แยกกันอยู่เป็นการถาวร ในวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 1978 ที่มารีแอนน์ย้ายกลับไปแคลิฟอร์เนียและทิ้งให้คาร์เวอร์อยู่ที่ไอโอว่าเพียงลำพัง
จุดวกกลับ
ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน คาร์เวอร์ต้องขับรถจากไอโอว่าเพื่อไปประชุมเสวนาวิชาการด้านวรรณกรรมที่เอล ปาโซ่ แต่โชคร้าย รถของเขามาเสียกลางทะเลทรายร้อนระอุที่เมืองแวน ฮอร์น เท็กซัส เขาทิ้งสัมภาระทั้งหมดเดินหิ้วกระเป๋าเพียงใบเดียวเพื่อขึ้นรถบัสเกรย์ฮาวน์ต่อไปเอล ปาโซ่
ถ้านี่เป็นฉากหนึ่งในเรื่องสั้นหรือนวนิยายก็คงต้องบอกว่าเป็นความจงใจอย่างมากในการส่งให้คาร์เวอร์ไปใช้ชีวิตอยู่ในหลังบ้านเดียวกับคู่รักนักเขียน บรูซกับแพทริเชีย ด็อบเลอร์ (Bruce& Patricia Dobler) เฝ้ามองดูสองคนพลอดรักกันตลอดหลายสัปดาห์ หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ ที่เอล ปาโซ่นี่เองที่คาร์เวอร์ได้พบกับเทสส์ กัลลาเกอร์ (Tess Gallagher) ผู้หญิงที่จะกลายเป็นคู่ชีวิตของเขาไปจวบจนวาระสุดท้าย (ทั้งคู่ได้พบกันมาก่อนแล้วในงานประชุมวิชาการซึ่งจัดที่ดัลลาสเมื่อปี 1977) คงไม่เกินเลยไปจากความจริงนักหากจะพูดว่า เทสส์คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาสามารถเลิกดื่มเหล้าได้อย่างเด็ดขาด
เทสส์ มีชื่อเดิมว่า เทเรซ่า เจเนทท์ บอนด์ (Teresa Jeanette Bond) เกิดในครอบครัวผู้ใช้แรงงาน และมีพื้นภูมิความหลังวัยเยาว์หลายอย่างคล้ายคลึงกับคาร์เวอร์อย่างมาก เธอแต่งงานและหย่าร้างถึงสองครั้ง เขียนบทกวี ความเรียง และเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมเช่นเดียวกันกับเขา
คาร์เวอร์เริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นชุดใหม่ด้วยสายตาและความคิดที่คมชัดขึ้นจากการเลิกเหล้า หรือถึงแม้จะเป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึงความพังทลายของหลากหลายชีวิต แต่ในความคิดของเขา มันช่างแตกต่างจากผลงานที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง
ต้นฉบับรวมเรื่องสั้นที่ยังไม่มีชื่อถูกส่งไปให้กอร์ดอน ลิช (Gordon Lish) บรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์ Alfred A. Knopf ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้ผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรก Will You Please Be Quiet, Please ได้ตีพิมพ์ แต่ลิชก็เป็นบรรณาธิการที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความเหี้ยมโหดต่อต้นฉบับ เขาสามารถสับ หั่น เฉือน และโยนทิ้งทุกอย่างที่เขาคิดว่าไม่สำคัญออกจากเรื่องราวได้ง่ายๆ ดังนั้นแล้วต้นฉบับที่คาร์เวอร์เชื่อว่าดีที่สุด ซึ่งเขาใช้เวลา 6 เดือนในการเขียนมันขึ้นมาจึงถูกลิชชำแหละอย่างทารุณ
เมื่อคาร์เวอร์ได้เห็นต้นฉบับที่ลิชส่งกลับมาก็แทบจะรับไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ผลงานชิ้นเดิมเลย เขาเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องยับยั้งการพิมพ์ หนังสือที่ลิชให้ชื่อว่า What We Talk About When We Talk About Love เอาไว้ก่อน
คาร์เวอร์เขียนจดหมายไปถึงลิชว่า “ได้โปรด กอร์ดอน เห็นแก่พระเจ้าเถอะโปรดช่วยผมในเรื่องนี้ และพยายามเข้าใจผมที ฟัง ผมจะพูดอีกครั้งว่า ที่ผมมีชื่อเสียงหรือเครดิตต่างๆ บนโลกใบนี้ได้ก็เพราะคุณ…แต่ถ้าผมยอมปบ่อยให้ทั้งหมดนี้ดำเนินไป มันย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผมอย่างแน่นอน”
แน่นอนว่าข้อเรียกร้องของคาร์เวอร์ไม่อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงใดๆ กระบวนการผลิตหนังสือยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ หนังสือรวมเรื่องสั้น What We Talk About When We Talk About Love ที่ลิชบรรณาธิการกลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จอย่างท่วมท้นให้แก่คาร์เวอร์ และทำให้เขาได้รับรางวัลสำคัญทางวรรณกรรมถึง 2 รางวัลหลังจากนั้น
แต่ทั้งสองก็สูญเสียมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไป คาร์เวอร์ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนประเภทน้อยแต่มาก (Minimalism) ซึ่งก็เป็นคำจำกัดความที่เขาชิงชังรังเกียจเสมอมา ไม่เพียงเพราะมันเป็นสไตล์การเขียนจากการปรับแปลงแก้ไขของลิช แต่เป็นเพราะคาร์เวอร์เชื่อในความเรียบง่ายตรงไปตรงมา ไม่ใช่การลดทอนและสร้างความคลุมเครือเพื่อเป็นเรื่องอ่านเล่นของปัญญาชน เรื่องสั้นของเขาคือการเขียนประสบการณ์ที่ผู้อ่านสามารถรู้สึกและกระทั่งสัมผัสได้
ต่อเมื่อได้มีการนำเอาต้นฉบับก่อนหน้าที่ลิชจะบรรณาธิการมาจัดพิมพ์ เราจึงได้พบว่าสิ่งที่ลิชเห็นว่าไม่สำคัญ แต่สำคัญสำหรับคาร์เวอร์คือ ‘ชีวิต’ คำเดียวกันกับที่เราสบถออกมาในยามผิดหวังเสียใจ โกรธเกรี้ยว และก็เป็นคำเดียวกับเราต้องเข้าใจพยายามดำรงอยู่ต่อไป เรื่องสั้นดั้งเดิมหลายเรื่องแสดงให้เห็นความสำคัญของ ‘ชีวิต’ และแม้แต่มี ‘ความหวัง’ ในความพังนั้น นี่เป็นสิ่งที่คาร์เวอร์ได้ค้นพบภายหลังหายนะทั้งหลายที่เกิดแก่ตัวเขา และเป็นคำที่เราไม่สิ้นหวังเกินไปนักยามที่เราไม่เห็นทางไป
อ้างอิง
- Raymond Carver, Collected Stories, (New York: Library of America, 2009)
- https://lithub.com/the-time-murakami-met-carver-and-other-literary-meet-cutes/
- https://www.seattletimes.com/entertainment/books/a-fateful-literary-meeting-raymond-carver-and-haruki-murakami/