ในตอนที่ผ่านมา เราได้นำเสนอเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัยระดับโลกถึงสองคนอย่าง มารินา อบราโมวิช และ เปาโล คานีวาริ ที่เดินทางมาแสดงผลงานให้คอศิลปะบ้านเราได้ยลกันในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่กันไปแล้ว ในคราวนี้ก็ยังมีศิลปินร่วมสมัยระดับโลกอีกคนหนึ่ง ที่มีชื่อเสียง ความสามารถ และยังทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองอย่างเข้มข้นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน มาแสดงงานศิลปะในบ้านเราด้วยเหมือนกัน (แต่ไม่ใช่ในเบียนนาเล่ทั้งหลายเหล่านั้นหรอกนะ) ศิลปินผู้นี้เป็นศิลปินร่วมสมัยชาวสเปนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะโลก เขาผู้นี้มีชื่อว่า
มิเกล บาร์เซโล (Miquel Barceló)
เกิดเมื่อปี 1957 ในเมืองเฟลานิทซ์ เกาะมายอร์กา แคว้นกาตาลุญญา (แคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน) ด้วยความที่แม่ของเขาเป็นจิตรกรวาดภาพทิวทัศน์แบบประเพณี เขาจึงมีความหลงใหลสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และด้วยความที่เขาเกิดและเติบโตในยุคสมัยที่ประเทศสเปนอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของจอมพล ฟรันซิสโก ฟรังโก
มิเกล บาร์เซโลในวัย 17 ปี จึงเดินทางไปยังปารีสเป็นครั้งแรกเพื่อหนีจากสภาพแวดล้อมที่ถูกจำกัดเสรีภาพในประเทศบ้านเกิด ในปี 1974
ณ ที่แห่งนั้นเอง ที่เขาได้พานพบและประทับใจผลงานของศิลปินฝรั่งเศสอย่าง ฌอง ดูบูฟเฟต์ (Jean Dubuffet) และกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Art Brut อันดิบสดหยาบกระด้างที่ ดูบูฟเฟต์คิดค้นขึ้น รวมถึงกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะนามธรรมที่เฟื่องฟูในยุโรปอย่าง Art Informel อย่างมาก
ในปี 1975 หลังจากลองเข้าเรียนในสถาบัน Decorative Arts School บาร์เซโล ที่เมืองปัลมา ในมายอร์กา ในปีเดียวกัน บาร์เซโลก็สมัครเข้าเรียนที่สถาบัน School of Fine Arts ในบาร์เซโลน่า อยู่สองสามเดือน ก่อนที่จะกลับไปยังมายอร์กา เพื่อเข้าร่วมขบวนกับ Taller Lunatic กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและศิลปินคอนเซ็ปชวลอาร์ตหัวก้าวหน้า ทำงานศิลปะแฮปเพนนิ่งและการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อร่วมผลักดันให้ประเทศสเปนมีความเป็นประชาธิปไตย หลังการตายของจอมพลฟรังโก ในช่วงนี้เองที่เขาทำงานศิลปะเชิงทดลองแบบคอนเซ็ปชวลอาร์ต ที่สำรวจพฤติกรรมของวัตถุและสภาวะการเสื่อมสลายของมัน ด้วยผลงานที่เป็นกล่องไม้หรือกล่องกระจกที่บรรจุอาหารเน่าเปื่อยและวัตถุชีวภาพอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น
ในช่วงต้นยุคทศวรรษที่ 1980 บาร์เซโลเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในจิตรกรร่วมสมัยคนสำคัญของสเปน ด้วยการเข้าร่วมในมหกรรมศิลปะ São Paulo Art Biennial ในบราซิล ในปี 1981, ตอกย้ำความร้อนแรงด้วยการเป็นตัวแทนของสเปนเข้าร่วมมหกรรมศิลปะร่วมสมัย Documenta ครั้งที่ 7 ในปี 1982 ที่เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี และร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติมากมาย
ในช่วงนี้เองที่เขาหวนกลับไปสู่แนวทางการทำงานศิลปะแบบดั้งเดิม ที่เน้นการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกในรูปแบบของศิลปะ นีโอ-เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Neo-Expressionism) ที่ต่อต้านการต่อต้านงานศิลปะแบบประเพณีของศิลปะคอนเซ็ปชวลอาร์ต (ที่มองว่างานจิตรกรรมตายแล้ว) เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการแสดงออกทางสุนทรียะผ่านเนื้อหาและรูปแบบในงานจิตรกรรม
ในช่วงปลายปี 1980 บาร์เซโลเริ่มขจัดองค์ประกอบในการเล่าเรื่องออกจากภาพวาดของเขา (พูดง่ายๆ ก็คืออะไรที่ดูรู้เรื่องนั่นแหละ) อาทิเช่นในผลงานภาพวาดนามธรรมสีขาว (White Paintings) ที่เขาทำขึ้นหลังจากใช้เวลาหกเดือนเดินทางข้ามทะเลทรายซาฮาราในปี 1988
หลังจากใช้ชีวิตหลายปีในปารีส บาร์เซโลนา และนิวยอร์ก บาร์เซโลเดินทางไปยังแอฟริกาตะวันตก และประทับใจกับวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมทางกายภาพของที่นั้น เขาได้แรงบันดาลใจจากแสงสีอันตระการตา แสงอาทิตย์อันแผดจ้า และผืนแผ่นดินอันดิบกระด้างของแอฟริกา และแปรเปลี่ยนมันให้เป็นภาพวาดน้อยสีสัน เต็มไปด้วยพื้นผิวหยาบกระด้างที่ทำให้ระลึกไปถึงภูมิประเทศอันแห้งแล้งทุรกันดารของทะเลทราย
ในปี 1990 บาร์เซโลเริ่มทำซีรีส์ภาพวาดฉากการสู้วัวกระทิง อันมีที่มาจากการว่าจ้างให้เขาออกแบบโปสเตอร์สำหรับการแข่งขันสู้วัวกระทิงที่เมืองนีมส์ ฝรั่งเศส ในปี 1988 ในภาพวาดชุดนี้ บาร์เซโลวาดภาพการสู้วัวกระทิงด้วยการใช้มวลสีหนาหนักด้วยเทคนิคอิมเพสโต้ (Impasto) สร้างพื้นผิวอันหยาบกระด้างเพื่อแสดงออกถึงพลังความเคลื่อนไหวอันรุนแรงในการขับเคี่ยวระหว่างนักสู้วัวและวัวกระทิงท่ามกลางฝุ่นทรายอันคละคลุ้งในสนาม บาร์เซโลถ่ายทอดการแข่งขันที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชนชาติสเปนลงในภาพวาดของเขา ก่อนที่เกมกีฬานี้จะถูกยกเลิกในสาธารณรัฐกาตาลุญญาในปี 2012 ซึ่งบาร์เซโลเองก็ได้ออกแบบโปสเตอร์การแข่งแข่งขันสู้วัวกระทิงครั้งสุดท้ายในกรุงบาร์เซโลนาอีกด้วย
กว่าสี่ทศวรรษในการทำงานศิลปะ บาร์เซโลทำงานผ่านสื่อทางศิลปะอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม ภาพวาดบนผืนผ้าใบ ภาพวาดลายเส้นบนกระดาษ หรือวัสดุอย่างเซรามิก ทองแดง ฯลฯ เขาใช้ชีวิตและเดินทางในหลายประเทศทั่วโลก และทดลองผสมผสานวัสดุต่างๆ ที่ได้พบจากการเดินทางลงไปภาพวาดของเขา
แรงบันดาลใจในการทำงานอันสำคัญอีกประการของเขาคือโลกของธรรมชาติ เขามักสำรวจความเปลี่ยนแปลงของแสงและสีสันในธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เขาถ่ายทอดสีสันอันบรรเจิดเหล่านั้นลงไปในผืนผ้าใบของเขา ครั้งถึงเขาถึงกับทดลองฉีดหมึกของปลาหมึกเข้าไปในผิวหนังเพื่อเลียนแบบความสามารถในการเปลี่ยนสีสันของปลาหมึก ซึ่งเขามองว่าคล้ายกับการวาดภาพบนผืนผ้าใบ ต่างกันตรงที่ใช้ผิวหนังของตัวเองแทน ซึ่งเป็นอะไรที่อันตรายและไม่แนะนำให้เลียนแบบ!
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงโดดเด่นให้บาร์เซโลมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ก็คือ งานศิลปะจัดวางขนาดยักษ์ บนเพดานของหอประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันว่า ‘หอประชุมสิทธิมนุษยชนและพันธมิตรแห่งอารยธรรม’ (Human Rights and Alliance of Civilizations Chamber) ในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นภาพวาดกึ่งประติมากรรมหลากสีสันพื้นผิวขรุขระตะปุ่มตะป่ำเหมือนหินย้อยหรือพื้นผิวดาวเคราะห์ดูพิลึกพิลั่น ที่มีชื่อว่า Room XX (2008) นั่นเอง
ผลงานจิตรกรรมพื้นผิวขรุขระรูปทรงคล้ายหินย้อยหลากสีสันที่เหมือนกับกำลังหยดลงมาจากเพดานชิ้นนี้ ที่หลายคนขนานนามมันว่าเป็น ‘วิหารซิสทีนแห่งศตวรรษที่ 21’ มันเป็นโครงการศิลปะที่นำเสนอโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสเปนที่มีชื่อว่า ONUART ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อใช้งานศิลปะร่วมสมัยเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและสังคมและเพื่อสนับสนุนนโยบายพหุภาคีของสหประชาชาติ โดย ONUART ว่าจ้างให้บาร์เซโลสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นในปี 2007 ซึ่งเขาใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ราว 13 เดือนจึงแล้วเสร็จและเปิดตัวในปี 2008
โดยบาร์เซโลรื้อเพดานเก่าออกและสร้างโครงสร้างเพดานใหม่ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษขึ้นมา เพื่อรับน้ำหนักของวัสดุปูนปลาสเตอร์ผสมพิเศษที่เขาทำขึ้นบนเพดานจนกลายเป็นพื้นผิวคล้ายหินย้อย และใช้สีพิเศษหลากหลายเฉดชนิดที่เสาะหาจากทั่วโลกเป็นจำนวน 35 ตัน เพื่อใช้ฉีดพ่นให้งานชิ้นนี้มีสีสันที่หลากหลายด้วยเทคนิคเฉพาะตัวของเขา งานจิตรกรรมขนาดมหึมาบนเพดานชิ้นนี้กินพื้นที่ 4,600 ตารางฟุต และใช้งบประมาณในการสร้างประมาณ 23 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้วยขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร ทำให้ผู้ชมไม่อาจดูงานชิ้นนี้ได้ทั้งหมดในคราวเดียว ความพิเศษของมันก็คือ เมื่อเดินดูผลงานไปรอบๆ รูปทรง สีสันและพื้นผิวของงานจิตรกรรมชิ้นนี้จะเปลี่ยนไปตามมุมมองของคนดู ซึ่งตัวศิลปินต้องการใช้มันเป็นสัญลักษณ์ในการสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ ไปจนถึงวัฒนธรรมและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่มาอยู่ร่วมอย่างประสานกลมกลืนภายใต้หลังคาเดียวกัน ไม่ต่างกับปรัชญาการทำงานของสหประชาชาตินั่นเอง
บาร์เซโลเผยว่าเขาได้แนวคิดของงานชิ้นนี้มาจากถ้ำ ท้องทะเล และเหตุการณ์ตอนที่เขาอยู่ในเขตซาเฮล ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลทรายใจกลางแอฟริกาในวันที่ร้อนจัด จนเห็นภาพลวงตาว่าโลกกำลังละลายไหลลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งเขานำมันมาต่อยอดเป็นต้นแบบของผลงานชิ้นนี้ โดยหยิบเอารูปทรงของหินย้อยที่มีอยู่ในธรรมชาติมาสร้างขึ้นใหม่ตามจินตนาการของตน ผลงานของเขาส่วนใหญ่ ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงของธรรมชาตินำมาผนวกกับจินตนาการของเขาจนกลายเป็นงานศิลปะอันพิสดารประหลาดล้ำและวิจิตรงดงามตระการตาราวกับว่ามันเป็นผลงานที่ไม่ได้ทำขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ หากแต่รังสรรค์ขึ้นมาโดยธรรมชาติก็ปาน
“มันเป็นงานขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก เราใช้เวลาหนึ่งปีทำงานที่ดูเหมือนกับถ้ำชิ้นนี้ร่วมกับคนมากมาย สหประชาชาติมีสมาชิก 6,000 คน จากทั่วประเทศ ทุกคนนั่งในตำแหน่งที่ต่างกันก็จะมองเห็นงานของผมในมุมมองที่ต่างกัน ไม่มีใครเห็นอะไรที่เหมือนกัน เวลาดูผลงานชิ้นนี้ของผม ถ้าคุณอยู่จุดนี้คุณอาจจะเห็นสีน้ำเงินกับเหลือง คุณอยู่จุดโน้นคุณอาจจะเห็นสีแดงและเขียว ไม่มีใครเห็นเหมือนกัน หรือถ้าคุณขยับตัวเล็กน้อย คุณก็จะมองเห็นอะไรที่แตกต่างออกไปทันที
ตอนแรก ไอเดียของผมในการออกแบบห้องนี้เพื่อดูภาพวาดบนเพดาน คือการทำให้เป็นเตียงขนาดใหญ่ ไม่ใช่นั่งบนเก้าอี้ ผมแนะนำให้พวกเขาทำให้ห้องนั้นเหมือนห้องนั่งเล่นคุยกัน เพราะผมคิดว่าโลกเราต้องการอะไรแบบนั้น แต่พวกเขาไม่อยากได้อะไรแบบนั้น พวกเขาอยากนั่งบนเก้าอี้ มีคอมพิวเตอร์วางบนโต๊ะ พวกเขาเลยปฏิเสธทันที (หัวเราะ)
ผมคิดว่าประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นอะไรที่สำคัญมาก สำหรับผม มันเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ได้ทำงานขนาดใหญ่เพื่อคนมากมายเช่นนี้ ผมชอบมันมาก แต่ในตอนเริ่มต้นมันก็เป็นอะไรที่ยากมาก เพราะมีหลายคนออกมาต่อต้านมัน แต่มันก็เป็นเรื่องปกติที่เวลามีใครทำอะไรใหม่ๆ ก็มักจะมีคนออกมาต่อต้านอยู่เสมอ”
บาร์เซโลยังกล่าวว่า “ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปหอประชุมสหประชาชาติที่เจนีวา ผมแนะนำให้ดูงานชิ้นนี้ของผมด้วยการนอนลงกับพื้น มันจะมอบประสบการณ์อันพิเศษให้กับคุณ ถ้าเขาไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้น บอกเขาว่าผมบอกให้ทำนะ”
ในฐานะที่เป็นศิลปินผู้ทำงานให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติบาร์เซโลมองสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในโลกเราทุกวันนี้ว่าเป็นอะไรที่เลวร้ายกว่าแต่ก่อนมาก
“ปัจจุบันมันเป็นช่วงเวลาที่สับสน ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่สามารถเลี้ยงปากท้อง หรือดูแลสุขภาพของคนทุกคนในโลกได้ แต่เราก็ไม่ทำมัน เรามีเครื่องมือที่สามารถติดต่อสื่อสารกับทุกคนในโลกได้ แต่กลับโดดเดี่ยวและตัดขาดจากกันกว่าเดิม เพราะเราใช้มันอย่างผิดๆ จริงอยู่ที่ในอดีตอาจจะมีเหตุการณ์หายนะที่ร้ายแรงกว่าในปัจจุบันอย่างสงครามโลก แต่ในยุคนั้น อนาคตดูมีความหวังกว่าทุกวันนี้ ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยและสงคราม ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ก็เพิกเฉยต่อสถานการณ์เหล่านี้ มันเป็นอะไรที่เลวร้ายมากๆ เพราะความเพิกเฉยทำให้คนโง่เขลา และมองไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก
ผมเติบโตมาในยุคของจอมเผด็จการฟรังโก จนกระทั่งเขาตายในปี 1975 ตอนนั้นผมยังเป็นวัยรุ่น เป็นนักศึกษา ในช่วงเวลานั้นเราใช้เวลาส่วนใหญ่เดินขบวนบนท้องถนน ต่อสู้กับตำรวจ รวมถึงเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรกในยุโรป ถึงยุคสมัยของฟรังโกจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่มันก็มีข้อดีตรงที่เราเปิดหน้าต่อสู้กับเผด็จการได้อย่างตรงไปตรงมา ต่างกับคนรุ่นใหม่ที่การต่อสู้ไม่ใช่เรื่องง่ายดายอีกต่อไป เพราะเผด็จการไม่ได้เป็นอะไรที่ชัดเจนและแข็งกร้าวเหมือนในอดีต ปัจจุบันอำนาจเผด็จการเป็นอะไรที่ละมุนละไมและแนบเนียนกว่านั้น เราเลยต่อสู้กับมันได้ยากลำบากกว่า
ปัญหาที่สำคัญของโลกทุกวันนี้คือความเพิกเฉย ผมเชื่อว่า เป้าหมายของศิลปะ คือการเชื่อมโยงทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน และทำให้คนเหล่านั้นหันกลับมามองเห็น พูดคุย และใส่ใจซึ่งกันและกัน สำหรับผม ศิลปะคือการศึกษาและการให้ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องการในการต่อสู้กับความหลอกลวงและความโง่เขลา ถ้าโลกเรามีการศึกษาที่เพียงพอ เราก็จะไม่เจอกับสถานการณ์เดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกาและบราซิลกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้
ศิลปะและการศึกษาเป็นเครื่องมือในการต่อสู่กับความโง่เขลาและความหลอกลวง ไม่ว่าผมจะทำงานชิ้นเล็กๆ ให้คนจำนวนน้อยดู หรือทำงานขนาดใหญ่แบบที่ทำในสหประชาชาติให้คนจำนวนมากเห็น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ การทำงานศิลปะก็ไม่ต่างอะไรกับการโยนหินลงไปในน้ำทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อกันไปเป็นวงกว้าง แต่ผมเองก็ไม่รู้ว่างานของผมจะทำให้เกิดอะไรในระยะยาว หน้าที่ของผมคือการโยนหินลงไปในน้ำ ไม่ใช่การควบคุมคลื่นที่กระจายออกไป ผมควบคุมมันไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะควบคุมมันยังไงด้วย”
นอกจากนี้บาร์เซโลยังทำงานจิตรกรรมฝาผนังให้กับวิหาร Santísimo (Chapel of the Holy Sacrament) โบสถ์แห่งปาร์มา, มาร์ยอกา (Cathedral of Majorca) โดยใช้เวลาหกปีในการหุ้มผนังวิหารทั้งหมดด้วยดินเผาและเซรามิกที่แสดงภาพพระปาฏิหารย์ของพระเยซูคริสต์ในแบบกึ่งนามธรรม
บาร์เซโลยังร่วมแสดงนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่มในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ หลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย CAPC ในบอร์โด ฝรั่งเศส, หอศิลป์ Palacio de Velazquez มาดริด สเปน, สถาบันศิลปะร่วมสมัย Institute of Contemporary Art บอสตัน สหรัฐอเมริกา (1986), พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Musée d’Art Contemporain de Montreal มอนทรีออล แคนาดา (1988), พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Musée d’Art Contemporain de Nimes นีมส์ ฝรั่่งเศส(1991), หอศิลป์แห่งชาติ Jeu de Paume ปารีส (1996), ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ Georges-Pompidou ปารีส (1996), หอศิลป์ Whitechapel ลอนดอน (1994), พิพิธภัณฑ์ Reina Sofia มาดริด สเปน (1999), หอศิลป์แห่งชาติ Galleria Nazionale d’Arte Moderna โรม อิตาลี (2002-2003), พิพิธภัณฑ์ Irish Museum of Modern Art ดับลิน ไอร์แลนด์ (2008) จนถึง พิพิธภัณฑ์ Musée Picasso ปารีส (2016) เป็นอาทิ
ล่าสุด มิเกล บาร์เซโล เดินทางมาทำงานศิลปะแสดงสดวาดภาพประกอบดนตรี (Live Painting Experiment with Music) ในโครงการ Sansiri Presents Miquel Barceló : Despintura Fònica (ภาพที่จางหายไป) ซึ่งเป็นการแสดงสดการวาดภาพบนผืนผ้าใบขนาดมหึมาความยาวกว่า 20 เมตร ซึ่งเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาเคยจัดแสดงมา โดยก่อนหน้านี้เขาตระเวนจัดแสดงงานตามแลนด์มาร์กสำคัญๆ ทั่วโลก และในครั้งนี้เขาร่วมกับแสนสิริ จัดแสดงการวาดภาพแบบสดๆ ต่อหน้าผู้ชมนับร้อยบนเรือขนสินค้าใจกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไทย
ที่สำคัญผืนผ้าใบที่ว่านี้ไม่ใช่ผืนผ้าใบธรรมดา หากแต่เป็นผืนผ้าใบพิเศษที่จะปรากฏสีขึ้นเมื่อสัมผัสกับน้ำที่เขาใช้วาดภาพ เมื่อน้ำแห้งระเหย สีก็จะจางหาย ทำให้เมื่อการแสดงของบาร์เซโลจบลง ภาพที่เขาวาดเอาไว้ทั้งหมดก็จะเลือนหายไป เหลือไว้แต่ความว่างเปล่า
“งานศิลปะในทุกรูปแบบมีความไม่จีรังยั่งยืน เราไม่อาจเสแสร้งแกล้งคิดไปได้ว่างานศิลปะเหล่านั้นจะอยู่ไปได้ชั่วนิรันดร์ ถึงแม้ภาพวาดบางภาพจะมีอายุเป็นศตวรรษ หรือภาพวาดคุณภาพดีๆ บางภาพอาจจะมีอายุถึงพันปี แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่แสนสั้น ถ้าเทียบกับสิ่งอื่นๆ บนโลกนี้ เราทำงานศิลปะในช่วงเวลาที่แสนสั้นในชีวิตของเรา สำหรับผม “เวลา” คือวัตถุดิบอย่างหนึ่งในการวาดภาพ
งานของผมคือการทดลอง หน้าที่ของผมคือการมีสิทธิในการล้มเหลว ผมชอบที่จะทดลองกับสิ่งใหม่ๆ สำหรับผม ศิลปินควรต้องเสี่ยง ความเสี่ยงจำเป็นต่อการทำงานศิลปะ เพราะในการทำสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไร เราต้องกล้าที่จะลองเสี่ยงต่อความผิดพลาด หรืออุบัติเหตุ เพราะอุบัติเหตุและความผิดพลาดมักจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาได้เสมอ”
ข้อมูล
https://www.wallpaper.com/art/miquel-barcel-exhibition-salamanca
https://en.wikipedia.org/wiki/Miquel_Barcel%C3%B3
https://thecvf.org/un-human-rights-council-speaks-with-one-voice-on-climate-change/
บทสัมภาษณ์ศิลปินโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Tags: Impasto, Abstract Expressionism, Art and Politic, Miquel Barceló, Room XX, Neo-Expressionism