“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน…” ท่อนหนึ่งของบทเพลงที่เปิดบ่อยๆ ทางทีวี เป็นเพลงที่มากับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามากำกับทิศทางประเทศไทยนับแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
แม้มีหลายฝ่ายดูจะโล่งใจที่ความขัดแย้งทางการเมืองจำต้องพักยกจากการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา แต่ในสายตาคนอีกจำนวนมาก นี่เป็นอีกครั้งที่เส้นทางประชาธิปไตยของประเทศไทยสะดุดลง เมื่อคสช. ฉีกรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธการแสดงออกของคนเห็นต่าง และทำให้ประเทศไทยมีผู้นำประเทศมาจากการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนมานานเกือบสี่ปีแล้ว
ซึ่งหนึ่งในคำสัญญา ก็คือโรดแมปของการคืนอำนาจให้ประชาชน
แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ให้แก้ไขโดยขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายจากหนึ่งวันหลังการประกาศใช้กฎหมาย มาเป็น 90 วันหลังประกาศใช้ นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งที่เคยสัญญาว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็ต้องขยับออกไปอีก 90 วัน คือราวเดือนกุมภาพันธ์ 2562
นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ คสช. ผัดผ่อนคำสัญญากับประชาชน
จากนั้น 27 มกราคม 2561 คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้งไปรวมตัวกันผ่านกิจกรรม ‘นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.’ บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน นำโดยนักกิจกรรมอย่าง รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group – DRG) กับ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำกลุ่ม START UP PEOPLE เหตุการณ์มีเพียงรวมตัวกัน ปราศรัยด้วยโทรโข่งขนาดเล็ก และคนที่มาร่วมพูดคุยกันเอง ซึ่งทั้งหมดนั้นจบลงโดยไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด
จากคำชักชวนของเพื่อน วันเดียวกันนั้น อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาสังเกตการณ์ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไล่ลำดับความใกล้-ไกล จากจุดกึ่งกลางที่ตัวละครหลักๆ ถูกล้อมรอบด้วยนักข่าวหลายสำนัก ห่างออกมาพอสมควร เธอยืนคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังดำเนินไป ซึ่งถ้าไม่รู้จักกันมาก่อน พวกเขาแทบไม่ต่างจากคนทั่วไปในบริเวณนั้น
31 มกราคม 2561 อ้อมทิพย์กลับมาใช้ชีวิตนิสิตตามปกติ ไม่มีสัญญาณเตือนภัยจากการสังเกตการณ์วันนั้น เธอนั่งเรียนอยู่ในห้อง สายตาเหลือบไปเห็นข้อความที่เด้งขึ้นมา แต่กว่าจะได้เปิดอ่านก็ต้องรอถึงตอนหมดคาบเรียน
“เห็นหรือยัง” เพื่อนคนที่ยืนคุยกันบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน ส่งข้อความมาถาม พร้อมแนบลิงก์ข่าวรายชื่อ 39 คนที่ถูกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดร่วมกันชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคแรก
1 ใน 39 คน ปรากฏชื่อ อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์
“ตอนเพื่อนส่งมาถาม เรายังคิดในใจ เห็นอะไรวะ พอเปิดลิงก์เข้าไป เฮ้ย อะไร ตกใจและงง เราไม่ได้กลัวหรอก ตอนเคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังแรงกว่านี้อีก แต่ครั้งนี้ไม่ได้เตรียมใจไว้ เพราะวันนั้นแค่ไปดู ไม่ได้พูด ไม่ได้ชูป้าย เราสันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่คงมีชื่อและรู้จักหน้า พอเห็นหน้าแล้วจำได้ เราเลยโดนเรียกตัว”
การรวมตัวครั้งนั้นอยู่ใกล้กับห้าง MBK และเป็นช่วงที่กระแสไอดอล BNK48 กำลังมาแรง ผู้เล่นโซเชียลมีเดียที่ติดตามข่าวจึงนิยามกลุ่มที่ประสบเคราะห์เดียวกันนี้ในชื่อที่ร่วมสมัยว่า MBK39
จากนิสิตปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าไปสังเกตการณ์กิจกรรมทางการเมืองอยู่ห่างๆ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เธอกลับถูกเดบิวต์ (debut) เป็นสมาชิก MBK39 โดยไม่เต็มใจ
การเมืองเรื่องของทุกคน
อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ เกิดและเติบโตที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ด้วยความที่แม่สนใจการเมือง ติดตามข่าวสารสม่ำเสมอ และหมั่นพูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวรอบตัว บทสนทนาระหว่างแม่-ลูกตั้งแต่เด็กจนวัยรุ่นจึงหล่อหลอมให้เธอมองว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับทุกคน
พอขึ้น ม.ปลาย เธอย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระหว่างนั้นติดตามข่าวการเมืองอยู่ห่างๆ จนกระทั่งเกิดกลุ่ม กปปส. (ปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557) เธอก็ขยับคำว่า ‘การเมือง’ เข้ามาใกล้ในระยะประชิด เพราะการเดินทางจากที่พักไปโรงเรียนต้องผ่านการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นประจำ เวลานั้นเธอไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ยืดเยื้อ จนกลายเป็นการแสดงออกทางการเมืองครั้งแรกในกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพฯ บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“ตอนนั้น ม.5 ที่เตรียมอุดมฯ อยู่ใกล้ม็อบเลย จากประเด็นนิรโทษกรรม จบแล้วก็ควรจบ แต่มันไปถึงล้มการเลือกตั้ง แบบนั้นไม่ใช่แล้ว เขาคือรัฐบาลที่คนในประเทศเลือกมาไม่ใช่เหรอ หมดวาระค่อยเลือกใหม่ คุณเป็นพรรคการเมืองก็สมัครมาแข่งสิ ตอนนั้นมองว่าการเคลื่อนไหวไม่แฟร์กับประชาชนแล้ว
“จากประเด็นนิรโทษกรรม จบแล้วก็ควรจบ แต่มันไปถึงล้มการเลือกตั้ง แบบนั้นไม่ใช่แล้ว เขาคือรัฐบาลที่คนในประเทศเลือกมาไม่ใช่เหรอ”
“เราชื่นชมรุ่นพี่คนนึง เคยสนิทกัน ปรากฏว่าเขาไปร่วมกับม็อบ กปปส. ซึ่งเราไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้คุยกันนานแล้ว จะให้ทักไปบอกว่า ‘ฉันไม่เห็นด้วยกับเธอนะ’ คงไม่ใช่ มันก็สิทธิของเขา งั้นเราไปร่วมกิจกรรมจุดเทียนหน้าหอศิลป์ฯ ละกัน ออกไปเพื่อแสดงออกว่า ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย และสื่อสารไปว่าเราไม่เห็นด้วยกับเขา”
เธอไปที่หอศิลป์ฯ คนเดียว เจอเพื่อนที่รู้จัก พอเข้าไปทักทาย เพื่อนคนนั้นรู้จักกับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (คนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ จนปรากฏตัวในสื่ออยู่บ่อยครั้ง) ซึ่งขณะนั้นเป็น เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เลยมีการแนะนำให้ทั้งสองคนรู้จักกัน
“พอเจอเพื่อน เพื่อนก็แนะนำให้รู้จักเนติวิทย์ แล้วเขาก็ถามว่า ‘คุณสนใจเข้ากลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทไหม’ ตอนนั้นกำลังไฟแรง เลยตอบไปว่า ‘เอาสิ’ แล้วก็ยาวเลย” เธอเล่าถึงจุดหักเหในชีวิตครั้งนั้น ซึ่งพัดพาให้เธอเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ อีกหลายครั้ง
การเป็นส่วนหนึ่งกับ ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ ทำให้เธอได้เคลื่อนไหวในประเด็นการใช้อำนาจในโรงเรียน เช่น บังคับนักเรียนเรื่องทรงผม การทำโทษที่รุนแรงเกินไป บทบาทที่เธอรับผิดชอบต้องประสานงานกับนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ที่เผชิญปัญหาคล้ายกัน นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่เธอรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงประเทศ และชัดเจนขึ้นว่านโยบายของรัฐมีผลต่อประชาชน
เมื่อขึ้น ม.6 เธอเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนของ AFS เดินทางไปยังเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นหนึ่งปี ทุกๆ วันในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ขับเน้นให้เห็นความแตกต่างของทั้งสองประเทศ ทั้งในเรื่องคุณภาพการศึกษาและสิทธิเสรีภาพในโรงเรียน
“โรงเรียนที่นั่นไม่มีเครื่องแบบ แต่งหน้าทำผมยังไงก็ได้ ไม่มีรั้ว ทุกคนรับผิดชอบตัวเอง กลับมาเรียนตามเวลา เรื่องการศึกษาก็อย่างที่พูดกันมาตลอด ไม่เน้นท่องจำ เน้นถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน วิชาประวัติศาสตร์เลกเชอร์สั้นๆ สั่งให้ไปอ่าน แล้วมาคุยกันในห้อง ‘ฉันเชื่อหลักฐานนี้ เพราะแบบนี้’ เป็นการเรียนที่ต่างจากโรงเรียนบ้านเรามาก ความสนใจของเพื่อนในห้องคือเรื่องการเมืองภาพใหญ่ เช่น ภาษีมรดก เวลาว่างนั่งเถียงกันเรื่องนี้ คุยกันเป็นเรื่องปกติ”
บทสนทนาในเรื่องหนักๆ ของเด็กวัย 17-18 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนว่า ไม่ว่าเพศไหน วัยไหน การศึกษาระดับไหนก็สนใจเรื่อง ‘การเมือง’ ได้เช่นกัน
นั่นเพราะการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับทุกคน
6 ตุลาฯ ถึง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ สู่ความเจ็บป่วยจากงานการเมือง
เมื่อกลับมาเมืองไทย ขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย อ้อมทิพย์ต้องกลับมาเรียน ม.6 อีกหนึ่งปีให้ครบตามหลักสูตร หลังจากนั้น ด้วยความสนใจศาสตร์ภาพยนตร์ มองว่าการสื่อสารคือเครื่องมือที่มีพลัง เธอตัดสินใจสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตอนเรียนอยู่ปี 1 คำชักชวนของเนติวิทย์ (ขณะนั้นเรียนอยู่ปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มิตรสหายที่เคยทำกิจกรรมด้วยกัน ก็พาเธอกลับเข้าสู่แวดวงกิจกรรมทางการเมืองอีกครั้ง ในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ประจำปี 2559 ซึ่งจัดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผลกระทบคืออะไร คนไหนเข้าป่า-ไม่เข้าป่า แต่ไม่อินมากเท่าไร พอมีหน้าที่ในงาน 6 ตุลาฯ เลยต้องอ่านหนังสือเพิ่ม ตอนนั้นอ่านบันทึก 6 ตุลาฯ จากผู้หญิงในเหตุการณ์ มันไม่ใช่แค่ผู้หญิงในเหตุการณ์ แต่รวมไปถึงแฟนหรือแม่ของคนที่เผชิญชะตากรรม เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ ค่อนข้างอีโมชั่นนอล พออ่านมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็.. อิน” เธอพูดถึง ‘ความรู้สึกร่วม’ ต่อความสูญเสียครั้งสำคัญในอดีต
แต่การทำกิจกรรมครั้งนั้น ก็สร้างบาดแผลในใจให้เธอโดยไม่รู้ตัว สะสมความเครียด อึดอัด และแปลกแยกกับกลุ่มก้อนแห่งอุดมการณ์ ระหว่างเตรียมงาน เธอมีภาวะเครียดจนร้องไห้เป็นประจำ เมื่อไปพบหมอ คำวินิจฉัยบอกว่าเธอกำลังป่วย และเป็นเหตุให้เธอตัดสินใจถอยห่างจากงานการเมือง
“จบงานนี้เราเทกิจกรรมการเมืองไปช่วงนึงเลย เพราะเรามีปัญหาจิตใจ เครียดมาก เป็น PMS (premenstrual syndrome) สภาวะผิดปกติทางอารมณ์ก่อนประจำเดือนมา คล้ายภาวะซึมเศร้า แต่เป็นช่วงก่อนประจำเดือนมา ช่วงระหว่างเตรียมงาน 6 ตุลาฯ ร้องไห้ทุกวันเลย เครียด ไม่อยากทำแล้ว เบื่อ เบื่อมากๆ ไม่อยากตื่นมาทำกิจกรรมอะไรพวกนี้ อยากอยู่คนเดียว
“สาเหตุคงมาจาก Reverse culture shock ตั้งแต่กลับมาจากแลกเปลี่ยน ตอนนั้นมีอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้ทำงานการเมืองอะไรมาก เลยไม่ค่อยมีอะไร จนถึงช่วงทำงานการเมือง งานค่อนข้างเร่งรีบ บรรยากาศภายในวุ่นกันสูง เราทำงานค่อนข้างเยอะ หลายครั้งรู้สึกว่าไม่มีตัวตน เป็นเครื่องจักรรับใช้อุดมการณ์ ตัวเองไม่มีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ทำไปเพื่อให้เป้าหมายเสร็จ ไม่มีการคำนึงถึงปัจเจกว่ามีสภาพจิตใจความคิดยังไง เลยทำให้เครียด เราเคยได้ยินมาว่า คนที่สนใจและเคลื่อนไหวทางการเมืองมากๆ อาจมีภาวะซึมเศร้า เพราะงานที่ทำไม่ถูกมองเป็นมนุษย์ในฐานะปัจเจกเท่าไร”
“ช่วงนั้นได้คุยกับเพื่อนที่ทำงานการเมืองด้วยกันบ้างไหม” ผมถาม
“คุยนะ มีทั้งเข้าใจ และหาว่าคิดมาก” เธอตอบ แล้วเงียบไป “แต่เราไม่ได้คิดมากไง”
“เสร็จงาน 6 ตุลาฯ เราเลยกลับมาเรียน แล้วทำหนังสั้นเล็กๆ ให้แฟรงค์ (ชื่อเล่นของเนติวิทย์) มาแสดง จนถึงเดือนธันวาคม 2559 มีข่าวเรื่อง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ คนลงชื่อใน change.org พอสมควร แต่ไม่ค่อยมีอะไรเกิดขึ้น ก็คุยกับเพื่อนว่า ไม่ได้ผลหรอก มันเป็นรายชื่อลอยๆ ทำไมเราไม่ทำอะไรกันสักที นั่นสิ ทำไมไม่ทำอะไรสักที เลยเกิดเป็นกิจกรรมรณรงค์ไม่เห็นด้วยและหยุดกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนั้น”
สุดท้าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. เธอมองว่าเป็นธรรมดาของการเคลื่อนไหวที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ก้อนอารมณ์ที่คับข้องอยู่ในใจเป็นทุนเดิม พอต้องกลับมาอยู่ในบริบทแบบเดิมๆ ความเครียดที่สะสมดูหนักหน่วงกว่าเดิม
“เอาอีกแล้วเหรอ” เธอพูดถึงการตัดสินใจครั้งนั้น แล้วหัวเราะขึ้นมา เธอยืนยันหนักแน่นกับตัวเองว่า พอแล้ว!
“จากที่เครียดอยู่แล้ว คราวนี้หนัก ตอนนั้นบอกตัวเองว่า ไม่ทำแล้ว ไม่ทำแล้วจริงๆ อยากช่วยนะ แต่ถ้าเราจิตใจไม่พร้อม ขบวนการต่อสู้ก็ไม่ควรรับคนแบบเราเข้าไป ควรเป็นคนสุขภาพดี เลยกลับมาเรียน และทำละครที่ตัวเองชอบ”
โลกคือละคร
การได้เล่นละครตอนเรียนอยู่ ม.ปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในงานโอเพนเฮาส์ ทำให้เธอรู้ว่าตัวเองชอบศาสตร์ละคร แต่กิจกรรมทางการเมืองที่ใช้เวลาไม่น้อย ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้อยู่กับสิ่งที่สนใจอีก เมื่อตัดสินใจอย่างหนักแน่นว่า พอแล้ว! เธอเลยพาตัวเองไปแคสติ้งเป็นนักแสดงในทีสิสจบของรุ่นพี่ปี 4 จนกระทั่งผ่านการคัดเลือก ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 เรื่อยมา แต่ละวันของเธอคือการซ้อมละคร จนกระทั่งเธอได้กลับมาเล่นละครอีกครั้งปลายเดือนเมษายน 2560
การใช้เวลากับการเล่นละครตลอดกระบวนการ ยืนยันกับเธอว่า โลกที่เธอมีความสุขคือการได้เล่นละคร
“เราชอบทำละครอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสจริงจัง เพราะการเมืองเอาเวลาไปเยอะมาก เดือนกุมภาพันธ์มีทีสิสของรุ่นพี่เปิดรับนักแสดง ก็ไปแคสต์แล้วได้ ซ้อมตั้งแต่มีนาคม ไปแสดงปลายเมษายน เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ได้ทำสิ่งที่ชอบ กลุ่มละครมีความแตกต่างกับกลุ่มการเมืองด้วย คนทำงานจะอ่อนไหวกับอารมณ์ของมนุษย์มากกว่า เป็นการให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะปัจเจก แล้วทุกๆ ตำแหน่งต้องพึ่งพากัน เรามาเป็นนักแสดง คนกลุ่มเล็กๆ ต้องอยู่ด้วยกัน ช่วยเหลือกัน ไปด้วยกัน ทุกคนมีความสำคัญ
“การเป็นนักแสดงต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นๆ ต้องรู้ว่าเขาคือใคร เช่น ถ้าได้บทเป็นตัวร้าย ซึ่งตัวละครนั้นย่อมไม่คิดว่าตัวเองร้าย เราต้องศึกษากระบวนการคิด ทำไมถึงคิดและทำแบบนั้น เขาเผชิญอะไรมาถึงมีมุมมองต่อโลกแบบนั้น การฝึกซ้อมและเล่นละคร เหมือนเป็นการศึกษาคนๆ นึงไปด้วย ช่วยให้เข้าใจมนุษย์ และเข้าใจความหลากหลาย
“การฝึกซ้อมและเล่นละคร เหมือนเป็นการศึกษาคนๆ นึงไปด้วย ช่วยให้เข้าใจมนุษย์ และเข้าใจความหลากหลาย”
“ตอนนั้น (ทีสิสของรุ่นพี่) เราเล่นเป็นพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ละครเรื่องนั้นเล่าเรื่องการสงบศึกวันคริสต์มาส (Christmas truce) ที่เกิดขึ้นตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตัวละครเป็นพยาบาลที่ไม่ได้ร่ำรวย แล้วไปรักกับทหาร วันนึงทหารคนนั้นหายตัวไป เลยออกไปตามหาที่ค่ายที่กำลังสงบศึกพอดี พอรู้ว่าคนรักเสียชีวิตแล้ว เขาก็ใช้ชีวิตต่อไป ตัวละครนี้สอนเราว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สุดท้ายเรายังต้องมีชีวิตต่อไป
“ในบทที่เล่น ตอนจบเราต้องอ่านบันทึกของทหารคนนึงที่มีอุดมการณ์มากๆ ซึ่งเป็นเพื่อนกับคนรักที่เสียชีวิตไป บันทึกนั้นเล่าว่าอยากเห็นโลกที่สันติ แต่มาเสียชีวิตในสงคราม ตัวละครพยาบาลรู้สึกว่าต้องทำความฝันของทหารที่ไม่ได้ตั้งใจมาตายให้เป็นจริงให้ได้ ทำโดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ การเล่นเป็นพยาบาลคนนั้นมอบความมุ่งมั่นและแนวทางสันติวิธีให้กับเรา”
เมื่อจบเรื่องแรก เธอทำงานละครต่อกับกลุ่มนอกมหาวิทยาลัย ทั้งงานแสดงและงานเบื้องหลัง ทำด้วยความชอบและความสุข แม้ละครจะดูเป็นงานศิลปวัฒนธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เธอมองว่าละครกำลังบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์บางอย่างให้ผู้ชม ซึ่งต้องอาศัยวันเวลาสำหรับเรียนรู้และเติบโต ซึ่งเป็นการสื่อสารที่อาจเห็นผลในระยะยาว
“ละครเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ค่อนข้างใช้เวลาในการสั่งสม ให้คนดูกลับไปคิดต่อ มันค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลามากกว่ากิจกรรมทางการเมืองที่เห็นในทุกวันนี้ ละครจะมีธีมหลักของเรื่อง ละครเรื่องนี้อยากบอกอะไร พอคนดูจับได้ ประมวลผลต่อ ได้รับสารนี้เรื่อยๆ เป็นระยะเวลานาน ตัวเขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามละครที่ดู หรืออาจเห็นสภาพบางอย่างจากในละคร เช่น ละครที่สะท้อนความไม่เป็นธรรม มีคนโดนทำร้าย เราก็จะเห็นสภาพตัวละคร มันแย่มาก จนก็จน ยังโดนนักเลงมารุมต่อยอีก ทำไมชีวิตบัดซบขนาดนี้ เขาก็จะเกิดการระลึกบางอย่างว่าได้เรียนรู้อะไรจากละครนี้ เราก็จะเห็นว่าชีวิตบัดซบ ทำไมถึงบัดซบ แล้วเขาสู้ไหม เราก็สู้สิ”
“ดูชีวิตช่วงนั้นค่อนข้างมีความสุขนะ” ผมกึ่งถามกึ่งสรุปความรู้สึกของเธอ
“เราเอ็นจอยกับตรงนี้มาก อยู่แล้วแฮปปี้ จนแทบจะลืมเรื่องการเมืองไปเลย” เธอพูดถึงช่วงเวลาที่มีความหมาย
“ช่วงที่เล่นละครแล้วมีความสุข เคยคิดอยากเอาดีทางนี้ไปเลยไหม” ผมสงสัย
“คิด ตอนนี้ก็ยังคิดอยู่ ถ้าได้เป็นอาจารย์สอนละครก็ดี เราตั้งใจว่าจะเลือกวิชาโทเป็นละคร ซึ่งอยู่ในคณะอักษรศาสตร์” สีหน้าของเธอดูมีความสุข
หนึ่งในสมาชิก MBK39 เดบิวต์มาโดยไม่เต็มใจ
27 มกราคม 2561 ณ สกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน
‘นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.’
“ตอนแรกเราไม่รู้ว่ามีกิจกรรม เพื่อนคนนึงมาบอกว่า ‘มีอันนี้นะ เราว่าจะไปดู’ วันที่ 27 เรามีซ้อมละครพอดี โอเค เดี๋ยวไปดู กว่าจะซ้อมละครเสร็จก็เย็นแล้ว เราไปคนเดียว ถึงที่นั่นหลังจากเริ่มไปสักพักแล้ว วงนักข่าวล้อมคนหลักๆ ไว้หมด เขาใช้โทรโข่งอันเล็กเลยไม่ได้ยินว่าพูดอะไร ไปถึงก็เห็นเพื่อน ยืนคุยกันห่างออกมาพอสมควร คุยกันสักพัก แล้วก็ไปหาอะไรกิน”
31 มกราคม 2561 อ้อมทิพย์กลับมาใช้ชีวิตนิสิตตามปกติ ไม่มีสัญญาณเตือนภัยจากการสังเกตการณ์วันนั้น เธอนั่งเรียนอยู่ในห้อง สายตาเหลือบไปเห็นข้อความที่เด้งขึ้นมา แต่กว่าจะได้เปิดอ่านก็ต้องรอถึงตอนหมดคาบเรียน
“เห็นหรือยัง” เพื่อนคนที่ยืนคุยกันบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน ส่งข้อความมาถาม พร้อมแนบลิงค์ข่าวรายชื่อ 39 คนที่ถูกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดร่วมกันชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคแรก
1 ใน 39 คน ปรากฏชื่อ อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์
“เราเคยออกหน้าเยอะกว่านี้อีก เลยไม่รู้สึกว่าเสี่ยงเลย วันนั้นแค่ไปดู ไม่ได้พูด ไม่ได้ชูป้าย เราสันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่คงมีชื่อและรู้จักหน้า พอเห็นหน้าแล้วจำได้ เราเลยโดนเรียกตัว เราไม่กลัว เพราะรู้ตัวว่าไม่ได้ทำผิด เดี๋ยววันที่ 8 กุมภาพันธ์จะไปที่ สน.ปทุมวัน (รับทราบข้อกล่าวหาจากการออกหมายเรียกครั้งที่สอง) เราจะไปยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ยังไม่รู้ว่าจะเจออะไร อาจถูกทำเรื่องฝากขัง และคงต้องประกันตัว”
8 กุมภาพันธ์ 2561 ณ สน.ปทุมวัน
สมาชิก MBK39 เกือบทุกคนมารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ตั้งแต่เก้าโมง (บางส่วนทำเรื่องประกันตัวไปแล้ว บางส่วนไปศาลในคดีมาตรา 116 และบางส่วนติดภารกิจ) มีประชาชนจำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจ และนักข่าวอีกพอสมควรมาติดตามรายงานสถานการณ์ พอสิบโมงก็เดินเข้าไปในสถานีตำรวจ
“รอนานมาก เพราะเขาเรียกไปสอบโดยเรียงตามรายชื่อ ก็มีแม่ อาจารย์เข้าไปใน สน. ด้วย เรานั่งคุยกับเพื่อนๆ ป้าๆ อ่านหนังสือฆ่าเวลา ระหว่างรอก็มีเพื่อนๆ ทักแชทมาให้กำลังใจเรื่อยๆ พอถึงเวลาเราขึ้นไปสอบ เจ้าหน้าที่ให้เรารับทราบข้อกล่าวหาและสอบสวนเบื้องต้น ให้ดูรูปก่อนค่ะ แล้วยืนยันว่าคนในภาพที่อยู่ในเหตุการณ์ใช่เราไหม หลังจากนั้นก็จะถามคำถาม เช่น ได้ร่วมการชุมนุมกับรังสิมันต์ โรม และพรรคพวกหรือไม่ / รู้ไหมว่ามีการแจ้งเรื่องชุมนุมก่อนหน้านี้ / ทราบแผนการชุมนุมรึเปล่า / เดินทางมาชุมนุมยังไง มีคนออกค่าเดินทางให้ไหม/ มีจุดประสงค์มาร่วมชุมนุมจริงหรือไม่ / เราไม่ตอบทุกข้อ เพราะปฏิเสธให้การในชั้นพนักงานสอบสวน
“หลังจากนั้นก็ปั๊มลายนิ้วมือ แล้วลงมาเซ็นรับบันทึกประจำวัน แล้วเดินไปศาลแขวงปทุมวันกัน พอถึงนู่นแล้วก็ฟังศาลตัดสิน ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ปรากฏว่าศาลบอกเลยว่าไม่รับฝากขัง เสร็จกระบวนการก็มีพูดคุยกับคนอื่นเล็กน้อยค่ะ สรุปคือผลัดฟ้อง เพราะตำรวจทำสำนวนไม่ทัน เรารอตำรวจแจ้งอีกทีว่าต้องไปพบเมื่อไร
“วันนั้นไม่เจออะไรที่เป็นปัญหานะ นอกจากความหิว เพราะรอนานมาก ช่วงแรกก็จะช้า แต่พอหลังๆ เหมือนตำรวจเร็วขึ้น บรรยากาศค่อนข้างสบายๆ และอบอุ่นเลยนะ มีคนมาให้กำลังใจเยอะมาก ป้าๆ ก็น่ารักเป็นกันเอง เพื่อนก็มาให้กำลังใจก่อนเข้า อาจารย์ก็ให้กำลังใจ เราเห็นแล้วก็มีความหวัง เราเห็นความหวังในตัวทุกคนอ่ะ แล้วพอเจออย่างนี้ก็รู้ว่าเราพร้อมสู้ต่อไป แต่สำหรับกลุ่มที่โดน 116 นี่ก็กังวลหน่อย เพราะเขาแยกไปอีกศาล กระบวนการที่นั่นนานกว่า เราก็ถูกแยกกับแฟรงค์ด้วย ไม่รู้เป็นไง แต่ตอนนี้ก็รู้ผลแล้วว่าไม่ฝากขัง ดีใจมาก บอกแฟรงค์ไปตอนเช้าว่า ‘นี่ถ้าเธอรอดนะ เดี๋ยวทำหนังภาคต่อให้เล่นต่อเลย’ ตอนนี้ก็ต้องทำแล้ว”
“พอเห็นการรวมกลุ่มของมวลชนก็มีกำลังใจ ป้าๆ เพื่อนๆ ก็มีกำลังใจ มันมีความ unity เกิดขึ้นในวันนี้ ทุกคนช่วยกันให้กำลังใจกันและกัน แต่คดีก็ยังไม่จบนะคะ ยังคงต้องสู้ต่อไป ตอนนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป”
“ถ้าสรุปด้วยคำๆ เดียว สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณคือ ความซวย” ผมถาม
“ใช่ค่ะ ซวย” เธอแสดงความเห็นด้วย และยิ้มให้กับความซวยของตัวเอง “เราไม่ได้โกรธใคร แค่รู้สึกว่า คสช. ทำแบบนี้ไม่แฟร์ เป็นเกมตุกติก ตั้งใจตัดกำลังคนออกไป ทำให้คนกลัว เรามีรายชื่อ ทั้งที่เจ้าหน้าที่เองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแต่ละคนคิดยังไง”
ถ้าวันนั้นไม่ไปสังเกตการณ์ที่สกายวอล์กก็คงไม่ซวย ถ้าไม่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็คงไม่ซวย ถ้าไม่ร่วมจัดกิจกรรม 6 ตุลาฯ ก็คงไม่ซวย ถ้าไม่ออกมาจุดเทียนก็คงไม่ซวย อ้อมทิพย์อาจไม่ได้ทำกิจกรรมหนักหน่วงเท่านักกิจกรรมทางการเมืองบางคน แต่ต้องยอมรับว่า เวลาเพียงไม่กี่ปีพัดพาชีวิตเธอมาไกลพอสมควร นั่นคือสิ่งที่ผมสงสัยว่า เธอคิดอยากย้อนไปแก้ไขอะไรบ้างหรือเปล่า
“เรื่องนี้พูดกับหลายคนแล้ว และอาจโดนเกลียด มีอยู่ช่วงนึงเราคิดตลอดว่า ไม่ควรไปจุดเทียนวันนั้น เพราะชีวิตเปลี่ยนไปเลย แต่ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราแก้ไขอดีตไม่ได้ และสิ่งต่างๆ ที่ทำมาก็หล่อหลอมให้เราเป็นคนแบบนี้ เราได้รู้จักคนหลากหลาย ได้เรียนรู้มุมมองของหลายคน แต่ละคนมีด้านความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ทำให้เข้าใจคนมากขึ้น แง่มุม ความหมายของชีวิต ก็สอดคล้องว่าทำไมเราถึงชอบละคร
“ถามว่าเสียใจไหมที่ออกไปจุดเทียนวันนั้น” เธอเงียบไปชั่วครู่ “ไม่เสียใจเลยนะคะ”
ไกลออกไป…ชีวิตยังมีหวัง
“สำหรับใครที่คิดว่าเรากลัว เราไม่กลัว และไม่เคยกลัวเผด็จการ เพียงแต่การเป็นสมาชิก #mbk39 มันทำให้เราต้องกลับไปหาสิ่งที่เราพยายามหนีมาตลอด เราเคยคิดว่าจะได้ใช้ชีวิตสงบๆ ทำละคร แต่กลับกลายเป็นว่าไม่อาจฝืนสิ่งที่เรียกว่าการเมืองได้ มันอึดอัดใจ ลำบากใจ ทรมานใจ
“เราไม่คิดจะทอดทิ้งการเคลื่อนไหว แต่มันมีหลายปัจจัย และสิ่งนี้ไม่ใช่ทางที่เราชอบ มีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้ เรายังเป็นประชาชน เรายังต้องรับผิดชอบประเทศนี้อยู่ หลังจากเรื่องนี้จบ หวังว่าจะได้อยู่เงียบๆ มีละครเล่น ได้กลับไปสวิส”
เป็นบางส่วนจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ ที่คล้ายว่าเธอหมดหวังกับประเทศไทยไปแล้ว แต่เมื่อลองถามเธออีกครั้ง ถึงความหวังที่มีต่อประเทศไทย เธอกลับมองว่ายังมีหวัง เพียงแค่อาจเป็นเรื่องที่คงเกิดขึ้นในระยะยาว
“เราเชื่อว่าขบวนการในทุกๆ รูปแบบมีความหวัง แต่การจะมีหวัง ไม่ใช่แค่คนไม่กี่คนทำ มันต้องอาศัยหลายๆ คนมามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อที่จะไปด้วยกัน เราไม่เคยเชื่ออยู่แล้วว่ามีขบวนการทางการเมืองแค่แบบเดียว ต้องอาศัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ตามความถนัดของแต่ละคน ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาเป็นนักปฏิวัติ
“ประเทศไทยขาดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองสูง คนทั่วไปมักมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับเรา แต่จริงๆ ไม่ใช่ ทุกนโยบายที่ออกมา ทางใดทางหนึ่งต้องกระทบคนแต่ละคน ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ สำคัญที่สุดตอนนี้คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม แสดงออกเพื่อบอกว่า เขาต้องการให้ประเทศนี้ควรเป็นไปในทิศทางไหน” เธอพูดถึงความหวังของตัวเองต่อประเทศไทย
กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ เป็นนิสิตชั้นปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโดยไม่ได้เต็มใจ เธอถูกเดบิวต์เป็นหนึ่งในสมาชิกของ MBK39 และยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการจัดการเรื่องคดีความ
“เราไม่เคยเชื่ออยู่แล้วว่ามีขบวนการทางการเมืองแค่แบบเดียว ต้องอาศัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ตามความถนัดของแต่ละคน ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาเป็นนักปฏิวัติ”
อีกสองปีเธอจะเรียนจบปริญญาตรี ความสนใจด้านละครที่ชัดเจน เธอวางแผนว่าจะสอบทุนเพื่อไปเรียนลงลึกด้านละครในต่างประเทศ ถ้าทำสำเร็จตามตั้งใจ เธอคงใช้เวลาอีกสักระยะในการเรียน และกลับมาทำงานด้านละคร อาจเป็นนักแสดง เป็นคนเขียนบท เป็นผู้กำกับ หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
“เราสนใจเรื่องการทำละคร คงหนีการเมืองไม่พ้น ถ้าได้ทำงานจริงๆ เราอยากทำในส่วนของการเสริมสร้างความเข้าใจบางอย่าง ทำไมพูดเหมือนทหารเลย (หัวเราะ) อยากทำละครให้คนดูได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง อาจเป็นการเมือง สังคม มนุษย์ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีกับคนรุ่นหลัง เพื่อที่เขาจะมีส่วนร่วมทางการเมือง และรู้ถึงหน้าที่ของตัวเอง”
“คุณอยากเห็นประเทศไทยเป็นยังไง” ผมปิดท้ายบทสนทนาอย่างมีความหวัง
“เราเคยเขียนในสเตตัสเฟซบุ๊ก คืออยากเห็นคนในประเทศนี้ live ไม่ใช่ survive ทุกวันนี้เราต้องดิ้นรน ทำงาน มีเงิน จะได้สบาย ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องรวยถึงจะสบายก็ได้ ถ้าประเทศมีสวัสดิการ เราอยากเห็นประเทศมีสิทธิเสรีภาพให้คนใช้ชีวิตตามที่ปรารถนาได้ โดยไม่ส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อผู้อื่น และอยากเห็นสวัสดิการของคนชรา อยากได้รัฐบาลที่มีการตรวจสอบได้ มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน อยู่ตามวาระ มันไม่ใช่แค่รักษากฎเกณฑ์ แต่คุณกำลังรับผิดชอบต่อประเทศด้วย”
อย่างที่เธอบอก สำหรับบางเรื่อง การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องระยะยาว และอย่างที่เธอบอกเช่นกัน แม้ปัจจุบันแสงไฟของอนาคตจะดูริบหรี่ แต่ประเทศไทยยังคงมีหวัง
หวังว่าจะเราทุกคนจะได้เห็นวันนั้นร่วมกัน
Tags: การเลือกตั้ง, ศิลปะการละคร, การชุมนุม, #MBK39, อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์, กิจกรรมทางการเมือง