เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ผ่านมา หอศิลป์ Tate St Ives ณ เมืองคอร์นวอลล์ (Cornwall) ประเทศอังกฤษ จัดนิทรรศการ ‘VIRGINIA WOOLF: AN EXHIBITION INSPIRED BY HER WRITINGS’ ที่เป็นการคัดสรรผลงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยหลากหลายสื่อจากศิลปินกว่า 80 คนที่ส่วนใหญ่เป็นศิลปินหญิงและได้สะท้อนมุมมองแนวสตรีนิยม (Feminism) ที่มีต่อภูมิทัศน์ (Landscape) ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน (Domesticity) และตัวตน (Identity) อันเป็นประเด็นที่ปรากฏบ่อยในงานเขียนของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ
นิทรรศการนี้เล่าประสบการณ์ของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านผลงานศิลปะจากหลากหลายช่วงเวลา เราเองอยากชวนคุณมาร่วมชมผลงานบางส่วนของนิทรรศการนี้ เพราะผลงานที่ดูมีความสัมพันธ์อย่างหลวมๆ ต่อวูล์ฟ หรือเพียงแค่พูดประเด็นเดียวกับวูลฟ์นั้น กลับพาเราไปรู้จักชีวิตของนักเขียนคนนี้ในห้วงต่างๆ ของชีวิตเธอได้อย่างน่าสนใจ
นิทรรศการถูกจัดขึ้นในสถานที่ที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะนักเขียนหญิงผู้ยิ่งใหญ่ใช้ชีวิตวัยเด็กปีละหลายเดือนในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่แถบเซนต์ไอฟส์ (St. Ives) ในเมืองคอร์นวอลล์ ย่านเดียวกับหอศิลป์แห่งนี้เอง วูล์ฟที่ในขณะนั้นยังใช้นามสกุลสตีเฟน อยู่ในบ้านหลังงามที่หันหน้าออกสู่อ่าวเซนท์อีฟ ที่ซึ่งเซอร์เลสลีย์ สตีเฟน (Sir Leslie Stephen) ผู้เป็นพ่อ นักเขียนอัตชีวประวัติและบรรณาธิการผู้มีความสำคัญต่อวงการวรรณกรรมได้เช่าเอาไว้ ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ยุติลงเมื่อวูล์ฟอายุ 13 ปี ด้วยความตายของแม่ จูเลีย สตีเฟน (Julia Stephen) สาวงามผู้เป็นแบบให้กลุ่มจิตรกรผู้นิยมแบบก่อนราฟาเอล (Pre-Raphaelite)
จากความคล้ายคลึงทางสถานที่ เราอาจพูดได้ว่าที่นี่กลายเป็นแรงบันดาลใจในงานเขียน ‘มุ่งสู่ประภาคาร’ (To the Lighthouse) (1927) ซึ่งเป็นเสมือนอัตชีวประวัติของเธอเอง ซึ่งห้วงเวลานี้ของชีวิตวูล์ฟ อาจถูกเล่าได้พอดิบพอดีด้วยภาพวาด Wings over Water (1930) ของฟรานเซส ฮอดจ์คินส์ (Frances Hodgkins) จิตรกรหญิงชาวนิวซีแลนด์ที่ได้รับการศึกษาด้านศิลปะที่ปารีสก่อนย้ายมาพำนักที่ประเทศอังกฤษ
ฉันรู้จักวูล์ฟจากเรื่องส่วนตัวของเธอก่อนจะได้อ่านงานของเธอเสียอีก คงเหมือนการรู้จักดาราสักคนจากข่าวซุบซิบก่อนจะได้ชมผลงานของเขา ฉันจดจำเธอในฐานะนักเขียนที่ฆ่าตัวตายด้วยวิธีใส่ก้อนหินลงไปในกระเป๋าเสื้อโค้ทแล้วเดินลงแม่น้ำอูส (River Ouse) เพื่อจบชีวิตของตัวเองและเธอเขียนจดหมายลาตายถึงสามี ประโยคสุดท้ายความว่า “I don’t think two people could have been happier than we have been.” (ฉันไม่คิดว่าจะมีคนสองคนที่มีความสุขไปมากกว่าที่เราสองคนมี)
จะไม่ให้ฉันจดจำเธอได้อย่างไร ถ้อยคำนั้นงดงามตราตรึงใจ และเมื่อได้เห็นภาพ A Dark Pool (1918) ของลอร่า ไนท์ (Laura Knight) ที่ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการนี้ หญิงสาวยืนอยู่บนโขดหิน ก้มหน้าลงเหมือนพินิจพิจารณาบางสิ่งในขณะที่คลื่นซัดสาด บรรยากาศในภาพทำให้ฉันนึกจินตนาการถึงช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของวูล์ฟทันที
วูล์ฟเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักเขียนหญิงผู้เล่าเรื่องด้วยกระแสสำนึก (stream of consciousness) อันเป็นเอกลักษณ์ที่นำเสนอตัวละครด้วยการเน้นที่ความคิดและความรู้สึก มีการตัดต่อและย้อนเวลา เหมือนในขณะที่คนเราคิด ซึ่งหัวพลันกระโดดไปถึงเวลานั้นและเวลานี้ โดยเวลาในห้วงคำนึงแยกออกจากเวลาภายนอกที่ดำเนินอยู่จริง งานของวูล์ฟและนักเขียนในแนวทางนี้จึงท้าทายนักอ่านไม่น้อย ฉันอ่าน ‘ห้องส่วนตัว’ (A Room of One’s Own) เป็นเล่มแรก แนวคิดสตรีนิยมในงานของวูลฟ์ยังเป็นสิ่งที่ทันสมัยในปัจจุบัน ห้องส่วนตัวไม่ได้หมายถึงห้องที่เอาไว้เพียงแต่งหน้า แต่งตัว นอนหลับและจินตนาการฝันหวานเพียงเท่านั้น แต่คือพื้นที่ของตัวเองที่ได้สร้างสรรค์และหยัดยืนเพื่อทำในสิ่งที่ต้องการ เมื่อมองไปในนิทรรศการนี้ ผลงานวิดีโออาร์ต Hands (For the Eye, the Hand of My Body Draws My Portrait) (1977) ของศิลปินหญิงชาวโรมาเนีย เกตา บราเทสกู (Geta Bratescu) จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนอันเคลื่อนไหวได้ของหนังสือเล่มนี้ โต๊ะเป็นพื้นที่แห่งความอิสรเสรีที่เธอได้เล่น ได้ทดลอง ได้สูบบุหรี่ ได้ขีดเขียนลงบนมือของตัวเอง เหมือนประโยคหนึ่งที่วูลฟ์เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ “มือของฉันมีความสุขที่ได้ขีดเขียนสิ่งประหลาด”
เฉกเช่นเดียวกับคนดังคนอื่นๆ ในโลก เรื่องส่วนตัวของวูล์ฟถูกขุดคุ้ยและนำเสนอต่อสาธารณะอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉันได้อ่านเรื่องความรักแบบหญิงรักหญิงที่วูล์ฟมีต่อวิตา แซควิลล์ เวสต์ (Vita Sackville-West) ผู้หญิงสองคนที่แต่งงานกับผู้ชายอย่างที่ใครๆ คิดว่าควรจะเป็นแล้ว แต่กลับเขียนจดหมายรักถึงกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นเรื่องน่าทึ่งที่พวกเธอสามารถทำให้ความรักแบบท้าทายสังคมดำเนินคู่ขนานไปกับชีวิตแต่งงานตามขนบได้ และโรคซึมเศร้าของวูล์ฟที่เกิดจากการสูญเสียคนในครอบครัวในระยะเวลาใกล้เคียงกัน อีกทั้งเรื่องราวฝังใจในวัยเด็ก การถูกล่วงละเมิดทางเพศจากพี่ชายที่เป็นลูกติดจากพ่อและแม่ (พ่อและแม่ของวูล์ฟเคยแต่งงานมาแล้วหนึ่งครั้ง และเป็นหม้ายลูกติดก่อนมาจะมาพบและแต่งงานกัน) รวมถึงบรรยากาศในครอบครัวยุควิคตอเรียนที่ถูกปกครองด้วยระบอบชายเป็นใหญ่ซึ่งทำให้ผู้หญิงมักต้องอยู่ในความเงียบ ไม่มีสิทธิ์มีเสียง
เมื่อได้รู้ข้อมูลเหล่านี้ ภาพ She/She ของลินเดอร์ (Linder) (1981) ก็สื่อสารกับเราทันที ศิลปินแต่งหน้าแต่งตัวในแบบโรแมนติกใหม่ (New Romantic style) ซึ่งเป็นที่นิยมช่วงต้นยุค 1980 แต่ส่วนล่างของใบหน้ากลับมีภาพถ่ายที่ฉีกจากนิตยสารมาปิดบังและแทนที่ ศิลปินเรียกว่าการสร้างสรรค์ของเธอว่า การตัดต่อตัวเอง (self-montage) และ ตัวฉันในฐานะวัสดุเก็บตก (myself as a found object) แนวความคิดของผลงานนี้เชื่อมโยงกับชีวิตของวูล์ฟที่หลายต่อหลายครั้ง เธอต้องซ่อนตัวเองอยู่ใต้ภาพที่สังคมชายเป็นใหญ่ต้องการให้เธอเป็น ก่อนจะได้ปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกมาผ่านการเขียนของเธอ
ความทรงจำและเรื่องราวในชีวิตเป็นแรงผลักดันให้นักเขียนหญิงชาวอังกฤษคนนี้ตีพิมพ์งานเขียนสม่ำเสมอและยังเป็นหนึ่งในกลุ่มปัญญาชนสมัยใหม่ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 คือ กลุ่มบลูมสบิวรี่ (Bloomsbury Group) อีกด้วย เป็นความหลักแหลมของผู้คัดสรรที่เลือก Self-Portrait (1902) โดย เกวน จอห์น (Gwen John) มาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ จอห์นสะท้อนซึ่งกันและกันกับวูล์ฟได้เป็นอย่างดี ในด้านการทำอาชีพที่ในขณะนั้นมีแต่ผู้ชายเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ ความพยายามที่จะได้รับการตระหนักถึงความสามารถเฉกเช่นเดียวกับผู้ชายใกล้ตัว (ในกรณีของวูล์ฟ อาจหมายถึงพ่อของเธอ ซึ่งเป็นนักเขียนเช่นเดียวกับเธอ ส่วนในกรณีของจอห์นคือน้องชายที่เป็นจิตรกรเช่นเดียวกัน) และการสะท้อนภาพความเป็นหญิงของตนเองโดยไม่ยี่หระกับธรรมเนียมเดิมๆ ว่าผู้หญิงควรเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ หนึ่งในภาพถ่ายฝีมือบาร์บาร่า เฮพเวิร์ท (Barbara Hepworth) ประติมากรหญิงชื่อดังชาวอังกฤษที่เพิ่งถูกนำออกมาจัดแสดงครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate ในปี 2015 ยังถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ด้วย ภาพถ่าย Self-Photogram (1933) นี้เป็นผลจากการทดลองเกี่ยวกับภาพถ่ายของศิลปินด้วยการวางวัตถุลงบนกระดาษที่อ่อนไหวต่อแสงแล้วนำไปโดนแสง หากดูเผินๆ ภาพถ่ายนี้ละม้ายคล้ายเป็นภาพถ่ายตัววูล์ฟเอง และวิธีการสร้างสรรค์ผลงานของเฮพเวิร์ทยังชวนให้นึกถึงการเขียนของวูล์ฟที่เธอใช้ตัวเธอเป็นแกนในผลงาน การนำกระแสสำนึกส่วนตัวไปสู่แสงสาธารณะ การอ่านงานเขียนของวูล์ฟจึงเป็นการเข้าถึงความนึกคิดและความทรงจำของเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นิทรรศการ VIRGINIA WOOLF: AN EXHIBITION INSPIRED BY HER WRITINGS ชวนคุณทำความรู้จักวูล์ฟอีกครั้งผ่านผลงานศิลปะของศิลปินที่ถูกคัดสรร วูล์ฟและศิลปินเหล่านี้เป็นกระจกสะท้อนกันและกันในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ แม้จะพลาดที่ TATE ST IVES ก็ไม่ต้องเสียดายไป เพราะนิทรรศการจะย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ The Fitzwilliam Museum ที่เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคมถึง 9 ธันวาคมนี้ หากใครที่มีโอกาสแวะเวียนไปก็นับว่าน่าไปเยือนไม่น้อย
อ้างอิง
https://www.studiointernational.com/index.php/virginia-woolf-an-exhibition-inspired-by-her-writings-review-tate-st-ives
https://www.tate.org.uk/whats-on/tate-st-ives/exhibition/virginia-woolf
https://www.nytimes.com/2018/02/26/travel/virginia-woolf-cornwall.html
https://www.britannica.com/biography/Virginia-Woolf
https://www.theguardian.com/books/2008/jul/13/news.gayrights
https://www.telegraph.co.uk/news/2017/02/11/gemma-arterton-eva-green-star-virginia-woolf-lesbian-love-story/
http://www.tnrr.in.th/?page=result_search&record_id=260221
https://www.tate.org.uk/context-comment/articles/barbara-hepworth-exhibition-rediscovered-photographs
https://www.tate.org.uk/art/artworks/linder-she-she-p79743
https://www.washingtonpost.com/archive/entertainment/books/1989/05/14/virginia-woolf-and-her-familys-secret-life/be2932af-3db9-4274-bf4a-7ad0f20e9b59/?noredirect=on&utm_term=.8aab3b6b293d
Tags: Feminism, Art exhibition, Virginia Woolf, stream of consciousness, writer