ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์เป็นลูกหนี้ที่ถูก ‘ทวงถาม’ จากหนี้ค้างชำระ

แค่พ้นเส้นตายไปสองสามวัน โทรศัพท์มือถือหรือที่โทรศัพท์โต๊ะทำงานก็อาจจะดังพร้อมเสียงใสๆ ว่า “คุณลูกค้าลืมผ่อนชำระหรือเปล่าคะ ถ้าเป็นไปได้ รบกวนชำระภายในวันศุกร์นี้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ” บางคนอาจขัดสนล่วงเลยจนกลายเป็นหนี้เสีย จากเสียงเรียกเข้าเริ่มกลายเป็นจดหมาย และสุดท้ายอาจเป็นหมายศาลเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชดใช้ อาจเป็นการยึดรถยึดบ้านหากเป็นลูกหนี้บุคคล หรือถ้าเป็นลูกหนี้นิติบุคคล ก็ต้องเข้าสู่กระบวนปรับโครงสร้างหนี้ หรือล้มละลายแล้วแต่กรณี

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกหนี้คือประเทศ ?

ในฐานะที่ประเทศมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง เจ้าหนี้เหลือทางเลือกไม่มาก ไม่ว่าจ้างทหารไปรุกรานเพื่อชิงสินทรัพย์หรือยึดอำนาจ (ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้) ก็ต้องตั้งโต๊ะนั่งเจรจาเพื่อหาทาง ‘ประนอมหนี้’

ช่องทางระดมเงินทุนจากต่างชาติที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหลากประเทศคือ ‘พันธบัตรรัฐบาล’ ซึ่งเป็นการหาเงินทุนมาใช้ดำเนินนโยบายโดยมีเครดิตของประเทศคอยค้ำประกัน การระดมทุนดังกล่าวดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติไม่น้อย เพราะ (มักจะ) มีความเสี่ยงต่ำ และรัฐบาลคาดหวังว่าเมื่อนำเงินดังกล่าวมาลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ เช่น ถนน ทางรถไฟ เสาไฟฟ้า ฯลฯ ก็จะช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เก็บภาษีได้มากพอที่จะจ่ายคืนหนี้ในอนาคตนั่นเอง

ประวัติศาสตร์ประเทศเบี้ยวหนี้สามารถสืบย้อนกลับไปร่วม 400 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่เมือง 10 เมืองในกรีกผิดนัดชำระหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกของประเทศสเปนเมื่อ ค.ศ. 1557 ที่หลังจากนั้นก็มีการผิดนัดชำระหนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึง ค.ศ. 1939 รวม 15 ครั้ง ประเทศเม็กซิโกก็เคยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อ ค.ศ. 1994 หลังเผชิญวิกฤติค่าเงินเปโซ และยังมีอีกหลายสิบประเทศที่ต่างเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากการผิดนัดชำระหนี้โดยมีหลากหลายเหตุผลปนกันไป

ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากจะหยิบมหากาพย์หนี้เน่าของรัฐบาลอาร์เจนตินามาเล่าสู่กันฟัง เพราะนอกจากจะเป็นสีสันบนเวทีโลกแล้ว ยังมีอีกตัวละครสำคัญคือเหล่านักการเงินเขี้ยวลากดินที่บีบกล่องดวงใจ บังคับให้อาร์เจนตินาซึ่งจงใจจะเบี้ยวหนี้ยอมชดใช้ในที่สุด พร้อมกับบทสรุปที่องค์กรโลกบาลอยากจะเข้ามาหารือเพื่อทำสัญญามาตรฐานการระดมเงินทุนของแต่ละประเทศในตลาดโลก

อาร์เจนตินา ลูกหนี้ที่กล้ายืนกรานว่า “ไม่จ่าย”

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักลูกหนี้กิตติมศักดิ์ประเทศอาร์เจนตินากันนะครับ หากเอาประวัติไปค้นในเครดิตบูโร อาร์เจนตินาอาจไม่ใช่ลูกหนี้ชั้นดีเท่าไหร่ เพราะพันธบัตรชุดแรกที่ออกเมื่อ ค.ศ. 1824 ที่ตั้งใจว่าจะมีอายุ 46 ปี กลับต้องมาปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ปีที่ 4 เสียอย่างนั้น ตามมาด้วยการผิดนัดชำระหนี้อีกหกครั้ง ก่อนจะมาถึงวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งขณะนั้น อาร์เจนตินามีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 132,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 7 ของเงินกู้ทั้งหมดของประเทศกำลังพัฒนา ส่วนเจ้าหนี้ก็มีมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นสารพัดกองทุนรวม บริษัทประกัน รวมถึงเงินกองทุนพัฒนา (Endowment Fund) ของเหล่าองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

เศรษฐกิจอาร์เจนตินาตกที่นั่งลำบากมาตั้งแต่ ค.ศ.1998 ต่อเนื่องราว 4 ปี รัฐบาลอาร์เจนตินาต้องเผชิญกับการจ่ายดอกเบี้ยก้อนโต ประเทศตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง มีเดือนหนึ่งที่อาร์เจนตินาเปลี่ยนประธานาธิบดีถึงห้าคน โดยหนึ่งในนั้นคือ อโดลโฟ โรดิเกรซ ซา (Adolfo Rodríguez Saá) ที่ประกาศกลางรัฐสภาว่า “เรื่องที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นที่นี่ คือการให้ความสำคัญกับการจ่ายหนี้ต่างประเทศเป็นอันดับแรก ขณะที่รัฐมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการดูแลประชาชนในประเทศ”

แปลไทยเป็นไทยว่า “ขอโทษทีนะเจ้าหนี้ เรา ประเทศอาร์เจนตินา ขอไม่จ่ายหนี้นะจ๊ะ”

หลังจากระฆังยกแรกดังจากการผิดนัดชำระหนี้ ที่เหลือก็เป็นสงครามน้ำลายระหว่างลูกหนี้ที่ยืนกระต่ายขาเดียวว่า “ไม่จ่ายโว้ย” และเจ้าหนี้ที่บอกว่า “เอ็งต้องจ่าย ไม่งั้นฉันจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอ็ง” ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสที่ประเทศจะกู้ยืมเงินต่อในอนาคต

หลังจากถกกันพอหอมปากหอมคอ ก็ถึงเวลานั่งคุยแบบอารยชน เพราะสุดท้าย เจ้าหนี้ก็ไม่อยากกลับบ้านมือเปล่า อย่างน้อยมาปรับโครงสร้าง โดยอาจจะยืดเวลาการใช้หนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย หรือลดมูลค่าหนี้ก็ค่อยว่ากัน แต่อย่าถึงขั้นเลิกราแบบไม่ไยดีต่อกันเลย

วิกฤตหนี้เสียในประวัติศาสตร์ควรจะจบลงที่ขั้นนี้ แต่อาร์เจนตินามาแปลก คือปฏิเสธที่จะนั่งโต๊ะเจรจา และยังยืนกรานว่า “ไม่จ่ายโว้ย” และไม่กลัวที่ประเทศจะเสียเครดิต

เอาล่ะสิครับ เจอแบบนี้เจ้าหนี้ก็ไปไม่เป็น เพราะอย่างที่บอกข้างต้นว่าเจ้าหนี้พันธบัตรรัฐบาลไม่มีโอกาสยึดสินทรัพย์ใดๆ จากลูกหนี้ จะไปฟ้องศาลไหนก็ไม่มีใครรับ เพราะไม่มีกลไกใดมาช่วยแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในลักษณะดังกล่าว สุดท้ายอาร์เจนตินาก็หยุดจ่ายหนี้ไปเฉยๆ และเศรษฐกิจก็ดีขึ้นทันตาเห็น

ไม่จ่ายก็ยึด! : ไม้ตายของเจ้าหนี้

หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ใน ค.ศ. 2005 อาร์เจนตินาก็ยื่นข้อเสนอให้เหล่าเจ้าหนี้ว่าหนี้ทั้งหมดนั้นจะจ่ายคืนให้ แต่จ่ายคืนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นนะจ๊ะ จะเอาก็เอา ไม่เอาก็ไม่เป็นไร

หลังจากที่ได้ยินข้อเสนอ เหล่าเจ้าหนี้ที่เฝ้ารอมานานก็ยอมรับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้รวมทั้งหมด 76 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเจ้าหนี้ที่เหลือก็ยังเฝ้ารอจนกระทั่งได้ข้อเสนออีกครั้งใน ค.ศ. 2010 หลังจากปีดังกล่าว พันธบัตรรับฐบาลอาร์เจนตินาราว 93 เปอร์เซ็นต์ ก็ถูกปรับโครงสร้างเป็นหนี้ก้อนใหม่

ในขณะที่เจ้าหนี้หัวแข็งอีก 7 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ยอมแพ้ ซึ่งเจ้าหนี้เหล่านั้นคือสารพัดเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) แหล่งรวมตัวของนักการเงินเขี้ยวลากดินที่ซื้อหนี้อาร์เจนตินามาในราคาถูกแสนถูกช่วงที่เกิดวิกฤต

ชาวอาร์เจนตินาตั้งชื่อกองทุนเหล่านี้ว่า ‘Fondos Buitures’ หรือกองทุนอีแร้ง

เหล่านักการเงินเฝ้ารอเศรษฐกิจอาร์เจนตินาฟื้นตัวอย่างใจเย็น และเมื่อเห็นสัญญาณบวก ก็เข้าไปทวงถามให้จ่ายหนี้มาเสียดีๆ ทั้งต้น ทั้งดอก แน่นอนครับว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาย่อมปฏิเสธ แต่พวกเขายังมีกลยุทธ์อื่น เมื่อยึดสินทรัพย์ในประเทศไม่ได้ ก็ดักเอาของสำคัญที่นอกประเทศนี่แหละ

ของสำคัญนั้นคือเรือรบ Libertad ซึ่งเปรียบเสมือนกล่องดวงใจของชาวอาร์เจนตินา โดยกองทุนอีแร้งยึดไว้ไม่ให้ออกจากท่าเรือประเทศกานา เป็นตัวประกันต่อรองให้ชดใช้หนี้ การกระทำเช่นนี้คือการหยามศักดิ์ศรีกันซึ่งหน้า แต่ดูเหมือนเงินจะสำคัญกว่าศักดิ์ศรี เพราะอาร์เจนตินายังคงไม่ยอมควักกระเป๋าจ่าย จนองค์การสหประชาชาติต้องมาคลายความตึงเครียดโดยการแจ้งให้เหล่าเจ้าหนี้เขี้ยวลากดินปล่อยเรือคืนอาร์เจนตินา

เรือรบ Libertad แห่งกองทัพเรืออาร์เจนตินา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ที่เร็วอันดับต้นๆ

คำตัดสินของศาลที่สะเทือนวงการเจ้าหนี้

แต่ความพ่ายแพ้แค่นี้หรือที่จะทำให้เหล่ากองทุนอีแร้งยอมแพ้ หลังจากไปทบทวนกลยุทธ์ใหม่ พวกเขาก็ยื่นฟ้องศาลรัฐนิวยอร์กให้อาร์เจนตินาจ่ายหนี้ เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าวออกภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา และชัยชนะก็ตกเป็นของเหล่านายทุน เพราะศาลสั่งให้อาร์เจนตินาต้องชดใช้หนี้เต็มจำนวน

นอกจากศาลนิวยอร์กจะระบุให้อาร์เจนตินาต้องจ่ายหนี้คืนแล้ว ยังห้ามอาร์เจนตินาจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นจนกว่าจะจ่ายคืนเงินให้กับเหล่ากองทุนอีแร้ง ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่ต้องการจะจ่ายให้เจ้าหนี้ 93 เปอร์เซ็นต์ซึ่งตัดใจยอมรับเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้อาร์เจนตินา เดินทางไปไม่ถึงมือ

คำตัดสินดังกล่าวกระเทือนระบบการเงินโลก เพราะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เหล่าเจ้าหนี้ ‘เลือก’ ที่จะไม่ยอมรับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างของเหล่าประเทศที่ล้มละลาย กรณีหนี้เสียของอาร์เจนตินา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงการที่เจ้าหนี้จำนวนน้อยแต่ดื้อด้านไม่ยอมรับเงื่อนไข กลับได้รับสิทธิเหนือกว่าและผลตอบแทนที่ดีกว่าเจ้าหนี้ที่ยอมประนีประนอม

สุดท้าย อาร์เจนตินาก็ต้องยอมกัดฟันจ่ายหนี้ให้กับเจ้านี้หัวแข็ง ทำให้กองทุนอีแร้งอย่าง NML Capital ฟันกำไรทันที 1,180 เปอร์เซ็นต์หลังจากเฝ้าต่อสู้ร่วม 10 ปีเศษ

ปัญหาวิกฤตลูกหนี้ประเทศผิดนัดชำระหนี้ กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงหลายต่อหลายครั้งในเวทีโลก เช่น หลักการ 9 ข้อในการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างประเทศของสหประชาชาติซึ่งถูกตีตกโดยสหรัฐอเมริกา หรือความพยายามก่อตั้งศาลล้มละลายระหว่างประเทศ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ที่ไปไม่รอดเช่นกัน แต่บทเรียนสำคัญจากรณีอาร์เจนตินา คือการเขียนเงื่อนไขในสัญญาเพื่อปกป้องเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ที่ยอมรับเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ส่วนน้อยที่ดื้อด้านมาคว้าชิ้นปลามัน

เมื่อปีกลาย อาร์เจนตินาได้สะสางบัญชีหนี้สินตัวเองจนเสร็จสิ้น และออกเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลอาร์เจนตินารวมมูลค่า 2,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ อัตราดอกเบี้ย 8 เปอร์เซ็นต์ โดยมีอายุยาวนานถึง 100 ปี ผลตอบแทนดังกล่าวนับว่าสูงลิ่วและดึงดูดเหล่านักลงทุนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี แต่ผ่านไปไม่ทันถึงปี เมาริซิโอ มาครี (Mauricio Macri) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอาร์เจนตินาก็ยื่นขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อแก้วิกฤตค่าเงินตกต่ำ

ส่วนหนี้ก้อนนี้ อาร์เจนตินาจะยอมจ่ายหรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามลุ้นกันต่อไปครับ!

สำหรับใครที่สนใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ ก็อย่าคิดว่าไม่มีความเสี่ยงนะครับ เพราะไม่ว่าประเทศไหนก็มีโอกาส ‘เบี้ยวหนี้’ ได้หากเศรษฐกิจไม่เป็นใจ แถมกลไกในการทวงถามหนี้ในปัจจุบันก็ยังไม่เข้มแข็งเข้มข้น เอาเป็นว่าลูกหนี้สามารถโบกมือบายได้โดยที่เจ้าหนี้ได้แต่ขู่ฟ่อๆ แต่ความจริงแล้วทำอะไรไม่ได้มากนัก

ใช่ว่าทุกประเทศจะหัวแข็งเหมือนอาร์เจนตินานะครับ แต่ควรจำไว้เสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ผลตอบแทนดี ก็ย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , , , ,