เรื่องของ อภิชาติ ปากหวาน เป็นเรื่องของความรัก

ความรักในดนตรีหมอลำและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของหนุ่มชาวดัตช์และนักดนตรีรุ่นใหม่ในอีสาน 

อภิชาติเป็นใคร? ใครบางคนอาจถาม เมื่อเห็นเขาว่าวันนี้ อภิชาติ ปากหวาน จะมาขึ้นเวที

ขอเฉลยเสียตรงนี้ อภิชาติไม่ใช่หมอแคนที่ไหน แต่เป็นชื่อโปรเจกต์ดนตรีที่ก่อตั้งโดยโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง และดีเจชาวเนเธอร์แลนด์นามโอลิวิแอร์ ชโรเดอร์ (Olivier Schreuder) ร่วมกับสาวอีสาน อังคณาง พิมพ์วันคำ ทั้งคู่นำเพลงหมอลำมาผสมกับดนตรีแนวดั๊บ ฮิปฮอป อิเล็กโทร ผ่านเครื่องสังเคราะห์เสียง และเครื่องดนตรีพื้นเมืองอย่างพิณ แคน โหวด ซอ ปี่ภูไท ฉิ่ง ฉาบ ที่บรรเลงโดยนักดนตรีอีสานรุ่นใหม่หลายคน โดยเฉพาะหมอแคน ภูมิศักดิ์เสรี สาสีดา และใส่เสียงร้องแบบหมอลำแท้ๆ ที่จะทำการเซิ้งของคุณแซบยิ่งขึ้น

อัลบั้มแรกของ Apichat Pakwan (อภิชาติ ปากหวาน) คือ ‘อีสานทรอนิกส์’ (Esantronics) ซึ่งประกอบด้วยเพลงที่แต่งขึ้นใหม่อย่าง Another Fish, คิดฮอดบ้าน, ๘๐๘ อกหัก รวมถึงการนำเพลงหมอลำคลาสสิกมาทำดนตรีใหม่ในแบบ ‘ดั๊บๆ’ ก่อนหน้านี้ พวกเขาเคยปล่อยมินิอัลบั้มหรือ EP ที่ชื่ออังคณางมาชิมลางก่อนแล้ว

เรามีโอกาสพูดคุยกับหนุ่มสาวทั้งสอง พร้อมนักร้องนักดนตรีในวง ซึ่งประกอบด้วย อนุสรา ดีชัยชนะ (ขับร้อง, ประพันธ์เพลง), วิมลมาศ กางจันทา (ขับร้อง) และชนาวัฒน์ จอนจอหอ (แคน, พิณ, ซออีสาน, ปี่ภูไท) ก่อนการแสดง ‘Molam vs Reggae’ ซึ่งเป็นการเล่นครั้งล่าสุดของพวกเขาที่ร้าน Light My Fire จ.นครปฐม 

(ซ้ายไปขวา) ธนโชติ คำสี, อนุสรา ดีชัยชนะ, อังคณาง พิมพ์วันคำ, วิมลมาศ กางจันทา และ Olivier Schreuder

เราคุยกันถึง ‘รักครั้งแรก’ ของโอลิวิแอร์กับดนตรีหมอลำ ถึงเสียงดนตรีอีสานเสียงแรกที่เขาได้ยินบนรถทัวร์ในลาว และประสบการณ์การเรียนแคนที่ขอนแก่น เรายังคุยกับนักร้องและนักดนตรีทั้ง 4 คน ตั้งแต่เรื่องดนตรีอีสานที่ “เป็นดนตรีชาวบ้าน ร้องมาจากหัวใจ” ไปจนถึงอัตลักษณ์ความเป็นลาว และอีสานฟีเวอร์ที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ในอีสานกล้าจับแคนอีกครั้ง 

“เหมือนว่ามันเป็นเครื่องดนตรีที่มีศักดิ์ศรีชนิดหนึ่ง” ก่อนจะจบด้วยคำพูดอันหนักแน่นของชนาวัฒน์ หมอแคนหนุ่มจากร้อยเอ็ดที่บอกว่า โปรเจกต์นี้ทำให้เขาเชื่อว่า “ดนตรีของผมจะไม่ตาย” 

แผ่นเสียงบนเทิร์นเทเบิลเริ่มหมุนแล้ว เชิญสดับรับฟังเด้อ

คุณไปได้ยินดนตรีอีสานครั้งแรกตอนไหน

โอลิวิแอร์: เพลงนั้นเป็นเพลงลาว ผมได้ยินบนรถทัวร์ เป็นเพลงที่สนุกมาก คนขับก็เปิดเสียงดังมาก ผมชอบเสียงพิณและวิธีการเล่นพิณในเพลงนั้น นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเพลงจากเอเชียที่ทำให้อยากเต้นตาม ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่คิดว่าจะมีด้วย 

ครั้งที่สองคือตอนขับมอเตอร์ไซค์ผ่านบ้านคน มีลำโพงตัวใหญ่ๆ ตั้งอยู่หน้าบ้าน พอผมขับรถผ่านเขาก็เชิญให้ร่วมงานเลี้ยงด้วย เราดื่มด้วยกัน เต้นกับเพลงที่เปิดดังกระหึ่ม ผมคิดว่า โห นี่สนุกสุดๆ นั่นเป็นรักครั้งแรกระหว่างผมกับดนตรีหมอลำ ผมชอบ groove ของมัน การได้พบดนตรีแบบนี้ในเอเชียเป็นสิ่งที่น่าสนใจเอามากๆ

“ผมชอบ groove ของหมอลำ”

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณมาเรียนแคนที่อีสานหรือเปล่า

โอลิวิแอร์: ผมสนใจดนตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว ความสนใจนี้เริ่มมาจากการแบกเป้เที่ยวในภูมิภาคนี้ รวมทั้งการได้เรียนวิชามนุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicology) ในมหาวิทยาลัยที่อัมสเตอร์ดัม เนื่องจากผมมีพื้นฐานมาจากดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และการประพันธ์ดนตรีแบบตะวันตก ดนตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นของใหม่สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นเมโลดี้ การประพันธ์เพลง การแสดง และด้านที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม

ตอนเรียนอยู่ปี 3 ผมจึงเดินทางมาที่ขอนแก่นเพื่อเรียนขิม เพราะชอบและอยากเรียนเครื่องดนตรีชนิดนี้ และได้ยินมาว่ามีมหาวิทยาลัยด้านดนตรีที่นี่ ผมไปหาครูท่านหนึ่งซึ่งบังเอิญเป็นครูของอังคณางและอนุสราด้วย บอกว่าขอให้แนะนำครูสอนขิมให้หน่อย แล้วพบก็ไปพบครูท่านนั้น บอกว่ามีเวลาเรียนแค่สัปดาห์เดียว ครูก็บอกว่าโอเค งั้นนั่ง ฉันจะสอนเธอเดี๋ยวนี้ ผมปั่นจักรยานไปเรียนขิมทุกวันเป็นเวลาห้าวันติดกัน ได้เรียนเมโลดี้ใหม่ๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมมาอีสาน

ต่อมาเมื่อผมสนใจดนตรีอีสานมากขึ้น ผมก็คิดว่าผมน่าจะกลับไปที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพราะผมมีประสบการณ์ที่ดีที่นั่น และจังหวัดขอนแก่นก็เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเรียนดนตรีอีสาน

“ผมคิดว่าเสียงของแคนทำให้คนอยู่ในสภาพที่ทั้งผ่อนคลายและมีสมาธิตั้งใจฟัง เหมือนเป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดสภาวะ trance…แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ ดนตรีเองก็น่าสนใจด้วย มีองค์ประกอบมากมายเกิดขึ้น”

อยากให้เล่าประสบการณ์การเรียนแคนให้ฟังหน่อย

โอลิวิแอร์: ผมเรียนได้แย่มาก การเล่นแคนยากมาก แล้วผมเองไม่ใช่นักเรียนที่มีความอดทนที่จะเรียนเครื่องดนตรีชนิดเดียวไปนานๆ ผมเล่นดนตรีระดับมือสมัครเล่น เพราะผมถูกเทรนด์มาในฐานะนักประพันธ์ดนตรีและนักออกแบบซาวด์มากกว่า

การเล่นแคนต้องอาศัยวินัย ช่วงแรกๆ ต้องฝึกทั้งวัน ซึ่งหนักกับร่างกายด้วย ทั้งการหายใจ การใช้นิ้ว นอกจากนี้ครูผมก็ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ผมมีล่ามแต่เธอก็ไม่ได้เป็นล่ามที่เชี่ยวชาญด้านดนตรี แต่นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่สนุก ครูของผมเป็นหมอแคนที่เก่งมาก ผมรู้สึกขอบคุณที่ได้มีโอกาสได้เรียนกับนักดนตรีฝีมือดีระดับนั้น ครูยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผมด้วย

เสียงของแคนยังน่าสนใจ เสียงของมันส่งผลต่อคนทั้งทางร่างกายและจิตใจ มันจึงถูกใช้ในพิธีกรรมเพื่อเยียวยารักษาคน โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาทางจิต

(เราสนทนากับโอลิวิแอร์ถึงตรงนี้ อังคณางและชนาวัฒน์ก็เดินเข้ามาร่วม)

อังคณาง: หมอเหยาเป็นหมอรักษาคนป่วย เป็นหมอทรง เขาก็จะรำและเล่นแคน แล้วก็เดาว่าคนป่วยคนนั้นป่วยเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะผีเข้า บางคนที่ป่วยมากๆ ก็ลุกขึ้นฟ้อนรำ ขึ้นเต้นกับหมอเหยา 

ชนาวัฒน์: หมอเหยาเป็นชื่อเรียกของชนเผ่าภูไท เป็นหนึ่งในพิธีของศาสนาผี วิธีการเป่าแคนในพิธีนี้มีหลายแบบ มีแบบรักษา คือเอาคนเจ็บมานอน คนที่เป็นญาติจะมาให้กำลังใจ แล้วจะมีคนทรงหนึ่งคน ทำหน้าที่เป่าแคนแล้วไล่ผีออกไป ผมว่ามันส่งผลทางจิตวิทยา คือคนที่ทำงานหนักๆ พอเห็นญาติพี่น้องมาอยู่ด้วยกันก็มีกำลังใจขึ้นมา พอได้ยินเสียงแคนที่สนุกอีก แล้วก็มีเสียงเชียร์ให้ลุก เขาก็เกิดกำลังใจ ลุกขึ้นฟ้อนรำ เหมือนเป็นดนตรีบำบัดของคนอีสาน

อังคณาง: ทุกครั้งที่เราแสดงดนตรี เรารู้สึกเหมือนตัวเองกำลังแสดงหมอเหยา คือมันไม่เหมือนกันเลยสักครั้ง เราใส่อารมณ์เข้าไป พอคนดูมีส่วนร่วมเราจะรู้สึก high เข้าใจเลยว่าทำไมคนป่วยถึงลุกขึ้นเต้นกับหมอเหยา

เพลงที่เล่นในพิธีเหยาเป็นเพลงแบบไหน

ชนาวัฒน์: เป็นเพลงสนุกๆ เหยาจะมีลายต่างหาก ซึ่งมีหลายทำนอง 

โอลิวิแอร์: ครูสอนแคนของผมเป็นคนเล่าเรื่องหมอเหยาให้ฟัง หลังจากนั้นผมก็อ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่เคยไปร่วมพิธีเหยาด้วยตัวเอง เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเขาจะไม่อนุญาตให้คนเข้าไปดู ผมเองก็หวังว่าวันหนึ่งจะได้มีโอกาสไปเห็นว่าเป็นยังไง แต่อย่างน้อยๆ ผมก็ประสบกับตัวเองว่าเสียงแคนมีพลังหากคนเล่นๆ ดี

เสียงแคนทำให้คุณรู้สึกยังไง

โอลิวิแอร์: ผมคิดว่าเสียงของแคนทำให้คนอยู่ในสภาพที่ทั้งผ่อนคลายและมีสมาธิตั้งใจฟัง เหมือนเป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดสภาวะ trance (สภาวะเคลิบเคลิ้มหรือตกอยู่ในภวังค์) คุณอาจจะผ่อนคลาย หรือตั้งใจฟังเสียง แต่สิ่งที่ผมประสบอยู่กึ่งกลางระหว่างสองสิ่งนี้ ซึ่งเป็นสภาวะที่วิเศษมาก มันเป็นความรื่นรมย์และผ่อนคลายเวลาที่ได้ยินเสียงที่ไพเราะ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ ดนตรีเองก็น่าสนใจด้วย มีองค์ประกอบมากมายเกิดขึ้น ทำให้คุณต้องตั้งใจฟัง เหมือนการทำสมาธิอย่างหนึ่ง คุณไม่ได้เข้าฌาณไปเลยทีเดียว แต่ส่วนหนึ่งของสมองยังต้องอยู่ในปัจจุบันเพื่อติดตามว่ากำลังเกิดอะไรอยู่ นั่นคือประสบการณ์ของผมในฐานะคนฟัง

มันเป็นสภาวะแบบเดียวกันเวลาที่ผมฟังดนตรีกาเมลัน (gamelan), ดนตรีคลาสสิกของอินเดีย, ดนตรีของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาร์ก, ดนตรีแนวมินิมัล อาจจะเป็นเพลงอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ก็ไม่เสมอไป รวมทั้งดนตรีตะวันตกอย่างการร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์สมัยเรอเนสซองก์ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจและจิตวิญญาณ

หมอลำสไตล์ดั๊บ ฮิปฮอป อิเล็กโทร

เห็นว่าคุณตั้งชื่อผลงาน EP แรกว่า ‘อังคณาง’

โอลิวิแอร์: ชื่อนี้สื่อถึงคน 2 คน คนแรกคือคุณอังคณางค์ คุณไชย (หมอลำชื่อดังชาวอีสาน) ที่มาร่วมแสดงดนตรีในงานดนตรีหมอลำที่จังหวัดอุบลราชธานี นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินได้เห็นการแสดงสดหมอลำ ผมบันทึกเสียงการแสดงนั้นไว้ ทั้งเสียงเพลง เสียงร้อง เสียงผู้คนบนถนน และนำมาใช้ใน EP แรกของเรา ชื่อ EP นี้จึงอุทิศให้กับคุณอังคณางค์ คุณไชย

อีกคนคืออังคณางคนนี้ (หันไปทางอังคณาง) โปรเจกต์นี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเธอ เราสองคนเริ่มตั้งวงนี้ด้วยกัน ถ้าไม่มีอังคณาง ก็คงไม่มี อภิชาติ ปากหวาน

เริ่มมีไอเดียทำโปรเจกต์อภิชาติ ปากหวานตอนไหน

โอลิวิแอร์: ตอนปี 2559 ตอนที่ผมกับอังคณางรู้จักกัน เราบันทึกเสียงด้วยกัน จากนั้นผมก็กลับไปอัมสเตอร์ดัมและทำเพลงแรกขึ้น จากนั้นก็กลับมาเปิดให้เธอและนักดนตรีที่เราบันทึกเสียงด้วยกันฟัง ตอนที่ได้ฟังครั้งแรกนักดนตรีทุกคนแทบช็อก มันเป็นการผสมผสานระหว่างฮิปฮอป อิเล็กทรอนิกส์ ดั๊บ แต่ความเป็นดนตรีอีสานก็ยังเด่นชัด

อังคณาง: นักดนตรีคุยกันว่าถ้าเราฟังเพลงแบบนี้คงไม่มีใครฟังแน่ คนไทยและคนอีสานต้องไม่ชอบแน่ ตอนที่เราแสดงสดครั้งแรกๆ คนที่ชอบหมอลำบางคนพูดว่าฝรั่งบ้าทำอะไรกับดนตรีของเราเนี่ย ทำไมถึงไปเปลี่ยนสไตล์เพลงอีสาน แล้วนักดนตรีอีสานขึ้นไปทำอะไรกับเขาน่ะ คือมันเป็นสิ่งที่คนฟังไม่คาดคิดมาก่อน

โอลิวิแอร์: แต่ก็มีคนอีสานหลายคนที่ชอบเพลงของเรา คนเหล่านี้เปิดกว้างต่อดนตรีแบบใหม่ๆ ส่วนในต่างประเทศ คนฟังที่ต่างประเทศชอบและตื่นเต้นกับผลงานของเราตั้งแต่แรก เพราะมันเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้ฟังมาก่อน

การนำเพลงฮิปฮอปหรือดั๊บมาผสมกับดนตรีคุมเบียจากอเมริกาใต้ ดนตรีอัฟโฟรบีตส์ และดนตรีจากเอธิโอเปียมีมานานแล้ว การนำเพลงจากตะวันออกกลางมาผสมกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นที่นิยมมากในทุกวันนี้ ผมจึงแปลกใจที่มีการทดลองแบบนี้กับดนตรีจากเอเชียน้อยมาก โดยเฉพาะหมอลำซึ่งเหมาะเหลือเกินกับการนำมามิกซ์ ส่วนตัวผมเอง ผมคิดว่าตัวเองมีอิสระในฐานะนักดนตรีและนักประพันธ์ดนตรี หน้าที่ของผมคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา 

“การนำเพลงฮิปฮอปหรือดั๊บมาผสมกับดนตรีคุมเบียจากอเมริกาใต้ ดนตรีอัฟโฟรบีตส์ และดนตรีจากเอธิโอเปียมีมานานแล้ว…ผมจึงแปลกใจที่มีการทดลองแบบนี้กับดนตรีจากเอเชียน้อยมาก โดยเฉพาะหมอลำซึ่งเหมาะเหลือเกินกับการนำมามิกซ์” 

ทำไมถึงเลือกอิเล็กทรอนิกส์ ฮิปฮอป และดั๊บมามิกซ์กับดนตรีอีสาน ทั้งที่ดนตรีตะวันตกก็ยังมีอีกหลายสไตล์ 

โอลิวิแอร์: ผมเลือกดนตรีอิเล็กโทรและฮิปฮอปเพราะความชอบและพื้นฐานด้านดนตรีของผม ผมเป็นดีเจตั้งแต่อายุ 14 ดนตรีแนวนี้เป็นดนตรีที่ผมรู้จักดีที่สุด ผมอยากทำอัลบั้มที่ใช้พื้นฐานดนตรีตรงนั้น แต่ก็ยังอยากใส่อะไรใหม่ลงไปด้วย ดีเจที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมล้วนเป็นดีเจที่สร้างสิ่งใหม่ในยุคนั้น 

ตอนที่ผมได้ยินดนตรีพื้นเมืองจากลาว สำหรับผมมันฟังดูคล้ายดนตรีฮิปฮอปยุค 90s ผมเลยคิดว่าน่าจะลองเอาฮิปฮอปกับหมอลำลาวมาผสมกัน แล้วก็ยังนำดนตรีแนวดั๊บและอิเล็กโทรมาผสม ผมอยากทำอัลบั้มที่ผสมดนตรีอิเล็กทรอนิกส์กับหมอลำที่มีเสียงและสำเนียงอย่างที่ผมชอบ ที่ทุกอย่างสมดุล เบสทำหน้าที่ของเบส แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ไปกลบอย่างอื่น คุณจะได้ยินเครื่องดนตรีอีสานชัดเจน ไม่ใช่เป็นแค่เป็นแบ็กกราวด์หรือถูกแทนที่ด้วยคีย์บอร์ด ถ้าคุณมีเครื่องดนตรียอดเยี่ยมอย่างแคนหรือพิณอยู่แล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะปล่อยมันอยู่เฉยๆ ไม่เอามันมาใช้ทำไม 

ทำไมถึงตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่าอภิชาติ ปากหวาน

โอลิวิแอร์: ผมไม่ใช่คนตั้งชื่อนี้นะ (หันไปทางอังคณาง)

อังคณาง: โอลิวิแอร์บอกว่าตัวเองอยากได้ชื่อภาษาไทย เราก็เห็นคำว่า ‘อภิชาติ’ ตามป้ายที่ติดอยู่ตามร้านค้า พอค้นความหมายดูก็พบว่าความหมายดี เลยตั้งชื่อนี้ให้เขา แล้วตอนนั้นเขาก็จีบให้เรามาทำโปรเจกต์นี้อยู่ตลอด เราก็เลยบอกว่า ปากหวานเนอะ อยากได้นั่นอยากได้นี่ จีบฉันเพราะอยากทำโปรเจกต์เหรอ เขาก็บอกว่าเสียงของคำว่า ‘ปากหวาน’ เพราะดี งั้นโปรเจกต์นี้ชื่ออภิชาติ ปากหวานละกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเขา แต่ที่เลือกเพราะชอบเสียงของคำด้วย

ตอนแรกก็คิดกันไว้หลายชื่อ มีชื่อภาษาอังกฤษด้วย แต่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เขาก็เลยถามว่าฉันชื่ออะไรนะ ชื่ออภิชาติ เขาก็บอกเอาชื่อนี้แหละ ผมชอบ

โอลิวิแอร์:  ผมชอบความลึกลับนิดๆ ด้วย ว่าตกลงอภิชาติ ปากหวานคือใคร

เคยมีคนเดินเข้ามาถามว่าคุณอภิชาติอยู่ไหนไหม

โอลิวิแอร์: มีครับ (หัวเราะ) บางคนก็เข้ามาถามว่า รู้ไหมว่าเมื่อไหร่มิสเตอร์อภิชาติ ปากหวานจะขึ้นเวที เรารอมาพักใหญ่ๆ แล้ว ซึ่งบางทีผมก็ตอบไปว่า ขอโทษด้วย วันนี้คุณอภิชาติมาไม่ได้ แต่เรามีอนุสราและนักดนตรีคนอื่นๆ ที่จะมาให้ความบันเทิงกับคุณ 

“วัฒนธรรมตะวันตกมีกระแสที่กระตุ้นให้คนออกมาผจญภัย มาค้นพบสิ่งใหม่ในชีวิต ผมพบว่าในวัฒนธรรมเอเชียนั้นตรงกันข้ามในเรื่องนี้ การที่คนลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ต่างออกไปเป็นเรื่องสวนกระแสในเอเชีย สำหรับวงเรา การได้พบนักดนตรีที่มีทั้งพื้นฐานดนตรีพื้นเมืองและกล้าผจญภัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องใช้ความกล้าในระดับหนึ่ง คุณอาจจะโดนสกัดกั้นจากครอบครัว อาจารย์ และคนรอบข้างจนทนไม่ไหวและล้มเลิกความตั้งใจนั้นไป”

มีความท้าทายอะไรบ้างระหว่างการทำโปรเจ็กต์นี้

โอลิวิแอร์: คงเป็นเรื่องการก้าวออกมาจากคอมฟอร์ตโซนผมรู้สึกขอบคุณที่ได้มีโอกาสได้รู้จักและร่วมงานกับนักดนตรีอย่างชนาวัฒน์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากดนตรีพื้นเมือง แต่ก็เปิดรับและลองทำสิ่งใหม่ๆ ชนาวัฒน์ตื่นเต้นที่ได้ออกมาจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองและมาร่วมผจญภัยกับเรา 

วัฒนธรรมตะวันตกมีกระแสที่กระตุ้นให้คนออกมาผจญภัย มาค้นพบสิ่งใหม่ในชีวิต ผมพบว่าในวัฒนธรรมเอเชียนั้นตรงกันข้ามในเรื่องนี้ การที่คนลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ต่างออกไปเป็นเรื่องสวนกระแสในเอเชีย สำหรับวงเรา การได้พบนักดนตรีที่มีทั้งพื้นฐานดนตรีพื้นเมืองและกล้าผจญภัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องใช้ความกล้าในระดับหนึ่ง คุณอาจจะโดนสกัดกั้นจากครอบครัว อาจารย์ และคนรอบข้างจนทนไม่ไหวและล้มเลิกความตั้งใจนั้นไป

ผมคิดว่าผมเป็นคนที่ดีขึ้นและฉลาดขึ้นเพราะผมกล้าที่จะออกมาจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง โดยการเดินทางมาที่นี่และเรียนรู้วัฒนธรรมที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ผมไม่รู้ภาษา ไม่รู้ว่าควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่รู้ว่าพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีในวัฒนธรรมนี้เป็นอย่างไร ผมทำพลาด ผมทำให้คนบางคนไม่ชอบ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ได้เรียนรู้ว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่ทุกคนควรจะมีสักครั้งในชีวิต 

อังคณาง: เหมือนเจอกันคนละครึ่งทาง เราละทิ้งคอมฟอร์ตโซนของเรา เขาก็ละทิ้งคอมฟอร์ตโซนของเขา แล้วมาเรียนรู้ด้วยกัน ก็เลยกลายเป็นโปรเจกต์ที่ก็ท้าทาย ยากอยู่เหมือนกัน มีความคิดไม่ตรงกัน มีความเห็นที่ขัดแย้งกันบ้าง มีอะไรที่ทางฝั่งนี้ห้ามทำ ฝั่งนี้ทำได้ นักดนตรีบางคนก็ทำงานด้วยกันยากหน่อย

อีกความท้าทายหนึ่งก็เป็นเรื่องการจัดการ อย่างการจัดการเรื่องวีซ่าให้นักดนตรีหรือดูแลพวกเขาเวลาเราไปทัวร์ที่ต่างประเทศ นักดนตรีอีสานบางคนที่มาทัวร์กับเราไม่เคยไปกรุงเทพหรือต่างประเทศมาก่อน เราก็ต้องบอกเขาว่าต้องขึ้นรถที่ไหน ต้องนั่งเครื่องบินกี่ชั่วโมง บางคนมาจากครอบครัวที่ยากจนและไม่เคยได้รับโอกาสนี้ การที่พวกเขาได้มีโอกาสไปเห็นโลกที่ต่างออกไปเป็นเรื่องที่ดี ได้เห็นว่าฝั่งนั้นเขาทำอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่ในอีสาน แล้วพอกลับมาก็มาพัฒนาโปรเจต์ของตัวเอง มาปรับสิ่งที่ได้เห็นมากับพื้นฐานทางดนตรีที่เขามีอยู่แล้วหรือปรับใช้กับวงของตัวเองในอีสาน

“ทำดนตรีมาแบบนี้จะขายได้เหรอ”

ก้อยไข่มดแดงแกงหน่อไม้
อร่อยเหลือหลายข้าวเหนียวร้อนๆ
กับข้าวไม่หรู แค่น้ำพริกปลาทู หนูก็ถูกใจ
มาอยู่เมืองกรุงกินข้าวคราใดหัวใจสะท้อน
กับข้าวมากมายไม่ได้สนใจ เพราะใจอาวรณ์คิดถึงกับข้าวบ้านเรา

ความคิดถึงบ้านของคนอีสานนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้อนุสรา ดีชัยชนะ นักร้องและนักแต่งเพลงแห่งอภิชาติ ปากหวานเขียนเพลงนี้ขึ้น ความคิดฮอดบ้านนี้ช่างคล้ายกับคำรำพึงรำพันในเสียงแคนจากแมนชั่น หนึ่งในเพลงโปรดของเธอ “เป็นเพลงที่สะท้อนชีวิตของคนอีสานที่มาอยู่ในเมืองกรุง ทำงานมาเหนื่อยๆ ได้ยินเสียงแคนลอยมา ใครเป็นคนเป่านะ ช่างไม่อายความเป็นตัวตนของตัวเองเลย” 

4 หนุ่มสาวจากแดนอีสาน ซึ่งเป็นนักร้องและนักดนตรีแห่งวงอภิชาติ ปากหวานอยู่กับเราที่นี่แล้ว มาคุยกับอนุสรา, วิมลมาศ กางจันทา, อังคณาง พิมพ์วันคำ และชนาวัฒน์ จอนจอหอกัน 

ร้องเพลงกับวงนี้ยากกว่าร้องหมอลำปกติไหม

อนุสรา: ตอนแรกที่ได้ฟังเราไม่เข้าใจดนตรีเลย ไม่เข้าใจจังหวะ เพลง คิดฮอดบ้าน ที่เราแต่งให้โอลิวิแอร์ทำดนตรีนี่เราร้องขึ้นไม่ถูกเลย แต่พอฟังไปฟังมาก็เริ่มเข้าใจ จับจุดได้

วิมลมาศ: ดนตรีจะขัดกับความรู้สึกเรา เราฟังเพลงอีสานมา มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง จะเร็วแบบฉับ ฉับ ฉับ พอมาผสมกับอิเล็กทรอนิกส์ จังหวะมันจะเป็นแบบดั๊บ จะเร็วก็เร็วไม่สุด ช้าก็ช้าไม่สุด ซึ่งขัดกับความรู้สึกของคนที่เคยฟังเพลงอีสาน เราก็จะกังวล ก็ต้องจำว่าเราต้องร้องขึ้นตรงนี้นะ 

อังคณาง: คือท้าทายทั้งคนร้อง คนแต่ง และคนฟัง

ชนาวัฒน์: ก่อนหน้านี้มีโดนว่าเหมือนกัน

อังคณาง: ตอนแรกๆ โดนว่าเยอะ คนที่ชอบหมอลำแบบดั้งเดิมไม่เข้าใจ วิจารณ์ว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่เปิดใจกว้าง พ่อแม่เราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำดนตรีมาแบบนี้จะขายได้เหรอ ขนาดคนอีสานยังไม่เข้าใจเลย เขายังไม่มั่นใจในโปรเจกต์ที่เราเริ่มตั้ง เขาถามว่าทำไมไม่ทำดนตรีแบบอื่นหรือหางานอื่นทำ

อนุสรา: พ่อเราฟังไม่รู้เรื่องเลย ทำไมดนตรีเป็นแบบนี้ แต่แม่เข้าใจ แม่เป็นหมอลำที่คิดว่าดนตรีจะอยู่ที่เดิมไม่ได้ ต้องมีอะไรใหม่ๆ 

ชนาวัฒน์: สำหรับผม ผมว่าเปิดประสบการณ์พอสมควร ผมเล่นแบบขนบมาแล้ว เราเล่นลายอย่างนี้มาแล้ว พอมาอยู่วงนี้ก็เล่นลายเดิม เพียงแต่เอาความเป็นตัวเองใส่ลงไป สำหรับโปรเจกต์นี้ ผมคิดว่ามันจะทำให้ดนตรีของผมไม่ตาย ถ้าเราอยู่นิ่ง ดนตรีเราตายแน่ มันจะเชยและตายไปกับเรา 

“คนอีสานคิดว่าการอนุรักษ์ไม่ใช่การซื้อแคนมาแขวงผนังไว้ แต่คือการจับมาเป่าให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป” 

ชนาวัฒน์: ดนตรีอีสานไม่หยุดอยู่กับที่ คือมีขนบแต่ไม่ใช่ขนบตายตัว วงหมอลำต่างๆ ในอีสานจะออกแสดง 8 เดือน แล้วพักช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน ระหว่างพักแสดงก็จะทำโชว์ใหม่ แล้วทิ้งการแสดงชุดเก่าหมดเลย หมอลำคณะใหญ่ๆ จะต้องทำผลงาน ถ้าใครหยุดอยู่ที่เดิมก็จะไม่มีงาน เราต้องดิ้นรนไปเรื่อย พัฒนาการดนตรีหมอลำจึงไม่หยุดกับที่ คนอีสานคิดว่าการอนุรักษ์ไม่ใช่การซื้อแคนมาแขวงผนังไว้ แต่คือการจับมาเป่าให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 

ทำไมเข้าพรรษาถึงไม่จ้างวงหมอลำ

อนุสรา: เราว่าน่าจะเป็นเพราะช่วงเข้าพรรษา พระจะอยู่กับวัด การไม่ส่งเสียงดังก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่ง

ชนาวัฒน์: ส่วนหน้ากฐิน (ช่วงออกพรรษาไปจนถึงลอยกระทง) จะมีการแสดงหมอลำเยอะ พอออกพรรษาได้ไม่กี่วัน หมอลำทุกคณะจะเปิดให้ดูฟรี คนก็จะไปดูเพื่อจะรู้ว่าปีนี้จะจ้างวงไหน แล้วก็จะมีช่วง ‘ปิดวง’ ก่อนเข้าพรรษา มีการจัดงานใหญ่ ให้ดูหมอลำฟรีที่บ้านพักตัวเอง เหมือนเป็นการฉลองคืนรายได้ให้กับคนดู พออีก 3 เดือนอีกก็เก็บตัวเพื่อสร้างผลงานใหม่

นักดนตรีในอีสานส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีอาชีพหรือเปล่า

ชนาวัฒน์: ถ้าเป็นหมอลำคณะใหญ่ก็เป็นนักดนตรีอาชีพ แต่ถ้าเป็นหมอลำกลอน ซึ่งมีแคนกับคนร้อง ส่วนใหญ่ก็คือชาวบ้านที่ทำไร่ทำนา 

ไอ้ลูกลาว

อังคณาง: ช่วงแรกเราต่อต้านหมอลำ เราเป็นเด็กบ้านนอก ถูกคนกรุงเทพเรียกว่าเป็นลาว ก็เลยรู้สึกว่าไม่อยากดูหมอลำ ทั่วไปจะมีให้เลือกสองอย่างคือหนังกลางแปลงกับหมอลำ เราเลือกดูหนังกลางแปลงตลอด ไม่อยากถูกเรียกว่าเป็นลาว ทั้งๆ ที่ย่ากับยายชอบดูหมอลำ โดยเฉพาะหมอลำกลอน เวลายายชวนไปก็จะไม่ไป ไปครั้งแรกก็จะอาย

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราจะไปนั่งดูหมอลำทั้งวันทั้งคืน จะไปเต้นหน้ารถแห่ด้วย พอหลังจากที่เราทำโปรเจกต์นี้มา ตอนเราเรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรารู้สึกภูมิใจในความเป็นไทยอีสาน ในความเป็นลาว เราอยากนำเสนอตรงนี้ อยากนำเสนอดนตรีชนเผ่า ดนตรีลาว ดนตรีอีสาน

ชนาวัฒน์: ผมรู้สึกตรงข้ามกับอังคณาง ผมอยู่โคราชฯ แต่แม่เป็นคนร้อยเอ็ด เพื่อนก็จะล้อว่าไอ้ลูกลาว แต่ใจผมชอบดนตรีอีสานมาตั้งแต่เกิด ผมฟังดนตรีอีสานเวลาจะกลับร้อยเอ็ด ฟังแล้วน้ำตาไหล เหมือนคนอีสานหลายคนที่มาทำงานกรุงเทพ เวลาได้ยินเสียงพิณเสียงแคนแล้วน้ำตาไหล มันบอกไม่ถูก แต่ผมมาโดนบังคับเรียนดนตรีไทย เพราะที่โคราชไม่มีวงโปงลาง ที่โคราชเวลาผมจับเครื่องดนตรีอีสานจะถูกล้อว่าไอ้ลูกลาว ขนาดปู่กับแม่ผมนี่ไม่ถูกกัน จนผมได้ดีแกถึงยอมรับว่า เออ นี่แหละลูกลาว ผมคิดในใจว่า ลาวแล้วไงวะ

พอปู่บอกว่า อย่าทำวงโปงลาง ผมทำทันที เอาซีดีที่มีอยู่มาเปิดดูแล้วหัดเอง จริงจังมากช่วงนั้น จนเล่นได้จริงๆ พอมาเรียนมหาวิทยาลัยก็รู้จักรุ่นพี่ เขาก็สอนเรา ผมไปอยู่ขอนแก่น 7 ปี เรียนทั้งป.ตรีและป.โท ซึมซับวัฒนธรรมลาวมาเต็มที่ 

เหมือนชนผิวดำในอเมริกาที่โดนกดขี่ ถูกถ่ายทอดมาอย่างนี้ คำร้องของดนตรีอีสานมักจะขึ้นคำว่า “โอยหนอ” ก่อน คือมันทุกข์ยาก 

เลิกอายที่ตัวเองเป็นคนอีสานเมื่อไหร่

อังคณาง: เราอายในดนตรีอีสาน เราเลยเลือกเรียนดนตรีไทย ทั้งที่โรงเรียนเราก็ดังเรื่องดนตรีอีสาน หลังจากนั้นพอเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น เราเห็นโปรเจกต์จบของนักศึกษา เห็นความงดงามของการแต่งกาย ของดนตรี การแต่งหน้าทำผม ท่าทางการฟ้อนรำ เรารู้สึกว่า เฮ้ย รู้สึกเสียดายที่ตอนเด็กเราปิดตัวเองเพราะอายที่จะถูกเรียกว่าเป็นลาว คือคนลาวด้วยกันก็จะว่าคนลาวด้วยกัน 

ชนาวัฒน์: เขาปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ปลูกฝังให้พูดไทย ตั้งแต่สมัยจอมพลป. (พิบูลสงคราม) แล้วที่ห้ามคนอีสานพูดภาษาลาว คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะสอนผมให้พูดไทย ขนาดไปร้อยเอ็ดผมก็ต้องพูดไทย เขาจะไม่พูดภาษาอีสานด้วย แต่ทุกวันนี้ผมไม่สนใจ 

เหมือนชนผิวดำในอเมริกาที่โดนกดขี่ ถูกถ่ายทอดมาอย่างนี้ คำร้องของดนตรีอีสานมักจะขึ้นคำว่า “โอยหนอ” ก่อน คือมันทุกข์ยาก 

มีวงที่ผมชอบคือวง ‘กู่แคน’ เป็นวงโฟล์กอีสานที่ตอนแรกคนดูถูก ถือแคนไปเซ็นทรัลขอนแก่นยังรู้สึกอาย ขนาดอยู่อีสานแท้ๆ แต่เพื่อนผมถือแคนเข้าไป ไปเป่ากลางเซ็นทรัล คนก็มอง ต่อมาเพื่อนผมคนนี้มาทำเพลง ปรากฎว่าดังมาก แล้วเกิดเพลงโฟล์กอีสานขึ้นมามากมาย ก่อนหน้านี้คนเป่าแคนในพิธีเหยาหรือพิธีอื่นๆ นี่ไม่มีนะครับ ไม่มีใครสืบทอด ต้องเปิดเทปเอา แต่พอมีอีสานฟีเวอร์ขึ้น คนกล้าจับแคน เหมือนมันเป็นเครื่องดนตรีที่มีศักดิ์ศรีชนิดหนึ่ง ทัดเทียมกับไวโอลิน

อังคณาง: มีครั้งหนึ่งแสดงดนตรีอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม เราเล่นฉาบไม่ออก เราร้องไห้ เราเห็นน้องๆ ตั้งใจแสดงดนตรี คือเราทำงานหนักมาก จัดการเองทุกอย่าง เรื่องการเดินทาง ที่อยู่ วีซ่า พอเราเห็นเขาแสดงเต็มที่เราน้ำตาไหล อยากให้คนอีสานมายืนตรงจุดที่เรายืน เห็นฝรั่งเต็ม เต้นกัน มีคนไทยหลายคนที่ร้องไห้ บอกเราว่า “แม่บ่ได้กลับบ้านมาสี่ห้าปีแล่ว เป่าแคนให้ฟังอีกหน่อย” เราประทับใจโอลิวิแอร์ด้วยที่สามารถนำเพื่อนมาสร้างสรรค์งานด้วยกัน นำดนตรีอีสานไปสู่คนอีสานที่อยู่ต่างแดน และนำกลับมาสู่คนไทยในประเทศไทย

ชนาวัฒน์: ผมว่าปัจจุบัน คนภูมิใจเสียอีกในความเป็นคนอีสาน ผมคิดว่าตอนปี 2540 คนอีสานมาทำงานในกรุงเทพเยอะ เพลงแรกที่ดังมากคือ ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ ของอ.สลา คุณวุฒิ เอาโหวด (เครื่องเป่าของภาคอีสาน รูปร่างทรงกระบอกคล้ายบั้งไฟ) มาเล่น ตั้งแต่นั้นคนอีสานก็รู้สึกว่า ดนตรีบ้านเราก็สวยงามเหมือนกัน หลังจากนั้นก็เกิดอีสานฟีเวอร์สุดๆ ช่วงโปงลางสะออนดัง ทุกคนอยากจับพิณ ผมก็เป็นหนึ่งในเด็กรุ่นนั้นที่รู้สึกว่าเล่นดนตรีอีสานแล้วเท่ มีมหาวิทยาลัยเปิดสอนปริญญาตรีด้านดนตรีอีสาน เมื่อก่อนคนพูดว่านักดนตรีอีสานบ้านนอกไม่มีใบปริญญาหรอก มาเดี๋ยวนี้มาคนจบปริญญาด้านดนตรีอีสานเยอะมาก เราก็รู้สึกว่าเราก็ไม่ได้ด้อยกว่าศาสตร์อื่นเขา ไม่ได้ด้อยกว่าดนตรีสากลหรือดนตรีไทย เราก็มีศาสตร์ของเราซึ่งบรรพบุรุษของเราถ่ายทอดมา อีสานฟีเวอร์ก็เลยเกิดขึ้น

คิดว่าอีสานฟีเวอร์เกิดจากอะไร

อังคณาง: ความไม่เท่าเทียมและการต่อสู้เพื่อมีที่ยืนของคนอีสาน สำหรับเรานะ คือทุกครั้งเราเข้าไปในเมืองเรารู้สึกว่าเขามองเหยียด ทั้งๆ ที่คนอีสานเป็นคนเฟรนด์ลี่ ตลก สนุก ชอบช่วยเหลือ แต่ตอนนี้ดีขึ้น ทุกวันนี้คนภูมิภาคอื่นๆ ชอบกินส้มตำ มีคนชอบฟังหมอลำ 

เสียงแคนบนหลังควาย

พูดถึงเพอร์คัชชั่นที่ใช้ในโปรเจกต์นี้หน่อย เห็นมีเยอะเหลือเกิน สรุปมีทั้งหมดกี่ชิ้น

อังคณาง: มีมาเพิ่มอยู่เรื่อยๆ มีมาจากทุกประเทศที่เราไปทัวร์ บางคนบอกว่าเหมือนเป็นสวนสัตว์เลย มีเพอร์คัชชั่นที่เป็นปลา นก กบ 3 ขนาดที่ให้เสียงไม่เหมือนกัน มีคาวเบลล์ ทั้งของควายและวัว ทำด้วยไม้และเหล็ก ถ้าต้องการเสียงสูงจะใช้ของวัว เสียงต่ำจะใช้ของควาย ส่วนกบนี่ที่อินโดนีเซียก็มี แต่ของเราซื้อมาจากเชียงใหม่ แล้วก็มีฉิ่งและฉาบ

ตอนเด็กๆ เราชอบเสียงวัวเดินเข้าบ้าน พอมีเสียงนี้ประกอบพิณและแคนแล้วฟังดูอบอุ่น เสียงมันเพราะ

“บางครั้งเราได้ยินเสียงแคนแล้วรู้สึกว่าเสียงมันกินใจ เสียงคนเป่าแคนบนหลังควาย มีเสียงแคน มีเสียงวัวควายเดินลงไปกินน้ำกินหญ้า เราก็เลยนำคาวเบลล์มาใช้ด้วย”

ชนาวัฒน์: ส่วนใหญ่กระดิ่งจะใช้ใส่วัว ส่วนบักกะโหลงจะใช้ใส่ควาย เพื่อจะได้แยกเสียงได้ เวลามันหลงเข้าป่าเราจะได้ยิน บักกะโหลงของตัวที่เป็นจ่าฝูงจะใหญ่กว่าเพื่อน แล้วควายทุกตัวในฝูงจะฟังจ่าฝูง ตอนเด็กๆ ผมเห็นตาขี่ควาย เลยอยู่ในความทรงจำ

อังคณาง: เราอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม ได้ยินเสียงนี้แล้วคิดถึงตอนเราอยู่เมืองไทย ได้ยินเสียงวัวควายลงไปกินน้ำ มันดึงจินตภาพตรงนั้นขึ้นมา เพอร์คัชชั่นต่างๆ เหมือนบันทึกการเดินทางของเราด้วย ทุกครั้งเราไปที่ไหน เราก็ลองหาเครื่องดนตรีที่เข้ากับวง เลือกซื้อมาจากแต่ละที่ คาวเบลล์ตัวใหญ่ซื้อมาจากเชียงใหม่ ตัวเล็กมาจากสุรินทร์ ปลาซื้อมาจากเวียดนาม นกซื้อมาจากลาว

บางครั้งเราได้ยินเสียงแคนแล้วรู้สึกว่าเสียงมันกินใจ เสียงคนเป่าแคนบนหลังควาย มีเสียงแคน มีเสียงวัวควายเดินลงไปกินน้ำกินหญ้า เราก็เลยนำคาวเบลล์มาใช้ด้วย

อยากให้พูดถึง booklet ที่แถมมากับซีดีอัลบั้ม Esantronics หน่อย อ่านแล้วรู้สึกว่าตั้งใจทำมาก

อังคณาง: ดีใจที่เราแปลความเป็นอีสานให้เป็นสากล บางทีคนไม่รู้หรอกว่าเพลงพูดถึงอะไร ลองแปลเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งเข้าใจ บางเพลงสื่อถึงความทุกข์ยากของคนอีสาน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนแปล

ตอนแรกเคยคิดเล่นๆ ว่าจะร้องหมอลำเป็นภาษาอังกฤษ แต่โอลิวิแอร์บอกว่าร้องยังไงก็ไม่เพราะ มันไม่ใช่หมอลำ คือเราพยายามจะให้ฝรั่งเข้าใจ แต่สำเนียงร้องของหมอลำก็ไม่ได้อยู่ดี เอาเข้าจริงๆ ฝรั่งก็ฟังไม่รู้เรื่อง เราก็เลยคงภาษาอีสานหรือภาษาไทย ให้เขาฟังดนตรี ถ้าเขาอยากรู้เนื้อร้องก็ให้อ่านที่เราแปลไว้ใน booklet ที่แถมมากับซีดี

บทสนทนาจบแล้ว แต่เสียงดนตรีจากแผ่นเสียงยังคงลอยอยู่ในอากาศ….อภิชาติปากหวานประสานเสียง เป็นสำเนียงอีสานดั๊บรูปแบบใหม่ อิเล็กทรอนิกส์สอดประสมอีสานไทย ขอฝากไว้ให้เอ็นดูช่วยชูชม

ชวนฟัง EP Angkanang และอัลบั้ม Esantronics ส่วนใครอยากอ่าน booklet ที่เล่าถึงที่มาที่ไปของแต่ละเพลงในอัลบั้มอีสานทรอนิกส์ละก็ แนะให้ไปหาแผ่นซีดีหรือแผ่นเสียง Esantronics มาครอบครองโดยพลัน

ติดตามความเคลื่อนไหวการแสดงสดของพวกเขาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ApichatPakwanOfficial

Tags: , , ,