ผม (เคย) เกลียดการท่องเที่ยวในเมืองเข้าไส้
แค่คิดว่าจะต้องเที่ยวอยู่ในเมืองสองสามวัน ความเบื่อก็แล่นเข้ามาเฉียบพลัน ยิ่งถ้าเมืองนั้นไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจพอจะประวิงความเบื่อหน่ายได้นานนัก กิจกรรมที่เหลือก็คงไม่พ้น กิน-ช็อป ซึ่งชวนตาลายและน่าแหนงหน่าย (สำหรับผม)
แต่ความคิดทั้งหมดทั้งมวลก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อผมคบหากับสถาปนิกที่เชิญชวนให้มาลองเที่ยวบาร์เซโลนา (Barcelona) เมืองท่าสำคัญแห่งแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน แถมจัดโปรแกรมการเที่ยวและที่พักไว้เพื่อดู ‘สถาปัตยกรรม’ เป็นเวลา 5 วัน 4 คืนที่ผมจะต้องท่องเที่ยวในเมืองแปลกหน้าเพียงลำพัง
ผมตัดสินใจจองทุกอย่างเสร็จสรรพหลังจากได้ยินแนวทางสถาปัตยกรรม ‘ออร์แกนิก’ ที่มาก่อนกาลของ อันตอนี เกาดี้ (Antoni Gaudi) เขาเกิดเมื่อ ค.ศ. 1852 ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่า Reus เขาหลงใหลในธรรมชาติตั้งแต่เยาว์วัย และถอดรูปแบบและลวดลายดังกล่าวมาสร้างเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สุดอลังการ
“ไม่มีสิ่งใดที่ควรค่าต่อคำว่าศิลปะ หากสิ่งนั้นไม่ได้ถอดแบบมาจากธรรมชาติ (Nothing is Art if it does not come from Nature)” ประโยคที่ถ่ายทอดตัวตนของเกาดี้ได้เรียบงามและชัดเจนที่สุด
หลังจากล้อเครื่องบินแตะพื้นที่สนามบินบาร์เซโลนา ก็ได้เวลาตระเวนตามหาสถาปัตยกรรมของเกาดีที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองแห่งแสงสีราวกับไม่มีวันหลับ
Casa Batlló / Casa Milà – บ้านทะเล / บ้านภูเขา
หลังจากจิบกาแฟในตอนเช้ากับขนมปังปาดน้ำมันมะกอกและมะเขือเทศ จุดหมายแรกของผมคือบ้านตระกูล Batlló (Casa Batlló) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลาง Passeig de Gràcia ย่านคนรวยในอดีต จุดเด่นของบ้านหลังนี้สังเกตไม่ยาก เพราะมีเพียงอาคารหลังเดียวเท่านั้นที่ตกแต่งด้วยสีสันฉูดฉาดราวกับยกแนวปะการังมาประดับตึกส่วนหน้า โดยพื้นที่ด้านล่างเป็นประตูขนาดใหญ่ราวกับพระราชวัง พร้อมกับระเบียงด้านบนที่มีหน้ากากกระดูกเป็นราวระเบียง
ใครจะไปคิดล่ะครับ ว่าบ้านที่รูปทรงสะดุดตานี้จะถูกปรับปรุงมาเป็นมากกว่า 100 ปี!
ด้านหน้าของบ้านตระกูล Batlló (Casa Batlló) ที่ประดับประดาด้วยกระเบื้องสีสันสดใส ราวกับยกแนวปะการังมาไว้ด้านหน้า
สิ่งที่ต้อนรับเราหลังจากก้าวแรกในอาคารคือบันไดเวียนที่ประดับด้วยไม้ราวกับถอดแบบมาจากสิ่งมีชีวิต ทุกรายละเอียดด้านหน้าแตกต่างจากบ้านคอนกรีตแข็งกระด้างที่ทุกอย่างมีรูปแบบตายตัว ตั้งแต่ช่องแสงที่ถอดแบบมาจากกระดองเต่าทะเล พื้นที่ส่วนกลางที่เปิดกว้างรับแสงสว่างจากภายนอกผ่านกระจกสีระยับ เพดานเป็นลวดลายหมุนวนที่ใจกลางมีโคมไฟที่รูปแบบคล้ายกับดอกไม้ทะเล
เกาดีปรับปรุงบ้านหลังนี้เมื่อ ค.ศ. 1904 สไตล์ที่ฉูดฉาดหลากแพทเทิร์นของเขาเป็นที่รู้จักในฐานะสถาปนิกแนวหน้าในแวดวงศิลปะสมัยใหม่ ความโดดเด่นของเขาซ่อนตัวอยู่ในทุกรายละเอียดของบ้าน ตั้งแต่การวางกระเบื้องในช่องแสงกลางบ้านที่ค่อยๆ ไล่สีน้ำเงิน 5 เฉด รวมถึงหลังคาบ้านที่ถูกปรับปรุงราวกับปราสาทในเทพนิยาย โดยเปลี่ยนปล่องไฟให้เป็นรูปทรงน่าฉงน ประดับกระเบื้องหลากสีหลายรูปแบบ
แต่ใช่ว่าเขาจะเน้นเพียงรูปแบบของอาคาร ผลงานของเกาดียังคำนึงถึงการใช้งาน เช่น ห้องใต้หลังคาสำหรับซักรีดของแม่บ้านที่มีโครงสร้างเป็นคานโค้งสวยงาม และยังเป็นฉนวนกันความร้อนและหนาวให้กับบ้านทั้งหลังไปในตัว ช่องแสงและช่องระบายอากาศที่ทำให้บ้านสว่างไสวและโปร่งสบาย รวมถึงสารพัดเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่เตียงไปจนถึงลูกบิดประตูที่ออกแบบโดยคำนึงถึงดีไซน์และฟังก์ชัน
บ้านตระกูล Milà (Casa Milà) ที่ได้รับฉายาว่า ‘La Pedrera’ หรือ ‘เหมืองหิน’
หลังจากอิ่มใจในโลกใต้ทะเล ไม่ใกล้ไม่ไกล ก็มีอาคารอีกหนึ่งหลังคือ บ้านตระกูล Milà (Casa Milà) ที่เกาดีรับจ้างจากตระกูลพ่อค้าผู้ร่ำรวยให้เนรมิตอาคารขนาด 1,620 ตารางเมตรตามสไตล์ของเขา การก่อสร้างเสร็จสิ้นเมื่อ ค.ศ. 1912 และได้รับฉายาว่า ‘La Pedrera’ หรือแปลว่า ‘เหมืองหิน’ จากสภาพภายนอกที่คล้ายกับหน้าผามีชีวิต แม้ว่าอาคารหลังนี้จะไม่ได้ถูกตกแต่งอย่างฉูดฉาด แต่เกาดีก็ยังซ่อนลูกเล่นเอาไว้ในลวดลายประดับเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูไม่รู้เบื่อ และรั้วระเบียงที่มีลวดลายไม่ซ้ำแบบ ชวนให้จินตนาการว่าเขาคิดอะไรในขณะที่กำลังหล่อเหล็กดัดสีดำด้านเหล่านี้
ลานกว้างใจกลางตึก ด้านข้างมีบันไดเวียนซึ่งโดดเด่นด้วยภาพวาดฝาผังที่ใช้สีพาสเทล
หลังจากผ่านเข้ามาสู่ประตูขนาดยักษ์ที่มีลวดลายคล้ายปะการัง เราก็จะพบกับลานกว้างใจกลางตึกซึ่งจะช่วยให้แสงและอากาศสามารถเข้าไปเยี่ยมเยือนผู้พักอาศัย ด้านข้างมีบันไดเวียนซึ่งโดดเด่นด้วยภาพวาดฝาผังที่ใช้สีพาสเทล อาคารดังกล่าวมีทั้งหมด 9 ชั้น โดยมีชั้นจอดรถใต้ดิน ชั้นล่างสำหรับร้านค้า ห้องสำหรับสำนักงาน และห้องให้เช่า ความน่าตื่นตาตื่นใจของปราสาทหินแห่งนี้อยู่ที่โครงสร้าง เกาดีเลือกใช้โครงสร้างเสาที่สลับซับซ้อนเพื่อรองรับน้ำหนักตัวอาคาร 2 อาคาร แต่เชื่อมร้อยกันด้วยกรอบภายนอกตึก (façade) ที่ไม่ได้มีฟังก์ชันในการรับน้ำหนักแต่อย่างใด หากมองในมุมสูงก็จะเห็นเหมืองหินแห่งนี้เป็นรูปเลขแปด
โครงห้องใต้หลังคาที่เป็นคานโค้งจากพื้นจรดเพดาน คล้ายกับกระดูกของสัตว์อย่างงู
ห้องใต้หลังคาของ La Pedrera ถูกปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ถ่ายทอดเรื่องราวของเกาดี้ตั้งแต่สมัยเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรง การเติบโตในย่านชนบททำให้เขาละเอียดกับธรรมชาติรอบตัว เฝ้ามอง และสะสมตัวอย่างสัตว์และพืชนานาชนิด คอลเลกชันเหล่านี้เองที่เป็นเบื้องหลังงานออกแบบของเขา เช่นโครงสร้างในห้องโถงใต้หลังคาเองก็หน้าตาละม้ายคล้ายกระดูกงูที่แสดงอยู่ในตู้กระจก ถัดขึ้นไปอีกชั้น หลังคาที่ออกแบบโดยเกาดี้มีหรือว่าจะธรรมดา เพราะปล่องไฟจำนวน 28 ปล่องไปถูกจัดเรียงราวกับเป็นประติมากรรมกระจายอยู่รอบหลังคา แต่ละปล่องไฟเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่รวมลักษณะหัวเสาทุกรูปแบบที่เขาค่อยๆ พัฒนามาตลอดชีวิตสถาปนิก
กระดูกงู หนึ่งในคอลเลกชันสัตว์และพืชของเกาดี
อย่างไรก็ดี ด้วยรูปทรงของอาคารที่แปลกประหลาดทำให้อาคารดังกล่าวถูกนักวาดการ์ตูนนำไปล้อเลียน หลากหลายเหตุการณ์ทำให้ความสัมพันธ์ของเกาดี้และผู้ว่าจ้างเริ่มระหองระแหง ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลโดยเกาดี้ฟ้องร้องเรียกค่าออกแบบจากผู้ว่าจ้าง เนื่องจากตระกูล Milà มองว่าเกาดี้เรียกค่าออกแบบสูงเกินไป
La Pedrera คือผลงานปรับปรุงอาคารส่วนบุคคลชิ้นสุดท้ายของเกาดี้ ก่อนที่เขาจะทุ่มเทเวลาแทบทั้งหมดไปกับการก่อสร้างมหาวิหาร Sagrada Família
Sagrada Família – มหาวิหาร 136 ปีที่ใกล้จะสร้างเสร็จ
“ลูกค้าของผมไม่รีบ (My client is not in a hurry)” เกาดี้มักตอบอย่างมีความสุขเมื่อใครมาถามว่าทำไมโครงการก่อสร้างมหาวิหารถึงใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน โดย ‘ลูกค้า’ ที่เกาดี้หมายถึงคือพระเจ้านั่นเอง
ทางเข้าด้านหนึ่งของ Sagrada Família ถ่ายทอดเรื่องราวการประสูติของพระเยซู (Nativity Façade)
มหาวิหาร Sagrada Família คือผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่เกาดี้อุทิศชีวิตช่วงสุดท้ายเพื่อสร้างแบบจำลองอย่างละเอียด ตอนที่เขาเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1926 มหาวิหารดังกล่าวก่อสร้างเสร็จไม่ถึง 1 ใน 4 จากแบบแปลนที่วางไว้ การก่อสร้างยังต้องหยุดชะงักเพราะสงครามภายในของสเปน นอกจากนี้ สงครามดังกล่าวได้เผาทำลายแบบจำลองและแบบแปลนอันประเมินค่ามิได้ของ Sagrada Família ไปอีกด้วย อย่างไรก็ดี เหล่าสถาปนิกผู้สืบทอดอุดมการณ์ของเกาดี้ก็พยายามรวบรวมเศษซากที่หลงเหลืออยู่และคาดเดาว่าภาพร่างต้นฉบับจะมีลักษณะอย่างไร
ด้านในของมหาวิหาร Sagrada Família แหงนหน้าขึ้นมองคล้ายกับอยู่ในป่าศักดิ์สิทธิ์สีขาวสะอาด
ผมแอบไปเยี่ยมชมด้านนอกของมหาวิหารแห่งนี้แทบทุกวัน เพราะเพียงการมองรายละเอียดประดับประดาด้านหน้าอาคารไกลๆ ก็ทำเอาลืมหายใจไปวินาที ทางเข้ามหาวิหารที่สร้างเสร็จแล้วคือประตูรองสองด้าน ถ่ายทอดเรื่องราวการประสูติของพระเยซู (Nativity Façade) ซึ่งก่อสร้างในช่วงเวลาที่เกาดี้ยังมีชีวิตอยู่ ลวดลายของทางเข้าฝั่งนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ถอดแบบมาจากธรรมชาติ ทั้งใบไม้ ดอกไม้ สิงสาราสัตว์ และผลไม้ต่างๆ ทำให้มองดูได้ไม่รู้เบื่อ ส่วนทางเข้าอีกด้านหนึ่งถ่ายทอดเรื่องราวพระทรมานของพระเยซู (Passion Façade) ก่อสร้างภายหลังเกาดี้เสียชีวิตแล้ว แต่อ้างอิงจากแบบที่เขาวาดทิ้งเอาไว้ ลวดลายของประตูฝั่งนี้เต็มไปด้วยเหลี่ยมคม เรียบง่าย คล้ายกับโครงกระดูก
ส่วนทางเข้าหลักจะเป็นงานสถาปัตยกรรมพระคริสต์ทรงพระสิริ (Glory Façade) ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อ ค.ศ. 2002 โดยอ้างอิงจากแบบจำลองที่เกาดี้ปั้นทิ้งไว้ แต่ถูกทำลายทิ้งลงในระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน
กระจกสีที่ประดับประดาใน Sagrada Família ทำให้แต่ละนาทีที่อยู่ในอาคารให้ความรู้สึกแตกต่างกัน
หลังจากชมภายนอกเสร็จ ก็ได้เวลาเข้าสู่ภายในมหาวิหาร แค่ก้าวแรกก็ทำเอาผมไม่อยากก้าวต่อไปไหน เพราะด้านในโบสถ์ไม่ต่างจากป่าศักดิ์สิทธิ์สีขาวสะอาดที่แผ่ปกคลุมเราเอาไว้ กระจกสีที่เรียงรายรอบอาคารทำให้แสงสีด้านในเปลี่ยนแปลงไปทุกนาที ทุกฉากมุมเต็มเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดและความเรียบงามที่ถอดแบบมาจากธรรมชาติ สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือการออกแบบเสาทุกต้นให้มีระยางค์สาขาราวกับเป็นต้นไม้ที่มีชีวิต
หลักคิดพื้นฐานในการก่อสร้างมหาวิหารแห่งนี้ของเกาดี้นั้นเรียบง่าย หากพระเจ้าคือผู้สรรค์สร้างธรรมชาติ คงไม่มีสถาปัตยกรรมใดที่แสดงความเคารพต่อพระเจ้าได้ดีไปกว่าผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจของสิ่งที่พระเจ้าสร้างสรรค์
ตามแผนการก่อสร้าง Sagrada Família จะแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2026 หรือครบรอบ 100 ปีการเสียชีวิตของเกาดี้ แต่อย่างไรก็ดี อาจมีรายละเอียดและการประดับประดาบางส่วนที่ต้องใช้เวลาอีกร่วม 6 ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์
พักใจก่อนกลับใน Park Güell
เช้าสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องบินกลับ ผมนั่งรถเมล์ไป Park Güell สวนสาธารณะที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสมบัติของตระกูล Güell ซึ่งอยู่ค่อนข้างไกลจากตัวเมืองพอสมควร สวนแห่งนี้ออกแบบอย่างเคารพธรรมชาติรอบข้าง ทำให้สถาปัตยกรรมกับต้นไม้กลมกลืนสวยงาม เหมาะอย่างยิ่งกับการเดินย่อยอาหารเช้า และนั่งสูดหมอกพลางมองวิวเมืองบาร์เซโลนา
เสาหินโค้ง สถาปัตยกรรมที่กลมกลืนไปกับสวนชวนให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจไปกับธรรมชาติรอบตัว
‘มังกรของเกาดี้’ หน้าตาคล้ายตุ๊กแกยักษ์ที่ประดับประดาด้วยกระเบื้องสีสันสดใส พระเอกประจำ Park Güell
พระเอกของสวนสวยแห่งนี้คือ ‘มังกรของเกาดี้’ ที่หน้าตาคล้ายตุ๊กแกยักษ์ที่ประดับประดาด้วยกระเบื้องสีสันสดใส
ผมรู้สึกแปลกใจตัวเอง เพราะบาร์เซโลนาไม่เคยทำให้ผมรู้สึกเบื่อหน่ายตลอดเวลา 5 วัน 4 คืน แม้แต่เช้าสุดท้ายที่สถาปัตยกรรมของเกาดี้ก็ยังมีรายละเอียดและความงามให้ค้นหาอยู่เสมอ ช่วงเวลาแสนสั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำความรู้จักเกาดี้ ผมจึงสัญญากับตัวเองก่อนโบกมือลาบาร์เซโลนาว่าจะกลับมาหาอีกครั้ง ในวันที่ Sagrada Família สร้างเสร็จสมบูรณ์
*ขอขอบคุณสถาปนิกผู้แนะนำทริป ธิษณา กูลโฆษะ *
Tags: สเปน, บาร์เซโลนา, Antoni Gaudi, อันตอนี เกาดี้