ในงาน Techsauce Global Summit 2019 ที่จัดโดย Techsauce Media และ Hubba Thailand ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ อาร์ชวัส เจริญศิลป์ คือ 1 ในจำนวน 400 สปีกเกอร์ของงาน ที่จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมองค์กร หรือ Corporate Innovation สำหรับองค์กรธุรกิจและสตาร์ตอัป มาถ่ายทอดให้ผู้เข้าชมงานได้ฟังบนเวที นอกเหนือไปกว่านั้น เขาคือคีย์แมนคนสำคัญของการจัดงาน Techsauce ในปีนี้ หลังจากที่ได้ก้าวเข้ามาสู่วงการสตาร์ตอัปเต็มตัว เพราะความอยากรู้อยากเห็นและความสงสัยว่าโลกที่เขายืนอยู่ จะเดินหน้าไปยังทิศทางไหนในอนาคต

“ผมร่วมงานกับฮับบามาได้ได้ครบหนึ่งปีเต็ม มันเป็นการตัดสินใจที่สำคัญแต่ก็ไม่ได้ยาก ความเป็นคนช่างสงสัยทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง Public Affairs, Communications, and Sustainability Director ของ โคคา-โคลา ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเริ่มงานกับฮับบาซึ่งเป็นสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง มันเป็นการตัดสินใจที่ไม่ใช่แค่เรื่องงานหรือเรื่อง career choice แต่เป็นเรื่อง lifestyle choice การได้เรียนรู้จากน้องๆ สตาร์ตอัป เรื่องวิธีคิด ทำ และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงเน็ตเวิร์กที่เราได้เข้าไปอยู่นั้นมันมีค่ามหาศาล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน บริษัท ฮับบา จำกัด สำทับอย่างมั่นใจต่อการตัดสินใจวางตำแหน่งผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคล่า เซ้าท์อีสเอเชีย เซอร์วิส จำกัด เพื่อหันเหตัวเองเข้าสู่วงการสตาร์ตอัปที่กำลังเติบโต

“ปีที่แล้วงาน Techsauce Global Summit 2018 มีคนเข้ามาร่วมงาน 12,000 คน เราเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่าง เราได้เห็นการพาครอบครัวมา พาเด็กๆ มาดูงาน เราได้เห็นว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีมันไม่ใช่เรื่องของ tech geek อีกต่อไป แต่เทคโนโลยีอยู่ในชีวิตเราทุกคน งาน Techsauce ปีนี้เราสร้างให้เป็นงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับโปรแกรมเมอร์หรือสตาร์ตอัปเพียงอย่างเดียว ปีนี้เราตั้งเป้าไว้ว่าจะมีคนเข้าชมงาน 20,000 คน และมันจะเป็นงาน Tech Conference ที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในเอเชีย”

ก่อนจะถึงวันจริง เราชวนอาร์ชวัสมาพูดคุยถึงไอเดียหลักของงาน และคุยล่วงไปถึง Startup Ecosystem ในเมืองไทย และการนำโครงการ Corporate Innovative มาสร้างสะพานให้กับสตาร์ตอัปและบริษัท ให้สามารถร่วมงานและเติบโตไปด้วยกันโดยการพึ่งพาซึ่งกันและกัน

ช่วยเล่านิดหนึ่งว่าสปีกเกอร์ใน Tech Conference ครั้งนื้มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

เนื่องจากหัวข้อที่จัดในงานนี้เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีและมีความหลากหลายมาก เราจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเชิญสปีกเกอร์มาจากทั่วโลกจำนวนหลักร้อยคน รวมทั้งจากประเทศไทยด้วย แต่ละคนก็จะมีความชำนาญและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยเนื้อหานั้นจะครอบคลุมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต การบริโภค และเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น Smart City, Health Tech, Food and Beverage Tech, AI Machine Learning และอื่นๆ

คิดว่าทำไมงานนี้จึงจำเป็นสำหรับเมืองไทย

เนื่องจากผมไม่ใช่คนในวงการเทคโนโลยีตั้งแต่แรก ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ ริเริ่มธุรกิจ ผมมีอาชีพรับจ้างซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีน้อยมาก ในขณะที่เทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วมาก  และเป็นการเปลี่ยนที่มีผลกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้เราจะลำบากในอนาคต เหตุผลที่ต้องจัดงานนี้สำหรับผมก็คือ คนไทยหรือคนที่เข้ามาในงานต้องทราบว่าโลกกำลังจะไปทิศทางไหน และการจะไปทางนี้มันมีเทคโนโลยีอะไรและขับเคลื่อนโดยใคร เมื่อเราเริ่มปะติดปะต่อภาพในอนาคตให้กับตัวเองได้ เราก็จะเริ่มรู้ว่าเราจะเอายังไงกับชีวิตเรา โดยไม่ต้องกลัวเรื่อง disruption เรื่องเครื่องจักร ปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งงานเราต่อไป เอาพลังงานไปใช้กับการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในการสร้างได้เร็วและขยายตัวได้เร็วกว่าและดีกว่า มองความเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้เป็นโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และทางความคิด

คนที่ถูก disruption จากโลกเก่า หากคิดจะทำสตาร์ตอัป เขาต้องมาเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดเลยไหม

ไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดครับ แต่ต้องเริ่มศึกษาทำความเข้าใจรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไป freemium คืออะไร subscription ทำอย่างไร circular economy คืออะไร ผู้เล่นหรือผู้ประกอบการคนอื่นคือใคร เป็นคู่แข่งหรือพาร์ตเนอร์ หรือเป็นทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน จะทำยังไงให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ เทคโนโลยีปัจจุบันมันไม่เหมือนอดีตที่เอดิสันผลิตหลอดไฟมาแล้วอีกห้าสิบปีต่อมาจึงมีการผลิตโทรทัศน์ แบบนั้นมันมีช่วงเวลาให้สังคมและธุรกิจปรับตัว แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแทบจะพร้อมๆ กัน นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองก็ล้วนมีผลต่อทิศทางของธุรกิจทั้งสิ้น ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดคือเริ่มเร็วเรียนรู้เร็วแล้วไปต่อ

หลายคนยังสับสนกับคำว่า ‘สตาร์ตอัป’ ช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมว่าสตาร์ตอัปคืออะไร และใครคือสตาร์ตอัป

‘สตาร์ตอัป’ มีคำนิยามค่อนข้างหลากหลาย ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าสตาร์ตอัปคือผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ใช้เทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างธุรกิจ โดยอาจจะเริ่มธุรกิจจากการตั้งคำถามธรรมดาๆ ว่าจะแก้ปัญหาอะไร ให้ใคร และจะสร้างกำไรและเติบโตอย่างรวดเร็วได้อย่างไร สตาร์ตอัปส่วนใหญ่มีแพสชันในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง อยากสร้างโซลูชันที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น โลกดีขึ้น มีคนพูดว่า ถ้าอยากจะเป็น billionaire ให้แก้ปัญหาให้กับ billion people

และเนื่องจากสตาร์ตอัปส่วนใหญ่เป็น Digital Native (เป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด) มากกว่าคนที่อยู่ในองค์กรธุรกิจ ฉะนั้นเขาอายุน้อย ตังค์ไม่มีเพราะยังเด็ก บ้านไม่รวย เส้นสายไม่มี นามสกุลไม่ดัง  ไม่มีระบบอะไรซัพพอร์ตเลย การที่เขาจะสร้างธุรกิจขึ้นมาได้มันจึงยากมาก เขาพึ่งเทคโนโลยีเพื่อจะช่วยให้เขาสร้างธุรกิจขึ้นมาได้และเติบโตได้ เป็นความท้าทายที่ทำให้เขาไม่เหมือนผู้ประกอบการรุ่นก่อนๆ เพราะเขาถูกฝึกมาให้ใช้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนธุรกิจเดิมๆ ซึ่งมันทำให้เขาสามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อแข่งขันในตลาดโดยสร้างสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงกว่า รวดเร็วและสม่ำเสมอกว่า

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างสตาร์ตอัปที่เป็นที่รู้จัก เพื่อจะได้เห็นภาพได้ชัดขึ้น

ในประเทศไทยมีสตาร์ตอัปที่ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแรงหลายรายเช่น aCommerce, Omise, Kaidee, Eatigo, และ BUILK มี PeerPower เป็น marketplace render, ReFinn ทำรีไฟแนนซ์บ้าน  Ricult เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงทางการเกษตร ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ รุ่นใหม่ที่น่าสนใจก็มี ETRAN รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Tellscore Influencer Marketing Platform น้องเล็กสุดคือ Pet Paw เป็นโซเชียลคอมเมิร์ซสำหรับคนรักสัตว์ที่กำลังจะเปิดตัวปลายปีนี้

การที่สตาร์ตอัปเริ่มได้เร็วและโตได้เร็วนั้น เขาใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ

ที่จริงแล้วสตาร์ตอัปไม่ได้มีเครื่องมือพิเศษอะไรที่ธุรกิจใหญ่ๆ ไม่มี ความได้เปรียบของสตาร์ตอัปอยู่ที่ขนาด พวกเขาเป็นทีมเล็กๆ ที่ทำงานใกล้ชิดกันตลอดเวลา สามารถทดลองและตัดสินใจได้เร็ว เมื่อตัดสินใจได้เร็วและเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ธุรกิจก็เกิดเร็วและสามารถโตได้เร็ว แต่ถ้าตัดสินใจพลาดสตาร์ตอัปไม่มี safety net ธุรกิจก็อาจไปไม่ถึงเป้าหมาย

วิธีสร้างธุรกิจให้เติบโตแบบสตาร์ตอัปนั้น บริษัทใหญ่ก็สามารถทำได้หากมีการปรับวิธีทำงานภายใน ให้อำนาจในการตัดสินใจกับพนักงานมากขึ้น สร้างสิ่งแวดล้อมและการทำงานให้เน้นในเรื่องการทำงานร่วมกันมากขึ้น บริษัทก็จะสามารถขยับได้เร็วเช่นเดียวกัน ฟังดูง่ายแต่ทำจริงค่อนข้างยาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ หากมีความชัดเจนจากผู้บริหาร การเปลี่ยนวิธีการทำงานและการสร้าง innovative culture เป็นอะไรที่หลายบริษัททำสำเร็จมาแล้ว ในประเทศไทยฮับบาเริ่มเห็นเทรนด์และได้เริ่มแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อกับการสร้าง innovative culture ให้กับองค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น

ธุรกิจสตาร์ตอัปส่วนใหญ่ต้องอาศัยการระดมทุนไหม

ทุนเป็นเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจ แต่สตาร์ตอัปส่วนใหญ่ไม่ได้มีแบ็กทางการเงินที่แข็งแรง วิธีระดมทุนในช่วงก่อตั้งส่วนมากก็เริ่มจากขอทุนจากคนรู้จักก่อน พ่อ แม่ เพื่อน ประมาณนั้น ถ้ามันไปต่อได้ก็เริ่มเข้าไปคุยกับนักลงทุนจริงๆ สิ่งที่สำคัญสำหรับสตาร์ตอัปไม่ใช่เรื่องทุนอย่างเดียว พาร์ตเนอร์ชิปก็สำคัญ      เพราะสตาร์ตอัปไม่ได้มีช่องทางเข้าถึงตลาดได้เหมือนบริษัทใหญ่ๆ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างสตาร์ตอัปกับบริษัทใหญ่ก็สำคัญไม่แพ้การระดมทุน Corporate Startup Partnership Program ที่ดีก็สามารถช่วยให้ทั้งสตาร์ตอัปและธุรกิจขนาดใหญ่สร้างโอกาสทางธุรกิจและเติบโตไปด้วยกัน เป็นการสร้างนวัตกรรมที่เร็ว ดี และต้นทุนต่ำกว่าการที่บริษัทจะทำเองผ่าน R&D model แบบเดิม

อยากทราบว่าในอาณาจักรของสตาร์ตอัป มีสตาร์ตอัปสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ประสบความสำเร็จ

(ชูสองนิ้วแทนคำตอบ) เนื่องจากการเริ่มต้นธุรกิจมันง่าย ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นเยอะ เคยเห็นเขาไลฟ์ขายกระโปรงขายกระเป๋าทางเฟซบุ๊กไหม มันง่ายมากที่จะทำ ในประเทศจีนไลฟ์คอมเมิร์ซเกินส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ของอีคอมเมิร์ซด้วยซ้ำ แต่อีกหกเดือนมาดูร้านพวกนี้อาจไม่อยู่แล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่จะโตไปครองส่วนแบ่งตลาดในเซ็กเมนต์นั้นๆ

การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ สตาร์ตอัปหรือไม่สตาร์ตอัปต้องมี Fundamental Business Skills (ทักษะพื้นฐาน) และ Resource (ทรัพยากร) หากทักษะยังไม่ถึง หรือทรัพยากรยังไม่มี เขาก็จะตายไป แต่สตาร์ตอัปจะไม่ตายแล้วตายเลย มันจะรีไซเคิล อันนี้ไม่เวิร์ก ไปทำธุรกิจอื่นต่อ เป็นธรรมชาติของเขาที่จะลงมือทำ ล้มเหลว เรียนรู้ แล้วทำต่อไปเรื่อยๆ จนเก่งขึ้น จนมีความรู้มากขึ้น ที่สุดแล้วเขาจะเจอธุรกิจที่เขาไปต่อได้

การที่คุณได้มาอยู่ฮับบา ทักษะของการทำงานที่เคยใช้ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ได้นำมาประยุกต์กับกลุ่มสตาร์ตอัปอย่างไร

ทางฮับบาเราได้ช่วยบริษัทใหญ่ๆ ในการเข้ามาเริ่มสร้าง Corporate Startup Partnership ให้สตาร์ตอัปไปช่วยสร้างนวัตกรรมหรือธุรกิจใหม่ สมมติว่าเราทำธุรกิจขายอาหารมาสามเจเนอเรชันแล้ว เจเนอเรชันที่สี่อยากสร้างยานอวกาศเพราะเขาจบวิศวกรรมการบินและอวกาศมา เขาก็พยายามหาวิธีที่จะทำให้ร้านอาหารยังไปได้ ในขณะเดียวกันก็เริ่มสร้างโรงงานยานอวกาศไปพร้อมๆ กัน มันจะยากมากๆ ถ้าไม่มีประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่เข้าใจวิถีของธุรกิจเก่าและใหม่ และไม่สามารถสร้างกระบวนการและสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้นวัตกรรมใหม่หรือธุรกิจใหม่เกิดขึ้นได้จริง

มีหลายครั้งที่ Corporate Startup Partnership ถูกสร้างขึ้นมาแล้วไม่ตอบโจทย์หรือล้มเหลวไปเลย เพราะไม่สามารถที่จะจัดการความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายได้ ซึ่งโจทย์นี้คือสิ่งที่ทำให้ฮับบาขยับเข้ามาทำ Corporate Innovation (นวัตกรรมองค์กร) เพราะผมอยู่กับองค์กรใหญ่มายี่สิบปี ขณะเดียวกันก็ใช้เวลากับสตาร์ตอัปมาเป็นเวลาหนึ่ง ฉะนั้นผมจึงเข้าใจสองโลกนี้เป็นอย่างดี เราจึงมี Corporate Innovation Program ที่คอยช่วยสร้าง Platform, Process, Product และ Service ที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามาทำงานด้วยกันได้โดยที่ไม่มีปัญหาระหว่างกัน กับทำยังไงจะให้บริษัทใหญ่ๆ สามารถใช้ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีในการทำให้มันเติบโต ขยับได้เร็วขึ้น และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เร็วขึ้น

สตาร์ตอัปจะช่วยบริษัทใหญ่ได้ในแง่ไหน

สตาร์ตอัปจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงและเร็วเพราะขนาดธุรกิจของเขาเล็ก เขาสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ บริษัทที่เป็นองค์กรแบบดั้งเดิมก็อยากเรียนรู้ว่าทำยังไงจะไปข้างหน้าได้เร็วเหมือนสตาร์ตอัป ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงเหมือนบริษัทสตาร์ตอัป แต่ไม่ได้แปลว่าทุกบริษัทต้องกลายเป็นสตาร์ตอัปนะครับ มันเป็นไปไม่ได้ บริษัทใหญ่เขาก็เป็นเขา แต่ถ้าเขาสามารถจะเรียนรู้จากสตาร์ตอัปแล้วไปประยุกต์ใช้สัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ บริษัทเขาก็จะเติบโตขึ้นไปได้อีก นี่เป็นเหตุผลว่าตอนนี้ทำไมบริษัทใหญ่ๆ กับสตาร์ตอัปเริ่มเข้ามาคุยกัน ส่วนสตาร์ตอัปเองก็สมประโยชน์ เพราะว่าบริษัทมีตลาด มีลูกค้า แต่สตาร์ตอัปยังไม่มี ก็มาทำงานด้วยกัน

มองว่าสตาร์ตอัปก็เป็นอีก tools หนึ่งของบริษัทใหญ่ด้วยได้ไหม

มองเป็น partnership ดีกว่า ถ้ามองว่าสตาร์ตอัปเป็น tools มองว่าสตาร์ตอัปเป็น vender แบบนั้น partnership จะไม่เกิด เพราะสตาร์ตอัปเขาก็มีธุรกิจของเขา และเขาไม่ได้ถูกดีไซน์มาให้รับคำสั่งแล้วทำตามคำสั่ง เขาถูกดีไซน์มาเพื่อให้ทดลองและลงมือทำ ถ้าล้มเหลวก็ได้เรียนรู้ แล้วทดลองทำใหม่ หาทางไปเรื่อยๆ จนมันเจ๋งในที่สุด และการที่สตาร์ตอัปมาร่วมทำก็ไม่ได้แปลว่าเป็นธุรกิจเดียวกัน แต่เขาจะมาหาองค์ประกอบบางอย่างที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายโตต่อไปได้ แนวคิดคือบริษัทใหญ่จะช่วยให้สตาร์ตอัปโตได้ยังไง ถ้าสตาร์ตอัปโตได้ ในระยะยาวบริษัทใหญ่ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและ ecosystem ของการสร้างนวัตกรรม และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากตรงนั้นได้ ที่สำคัญบริษัทต้องมีความอดทนและพร้อมที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ ยอมรับความผิดพลาดให้เป็นครู และปรับปรุงแก้ไขให้เข้าใกล้เป้าหมายได้ในอนาคตในที่สุด

มีปัจจัยหรือกลไกอะไรที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้สตาร์ตอัปประสบความสำเร็จ

เยอะครับ สตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จก็เหมือนนักธุรกิจทั่วไปที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องตลาดที่จะไป ลูกค้าคือใครต้องชัด จะเข้าถึงลูกค้ายังไง แล้วทำยังไงให้ลูกค้าอยู่กับเรานานๆ ทำยังไงให้โปรดักต์ของเราดีขึ้นเรื่อยๆ ดีมากกว่าที่คนคาดหวังไว้ตลอดเวลา และต้องมีความสามารถในการระดมทุน เพราะต่อให้ธุรกิจเราดี แต่ถ้าไม่มีเงินมาลงทุนทำให้โตมันก็ยาก ซึ่งการจะหาทุนได้ก็ต้องสามารถคุยกับแหล่งเงินทุนได้ คุยกับนักลงทุนได้ แต่สตาร์ตอัปจะเดินไปธนาคาร ธนาคารขอดูสลิปเงินเดือนเราก็ไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีเครดิตก็ไม่ได้ตังค์ เขาจึงต้องสร้างกลุ่มของเขาขึ้นมา สร้างเครื่องมือในการแก้ปัญหานี้

การเริ่มต้นสตาร์ตอัปในปีแรกจะง่าย มีอยู่คนเดียวหรือสองคน อยากทำอะไรก็ทำ ถ้าผ่านปีแรกไปได้ ปีที่สองก็ต้องจ้างคนเป็นห้าคน ปีที่สามเป็นสิบคน พอมีคนสักสิบคนมันเริ่มยากแล้วนะ เพราะต้องมีทักษะในการบริหารคนอีก ฉะนั้นสตาร์ตอัปที่จะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จจะต้องเรียนรู้เยอะมาก แต่สิ่งที่เขาต้องเรียนรู้มันไม่ได้มีอะไรแหวกแนวไปจากบริษัททั่วไปเลย บริษัทเขามีแผนกบุคคล แผนกการเงินบัญชี แต่สตาร์ตอัปต้องทำตรงนี้เองทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องหาคนช่วย หาเพื่อน หาคนให้คำปรึกษา

สตาร์ตอัปมันฟังดูเซ็กซี่ แฟนซี แต่ไม่ง่าย ตอนเริ่มทุกคนตื่นเต้น แฮปปี้ กราฟมีแต่ขึ้น พอถึงระดับหนึ่งก็นิ่ง แล้วตก  กราฟจะดิ่งและดิ่งนาน จนกว่าจะลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ พอเจอตลาดปุ๊บก็จะไปต่อได้ แต่หลายคนมาไม่ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ตายไปก่อน ตายเพราะตังค์หมด ตายเพราะทะเลาะกันเองในทีม มาผิดธุรกิจ ตีโจทย์ผิดตอนแรก เหตุผลนานาประการ แต่ถ้าเราคิดว่าเรามีความสามารถในการสร้างธุรกิจ ให้ระวังอย่างเดียวคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมก่อตั้ง เพราะเวลาธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น ความคิดอ่านอาจจะไม่ตรงกัน ตอนลงเรือลำเดียวกันเขามีความฝันเดียวกันก็ไปง่าย พอเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นมันก็เริ่มมีปัญหา วิธีการไปให้ถึงความฝันเริ่มไม่เหมือนกัน สตาร์ตอัปจึงต้องมี Soft Skills (ทักษะด้านอารมณ์) People Management Skills (ทักษะการบริหารจัดการคน) กับ Leadership Skills (ทักษะการเป็นผู้นำ) ในการที่จะประคองให้ผ่านช่วงนี้ไปได้  

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีมีผลกับสตาร์ตอัปในแง่ไหน

ต้องบอกก่อนว่าสตาร์ตอัปเป็นคนสร้างเทคโนโลยีพวกนี้ขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเกิดสังคมยอมรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เกิดขึ้นเร็วๆ ได้ง่ายขึ้น ซื้อมันง่ายขึ้น ก็เป็นเรื่องดีของสตาร์ตอัป แต่สิ่งที่เขาต้องทำคือทำยังไงให้เขาพัฒนาต่อเนื่องไปได้ตลอดให้โปรดักต์ไม่เอาต์

อย่างนี้แล้วสตาร์ตอัปเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่หรือ Digital Native เท่านั้นหรือเปล่า

ไม่จำเป็นครับ เริ่มเมื่อไรก็ได้ อย่างผมเองที่มาเริ่มตอนสี่สิบกว่า มาเพราะความไม่รู้ ก็มีความอยากรู้อยากเห็น มีความกลัวที่จะไม่รู้ และมีไอเดียที่อยากทำคือเอาโลกขององค์กรธุรกิจและสตาร์ตอัปมาชนกัน เพราะเรารู้ว่าถ้าปล่อยให้เขามาเจอกันเองโดยไม่มีคนอย่างเราซึ่งอาศัยอยู่ทั้งสองโลก สามารถคุยได้ทั้งสองฝ่ายมาคอยจัดบริหารจัดการตรงกลาง เขาทะลาะกันแน่นอน

ซึ่ง Corporate Innovation ทำหน้าที่นี้ด้วย?

เพราะ Corporate Innovation ไม่ใช่การดูเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเดียว เราดูเรื่องวัฒนธรรมองค์กรด้วย การทำงานในอนาคตจะเป็นยังไง การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเขาทำกันยังไง ฮับบาก็จะช่วยองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งความยากที่สุดของการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรคือเรื่องของคน

บ่อยครั้งที่ผมได้ยินคนพูดว่าบริษัทเราเก่าแก่คนของเราอยู่มานาน ไมนด์เซ็ตเปลี่ยนไม่ได้ หรือคนของเราไม่ครีเอทีฟ ทำอย่างไรก็จะทำอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าอะไรทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เราก็จะรู้ว่าเราจะช่วยเขาสร้างไมนด์เซ็ตที่เหมาะสมสำหรับอนาคตได้อย่างไร ถ้าองค์กรเรามีขั้นตอนในการอนุมัติทุกอย่างตั้งแต่ขอเข้าห้องน้ำไปจนถึงเมนูอาหารกลางวัน ถึงการเสนอโปรเจ็กต์ เราก็ไม่ควรสงสัยว่าทำไมคนของเราถึงไม่มีความคิดริเริ่มหรือความคิดสร้างสรรค์ เพราะวัฒนธรรมองค์กรของเราทำให้การมีความคิดริเริ่มเป็นเรื่องยาก เราสร้าง permission seeking culture ที่ไม่เหลือที่สำหรับการสร้างสรรค์หรือ คนครีเอทีฟ ซึ่งพวกเขาก็จะหายไปทีละคนสองคนจนหมด

เราสามารถสร้าง innovative culture แก้ปัญหาเรื่องคนและองค์กรเหล่านี่ได้ ด้วยกระบวนการและเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรม โดยปรับใช้และเพิ่มความสำคัญที่คนและ culture ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี

ไม่ว่าธุรกิจจะเปลี่ยนแนวทางหรือรูปแบบยังไง เทคนิคในการบริหารคนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นมาก

ที่สุดครับ เขาถึงบอกว่าในอนาคตสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Soft Skills คือ People Skills คนจะมีทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยลงเพราะเขาดีลกับเทคโนโลยีมากขึ้น แล้วเทคโนโลยีก็สปอยล์ เราอยากได้อะไรมันก็ให้ ฉะนั้นคนที่มีทักษะในการจัดการกับมนุษย์ที่ดีจึงจำเป็นมากในอนาคต

แล้วทักษะนี้ไม่ใช่แค่สตาร์ตอัปที่ขาด ในบริษัทก็ขาด คนลาออกจากงานเพราะไม่สามารถจัดการความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานได้ แต่บริษัทเล็กโดยเฉพาะสตาร์ตอัปเด็กๆ จะเยอะ ธรรมชาติเขาจะเหมือนๆ กัน คุยกันรู้เรื่องง่าย เลิกงานไปกินเบียร์ ไปปาร์ตี้ด้วยกัน ขณะเดียวกันคนที่เป็นซีอีโอก็มีลูกน้อง เขาก็ต้องใช้ Soft Skills ในการบริหารจัดการคน ทำยังไงให้ทุกคนมองทิศทางของบริษัทไปในทางเดียวกัน ให้เขารู้สึกตื่นเต้นกับอนาคตของบริษัทเหมือนที่เรารู้สึก ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่ใช่แค่ที่ทำมาหาเงิน แต่มันสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างสตาร์ตอัปของเมืองไทยให้ประสบความสำเร็จ

ในเมื่อทักษะในองค์กรยังเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นสำหรับเด็กจบใหม่ที่อยากทำสตาร์ตอัป คุณคิดว่าเขาควรจะไปหาประสบการณ์ในบริษัทเพื่อเรียนรู้ก่อนไหม

ไม่จำเป็น มันเป็นเรื่องจริตของแต่ละคน การหาประสบการณ์ไม่ใช่ต้องไปหาที่บริษัทใหญ่ๆ หรือหาที่โรงเรียนอย่างเดียว มันหาที่ไหนก็ได้ ทำไปด้วยเรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆ กัน ถ้ามาอยู่ใน ecosystem มันจะมีเพื่อนๆ มีระบบซัพพอร์ตให้เดินต่อไปได้ การเริ่มธุรกิจตอนนี้มันง่ายมาก แต่การจะอยู่ยาวๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นคนที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือ founder จะต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และรับความเสี่ยงตลอดเวลา แต่ถ้าหากเราชอบที่จะมีอาชีพที่ราบรื่นมั่นคง ก็อาจจะไม่ชอบไลฟ์สไตล์แบบสตาร์ตอัป คำถามที่ต้องตอบจริงๆ คือเด็กในพ.ศ.นี้เขาจบมา เขามองอนาคตมองชีวิตเขาแบบไหน เขาต้องการอิสระมากกว่าคนรุ่นก่อนหรือเปล่า เขาชอบไหมที่จะเข้าไปอยู่ในที่ที่มีคนสั่งให้ทำอะไรตลอดเวลา หรือเขาชอบที่จะแก้ปัญหาและสร้างธุรกิจไปพร้อมๆ กัน โดยโอกาสที่เขาจะประสบความสำเร็จมีแค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์

แล้วประเทศไทยมี ecosystem ที่จะรองรับสตาร์ตอัปอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง

ผมว่าดีระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับแย่ คือก่อนฮับบาเกิดบ้านเรายังไม่มี ecosystem และที่ฮับบาเกิดมาในตอนแรกก็ไม่ได้อยากจะทำ co-working space อยากจะเป็นสตาร์ตอัปนี่แหละ แต่ทำแล้วเจ๊ง พอเจ๊งเราจึงรู้ว่าเพราะมันไม่มี ecosystem ไง เราเลยตัดสินใจว่างั้นเราจะเป็นคนสร้าง ecosystem ขึ้นมาเอง โดยสร้างพื้นที่คือ co-working space ขึ้นมาก่อนที่ซอยเอกมัย แล้วก็มีสตาร์ตอัปมาแวะเวียนทำงานด้วยกันกับเรา เราช่วยเขาหาเงินทุน หานักลงทุนบ้าง เพื่อนติดตรงไหน ฉันทำ coaching ให้ strategy คุณยังไม่แข็งแรงพอ ฉันทำเวิร์กช็อปให้ นี่คือ ecosystem ของสตาร์ตอัป

การจะสร้าง ecosystem มันต้องมีฮับก่อน เสร็จแล้วมีสตาร์ตอัปเข้ามาอยู่ แล้วมีคนเข้ามาสนับสนุนสตาร์ตอัปอีกทีในเรื่องเงินทุน มี corporate เข้ามาอยู่ มีลูกค้าหรือนักลงทุนก็ได้ที่จะดึงสตาร์ตอัปเข้ามาเป็น Solution Provider เป็น Technology Provider ฉะนั้นฮับบาก็มีหน้าที่ที่จะสร้าง ecosystem นี้ผ่านกระบวนการหลายๆ อย่าง จัดให้บริษัทกับสตาร์ตอัปที่เขาอยู่ในวงการเดียวกันมาเจอกัน ไม่อย่างนั้นมันไม่มีโอกาสที่จะให้คนเข้ามาทำงานด้วยกันหรือมาเจอกัน

ฮับบาช่วยสร้างเน็ตเวิร์กให้พวกเขาถูกต้องไหม

ใช่ เราสร้างแพลตฟอร์มให้คนมีโอกาสได้เน็ตเวิร์กกัน บริษัทอยากเจอใครก็จัดให้เขามาเจอกัน หรือถ้าอยากจะให้เป็นทางการหน่อย เราก็มีเป็นโปรดักต์เลย อาจจะเคยได้ยินเรื่องแฮ็กกาธอนกันบ้างแล้ว (แฮ็กกาธอนคือเวทีแสดงความสามารถของสตาร์ตอัป) คือบริษัทจะมีโจทย์ มีปัญหาที่บริษัทอยากจะเชิญคนข้างนอกมาช่วยแก้ เราก็มีหน้าที่รับโจทย์จากบริษัทมา กระจายข่าวไปให้ว่าใครมีไอเดีย มีเทคโนโลยีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ให้สมัครเข้ามาในแฮ็กกาธอนของเรา แล้วเขาก็จะเอาโจทย์ที่บริษัทวางไว้ให้ไปแฮ็กหาวิธีการ สร้างธุรกิจที่จะแก้ปัญหานี้ขึ้นมา แล้วไปพรีเซนต์ ถ้าเราไม่มีแฮ็กกาธอน สตาร์ตอัปก็ไม่มีเวทีแสดงความสามารถซึ่งก็จะยากที่จะสร้าง startup รุ่นใหม่ได้

นอกจาก ecosystem ที่ฮับบามีแล้ว ที่อื่นมีอีกไหม

มีครับ ฮับบาเราสร้าง ecosystem สำหรับทุกคน แต่ก็ยังมีคอมมูนิตี้ย่อยแจงตามความสนใจของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นคอมมูนิตี้ของ angle investors หรือ developers, UXUI, impact tech ต่างๆ

เมื่อดูสถานการณ์บ้านเราในตอนนี้ มีธุรกิจไหนที่ดูสดใสที่สุดสำหรับสตาร์ตอัป

ธุรกิจอะไรน่าสนใจให้เริ่มที่ปัญหา ถ้าใครสามารถแก้หรือบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือมลพิษทางอากาศได้ น่าจะรุ่ง การจะมองว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าจะพัฒนาและโตได้ดี อย่าไปคิดเอาเองว่ามันน่าจะดี ให้กลับไปที่ปัญหา เพราะปัญหามันมีตัวตนจริง มีความต้องการให้แก้ปัญหาจริง ถ้าเริ่มเร็ว ก็ได้รับผลตอบแทนที่เร็ว ฉะนั้นแล้วธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ไปดูว่าอะไรเป็นจุดอ่อนมากๆ สำหรับสังคมส่วนใหญ่ ถ้าเราแก้มันได้ คนเขาพร้อมที่จะซื้อเรา อย่างที่เขาบอกว่า ‘If you want to be a billionaire, solve problems for a billion people.’

แต่การทำธุรกิจตามๆ กันไป จะมีโอกาสประสบความสำเร็จไหม

สุดท้ายแล้วคงจะเหลือไม่กี่เจ้า ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากกว่ากัน มันไม่มีหรอกที่ใครสร้างธุรกิจอะไรขึ้นมาอันหนึ่งแล้วตอบโจทย์ทุกคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ว่าเราจะชูอะไรเป็นจุดขาย พอชูไปเรื่อยๆ ก็กลับมาที่เรื่องของปัญหาอีก อะไรที่ลูกค้าอยากได้แล้วเขายังไม่ได้ ถ้าเจ้าไหนเอาเข้ามาให้ได้ก็จะประสบความสำเร็จในระยะหนึ่ง เพราะผู้บริโภคก็ไม่เคยหยุดที่จะอยากได้ มันก็จะเป็นโอกาสที่จะให้คนเข้ามาช่วงชิงช่องว่างนี้กันไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้เป็นแบบ winner takes all เพราะธุรกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้บริโภค

มองการเติบโตของสตาร์ตอัปในเมืองไทยในอนาคตอย่างไร

ผมคิดว่าสตาร์ตอัปเมืองไทยยังโตได้ ถ้ามองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์มียูนิคอร์น (สตาร์ตอัปที่มีมูลค่าพันล้านดอลลาร์) อินโดนีเซียมียูนิคอร์นสามตัวแล้ว เวียดนามมีแล้ว สำหรับในไทยสิ่งที่เราต้องการมากๆ คือเราต้องทำยูนิคอร์นตัวแรกให้เกิดในเมืองไทยให้เร็วที่สุดให้ได้ เพื่อจะทำให้คนที่ทำสตาร์ตอัปมีความเชื่อว่าประเทศไทยก็สามารถทำธุรกิจสตาร์ตอัปและประสบความสำเร็จได้ ถ้าเรามียูนิคอร์นตัวแรกเมื่อไร อะไรๆ จะเดินหน้าได้ดีขึ้น ผมอยากฝากองค์กรธุรกิจ รัฐบาล นักลงทุน รัฐบาล ตัวสตาร์ตอัปเอง ให้ช่วยสนับสนุน ecosystem ให้เกิดยูนิคอร์นตัวแรกในไทยให้ได้ เมื่อเกิดตัวแรกปุ๊บ มันจะมีโอกาสให้สตาร์ตอัปเมืองไทยเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจและสังคมได้จริง

ประเทศไทยไม่ขาดคนที่ไอเดียดี เราไม่ขาด Entrepreneurship Skills เราไม่ขาดคนที่มีความกล้าบ้าบิ่นในการที่จะลงมือทำ แต่เราขาดส่วนเรื่องเงินทุน เรื่องทักษะ และแบบอย่างของสตาร์ตอัปตัวแรกที่ประสบความสำเร็จ  ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ มีการจ้างงานรุ่นใหม่สำหรับโลกอนาคต ผมไม่คิดว่าเราจะพึ่งพาการท่องเที่ยว พึ่งพาอาหารไทย แล้วกินบุญเก่าไปได้ตลอด เราต้องสร้างเซ็กเมนต์ธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองไทย

ในงาน Techsauce คนที่ซื้อตั๋วเข้าไปร่วมงาน จะได้เปิดโลกของสตาร์ตอัปในแง่มุมไหนบ้าง

ถ้าคุณสงสัยว่าอนาคตนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร มาในงาน Techsauce คุณอาจจะได้คำตอบ ไปหาความรู้ พอรู้แล้วก็ติดตาม ecosystem พยายามเข้ามามีส่วนร่วมตามความถนัด อาจจะเริ่มโดยทดลองทำงานใน co-working ก่อน หาเพื่อน หา co-founder

ในส่วนของบริษัท ถ้าคำว่า stakeholder สำคัญสำหรับคุณ startup ecosystem ก็เป็น stakeholder กลุ่มใหม่ซึ่งคุณอาจจะไม่รู้จักเขาแต่เขาจะเติบโตขึ้นและมีสำคัญมาก เข้ามาทำความรู้จักกับพวกเขาหรือทำงานกับเขา หรือจะเชิญคนที่ประสบความสำเร็จในวงการนี้ไปนั่งคุยให้ผู้บริหารหรือพนักงานฟังเพื่อเปิดโลกทัศน์ การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นกับองค์กรไม่ได้ถ้ามันไม่เกิดโลกทัศน์ใหม่ๆ

Fact Box

  • อาร์ชวัส เจริญศิลป์ เรียนจบด้าน Economics and Public Policies จาก George Washington University และEconomics Development Policies ที่ American University เคยทำงานด้านนโยบายและรัฐกิจ อยู่ที่วอชิงตัน ดีซี. ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ก่อนจะย้ายตัวเองมาอยู่กับ Coca-Cola Southeast Asia Services องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ กับตำแหน่งสุดท้ายก่อนหันเหเข้าสู่วงการสตาร์ตอัป คือ ASEAN Public Affairs and Communications Director
  • ปัจจุบัน อาร์ชวัสนั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน บริษัท ฮับบา จำกัด นำประสบการณ์ที่เคยคร่ำหวอดอยู่ในองค์กรธุรกิจมาประยุกต์ใช้กับสตาร์ตอัป เพื่อผลักดันให้สตาร์ตอัปสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงขึ้น
  • Techsauce Global Summit 2019 คืองานที่นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต การบริโภค และเศรษฐกิจทั่วโลก โดยสปีกเกอร์หลายร้อยคนจากทั่วโลก ในวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานซื้อบัตรได้ที่ https://summit.techsauce.co/
Tags: , , , ,