นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ที่ศิลปะนามธรรมเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง ศิลปินทั่วโลกมากมายเริ่มโอบรับศิลปะรูปแบบใหม่อย่าง ศิลปะแสดงสด (Performance Art) (ซึ่งอันที่จริงก็เคยถูกทำมาก่อนในหมู่ศิลปินหัวก้าวหน้า หรืออาวองการ์ด (Avant-garde) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1910 มาแล้ว) ในบรรดาศิลปินจำนวนนั้น มีอยู่ผู้หนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นตัวแม่ของตัวแม่ของศิลปะประเภทนี้ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ชาวเซอร์เบียน ผู้ทำงานศิลปะอันท้าทายมากว่าสี่ทศวรรษ เธอเรียกขานตัวเองว่าเป็น “แม่ใหญ่แห่งศิลปะแสดงสด” (Grandmother of Performance Art)
อบราโมวิชบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ ให้กับศิลปะแสดงสด ด้วยการดึงผู้ชมให้เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดกับความเจ็บปวด เหนื่อยยาก เลือด บาดแผล ความตาย และการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายอย่างใกล้ชิดที่สุด
ด้วยความที่แนวคิดในการทำงานของเธอเต็มไปด้วยความท้าทายและแหวกขนบ มันจึงถูกปฏิเสธเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นจากครอบครัว สังคม หรือแม้แต่สถาบันศิลปะ เธอมักจะนำเสนอตัวตนและร่างกายของเธอผ่านบาดแผลและการทรมาน ผลงานของเธอมักจะเกี่ยวข้องกับการท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง ความเจ็บปวด ความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต ประเด็นทางเพศ และด้วยความที่เธอเกิดและเติบโตในประเทศเผด็จการ ผลงานของเธอก็มักจะตั้งคำถามกับระบอบเผด็จการด้วย
เป้าหมายในการทำงานศิลปะแสดงสดของเธอคือการเอาชนะความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ เธอใช้ศิลปะข้ามทุกขอบเขตจำกัด หลายครั้งที่เธอต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนักและเสี่ยงชีวิตในการทำการแสดงสด
“ศิลปะไม่ควรเป็นอะไรที่เกี่ยวกับแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่มันก็ไม่ควรเป็นอะไรที่เกี่ยวกับแค่ความเจ็บปวด และการเมือง เพียงอย่างเดียวด้วยเช่นกัน มันควรจะมีหลากหลายแง่มุม”
ถึงแม้เธอจะทำผลงานประติมากรรมออกมาจำนวนไม่น้อย แต่ อบราโมวิช ก็เป็นที่รู้จักจากงานศิลปะแสดงสดเสียมากกว่า เธอยังเป็นหนึ่งในศิลปินจำนวนไม่กี่คนในรุ่นของเธอที่ยังคงทำงานศิลปะแสดงสดอย่างต่อเนื่องยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน
ผลงานของเธอได้แรงบันดาลใจจากศิลปินแสดงสดในยุค 1960s อย่าง คริส เบอร์เดน, เดนนิส ออปเปนไฮม์ ที่มักจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อันตราย จนต้องเสี่ยงกับการบาดเจ็บร้ายแรง เธอมองว่าศิลปะของเธอคล้ายกับพิธีกรรมบูชายัญทางศาสนา ผลงานของเธอสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความไว้วางใจ ความอดทนอดกลั้น การชำระล้าง และการเดินทางค้นหาความหมายของชีวิต เธอมองว่าการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ เธอมักทำลายระยะห่างระหว่างศิลปินและผู้ชมด้วยการใช้ร่างกายของตัวเองเป็นสื่อทางศิลปะ
มารินา อบราโมวิช เกิดในปี 1946 ที่เมืองเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย (ประเทศเซอร์เบียในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ของจอมพล ยอซีป บรอซ (Josip Broz) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ติโต (Tito) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากแค้นลำเค็ญ ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ แต่ด้วยความที่พ่อของเธอมีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลคอมมิวนิสต์ โดยเป็นเจ้าหน้าที่อารักขาระดับสูงของติโต ส่วนแม่ของเธอเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะของรัฐ ทำให้ครอบครัวของเธอมีความเป็นอยู่ดี มีหน้ามีตา ถึงแม้ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะเลวร้าย และจบด้วยการแยกทาง แม่เธอก็เลี้ยงดูเธออย่างบังคับเข้มงวด ใช้ความรุนแรง และทุบตีเธอบ่อยครั้ง แต่ก็ยังสนับสนุนและส่งเสริมความสนใจด้านศิลปะของเธออย่างเต็มที่ เธอเติบโตท่ามกลางผลงานศิลปะของศิลปินชั้นครูมากมาย มีโอกาสได้ไปชมมหกรรมศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ หลายต่อหลายครั้ง และได้พบศิลปินหัวก้าวหน้ามากมายหลายคน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่าง แจสเปอร์ จอห์น, โรเบิร์ต ราวส์เชนเบิร์ก และ หลุยส์ เนเวลสัน ฯลฯ
ในช่วงปี 1965-1970 เธอเข้าเรียนศิลปะในสถาบัน Academy of Fine Arts ในกรุงเบลเกรด และสถาบัน Krsta Hegedusic, Academy of Fine Arts ในเมืองซาเกร็บ ประเทศโครเอเชีย ในช่วงปี 1970-1972
เธอได้แรงบันดาลใจจากการที่เธอนอนมองท้องฟ้าแล้วเห็นเครื่องบินทหารบินผ่าน และทิ้งรอยจากไอพ่นท้องฟ้า จนดูคล้ายกับลายเส้นรูปวาด ที่ดำรงอยู่สักพักหนึ่ง แล้วจางหายไปจนเหลือแต่ท้องฟ้าอันว่างเปล่า สิ่งนี้ทำให้เธอบอกตัวเองว่า เธอจะไม่กลับวาดรูปในสตูโอแบบเดิมอีก เพราะเธอค้นพบแล้วว่าเธอสามารถทำงานศิลปะจากอะไรก็ได้ แม้แต่ความว่างเปล่า เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำงานศิลปะไม่ใช่สี พู่กัน หรือผืนผ้าใบ หากแต่เป็นความคิดมากกว่า นั่นทำให้เธอมักจะหลีกเลี่ยงการทำงานตามแบบแผนประเพณี และไม่ค่อยใช้สื่อวัสดุศิลปะแบบปกติทั่วๆ ไปในการทำงานศิลปะ หลังจากเรียนจบ เธอก็รับงานสอนศิลปะในสถาบันต่างๆ ในช่วงนี้เองที่เธอเริ่มต้นทำงานศิลปะเชิงทดลอง, ศิลปะจัดวาง และพัฒนาไปสู่การใช้ร่างกายของตัวเองเป็นสื่อในการแสดงออกทางศิลปะ
ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Rhythm 0 (1973) ศิลปะแสดงสดครั้งแรกของเธอ ที่เธอกางมือบนพื้นแล้วใช้มีดแทงลงไปในช่องว่างระหว่างนิ้วอย่างรวดเร็ว โดยเธอเตรียมมีดไว้ 20 เล่ม และจะเปลี่ยนมีดเล่มใหม่ทุกครั้งที่มีดเฉือนเนื้อของเธอ โดยเธอทำการบันทึกเสียงจังหวะการแทงมีดเอาไว้ เมื่อเปลี่ยนมีดจนครบ 20 เล่ม เธอก็นำเสียงที่ว่ามาเปิดซ้ำ เพื่อเลียนแบบการแทงให้ตรงจังหวะเดิม เธอกล่าวว่า เธอต้องการทดลองว่าจะข้ามขีดจำกัดของร่างกายไปได้แต่ไหน และเธอค้นพบว่า ท้ายที่สุดมันไม่เกี่ยวกับร่างกาย หากแต่เป็นจิตใจที่ทำให้เธอก้าวพันขีดจำกัดไปได้ สำหรับเธอ การแสดงสดต่อหน้าผู้ชมนั้นส่งผลให้เธอผลักขอบเขตของการทำสิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และมันก็กลายเป็นแนวคิดอันสำคัญในการทำงานของเธอตลอดมา
ผลงานที่อื้อฉาวและส่งให้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นครั้งแรกก็คือ Rhythm 0 (1974) ผลงานศิลปะแสดงสด ที่เธอทำการทดลองอันท้าทายกับพฤติกรรมด้านลบของมนุษย์ ด้วยการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 72 ชิ้น อาทิ ดอกกุหลาบ, ขนนก, กรรไกร, มีดผ่าตัด, ปากกา, แส้ และปืนพกที่บรรจุกระสุนหนึ่งนัด และเชื้อเชิญผู้ชมให้ใช้อุปการณ์เหล่านี้ทำอะไรกับเธอก็ได้ตามใจ เป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยที่เธอไม่ต่อต้านหรือป้องกันตัว โดยเธอติดป้ายประกาศเอาไว้ว่า “ตัวฉันคือสิ่งของ” และ “ฉันจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่เกิดในระหว่างการแสดงนี้ทั้งหมด”
ในตอนแรกผู้ชมเหล่านั้นก็เริ่มต้นด้วยอะไรเบาๆ อย่างการมอบดอกไม้ให้เธอ จูบเธอเบาๆ และเอาขนนกแหย่เธอเล่น ต่อมาก็เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ บางคนเอาปากกาเขียนบนตัวเธอ บางคนตัดเสื้อผ้าเธอออกด้วยกรรไกร บางคนกรีดร่างเธอด้วยมีดแล้วดูดเลียเลือดของเธอ บางคนลวนลามเธอ หนักที่สุดคือบางคนเอาปืนจ่อหัวเธอ แต่ก็มีผู้ชมออกมาปกป้องและดูแลเธอด้วยเช่นเดียวกัน หลังจากการแสดงจบลงและเธอลุกขึ้นเดินไปหาผู้ชม เหล่าบรรดาคนที่เคยกระทำย่ำยีเธออย่างสนุกมือเหล่านั้นต่างก็วิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิงเพราะกลัวถูกเอาคืน (อ่านะ!)
ผลงานชุดนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ต้องรับผิดขอบต่อผลการกระทำของตัวเอง มนุษย์เราก็สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างง่ายดาย มันยังเป็นตัวอย่างของความเชื่อของอบราโมวิชที่ว่า การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดอ่อนล้าทางกาย เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนเราอยู่กับปัจจุบันและตระหนักถึงการดำรงอยู่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ ยิ่งไปกว่านั้น มันยังสะท้อนความสนใจเกี่ยวกับการที่ศิลปะแสดงสดสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ทั้งผู้แสดงและผู้ชม เธอต้องการให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของเธอมากกว่าจะเป็นแค่ผู้สังเกตุการณ์อยู่เฉยๆ
หรือในผลงาน Thomas Lips (1975) ที่เธอใช้มีดโกนกรีดบนหน้าท้องรอบสะดือของตัวเองเป็นรูปดาวคอมมิวนิสต์ และนอนลงบนไม้กางเขนที่ทำจากน้ำแข็งจนเกือบจะหมดสติ
ว่ากันว่า การที่เธอทำงานศิลปะแสดงสดอันสุ่มเสี่ยงและอันตรายเช่นนี้ นั้นเป็นการตอบสนองต่อการเติบโตในสภาพสังคมที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ และความสัมพันธ์กับแม่ของเธอที่ใช้อำนาจกดขี่และใช้ความรุนแรงในครอบครัว
“ผลงานของฉันที่ทำในยูโกสลาเวีย ล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับการปฏิวัติ ไม่ใช่แค่เพียงปฏิวัติต่อแม่และครอบครัว แต่ยังปฏิวัติต่อโครงสร้างของระบอบเผด็จการ และโครงสร้างของระบบในวงการศิลปะที่นี่ พลังสร้างสรรค์ทั้งหมดของฉันมาจากการเอาชนะข้อจำกัดจากสิ่งเหล่านี้”
ในช่วงปี 1975 เธอเดินทางไปที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้พบกับศิลปินชาวเยอรมัน แฟรงก์ อูเว่ ไลซีเปียน (Frank Uwe Laysiepen) หรือที่รู้จักในชื่อ อูไลย์ (Ulay) ปีถัดมาเธอก็ย้ายออกจากบ้านเป็นครั้งแรกเพื่อไปอาศัยอยู่กินกับเขา หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันในฐานะศิลปินคู่และคู่รัก พวกเขาเดินทางไปทั่วยุโรปด้วยรถแวน อาศัยอยู่กับชนพื้นเมืองชาวอะบอริจิน ในออสเตรเลีย, ในวัดของชาวธิเบต, ท่องไปทั่วทะเลทรายซาฮารา, ทะเลทรายธาร์ และทะเลทรายโกบี และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแสดงสดอันสุดแสนจะท้าทาย ที่สำรวจเส้นแบ่งระหว่างร่างกายและจิตใจ, ธรรมชาติและวัฒนธรรม, ทัศนคติเชิงรุกและรับ และความเป็นชายและหญิง
ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Imponderabilia (1977) ที่ทั้งคู่ยืนเปลือยประจันหน้าเข้าหากันตรงประตูทางเข้าแคบๆ ของหอศิลป์ และบังคับให้ผู้ชมต้องเดินแทรกระหว่างร่างเปลือยทั้งสองเพื่อเข้าไปข้างใน พวกเขาต้องเลือกว่าจะหันหน้าไปหาใคร หรือสัมผัสกับร่างเปลือยของใครเวลาแทรกตัวผ่านเข้าไป และท้ายที่สุดแล้ว ประสบการณ์ที่ว่านี้จะทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร
หรือผลงาน Breathing In/Breathing Out (1977) ที่พวกเขาประกบปากและผลัดกันสูดและปล่อยลมหายใจเข้าออกสู่ปากของกันและกันจนเกือบหายใจไม่ทัน
หรือผลงาน Relation in Time (1977) ที่พวกเขานั่งหันหลังชนกันแล้วเอาผมมัดติดกันเป็นเวลา 16 ชั่วโมง
หรือผลงาน Light/Dark (1977) ที่พวกเขาผลัดกันตบหน้ากันและกันฉาดใหญ่ไปเรื่อยๆ
หรือผลงาน Rest Energy (1980) ที่เล่นกับความเปราะบางระหว่างชีวิตและความตาย ด้วยการที่อบราโมวิชและอูไลย์ยืนประจันหน้ากัน มือของเธอรั้งคันธนู ในขณะที่มือของเขาเหนี่ยวลูกธนูบนสาย โดยที่ปลายลูกธนูห่างจากหัวใจของเธอเพียงไม่กี่นิ้ว ทั้งคู่ติดไมโครโฟนเล็กๆ ไว้ที่หน้าอกเพื่อจับเสียงเต้นของหัวใจว่ามันตอบสนองต่อสถานการณ์อันหวาดเสียวเปี่ยมอันตรายเช่นนี้อย่างไร ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในการแสดงที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและความเชื่อใจของทั้งคู่ เพราะถ้าหากเขาเผลอปล่อยลูกธนูเมื่อไหร่ มันก็จะพุ่งเข้าไปเสียบหัวใจของเธอทันที
ทั้งคู่ทำงานร่วมกันอย่างยาวนานเป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ในฐานะศิลปินคู่และคู่รัก ในปี 1988 จากความขัดแย้งทางความคิดและทัศนคติ ทั้งคู่ปิดฉากความสัมพันธ์ด้วยผลงาน The Lovers: the Great Wall Walk (1988) ที่เขาและเธอต่างเริ่มต้นเดินจากปลายกำแพงเมืองจีนคนละฝั่ง และใช้เวลาสามเดือนเดินบนระยะทางคนละ 2,500 กิโลเมตร มาพบกันตรงกลางกำแพง เพื่อกล่าวคำอำลา และแยกจากกันไปใช้ชีวิตและทำงานทางใครทางมันโดยไม่ติดต่อกันอีก (เลิกกันได้อลังการงานสร้างมากๆ)
หลังจากแยกทางกับอูไลย์, อบราโมวิชก็กลับมาสร้างผลงานในฐานะศิลปินเดี่ยวอย่างโดดเด่นมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Balkan Baroque (1997) ที่ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 47 ในปี 1997 ศิลปะแสดงสดที่ตีแผ่ประเด็นเกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้งทางการเมืองในคาบสมุทรบอลข่าน และสงครามยูโกสลาเวีย ที่ทำให้ประเทศบ้านเกิดของเธอล่มสลายลง โดยเธอทำการแสดงสดด้วยการใช้แปรงขัดถูทำความสะอาดกระดูกวัวโชกเลือดจำนวน 2,500 ท่อน ในเวลาหกวัน ท่ามกลางกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งขึ้นเรื่อยๆ โดยร้องเพลงพื้นบ้านของบ้านเกิดเธอไปด้วย เธอกล่าวว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอะไรที่สิ้นหวัง เพราะไม่มีทางเลยที่เธอจะขจัดเลือดออกจากกระดูกได้หมด (ไม่ต่างอะไรกับความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าสงครามจะหมดไปจากโลก)
ตัวงานยังมีวิดีโอแสดงภาพอบราโมวิชบรรยายถึงวิธีการกำจัดหนูของชาวบอลข่านที่เรียกว่า Balkan Wolf-Rat ที่นักล่าหนูจับหนูหลายสิบตัวขังไว้ในกรงเดียวกันโดยไม่ให้อะไรกินนอกจากน้ำ เป็นเวลาหลายอาทิตย์จนหนูที่หิวโหยกัดกินกันเอง ท้ายที่สุด หนูที่เหลือรอดอยู่ตัวสุดท้ายจะกลายเป็นหนูที่ไล่ล่าฆ่าหนูด้วยกันเอง สำหรับเธอ เรื่องราวนี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนความเหี้ยมโหดของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุคนนับแสน ในสงครามกลางเมืองในยูโกสลาเวีย ผลงานชุดนี้เป็นเหมือนการประจานความเลวร้ายของสงคราม ไม่เพียงแค่ในคาบสมุทรบอลข่าน และบ้านเกิดของเธอ หากแต่เป็นทุกๆ สงครามที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้
ที่น่าขันขื่นก็คือ แรกเริ่มที่เธอส่งผลงานชุดนี้ไปร่วมแสดงในพาวิลเลียนของประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร (หรือยูโกสลาเวียในอดีต) ใน เวนิส เบียนนาเล่ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของเซอร์เบียฯ ในเวลานั้นปฏิเสธมัน แต่ภายหลัง ผลงานชุดนี้กลับถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงในพาวิลเลียนนานาชาติแทน และได้รับรางวัลสูงสุดของงานอย่าง สิงโตทองคำ (Golden Lion) ไปครอง เป็นผลให้รัฐมนตรีคนที่ว่าต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งไปในที่สุด (ผลงานชิ้นนี้เคยถูกนำมาแสดงเป็นวิดีโอในบ้านเราด้วย)
หรือในผลงาน Nude with Skeleton (2002) ที่เธอแสดงสดด้วยการนอนและวางโครงกระดูกบนร่างกายเปลือยเปล่า และทำให้มันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวราวกับมีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการกระเพื่อมไหวจากการหายใจของเธอ
หรือผลงาน The House with the Ocean View (2002) ที่เธอใช้เวลา 12 วัน อาศัยอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเปิดโล่งสามห้องที่สร้างขึ้นสูงจากพื้น 6 ฟุต ในหอศิลป์ Sean Kelly ในนิวยอร์ก โดยไม่พูดจา และไม่กินอะไรนอกจากน้ำเปล่า เปลี่ยนสีชุดในแต่ละวัน, นอนหลับ, ขับถ่าย, อาบน้ำ ในห้องทั้งสาม ต่อหน้าสายตาของผู้ชมข้างล่าง โดยไม่สามารถลงมาจากห้องได้เพราะบันไดที่ทอดจากห้องลงมาสู่พื้นนั้นทำด้วยมีดแล่เนื้อคมกริบ!
อบราโมวิชยกระดับกิจกรรมธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นพิธีกรรมด้วยการลดทอนและกำจัดรายละเอียดอันรกรุงรังจนเหลือแต่ความเรียบง่าย แต่ก็เปี่ยมอันตราย เธอใช้ผลงานชิ้นนี้เสมือนหนึ่งการชำระล้างจิตใจ ไม่เพียงแค่ของเธอเอง หากแต่รวมถึงผู้ชมที่เข้ามาในพื้นที่แสดงงานด้วย ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล New York Dance and Performance Award (Bessie) ในปี 2003
หรือผลงาน Balkan Erotic Epic (2005) วิดีโอจัดวางที่เธอได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมพื้นเมืองของคาบสมุทรบอลข่าน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมทางการเกษตรกับเรื่องเพศ ที่มนุษย์พยายามทำตัวเองให้เสมอกับพระผู้เป็นเจ้าด้วยการร่วมเพศกับธรรมชาติ ด้วยความเชื่อที่ว่า อวัยวะเพศชายและหญิงมีความศักดิ์สิทธิ์และช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก ด้วยการนำเสนอภาพเหล่าบรรดาผู้ชายกำลังสำเร็จความใคร่กลางสายฝน หรือเปลือยกายโก่งบั้นท้ายกระเด้าผืนดิน และเหล่าบรรดาผู้หญิงที่แหวกเสื้อเปิดเต้านมรับแสงแดด หรือถกกระโปรงเปิดโยนีรับสายฝนกันอย่างครื้นเครง
อนึ่ง อบราโมวิช และ อูไลย์ กลับมาเผชิญหน้าในการแสดงสดกันอีกครั้ง ในผลงาน The Artist is Present (2010) ของเธอ ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) โดยเขามาปรากฏตัวเป็นหนึ่งในผู้ชมนับพัน ที่มานั่งจ้องตากับเธออย่างเงียบๆ เป็นเวลา 5 นาที อย่างซาบซึ้ง จนกลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก แต่หลังจากนั้นเขาก็ฟ้องร้องเธอในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานศิลปะที่ทั้งคู่ทำสัญญาไว้ร่วมกัน เรียกว่าหายซึ้งเป็นปลิดทิ้งกันเลยทีเดียว!
“ร่างกายคือจักรวาลในรูปแบบหนึ่ง การทำความเข้าใจมันคือการทำความเข้าใจจักรวาล สำหรับฉัน ศิลปะแสดงสดเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจจักรวาลที่ว่า ฉันต้องการแสดงให้ผู้ชมเห็นว่า ถ้าฉันสามารถผ่านความเจ็บปวดนี้ไปได้ คุณเองก็สามารถทำได้เช่นกัน นั่นคือสารที่ฉันต้องการจะสื่อ”
“มนุษย์เรามีความกลัวในสองสิ่ง คือ ความตาย และ ความเจ็บปวด ถ้าคุณปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความกลัวทั้งสองประการนี้ได้ เมื่อนั้น คุณถึงจะสามารถดื่มด่ำสำราญกับชีวิต” สิ่งนี้เปรียบเสมือนอุดมการณ์หลักในการทำงานของเธอตลอดมา
เธอยังก่อตั้งสถาบัน มารีนา อบราโมวิช (Marina Ambramović Institute (MAI)) ที่สร้างศิลปินรุ่นใหม่หลากหลายแขนงให้เติบโตทางความคิดอย่างไร้ขีดจำกัด เพราะเธอเชื่อว่าศิลปะทุกแขนงสามารถหลอมรวมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ
ล่าสุด อบราโมวิชสร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการประกาศว่าจะทำงานศิลปะแสดงสดใน Royal Academy of Arts กรุงลอนดอน ในปี 2020 ที่จะถึงนี้ ด้วยการชาร์จกระแสไฟฟ้าแรงสูง 1 ล้านโวลต์ เข้าร่างกาย! จนเธอสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าออกจากนิ้วมือไปดับเทียนที่อยู่ห่างไกลออกไปเป็นเมตรได้ ซึ่งแน่นอนว่าการแสดงนี้อยู่ภายใต้การควบคุมรักษาความปลอดภัยโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าหากมีอะไรผิดพลาด มันก็มีอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน! ผู้ชมอย่างเราๆ ก็ได้แต่รอคอยด้วยใจระทึก ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร
แต่ชาวไทยที่อยากชมผลงานของเธอก็ไม่ต้องรอกันนานขนาดนั้น เพราะล่าสุด อบราโมวิช นั้นเป็นศิลปินที่มาร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ไม่ต้องถ่อไปดูไกลถึงเมืองนอกเมืองนา โดยเธอจะแสดงผลงานศิลปะจัดวางเชิงตอบโต้ Standing Structures for Human Use (2017) ในโครงการ One Bangkok หัวมุมถนนพระรามที่ 4 และถนนวิทยุ, ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2018 – 3 กุมภาพันธ์ 2019 และผลงาน The Method (2018) ซึ่งเป็นกิจกรรมทางศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกันได้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่ว่นที่ 8 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2018 นี้
ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านั้น ศิลปินตัวจริงเสียงจริงอย่าง มารีนา อบราโมวิช เอง ก็จะเดินทางมาบรรยายและทำงานศิลปะแสดงสดในบ้านเรา ที่สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์ เธียเตอร์ สยามพารากอน ในวันที่ 24 ตุลาคม นี้ด้วย ใครสนใจก็เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bkkartbiennale.com/ กันได้ตามอัธยาศัย
ส่วนถ้าใครสงสัยว่างานศิลปะของเธอจะยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความท้าทาย หรือตั้งคำถามกับสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการที่ขาดไร้เสรีภาพในโมงยามนี้ หรือแม้แต่จะสร้างความสุขสะพรั่งให้กับคนไทยเหมือนกับสโลแกนของเทศกาลได้หรือไม่ อันนี้ก็คงต้องให้ไปหาคำตอบกันเอาเองแล้วล่ะครับ ท่านผู้อ่าน!
ข้อมูล
หนังสือ Art & Agenda: Political Art and Activism โดย Robert Klanten
https://www.theartstory.org/artist-abramovic-marina.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Marina_Abramovi%C4%87
https://docsandfilmfestivals.wordpress.com/2012/07/22/the-power-of-one%C2%B4s-presence/
Tags: Body Art, performance art, Marina Abramović, Ulay, Art and