เราเลือกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอะไร? ติดแบรนด์? ชอบรสชาติ? แพ็คเกจจิงสวย? หรือภาพลักษณ์ไลฟ์สไตล์ที่ดูเข้ากับตัวเรา? ดูเหมือนว่า ท่ามกลางตัวเลือกที่มียี่ห้อต่างๆ มากมายเรียงรายอยู่เต็มไปหมด มีปัจจัยมากมายที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่ทำให้คนดื่มแอลกอฮอล์จะเลือกหยิบแบรนด์หนึ่งๆ ขึ้นมา
แล้วแบรนด์นั้นต้องทำอย่างไรเพื่อให้คนซื้อเลือกหยิบของแบรนด์ของตัวเองล่ะ? นี่เป็นคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นสำหรับเรา ในเวลายืนเลือกเครื่องดื่มอยู่หน้าตู้แช่ที่ละลานตาไปด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากชนิด
เราจะพาไปหาคำตอบกันว่า แบรนด์นั้นต้องทำอะไรบ้าง เพื่อเข้าถึง และเข้าใจนักดื่มจริงๆ
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา The Momentum มีโอกาสได้ไปเยือนศูนย์นวัตกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC Technical Innovation Center) ศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ณ ประเทศสิงคโปร์ ของดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ ไทยแลนด์ (Diageo Moet Hennessy Thailand) หรือ DMHT
ศูนย์นวัตกรรมเครื่องดื่มแห่งนี้ เป็นศูนย์นวัตกรรมที่วิจัยและพัฒนา (Innovation R&D Centre) เครื่องดื่มในเครือของ DMHT ซึ่งไม่ใช่แค่ของไทย แต่รวมถึงประเทศใกล้เคียง โดยศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหัวใจของการทำงานเลยก็ว่าได้
คอนเซ็ปต์หลักที่ศูนย์แห่งนี้ใช้เพื่อเข้าใจเทรนด์การดื่มของคนในปัจจุบันทั้งในไทยและภูมิภาคนี้ คือ หลัก From Grain to Glass คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่คอนเซ็ปต์จนส่งตรงถึงมือผู้บริโภค โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลักด้วยกัน
การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยทีม Innovation R&D
ทีมนักวิจัยของที่นี่เป็นทีมงานหญิงล้วน 5 คน 5 สัญชาติ (จีน ฮ่องกง แคนาดา อินโดนีเซีย และอังกฤษ) โจทย์ที่ทีมนี้ต้องศึกษา คือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภค เช่น เมื่อทีมนักวิจัยเดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมนักดื่มชาวไทยด้วยตนเอง ทำให้พบว่าเทรนด์การดื่มเหล้าบ๊วยจากญี่ปุ่นได้รับความนิยมค่อนข้างมาก จึงเกิดเป็นเครื่องดื่ม RTD (Ready to Drink) อย่าง Smirnoff ICE Umeshu ขึ้น
แต่ขั้นตอนระหว่างนั้น ไม่ได้จบเพียงแค่เพราะรู้ว่าคนไทยชอบดื่มเหล้าบ๊วยแล้วจึงเกิด Smirnoff ICE Umeshu ได้ แต่ทีมวิจัยต้องศึกษาต่อ ว่ารสชาติของมันควรออกมาเป็นแบบไหนถึงจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนที่ชอบดื่มเหล้าบ๊วย
ทางทีมจึงต้องพัฒนาจนเกิดเป็นเครื่องดื่มคอนเซ็ปต์ขึ้นมาก่อน แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญมาทดสอบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องผ่านการทดสอบทางโสตประสาทสัมผัส (Sensory test) เพื่อความเป็นกลางปราศจากอคติ และเพื่อให้มั่นใจว่า สี รสและสัมผัสของผลิตภัณฑ์เป็นที่ชื่นชอบของผู้ดื่ม
การพัฒนากลยุทธ์ และนวัตกรรมแพ็คเกจจิ้ง โดยทีม Commercialization
ทีม Commercialization ประกอบด้วยบุคลากร 7 คนจากหลากหลายเชื้อชาติและความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นสายเคมี จุลชีววิทยา วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยทีม Commercialization จะทดสอบความคงตัว (Stability test) ตั้งแต่การทดสอบสีจนถึงรสสัมผัส ตั้งแต่ก่อนวางขายจนหลังวางขายอย่างน้อย 6 ล็อตเป็นอย่างต่ำ
การทดสอบความคงตัว ก็เพื่อการันตีว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกไปต่อเนื่องนี้ จะยังมีกลิ่น สี รสชาติที่คงที่ ซึ่งในช่วงแรกของการผลิต แต่ละภูมิภาคจะต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์กลับมาที่แล็บทุกๆ เดือนเพื่อทดสอบความคงตัว หากครบกำหนดระยะการทดสอบ และผลิตภัณฑ์นั้นผ่านเกณฑ์ ก็จะได้วางขายต่อไป แต่ถ้าหากทดสอบไม่ผ่าน ก็จะต้องปรับปรุงคุณภาพให้กลับมาเข้าเกณฑ์มาตรฐาน
การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดยทีม Brand Change
ทีม Brand Change สิงคโปร์จะทำงานร่วมกับทีม International Supply Center (ISC) ในภูมิภาคอื่นๆ โดยดูแลกระบวนการลอจิสติกส์แบบครบวงจร ตลอดจนรับผิดชอบโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจของดิอาจิโอ
ทั้งนี้ เรื่องลอจิสติกส์ ยังรวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ต้องเหมาะสมกับการขนส่งและจับเก็บได้ในสภาพอากาศที่แตกต่าง ทั้งหมดจะถูกทดสอบในแล็บเพื่อดูว่า บรรจุภัณฑ์จะสามารถคงอยู่ได้ในทุกสภาพอากาศที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น ทีมจะต้องนำขวดเครื่องดื่มใส่เข้าไปในตู้ทดลองที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นนานหลายวัน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงว่าการใช้วัสดุของบรรจุภัณฑ์นี้ชำรุดหรือคงสภาพเดิมอยู่ รวมไปถึงการทดสอบในอากาศร้อน เย็น เยือกแข็งเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังต้องทดสอบเรื่องการสั่นสะเทือน เพื่อหาว่าวัสดุแบบไหนจะคงสภาพเดิมได้ดีที่สุดในทุกสภาพอากาศและการขนส่ง
For The Hub โดยทีม Singapore Supply Chain
For The Hub นับเป็นจุดกำเนิดของการตกแต่งและปรับแต่งขวดแก้วของ “DIAGEO Project Skyline” ซึ่งนำจุดเด่นของแต่ละเมืองมาสลักลงบนขวดแก้ว เช่น การสลักขวดแก้วใน Johnnie Walker Blue Label คอลเล็คชันนักษัตร 12 ราศี ซึ่งหลังจากได้รับดีไซน์มาจากทีมออกแบบ ทีมซัพพลายเชนจะนำขวดมาเข้าสู่ขั้นตอนการยิงทรายเพื่อสร้างลวดลาย (SandBlasting) ขั้นตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญเพียงสามคนเท่านั้นจากทั้งโรงงาน
หลังจากนั้นจะนำขวดที่ผ่านการยิงทรายแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการลงสีที่มีความพิเศษ ป้องกันไม่ให้สีทองที่ถูกสลักลงบนขวดนั้นหลุดร่อนออกไปได้ หลังจากนั้นก็จะต้องเก็บรายละเอียดลวดลายต่างๆ ด้วยมือคนเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีและงานฝีมือไว้อย่างลงตัว
ศูนย์นวัตกรรมฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์ที่ช่วยเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายในปัจจุบัน อีกทั้งด้วยกลยุทธ์ด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่แข็งแกร่ง ทำให้การทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะเทรนด์และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในไทยและเอเชียเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น เทรนด์ของผู้บริโภคที่นิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ ‘ไลท์’ ขึ้น แต่ต้องเป็นเครื่องดื่มที่ยกระดับประสบการณ์การดื่ม หรือค็อกเทลที่ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย รวมถึงเทรนด์ของการดื่มเพื่อเฉลิมฉลองในบ้าน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของบริษัทที่จะต้องเรียนรู้และพร้อมรับมือตลอดเวลา เพื่อปรับตัวพัฒนาแบรนด์ให้โดดเด่น จนผู้บริโภคเลือกหยิบมันขึ้นมาได้เช่นกัน
Fact Box
ดิอาจิโอ เป็นผู้นำด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับพรีเมี่ยม ที่มีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกและมีชื่อเสียงให้เลือกมากมาย เช่น สก็อตวิสกี้ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เบียร์กินเนสส์ ว้อดก้าสเมอร์นอฟ ไอริชครีมเบลีย์ ซิงเกิ้ลมอลต์วิสกี้ เดอะ ซิงเกิลตัน ออฟ เกลน ออร์ด และ ว้อดก้าเคเทลวัน เป็นต้น
ดิอาจิโอ เป็นบริษัทระดับโลก ที่ดำเนินธุรกิจในกว่า 180 ประเทศ ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้บริหาร บุคลากร แบรนด์ และผลประกอบการของดิอาจิโอ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.diageo.com