ใครที่ยังไม่ได้ดูเอ็มวีเพลง Apeshit ของ The Carters โปรดคลิกดูแล้วค่อยมาอ่านต่อ เพราะนี่คือหนึ่งในเอ็มวีที่เป็นประวัติการณ์ต่อจาก This is America และเป็นอีกครั้งที่ศิลปินผิวดำทำให้ทั้งโลกต้องจับตามอง
Apeshit หรือ Apes**t เป็นผลงานเพลงเปิดตัวอัลบั้ม Everything is Love โดยศิลปิน The Carters ที่เป็นการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการของบียอนเซ่และเจย์ซี ขณะที่เนื้อเพลงก็ว่าด้วยโวหารสาธยายความรวยและความคูล แบรนด์เนมต่างต่าง ขิงซูเปอร์โบวล์ ขิงแกรมมี่อวอร์ด ฯลฯ ขณะที่ภาพเคลื่อนไหวในเอ็มวีนั้นเป็นอีกเรื่อง ฮุกกันตั้งแต่หมัดแรกด้วยภาพทูตสวรรค์ผิวดำผมเดรดล็อก สวมรองเท้าผ้าใบขาวที่ไม่ใช่ Yeezy จากนั้นก็พาเราบุกเข้าสู่โลกเรอเนสซองซ์ของคนขาว
หลังจากเอ็มวีตัวนี้ปล่อยออกมา หลายสื่อพาดหัวทำนองว่า The Carters take over Louvre แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของทั้งคู่ เพราะเมื่อปี 2014 บียอนเซ่และเจย์ซีเคยไปถ่ายรูปคู่กับโมนา ลิซ่าแบบใกล้ชิดที่สุดในโลก (ถ้าไม่นับบรรดาเซเล็บด้วยกันอย่าง คาร่า เดเลอวีนจ์ พี ดิดดี้ หรือเอมิเนม ฯลฯ) จนถูกแซะและกลายเป็นมีมอยู่พักใหญ่
และคราวนี้ หลังจากเขียน synopsis เพื่อขอเช่าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์เพื่อถ่ายทำเอ็มวี พวกเขาก็ยกขบวนนักเต้นผิวดำเข้าไปทำการแสดงขนานใหญ่กันในลูฟร์ ที่มีภาพจำเป็นถิ่นที่ของทวยเทพและงานศิลปะชั้นสูง ทั้งหมดเป็นไปโดยศิลปินคนขาวเพื่อผู้เสพคนขาว ซึ่งตอนนี้ถูกเหล่า ‘ลิงใหญ่’ เข้ามาประจันหน้าใกล้ๆ ด้วยความเกรี้ยวกราดที่คุกรุ่นอยู่ข้างใน หากแต่แสดงออกมาอย่างมีอารยะ มีการตัดช็อตสลับกันอย่างจงใจให้คู่ขนานและคอนทราสต์กัน ระหว่างงานศิลปะและชนผิวดำ หากลิงใหญ่คือความห่างไกลจากอารยธรรมมากที่สุด ศิลปะชั้นสูงก็คงเป็นความรุ่มรวยทางอารยธรรมขั้นสุด การที่บียอนเซ่กับเจย์ซีนำสองสิ่งมาเจอกันอย่างนี้ ก็เดาไม่ยากว่าลิงใหญ่หมายถึงใคร และตอนนี้พวกเขาไปไกลถึงไหนกันแล้ว
ขณะที่มนุษย์ในเอ็มวีต่างเต้น ขยับเคลื่อน ลูบไล้กัน มนุษย์ในงานศิลปะถูกฉายเพื่อเล่ามิติต่างๆ ของ ‘อารยชน’ ตั้งแต่เทพเจ้าที่พวกเขาสักการะ พิธีกรรม ชีวิตประจำวัน ความเมามาย ความหิวโหย และ สงคราม บางจังหวะก็ดูเป็นมีมดีเชียว
ไม่ว่าโมนา ลิซ่า จะยิ้มเย็นชวนค้นหาแค่ไหน ก็ไม่เท่ารอยยิ้มของบียอนเซ่และเจย์ซีที่เจาะให้เห็นกันชัดๆ Venus de Milo (100 BC) ที่ไร้แขน ก็มีบียอนเซ่ในคอเซ็ตวันพีซมายืนเต้นวาดเหวี่ยงแขนโดยปล่อยให้วีนัสทำได้เพียงยืนนิ่งเป็นประจักษ์พยาน Winged Victory of Samotrace (190 BC) รูปปั้นเทพธิดาแห่งชัยชนะไร้หัวผิวสีขาวจั๊วะ เป็นที่จดจำด้วยเทคนิคการปั้นความพลิ้วของผ้า (wet drapery) ก็ถูกเทียบทันด้วยบียอนเซ่ที่แต่งตัวด้วยเดรสผ้าเดรปซึ่งอลังการกว่าและเฟียร์ซกว่า
ขณะที่ภาพขนาดยักษ์จากยุคนีโอคลาสสิคอย่าง The Coronation of Napoleon (1807) ที่ว่าด้วยพิธีการสถาปนาจักรพรรดินีโจเซฟีน ก็มีทีมสาวผิวดำสุดสตรองใช้ร่างกายของพวกเธอเป็นศิลปะต่อกรอย่างสมน้ำสมเนื้อ ภาพสุดท้ายในเอ็มวีเห็นจะเป็นภาพของผู้หญิงผิวดำ Portrait of a Back Woman, (or Negresse) โดยศิลปินมารี เบอร์นัวต์ วาดขึ้นในปี 1800 ซึ่งเป็นปีที่มีการถกเถียงเรื่องการเลิกทาสอันเผ็ดร้อน ภาพเต็มๆ ของหญิงสาวในภาพเธอเปลือยอก แต่ในเอ็มวีเลือกจะเจาะเข้าไปที่ใบหน้าให้เราเห็นแววตาของเธออย่างเด่นชัด
เมื่อดูเอ็มวีจนจบ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายิ่งเห็นความคูล ความงดงาม ความมีศิลปะ (และความรวย) ของชนผิวดำอย่างชัดเจนกว่าครั้งไหนๆ และ ณ บัดนี้ ลูฟร์ คืออาณาจักรของพวกเขาและเธอ งานเพนท์ติ้งและปฏิมากรรมทั้งหลายถูกลดทอนสถานะอันสูงส่งอย่างแนบเนียน เส้นแบ่งทางชนชั้นวรรณะเริ่มพร่าเลือน เหลือแต่ความงดงามที่ทั้งสองฝั่งต่างก็มีเท่าๆ กัน หรืออันที่จริงมีฝ่ายที่ดูเหนือชั้นกว่าด้วยซ้ำ
หลายปีมานี้ ศิลปะชั้นสูงกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญของศิลปินผิวดำ คล้ายที่คานเย่ เวสต์เคยพยายามในเอ็มวีเพลง Famous ของเขา เราเริ่มเห็นศิลปินฮิปฮอปละทิ้งสร้อยเส้นโตหรือแหวนบลิงค์บลิงค์ที่เอาไว้แสดงความร่ำรวยหรือความเจ๋งของคนดำมาตั้งแต่ยุค 80s แล้วเลือกแสดงพลังด้วยวิธีอื่นกันบ้าง และสิ่งที่ปรากฏใน Apeshit ก็นับเป็นงานคอลลาจที่หยิบเอาชิ้นส่วนจากสิ่งที่ประณีตงดงามที่สุดโดยคนขาวมาใช้อย่างเปี่ยมความหมาย ไม่ใช่การหยามหยันอย่างหยาบๆ เป็นวิธีการ ‘ดูแพง’ อย่างหาข้อติยาก และเป็นงานศิลปะคนดำ (Balck Art) ที่น่าจับตาแห่งศตวรรษ
ที่ผ่านมาศิลปินผิวดำไม่ได้มีพื้นที่ในโลกศิลปะมากเท่าที่ควรด้วยหลายเหตุผล อย่างการเหยียดเชื้อชาติ หรือการถูกมองว่าไม่ได้มีประวัติศาสตร์ศิลป์ที่แข็งแรงพอ เพราะในศตวรรษที่ชนผิวขาวดำดิ่งสู่โลกแห่งฝีแปรงนั้น คนเชื้อสายแอฟริกันยังถูกกดให้เป็นทาสอยู่ (ขณะที่ดนตรีคนดำมีประวัติศาสตร์และที่ทางเยอะกว่ามาก หากจะเทียบกัน) ดังนั้นศตวรรษที่ 21 นี้ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พวกเขาจะขยายที่ทางทางวัฒนธรรมของตัวเองออกไปได้อีก ซึ่ง Apeshit ก็คงเป็นการกรุยทางที่ต้องจดจำ แต่อย่างไรก็ตาม มีคนที่ไม่อินด้วย
เช่นบทความจาก thefader.com กล่าวถึงปัญหาของเอ็มวี Apeshit สองข้อด้วยกัน นั่นคือ การใช้ศิลปะเป็นเพียงเครื่องประดับหรูหรา และการทำให้เห็นภาพว่าศิลปะกลายเป็นสิ่งที่คนรวยมากเท่านั้นจะเข้าถึงได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งสำหรับกรณีหลัง ข้อมูลจากนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า พิพิธภัณฑ์ลูฟร์เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาถ่ายทำงานต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว และค่าเช่าพื้นที่ก็คือ 17,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 570,000 บาท ซึ่งถือว่าสมน้ำสมเนื้อสำหรับงานกองถ่ายโปรดักชั่นใหญ่ๆ สิ่งที่ยากคือการเขียน synopsis ให้ผ่านเสียมากกว่า ส่วนใครจะมองว่างานศิลปะเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องโชว์ความหรูหราหรือไม่นั้นคงขึ้นอยู่กับมุมมองใครมุมมองมัน
มีอีกความคิดเห็นใน medium.com ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคู่รักคาร์เตอร์ (เขียนไว้ก่อนที่ทั้งคู่จะปล่อยเพลง Apeshit ออกมา) แม็กซ์ เอส. กอร์ดอน ผู้เขียนบทความดังกล่าวมองว่า เขาเคารพในความเป็นศิลปินของคนทั้งคู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบียอนเซ่และเจย์ซีคือนักการตลาดตัวยง ทั้งคู่เก่งนักเรื่องการโยงตัวเองเข้ากับความแอฟริกัน (Blackness) เพื่อเรียกความสนใจและสร้างภาพลักษณ์ความภาคภูมิในเผ่าพันธุ์ เช่นในวิธีนำเสนอเพลง Lemonade ของบียอนเซ่ (ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยว่าข่าวฉาวที่โซแลง น้องสาวของบียอนเซ่เกรี้ยวกราดใส่เจย์ซีพี่เขยในลิฟต์ ก็ถูกเซ็ตขึ้นมาโปรโมทเพลงนี้ด้วยซ้ำ)
แม็กซ์ยังมองว่าผลงานของคู่รักคาร์เตอร์ไม่เพียงแต่สื่อสารความแข็งแกร่งของเผ่าพันธ์ผิวดำ มันยังมาพร้อมกับแนวคิดทุนนิยม วัตถุนิยม ความลำพองตนถึงขีดสุดในฐานะมหาเศรษฐี และหากเราจะใช้สายตาอย่างนั้นมองไปที่เอ็มวี Apeshit ก็พอจะเข้าเค้า
อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าควีนบีและเจย์ซีจะคิดอะไรอยู่ลึกๆ ในการเลือกทำเอ็มวีแบบนี้ แต่การที่มันสร้างปรากฏการณ์คนดูกว่า 22 ล้านคนในเวลาเพียง 3 วัน อันนำไปสู่ข้อถกเถียงและการวิเคราะห์ถอดความต่างๆ มากขนาดนี้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างที่งานศิลปะสักชิ้นพึงจะเป็นแล้วกระมัง
*หลายเว็บไซต์ต่างประเทศได้นำงานศิลปะที่ปรากฏในเอ็มวีมาอธิบายกันแบบชิ้นต่อชิ้น หากใครสนใจ อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Tags: art, Beyoncé Knowles, Louvre, The Carters, Jay-Z, Blackness, Black Art