สตาร์ตอัปด้านเฮลแคร์ในไทยมักจะมุ่งเน้นไปที่โรงพยาบาล แพทย์ และบริษัทยา แต่ในมุมของเภสัชกร ร้านขายยา กลับยังไม่ค่อยมีสตาร์ตอัปที่ให้ความสำคัญในด้านนี้อย่างจริงจัง Arincare เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัปที่มองในมุมนี้ ด้วยการทำแพลตฟอร์มสำหรับร้านยาและเภสัชกร เพื่อให้ร้านยาสามารถบริหารจัดการร้านยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารคลังยา จัดเก็บยา เป็นต้น
Arincare มีความมุ่งมั่นที่จะทรานฟอร์ม ไม่ใช่ดิสรัปวงการเฮลแคร์ นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้ร้านยาแล้ว ยังเป็นมาร์เก็ตเพลสให้บริษัทยาหรือร้านค้าส่ง กับร้านยามาเจอกัน สามารถสั่งซื้อยาได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวแทนขายของบริษัทยา สะดวกรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุน ทำให้ประชาชนสามารถซื้อยาได้ในราคาที่ถูกลง
เราคุยกับ ธีระ กนกกาญจนรัตน์ กรรมการผู้จัดการของ Arincare ถึงวิธีคิด จุดเริ่มต้น และก้าวต่อไปในอนาคตของ Arincare
เจาะร้านยา สร้างเครือข่ายเภสัชกร
ธีระ กนกกาญจนรัตน์ เป็นซอฟต์แวร์เอ็นจิเนียร์ ที่เคยทำงานซอฟต์แวร์ให้โรงพยาบาล จึงมองเห็นช่องว่างและโอกาสให้ในทำสตาร์ตอัปด้านเฮลแคร์ด้วยตัวเอง โดยมองว่ามักมีแต่สตาร์ตอัปที่ทำด้านโรงพยาบาลและแพทย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังไม่ค่อยมีที่ทำงานกับร้านยาและเภสัชกร
“ตอนเริ่มแรกๆ เราดูว่าเมืองไทย ทางเลือกของคนไข้คือโรงพยาบาลรัฐกับเอกชน แต่ปัญหาโรงพยาบาลรัฐคือความแออัด คนเยอะ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่มีใครอยากไป ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายแพงมาก จากข้อมูลที่เรามี ค่ายาของโรงพยาบาลเอกชนแพงมากกว่าปกติ 300% ซึ่งในมุมของคนไข้ โดยมากเราก็จะไปร้านยาแถวบ้านก่อน ถ้าไม่หาย ถึงค่อยไปโรงพยาบาล ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยไปร้านยาอยู่แล้ว”
คราวนี้ถ้าดูสถิติ ปัจจุบันมีร้านยาสองหมื่นกว่าร้านในเมืองไทย มากกว่า 7-11 ถึงสองเท่า แล้วในเมืองท่องเที่ยวสำคัญเช่น พัทยา ภูเก็ต คือหนึ่ง 7-11 ห้าร้านยา ให้บริการ 180 ล้านเคสต่อปี มันเป็นกลุ่มใหญ่มากๆ แต่ไม่ค่อยมีการสนับสนุนจากฝ่ายใด
“ร้านยาในกรุงเทพฯ จะมีหน้าตาสวยๆ ดูทันสมัย แต่ต่างจังหวัดจะธรรมดา เหมือนคลินิกเก่าๆ เจ้าของก็เป็นทั้งเภสัชกรและเอสเอ็มอีด้วย จึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นจุดที่ว่าถ้าเราทำบางอย่างให้ร้านยาทำงานได้ดีขึ้นจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าจับร้านยาที่มีมากกว่าสองหมื่นกว่าร้านในเมืองไทยรวมตัวเป็นเครือข่าย มันจะเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของวงการเฮลแคร์ไทย นอกจากโรงพยาบาลและหมอ”
ทรานฟอร์มไม่ใช่ดิสรัป
Arincare จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยร้านยาในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเก็บประวัติคนไข้ การบริหารคลังยา ข้อมูลยาต่างๆ สามารถรู้เลยว่ายาตัวไหนขายดีไม่ดี แบบเรียลไทม์ด้วย จากเดิมที่ต้องทำแบบแมนนวลมาเป็นดิจิทัลที่ทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเปิดให้ร้านยาใช้ฟรี ซึ่งหลังจากเริ่มทำมาได้สามปี มีร้านยาที่ใช้แพลตฟอร์มของ Arincare มากกว่า 1,500 ร้าน และเภสัชกร 3,000 กว่าคน
“หลังจากสามปี เรามีร้านยามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป้าหมายของเราคือการเกิดแฮลแคร์ที่ดี และคนจับต้องได้ อย่างที่บอกว่า ยาดีราคาแพงอยู่ในเอกชน ส่วนรัฐบาลรอนานกว่าจะได้ยา มาเช้ากลับเย็นก็มี เราต้องหาตลาดตรงกลาง เราจึงมองเห็นโอกาสทำให้ให้ยาถูกลง จึงทำเป็นมาร์เก็ตเพลสขึ้นมา นั่นคือเฟสสองของเราที่เริ่มทำแล้ว โดยให้ร้านยาสามารถสั่งยาจากผู้ผลิตเลย ไม่ต้องผ่านผู้แทนยา
“ผมมองว่าธุรกิจยา ในเมื่อตอนนี้โลกเรามีอีคอมเมิร์ซ ทำให้ยังต้องให้เซลส์ไปนั่งเจอหมออยู่อีก เราเคยสำรวจต้นทุนตรงนี้อยู่ที่ 15% ของรายได้บริษัทยา เราทำได้ดีกว่านั้น ต้องจัดเส้นทางใหม่ทั้งเชน ลดต้นทุนโดยการสั่งผ่านระบบเราเลย ถ้าใช้ของเราไม่ต้องมีเซลส์ ด้วยจุดมุ่งหมายคือให้ทำงานให้ง่ายขึ้น และลดต้นทุนของยามากขึ้น
“มีคนถามเหมือนกันว่าแล้วเซลส์ยาจะตกงานไหม ในมุมมองผม สุดท้ายมันเป็นเรื่องของสุขภาพคน ชีวิตคน แล้วเฮลแคร์เป็นวงการที่มีกฎข้อบังคับการกำกับดูแลเยอะมาก เลยใช้คำว่าทรานฟอร์มที่ดีกว่า ไม่ใช่ว่าทำมาร์เก็ตเพลสขึ้นมาแล้ว บริษัทยาจะเอาด้วยทั้งหมด เพราะมันมีหลายปัจจัยมาก เราต้องคุยกับร้านยา แล้วค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องไปด้วยกันทั้งหมด”
ธีระมองว่าสุดท้ายแล้วทำอย่างไรให้ยาราคาถูกลงให้ได้ ถ้าราคาถูกลง ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ และจะทำให้ร้านยาต้องปรับตัว เกิดการแข่งขันในด้านราคาที่ลดลงมา”
บริษัทด้านเฮลแคร์ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย
ธีระบอกว่าตอนนี้ Arincare เป็นสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีทำงานด้านเฮลแคร์ แต่วันหนึ่งในอนาคตจะทำให้เป็นบริษัทด้านเฮลแคร์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
“ในแง่ของ Arincare คือหนึ่งเราทำเรื่องร้านขายยา และใช้มาร์เก็ตเพลสดึงบริษัทยาเข้ามาร่วม โดยเชื่อมคนไข้เข้ามาด้วย เป็นการทำโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขไทยที่นอกเหนือจากโรงพยาบาล ผมเชื่อว่าอีกสามปีข้างหน้าเราจะเป็นบริษัทเฮลแคร์ ไท่ใช่เทคสตาร์ตอัปอีกต่อไป”
“เพราะ Arincare ในเฟสแรกเป็นเรื่องเทคล้วนๆ ส่วนเฟสลองเป็นมาร์เก็ตเพลส ซัพพลายเชนทั้งหมดที่จะไปถึงคนไข้ สุดท้ายแล้วเขาจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นงานบริการ และประสบการณ์ที่ดี เมื่อได้ใช้ Arincare คือ คุณอาจจะไปหาหมอที่โรงพยาบาล ไม่ต้องรอรับยา มาเลือกรับยาจากร้านยาใกล้บ้านได้เลย”
Tags: Arincare