เมื่อวานนี้ (19 มีนาคม 2024) รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ออกแถลงการณ์เตือนชาติอาเซียนถึงความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา ชี้เป็นการ ‘ตบหน้า’ ชาวเมียนมาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศ พร้อมระบุว่า ชาติอาเซียนไม่มีอาณัติใดร่วมกันให้ไทยเป็นผู้นำในการแก้ไขวิกฤตการณ์เมียนมา หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ (TIME) 

รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นในปี 2013 เป็นการรวมตัวกันของอดีตนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง รวมถึงภาคประชาสังคมทั่วภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

APHR ชี้แจงว่า การมีส่วนร่วมของอาเซียนต่อรัฐบาลทหารเมียนมาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นการให้ความชอบธรรมต่อระบอบเผด็จการ และหักหลังความพยายามของฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมา

ชาร์ลส์ ซานติอาโก (Charles Santiago) ประธานสภา APHR กล่าวเตือนอย่างตรงไปตรงมาถึงประเทศสมาชิกว่า อาเซียนยังคงติดต่อและร่วมมือกับทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่อง แม้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า รัฐบาลทัตมาดอว์ (Tatmadaw) ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายต่อพลเมืองเมียนมา

“นี่เป็นการตบหน้าคนเมียนมา และการต่อต้านอย่างกล้าหาญของพวกเขา ในการเผชิญหน้ากับการกดขี่ของรัฐบาลทหารอันป่าเถื่อน” 

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในอาเซียน นำโดย อาลุนแก้ว กิดติคุน (Alounkeo Kittikhoun) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว เรียกร้องมาตรการให้เมียนมา ‘จัดการปัญหา-หาทางออก’ ด้วยตนเอง ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2024 โดยมีเมียนมาเข้าร่วมการประชุมในรอบ 3 ปี หลังเกิดการรัฐประหารโดย พลเอกอาวุโส  มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ในปี 2021

อย่างไรก็ตามผลปรากฏว่า ในแถลงการณ์ไร้การพูดถึงการมีส่วนร่วมของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ตั้งคำถามถึง ‘ความบาดหมาง’ ระหว่างชาติอาเซียน เมื่อกลุ่มประเทศหนึ่งปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีประเทศไทยต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังเศรษฐาให้สัมภาษณ์ในนิตยสารไทม์ฉบับวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาว่า อาเซียนต้องการให้ไทยเป็นผู้นำจัดการวิกฤตการณ์เมียนมาครั้งนี้ 

“อาเซียนเห็นพ้องต้องกันให้ไทยเป็นผู้นำการเจรจาสันติภาพ เราเชื่อว่าอีกไม่นาน อาเซียนจะมีทางออกร่วมกันเพื่อสันติภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของเมียนมา ขณะที่ในระหว่างนี้ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบริเวณชายแดนคือสิ่งที่เราต้องทำควบคู่กันไป” นายกรัฐมนตรีไทยให้สัมภาษณ์พร้อมระบุว่า สันติภาพเป็นเรื่องดีต่อการค้าและการลงทุนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ซานติอาโกโต้แย้งว่า ชาติอาเซียนไม่เคยมีมติร่วมกันให้ไทยเป็นผู้นำในการเจรจาสันติภาพในเมียนมา โดยอ้างถึงการกระทำของไทยในอดีต เมื่อ ดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์​ จันทร์โอชา พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจากับทหารเมียนมา ซึ่งรวมถึงการประชุม ‘อย่างไม่เป็นทางการ’ ท่ามกลางการปฏิเสธจากสิงคโปร์ ประธานอาเซียนในขณะนั้น

“ไม่มีอาณัติภายในอาเซียนที่จะยอมรับไทยในฐานะผู้นำ เพื่อการจัดการวิกฤตการณ์เมียนมา ทั้งไม่ใช่ประธานอาเซียนและสมาชิกอาเซียนทรอยกา คำพูดของนายกรัฐมนตรีไทยอาจบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของประชาคมและหลักความเป็นแกนกลางอาเซียน (ASEAN Centrality)” 

ซานติอาโกกล่าวถึงอาเซียนทรอยกา (ASEAN Troika) ซึ่งเป็นกลไกหารืออย่างไม่เป็นทางการของอาเซียนในเรื่องเมียนมาตามฉันทมติทั้ง 5 (Five-Point Consensus) ประกอบด้วย 3 สมาชิก ได้แก่ อินโดนีเซีย ลาว และมาเลเซีย โดยหมุนเวียนจากตำแหน่งประธานอาเซียน

APHR ยังเสริมว่า ความน่ากังวลที่สำคัญอย่างยิ่ง คือโกลบอลนิวไลต์ออฟเมียนมา (Global New Light of Myanmar) สื่อภายใต้รัฐบาลทัตมาดอว์ เขียนชื่นชมอาเซียนในเชิงบวกถึงการมีส่วนร่วมระหว่างกันว่า ในที่สุดอาเซียนก็ ‘เข้าใจตรงกัน’ เสียที หลังอนุญาตให้รัฐบาลเผด็จการเมียนมาเข้าร่วมประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศในรอบ 3 ปี พร้อมเน้นย้ำว่า รัฐบาลทหารจะสามารถทำให้เมียนมาเข้มแข็งได้

“ในฐานะประเทศที่อ้างถึงสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย อินโดนีเซียและมาเลเซียต้องใช้กระบอกเสียงภายใต้อาเซียนทรอยกา เพื่อยุติการข้องเกี่ยวกับรัฐบาลทหารเมียนมาและทำให้พวกเขาต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมทั้งหมด

“การกระทำใดๆ ที่ลดน้อยถอยลงไปกว่านี้จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือและความสัมพันธ์ รวมถึงหน้าตาของอาเซียนในระดับโลกด้วย” ซานติอาโกกล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง

https://aseanmp.org/2024/03/19/aseans-continued-engagement-with-myanmar-junta-risks-legitimizing-illegal-regime-southeast-asian-mps-say/

https://www.rfa.org/english/commentaries/asean-toika-commentary-11142023085037.html

https://jakartaglobe.id/news/asean-establishes-new-troika-to-find-solution-on-myanmar-crisis

https://www.gnlm.com.mm/finally-asean-sees-the-light/

https://www.asean.or.id/amm/as_troika.htm

https://www.aljazeera.com/news/2024/1/30/asean-urges-myanmar-owned-and-led-solution-to-crisis-triggered-by-coup

Tags: , , , , , , , , , , ,