เราเลือกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอะไร? ติดแบรนด์? ชอบรสชาติ? แพ็คเกจจิงสวย? หรือภาพลักษณ์ไลฟ์สไตล์ที่ดูเข้ากับตัวเรา? ดูเหมือนว่า ท่ามกลางตัวเลือกที่มียี่ห้อต่างๆ มากมายเรียงรายอยู่เต็มไปหมด มีปัจจัยมากมายที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่ทำให้คนดื่มแอลกอฮอล์จะเลือกหยิบแบรนด์หนึ่งๆ ขึ้นมา

แล้วแบรนด์นั้นต้องทำอย่างไรเพื่อให้คนซื้อเลือกหยิบของแบรนด์ของตัวเองล่ะ? นี่เป็นคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นสำหรับเรา ในเวลายืนเลือกเครื่องดื่มอยู่หน้าตู้แช่ที่ละลานตาไปด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากชนิด

เราจะพาไปหาคำตอบกันว่า แบรนด์นั้นต้องทำอะไรบ้าง เพื่อเข้าถึง และเข้าใจนักดื่มจริงๆ

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา The Momentum มีโอกาสได้ไปเยือนศูนย์นวัตกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC Technical Innovation Center) ศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ณ ประเทศสิงคโปร์ ของดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ ไทยแลนด์ (Diageo Moet Hennessy Thailand) หรือ DMHT

ศูนย์นวัตกรรมเครื่องดื่มแห่งนี้ เป็นศูนย์นวัตกรรมที่วิจัยและพัฒนา (Innovation R&D Centre) เครื่องดื่มในเครือของ DMHT ซึ่งไม่ใช่แค่ของไทย แต่รวมถึงประเทศใกล้เคียง โดยศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหัวใจของการทำงานเลยก็ว่าได้

คอนเซ็ปต์หลักที่ศูนย์แห่งนี้ใช้เพื่อเข้าใจเทรนด์การดื่มของคนในปัจจุบันทั้งในไทยและภูมิภาคนี้ คือ หลัก From Grain to Glass คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่คอนเซ็ปต์จนส่งตรงถึงมือผู้บริโภค โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลักด้วยกัน

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยทีม Innovation R&D

ทีมนักวิจัยของที่นี่เป็นทีมงานหญิงล้วน 5 คน 5 สัญชาติ (จีน ฮ่องกง แคนาดา อินโดนีเซีย และอังกฤษ) โจทย์ที่ทีมนี้ต้องศึกษา คือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภค เช่น เมื่อทีมนักวิจัยเดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมนักดื่มชาวไทยด้วยตนเอง ทำให้พบว่าเทรนด์การดื่มเหล้าบ๊วยจากญี่ปุ่นได้รับความนิยมค่อนข้างมาก จึงเกิดเป็นเครื่องดื่ม RTD (Ready to Drink) อย่าง Smirnoff ICE Umeshu ขึ้น

แต่ขั้นตอนระหว่างนั้น ไม่ได้จบเพียงแค่เพราะรู้ว่าคนไทยชอบดื่มเหล้าบ๊วยแล้วจึงเกิด Smirnoff ICE Umeshu ได้ แต่ทีมวิจัยต้องศึกษาต่อ ว่ารสชาติของมันควรออกมาเป็นแบบไหนถึงจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนที่ชอบดื่มเหล้าบ๊วย

ทางทีมจึงต้องพัฒนาจนเกิดเป็นเครื่องดื่มคอนเซ็ปต์ขึ้นมาก่อน แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญมาทดสอบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องผ่านการทดสอบทางโสตประสาทสัมผัส (Sensory test) เพื่อความเป็นกลางปราศจากอคติ และเพื่อให้มั่นใจว่า สี รสและสัมผัสของผลิตภัณฑ์เป็นที่ชื่นชอบของผู้ดื่ม

การพัฒนากลยุทธ์ และนวัตกรรมแพ็คเกจจิ้ง โดยทีม Commercialization

ทีม Commercialization ประกอบด้วยบุคลากร 7 คนจากหลากหลายเชื้อชาติและความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นสายเคมี จุลชีววิทยา วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยทีม Commercialization จะทดสอบความคงตัว (Stability test) ตั้งแต่การทดสอบสีจนถึงรสสัมผัส ตั้งแต่ก่อนวางขายจนหลังวางขายอย่างน้อย 6 ล็อตเป็นอย่างต่ำ

การทดสอบความคงตัว ก็เพื่อการันตีว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกไปต่อเนื่องนี้ จะยังมีกลิ่น สี รสชาติที่คงที่ ซึ่งในช่วงแรกของการผลิต แต่ละภูมิภาคจะต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์กลับมาที่แล็บทุกๆ เดือนเพื่อทดสอบความคงตัว หากครบกำหนดระยะการทดสอบ และผลิตภัณฑ์นั้นผ่านเกณฑ์ ก็จะได้วางขายต่อไป แต่ถ้าหากทดสอบไม่ผ่าน ก็จะต้องปรับปรุงคุณภาพให้กลับมาเข้าเกณฑ์มาตรฐาน

การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดยทีม Brand Change

ทีม Brand Change สิงคโปร์จะทำงานร่วมกับทีม International Supply Center (ISC) ในภูมิภาคอื่นๆ โดยดูแลกระบวนการลอจิสติกส์แบบครบวงจร ตลอดจนรับผิดชอบโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจของดิอาจิโอ

ทั้งนี้ เรื่องลอจิสติกส์ ยังรวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ต้องเหมาะสมกับการขนส่งและจับเก็บได้ในสภาพอากาศที่แตกต่าง ทั้งหมดจะถูกทดสอบในแล็บเพื่อดูว่า บรรจุภัณฑ์จะสามารถคงอยู่ได้ในทุกสภาพอากาศที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น ทีมจะต้องนำขวดเครื่องดื่มใส่เข้าไปในตู้ทดลองที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นนานหลายวัน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงว่าการใช้วัสดุของบรรจุภัณฑ์นี้ชำรุดหรือคงสภาพเดิมอยู่ รวมไปถึงการทดสอบในอากาศร้อน เย็น เยือกแข็งเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังต้องทดสอบเรื่องการสั่นสะเทือน เพื่อหาว่าวัสดุแบบไหนจะคงสภาพเดิมได้ดีที่สุดในทุกสภาพอากาศและการขนส่ง

For The Hub โดยทีม Singapore Supply Chain

For The Hub นับเป็นจุดกำเนิดของการตกแต่งและปรับแต่งขวดแก้วของ “DIAGEO Project Skyline” ซึ่งนำจุดเด่นของแต่ละเมืองมาสลักลงบนขวดแก้ว เช่น การสลักขวดแก้วใน Johnnie Walker Blue Label คอลเล็คชันนักษัตร 12 ราศี ซึ่งหลังจากได้รับดีไซน์มาจากทีมออกแบบ ทีมซัพพลายเชนจะนำขวดมาเข้าสู่ขั้นตอนการยิงทรายเพื่อสร้างลวดลาย (SandBlasting) ขั้นตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญเพียงสามคนเท่านั้นจากทั้งโรงงาน

หลังจากนั้นจะนำขวดที่ผ่านการยิงทรายแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการลงสีที่มีความพิเศษ ป้องกันไม่ให้สีทองที่ถูกสลักลงบนขวดนั้นหลุดร่อนออกไปได้ หลังจากนั้นก็จะต้องเก็บรายละเอียดลวดลายต่างๆ ด้วยมือคนเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีและงานฝีมือไว้อย่างลงตัว

ศูนย์นวัตกรรมฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์ที่ช่วยเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายในปัจจุบัน อีกทั้งด้วยกลยุทธ์ด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่แข็งแกร่ง ทำให้การทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะเทรนด์และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในไทยและเอเชียเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น เทรนด์ของผู้บริโภคที่นิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ ‘ไลท์’ ขึ้น แต่ต้องเป็นเครื่องดื่มที่ยกระดับประสบการณ์การดื่ม หรือค็อกเทลที่ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย รวมถึงเทรนด์ของการดื่มเพื่อเฉลิมฉลองในบ้าน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของบริษัทที่จะต้องเรียนรู้และพร้อมรับมือตลอดเวลา เพื่อปรับตัวพัฒนาแบรนด์ให้โดดเด่น จนผู้บริโภคเลือกหยิบมันขึ้นมาได้เช่นกัน

Fact Box

ดิอาจิโอ เป็นผู้นำด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับพรีเมี่ยม ที่มีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกและมีชื่อเสียงให้เลือกมากมาย เช่น สก็อตวิสกี้ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เบียร์กินเนสส์ ว้อดก้าสเมอร์นอฟ ไอริชครีมเบลีย์ ซิงเกิ้ลมอลต์วิสกี้ เดอะ ซิงเกิลตัน ออฟ เกลน ออร์ด และ ว้อดก้าเคเทลวัน เป็นต้น

ดิอาจิโอ เป็นบริษัทระดับโลก ที่ดำเนินธุรกิจในกว่า 180 ประเทศ ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้บริหาร บุคลากร แบรนด์ และผลประกอบการของดิอาจิโอ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.diageo.com

Tags: ,