จาก ‘อันดากับฟ้าใส’ มาจนถึง ‘ขุนพันธ์’ อนันดา เอเวอร์ริงแฮม ทำอาชีพนักแสดงมากว่า 21 ปี กับภาพยนตร์ทั้งหมด 30 เรื่อง ละครอีก 8 เรื่อง เข้าสู่บทบาทหลากหลายตั้งแต่หนุ่มน้อยหน้าใส ชายบ้ารัก ซูเปอร์ฮีโร่ จนถึงเจ้าแห่งไสยเวทย์ ฯลฯ เล่นเป็นคนจากยุคโน้นบ้างยุคนี้บ้าง เรียลลิสติกมากน้อยไล่ไปจนถึงแฟนตาซี ทุกบทบาทของเขาทำให้ผู้คนเชื่ออย่างไร้ข้อกังขา แม้แต่บทที่ช่างขัดกับหน้าตาลูกครึ่งของเขาสุดฤทธิ์ ก็ยังทำได้ยอดเยี่ยม

ขณะที่นอกจอ อนันดาเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดง ‘ติสต์แตก’ หรือไม่ก็ ‘โลกส่วนตัวสูง’ บวกกับใบหน้าที่หลายคนยากจะปฏิเสธ เขาจึงกลายเป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่มักจะอยู่ในความสนใจของผู้คน ยิ่งเมื่อค้นลึกลงไปถึงครอบครัวและเส้นทางที่เขาเดิน ยิ่งพบว่าอนันดาอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างที่หลายคนอาจไม่เคยพบ และเรื่องราวจากพื้นที่ตรงนั้นก็เป็นสิ่งที่เราอยากลองฟัง

นิยามที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของเขาคือความเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ที่ต้องการเก็บรายละเอียดในทุกเรื่อง ลงลึกและรู้ให้รอบอย่างที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นไปในฐานะการทำการบ้านก่อนการแสดง ส่วนหนึ่งเป็นไปในฐานะคนทำงานเบื้องหลัง แต่อีกหลายส่วน เป็นไปในฐานะมนุษย์โลก ที่จะมองสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเองด้วยสายตาบางแบบ ซึ่งในข้อนี้เองเป็นเรื่อง ‘ภายใน’ ของเขาที่เซอร์ไพรส์เราอยู่ไม่น้อย

ในวันที่พบกันนั้น ในหัวผู้เขียนยังเต็มไปด้วยเรื่องราวคุกรุ่นของดราม่าที่เพิ่งเสพเมื่อตอนเช้า ซึ่งการได้พูดคุยกับนักแสดงมากฝีมือคนนี้ กลับช่วยสร้างความคลี่คลายบางข้อได้อย่างไม่น่าเชื่อ

คุณให้สัมภาษณ์มาเยอะมาก หากกลับไปอ่านหรือฟังบทสัมภาษณ์เก่าๆ คุณยังเป็นคนคนนั้นอยู่ไหม

ไม่รู้ ไม่เคยอ่านเลย แต่เราว่าคนมันเปลี่ยนอยู่แล้ว ก็คงมีบางจุดที่อาจจะพัฒนาขึ้น หรือบางจุดที่เหมือนเดิม มันก็คือคนๆ หนึ่งที่โตขึ้นตามวัยวุฒิ ตามประสบการณ์นั่นแหละ

เป็นคนทบทวนตัวเองบ่อยหรือเปล่า

จะเรียกว่าทบทวนก็ได้ เราพยายามใช้ชีวิตให้ละเอียด อยากละเอียดกับทุกสถานการณ์ในชีวิต พอโตขึ้น เรารู้สึกว่ามันสำคัญที่เราจะมองโลกจากหลากหลายมุม ต้องมีโลกทัศน์ที่กว้างและกลมขึ้น โดยที่ไม่ใช่ว่าเอาตัวเราเป็นที่ตั้งอย่างเดียว ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะคอยเช็คตัวเองก็คือการทบทวนละมั้ง แล้วมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายสักเท่าไร โดยเฉพาะเมื่ออาชีพของเรากับการอยู่ในเมืองใหญ่ ทุกอย่างมันไปเร็วเกินกว่าที่จะเก็บรายละเอียดหรือรู้ตัวอยู่ตลอดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

ซึ่งเราพยายามจะปรับตรงนี้ ไม่อยากให้เหตุการณ์เป็นตัวนำชีวิต เราอยากรู้ตัว อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด พออายุมากขึ้น มันก็เริ่มง่ายขึ้น เพราะในวัยที่เรากำลังสร้างตัวเอง หาความหมายให้กับชีวิต มันง่ายมากที่จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทุกอย่างมันหมุนไปกับอีโก้ มองทุกอย่างในแง่ที่ว่ามันมีความหมายต่อเราอย่างไร

ทั้งที่จริงโลกนี้มันไม่ได้เกิดมาแบบนั้น เราเป็นแค่อะไรสักอย่างที่เกิดมาบนโลกแค่แป๊บเดียวแล้วก็จะหายไป ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย พอรู้ตัวแบบนั้นแล้ว ไอ้ที่เราพยายามคิดมาตลอดว่าที่โลกดำเนินไปแบบนี้เพื่อให้เราเป็นแบบนี้ มันไม่มีทางจะเป็นไปได้ จากช่วงวัยที่กำลังสงสัยทุกอย่าง หาเหตุผลกับทุกอย่าง พอถึงตอนที่เราปล่อยตรงนั้นแล้ว มันรู้สึกสบายขึ้น ไม่ได้มานั่งคาดหวังว่าสถานการณ์นี้จะต้องให้อะไรหรือมีความหมายอะไรต่อเราขนาดนั้น เราง่ายขึ้น

ยังนิยามตัวเองว่าเป็นเพอร์เฟ็กชันนิสต์อยู่ไหม

ทุกวันนี้ก็ปล่อยมากขึ้น แต่ก็ยังมีมุมนั้นอยู่ คือเราพยายามปล่อยให้พนักงานในออฟฟิศเรา (Halo Productions) หรือคนที่เราทำงานด้วยได้ทำหน้าที่ของเขา เมื่อก่อนเราจะชอบไปก้าวก่ายหรือครอบงำหน้าที่คนอื่น เพราะหนึ่ง เราอยากให้ทุกอย่างเพอร์เฟ็กต์ สอง เพราะเราใจร้อน อย่างตอนอยู่กองถ่าย สมมติมีคนที่ไม่ปิดประตูให้สนิท เราก็จะบอกให้เขาปิด ไม่งั้นจะมีประตูไว้ทำไม แล้วแอร์ในโลเคชั่นเขาก็จะทำงานหนักไง เราจะเป็น OCD (โรคย้ำคิดย้ำทำ) ในเรื่องเล็กๆ แบบนี้แหละ

คุณเป็นคนดุไหม สำหรับทีมงานในบริษัทของคุณ

เป็นคนน่ากลัว… ไม่สิ เป็นคนใจดี น่ารัก… เปล่าหรอก เหมือนเราหมดวัยใช้อารมณ์มาพักหนึ่งแล้ว คือตลอดมาเราจะไม่เป็นคนหนีความขัดแย้ง โอเค ถ้ามันมีปัญหาที่ต้องเถียง ต้องทะเลาะกัน ก็ต้องทะเลาะ เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนเราจะเสียงดัง โหวกเหวกโวยวาย ทุบโต๊ะ ปาข้าวของ โดยที่เราพยายามให้ทุกอย่างอยู่บนเหตุผลน่ะนะ ซึ่งพอคนรู้ว่าเราเป็นอย่างนั้น มันเลยกลายเป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับเขา

“ฉิบหายแล้ว ถ้าข้อมูลกูไม่แน่นพอ ไปเถียงกับเขานี่น่าจะไม่รอด” อะไรแบบนี้ บางทีคนก็เลยกลัวที่จะคุยกับเรา แต่ทุกวันนี้เราก็พยายามถอยมาอยู่ในจุดที่ passive มากขึ้น supportive มากขึ้น ก็ดีขึ้นนะ ทุกอย่างเบาลง

ในเรื่องการแสดงล่ะ คุณคาดหวังกับตัวเองแค่ไหน

เรามีมาตรฐานของตัวเอง โดยที่เราก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองด้วยว่า ในเมื่อเรามีมาตรฐานแบบนั้นแล้ว ปัญญาหรือความสามารถของเราสามารถพาให้ไปถึงมาตรฐานตรงนั้นได้หรือเปล่า เราไม่เชื่อใน shortcut อยู่แล้ว ไม่เชื่อในพรสวรรค์ มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครกำหนดได้ เราเลือกฝึกฝนในสิ่งที่เรากำหนดมันได้ดีกว่า

ทราบมาว่าคุณเองอ่านภาษาไทยไม่ได้ ใช้วิธีทำความเข้าใจบทบาทที่ได้รับอย่างไรบ้าง

เราให้คนอ่านให้ฟัง แล้วก็แปลเฉพาะบทพูดเป็นคาราโอเกะ เพื่อไว้เป็นไกด์เฉยๆ มันมีสิ่งที่เราทำไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดจากที่เราอ่านภาษาไทยไม่ได้ด้วยรึเปล่า นั่นก็คือเราท่องไม่เป็น ถ้าให้ท่อง จะจำบทไม่ได้ มันจะไม่อยู่ในสมองเลย ต่อให้เป็นคำพูดง่ายๆ ก็จะพูดย้ากยาก เราเลยพยายามไปเข้าใจตัวละคร เข้าใจแรงผลักดันของเขา ทำไมเขาต้องพูดแบบนี้ ทำไมเขาต้องทำอย่างนี้ ทำไมเขาใฝ่ฝันที่จะคว้าอะไรอย่างนี้ในชีวิต

เมื่อเราเข้าใจอย่างนั้นแล้ว หลายครั้งที่แสดงมันก็ตรงกับบทไปโดยไม่รู้ตัว แต่บางโปรเจ็กต์มันก็จำเป็นต้องท่องน่ะนะ เช่น ศรีอโยธยา ที่บทมันภาษายากๆ ก็ต้องมีท่องบ้าง แต่สุดท้ายเราก็พยายามอาศัยความเข้าใจให้มากกว่าท่อง พอเราเข้าใจแล้วมันแสดงง่ายกว่าเยอะ

เมื่อต้องแสดงหนังหรือละครอิงประวัติศาสตร์ คุณศึกษาประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานั้นมากน้อยแค่ไหน

มันไม่มีด้านลบเลยนะ ถ้าเราจะศึกษาอะไรให้ครบทั้ง 360 องศา เราก็จะหาหนังสือประวัติศาสตร์มาอ่าน อาจจะไม่ได้ใช้กับบท แต่มันก็เป็นประโยชน์สำหรับเราอยู่ดี แล้วมันก็กลับมาที่ความเป็นเพอร์เฟ็กชันนิสต์นั่นแหละ เราอยากรู้หมดทุกอย่าง เราจะเป็นพวกที่เวลาเล่นเกมอะไรจะต้องรู้ให้หมด ถ้ามันมีไอเทมอะไรในแต่ละด่าน ผมจะไม่ยอมไปด่านต่อไป ถ้าไม่ได้เก็บครบทุกอัน แล้วก็จะอยู่ตรงนั้นเป็นชั่วโมงๆ จนรู้ทุกรายละเอียด ทุกอ๊อปชั่นของตัวละครที่เราเล่น ของด่านที่เราอยู่ พอทำคอมพลีทหมดแล้วก็ห้ามตายด้วย (หัวเราะ)

มองว่าความน่าสนใจของยุคสมัยในเรื่อง ‘ขุนพันธ์’ คืออะไร

ตอนนั้นเป็นยุค จอมพล ป. ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เราเริ่มฟื้นฟูประเทศและรับเอาอิทธิพลตะวันตกเข้ามา ดังนั้นในขุนพันธ์ภาค 2 เรื่องแฟชั่นเสื้อผ้าจะเป็นอะไรที่โดดเด่นมาก แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราใช้สู้กันก็ยังเป็นอาคม ไสยศาสตร์ ซึ่งมันเป็นส่วนผสมที่แฟนตาซีสำหรับเรา

เราเองไม่ได้โตมากับความเชื่อเรื่องนี้ มันไม่เคยมีอยู่ในชีวิต พอมาเล่นเรื่องนี้เลยต้องเข้าไปทำความรู้จักมัน แล้วเวลาเดินเข้าเซ็ตเราจะกลายเป็นคนคนนั้น ที่เชื่อว่ากูหายตัวได้ กูหนังเหนียว คงกระพัน ด้วยการอาศัยเสื้อผ้าหน้าผม เมื่อใส่ชุด เมื่อติดรอยสัก ทุกอย่างมันเสริมอารมณ์ เราอาศัยตรงนั้นพาเข้าคาแรกเตอร์ พอสิ่งเหล่านั้นอยู่บนร่างกายเรามันทำให้ตัวละครมีความศักดิ์สิทธิ์ พออยู่ในเซ็ตก็เก่งเหลือเกิน แต่ออกจากเซ็ตมาก็เป็นคนชรา (หัวเราะ)

การเติบโตมากับหลากหลายวัฒนธรรมในตัวเอง ทำให้คุณเปิดรับอะไรได้ง่ายขึ้นไหม

เราว่าแล้วแต่คน ลูกครึ่งที่โตมากับครอบครัวอนุรักษ์นิยมมากๆ ก็มี คนไทยที่โตมาแบบเปิดมากๆ ก็เยอะ เราเป็นผลผลิตของสิ่งที่แวดล้อมที่เราอยู่มากกว่า มันมีความคิดหนึ่งที่น่าสนใจที่เพิ่งได้อ่านมา ว่าทำไมโลกเราต้องมีคอนเซอร์เวทีฟกับลิเบอรัล คือเขามองว่าถ้าย้อนกลับไปตอนเรายังเป็นมนุษย์ถ้ำ มนุษย์เราก็มีดีเอ็นเอของสองขั้วนี้อยู่แล้ว

พวกลิเบอรัลก็จะเป็นกลุ่มที่อยากจะขยับขยายออกไปข้างนอก ออกไปดูว่ามีอะไรอยู่นอกสังคมของเขา ออกไปค้นหาสิ่งใหม่ๆ ขณะที่ฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟก็จะอยู่กับถ้ำ อยู่ดูแลครอบครัว ดูแลสังคมของเขา ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีประโยชน์ในการเอาตัวรอดของเผ่าพันธ์มนุษย์ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้คือหลายคนในแต่ละฝ่าย เหมือนกับว่าอยากให้อีกฝ่ายหายไป หรือไม่ต้องมีความคิดอีกขั้วอยู่ พับเก็บไปได้เลย ล้มล้างกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่นั่นก็ ช่างมันเถอะ

เรื่อง ‘เชื้อชาติ’ สลักสำคัญกับคุณแค่ไหน

ถ้าถามเรา เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นเอเชียนมากกว่าฝรั่งนะ พออยู่ในเอเชียเรารู้สึกเป็นตัวเองมากกว่าตอนไปยุโรปหรือออสเตรเลีย อาจเป็นความเคยชินก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะเรารู้สึกว่าสังคมเอเชียจะละเอียดกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ เหมือนแง่คิดของฝั่งตะวันตกจะเป็นเรื่อง individual เป็นเรื่องของ ‘ฉัน’ ซึ่งตอนวัยยี่สิบกว่าเรารู้สึกว่าเราเป็นแบบนั้น เราฝรั่งกว่า แต่พอมาถึงวัยสามสิบกว่าตอนนี้เรารู้สึกว่าคุณค่าในชีวิตเรามันไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราคนเดียว ทุกวันนี้เลยเริ่ม appreciate สังคมเอเชียมากขึ้น เพราะมันค่อนข้างให้คุณค่ากับคนรอบข้างมากกว่า …มั้ง ไม่รู้สิ คงพูดแทนคนอื่นไม่ได้

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเชื้อชาติเหรอ ด้วยความที่เราก็เป็นคนลาว เราพบว่าคนไทยเหยียดเชื้อชาติ (racist) กันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แบบ casually racist เลยล่ะ ซึ่งตรงนี้ผมก็เห็นแง่ดีของมันเหมือนกันนะ การเจอสิ่งนี้ที่มันเป็นไปอย่างสบายๆ สามัญมากๆ มันทำให้เราไม่ aggressive กับ racism แบบนี้

คือถ้าจะมองโลกแบบขาว-ดำ เราก็ไม่ควร racist ไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม จบ แต่ในความเป็นจริง คนเราไม่ได้เป็นแบบนั้น คนเรามันมีความหลากหลาย จะบอกว่า racism มีชนิดเดียวมันก็ไม่ใช่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พอจะโอเคคือ racism ในสังคมเราไม่มันไม่ได้มาพร้อมกับการโจมตีหรือเข่นฆ่า มันอาจจะเป็นการกวนตีนเฉยๆ

อย่างคำว่าฝรั่งขี้นก จริงๆ แม่งโคตร racist เลยนะ แต่มันก็ไม่ได้มาพร้อมความรุนแรงทางกายภาพ มันเป็นความรุนแรงทางภาษามากกว่า ที่เราเจอเองก็อย่างคำว่า ‘ลาว’ ที่เป็นคำด่า ไม่ต้องอะไรมาก คนใกล้ตัวผมบางทีก็ยังด่าคนอื่นว่าลาว แล้วก็หันมามองหน้าเราเหมือนเพิ่งนึกได้ แล้วบอกว่า เฮ้ย กูขอโทษว่ะ แต่คือเราไม่ได้ติดอะไร

หมายถึงคุณไม่เคยรู้สึกกับ racism ในรูปแบบภาษาเลย?

เรามองเรื่องของเจตนาด้วย คือถ้าคนตั้งใจพูดให้เราเฮิร์ท อย่างนั้นก็ไม่น่ารัก แต่ถ้าคนมันแซวกันเฉยๆ ไอ้ฝรั่งลาวอะไรแบบนี้ เราไม่เอามาเป็นอารมณ์ ณ ตอนนี้นะ แต่ตอนเด็กๆ ยอมรับว่างงนิดหน่อย คือเราไม่เคยรู้สึกอะไรกับคำว่าลาว ก่อนหน้านั้นเราเรียนโรงเรียนนานาชาติ ที่คำว่าลาวไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าชื่อประเทศหนึ่ง แต่พอเริ่มมาทำงาน เจอคนไทยมากขึ้น เริ่มเจอคำว่าลาวในแง่ลบหรือกลายเป็นแปลกแยก

เหตุผลหนึ่งที่เราทำหนังเรื่อง ‘สะบายดี หลวงพะบาง’ ก็เพราะเรารู้สึกว่าอยากเปิดหูเปิดตาให้คนไทยหน่อย ว่านี่คือประเทศข้างๆ ที่แทบจะไม่ได้ต่างอะไรกับประเทศไทย แล้วในทั้งโลกนี้ก็มีอยู่แค่ประเทศเดียวที่ใช้ภาษาเหมือนเรา เราคือพี่น้องกันจริงๆ นะ   

เราจะเห็นคนบางกลุ่มที่ต่อต้านเรื่อง white-washing (การใช้นักแสดงคนขาวในบทบาทคนผิวสี) ขณะที่บ้านเราก็มีการใช้นักแสดงลูกครึ่งมารับบทคนไทย คุณคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

ผมไม่ได้เชื่อในไทป์แคสต์อยู่แล้ว (typecast—การคัดเลือกตัวละครแบบที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น) ไม่ได้เห็นตรงนั้นเป็นประเด็นของหนัง หรือประเด็นสังคม คือเวลาแคสต์นักแสดงบางทีเราไม่ได้มามองว่าเขามาจากเชื้อชาติอะไร แล้วตรงกับเชื้อชาติตัวละครไหม เรามองแค่คนคนนั้นแสดงได้รึเปล่า

การให้แกรี่ โอลด์แมน (Gary Oldman) รับบทวินสตัน เชอร์ชิล (นายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ก็อาจไม่ได้เพราะแค่เขาเป็นคนอังกฤษถูกไหม หรือการให้ แดเนียล เดย์-ลูอิส (Daniel Day-Lewis) มาเล่นเป็นอับราฮัม ลินคอล์น ทำไมจะไม่ได้ล่ะ? ชนะออสการ์ด้วย เขาเป็นคนอังกฤษ แต่มาเล่นเป็นตัวละครไอคอนิกในประวัติศาสตร์อเมริกัน ถ้าว่ากันด้วยเชื้อชาติอย่างเดียวมันก็อาจจะขัดแย้งกัน

อันนี้เฉพาะเรื่องเชื้อชาตินะ แต่ถ้าเรื่องของสีผิว รูปลักษณ์ อันนี้ไม่ทราบเหมือนกัน มันก็อาจต้องว่ากันเป็นกรณีๆ เช่นถ้าเอาผมไปเล่นเป็นมาร์ติน ลูเธอร์ คิง มันก็คงไม่ใช่ นอกจากว่าเขาอยากตีความใหม่ว่า ถ้ามาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นลูกครึ่งเอเชียน อย่างนั้นอาจจะได้คือใช้เรื่องราวของเขามาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ถ้าผมไปเล่นเป็นตัวละครในชีวประวัติเขา นั่นก็คงเป็นความผิดพลาดของคนทำแคสต์หรือผู้กำกับ

แต่อย่างนั้นการจะบอกไปว่ามันคือ racism โดยความตั้งใจก็อาจจะเป็นมุมมองที่แคบเกินไป เราว่ามันไม่ได้เป็นไปด้วยเจตนาที่จะเหยียดเชื้อชาติ อย่างเรื่อง sexism ก็คงเป็นเรื่องเดียวกัน ที่หนังบ็อกซ์ออฟฟิศส่วนใหญ่นำโดยผู้ชาย มันก็คงเป็นเรื่องของสถิติที่ผ่านมา มันถูกนำเสนอโดยผู้ชายเป็นหลักมาก่อน แล้วประสบความสำเร็จ แต่ก็คงไม่ได้เป็นแบบนี้ตลอดไปหรอก ตอนนี้ก็อาจจะเป็นช่วงคาบเกี่ยว จะให้เปลี่ยนในชั่วข้ามคืนคงเป็นไปไม่ได้

การไปติหรือไปเชียร์คนเรื่องความคิด เราว่าไม่ได้ผิด แต่มันน่ากลัวที่การแบ่งกลุ่ม คือถ้าแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยหลายๆ กลุ่ม แล้วในแต่ละกลุ่มก็มีการถกเถียง มี discussion กัน อันนั้นน่ะน่าสนใจ แต่ถ้าทุกคนเฮโลกันไปอยู่ฝั่งหนึ่งแล้วอีกกลุ่มก็ไปอยู่อีกฝั่ง การมีแค่สองฝั่งนี่น่ากลัว แล้วมันกลายเป็นว่าคนที่เสียงดังหรือแรงที่สุดจากแต่ละฝั่ง ก็จะคอยครอบงำสารของฝั่งนั้นไปทั้งหมด รายละเอียดปลีกย่อยและปัจจัยอื่นๆ ในการตัดสินใจของคนที่อยู่ระหว่างปลายสุดของแต่ละขั้ว มันถูกกลืนหายไป ซึ่งตรงนี้มันอันตราย

คุณดูให้ความสำคัญกับประเด็นสังคมมากเหมือนกันนะคะ

เราให้ความสำคัญกับบทสนทนา อยากให้มีการเปิดใจคุยกัน ถ้าไดอะล็อกนั้นเปลี่ยนความคิดใครได้ก็เปลี่ยน ถ้ามันเปลี่ยนไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ต้องคุยกันก่อน มันไม่ได้แปลว่าการที่เรามีความคิดอย่างหนึ่งคนอื่นต้องคิดเหมือนเรา หรือเราจะต้องสามารถเอาชนะความคิดใครได้ คนมันมีหลากหลายด้วยตัวของเขาเองอยู่แล้ว ไหนจะปัจจัยแวดล้อมของเขาล่ะ สังคมเรามันผลิตความคิดได้แค่สองแบบจริงๆ เหรอ?

อย่างทุกวันนี้ที่สังคมเรามีดราม่าเยอะมาก คุณติดตามบ้างไหม

ของในบ้านเราเหรอ ถ้าเรื่องการเมืองนี่ไม่ตาม เรื่องสังคมก็มีบ้าง อย่างมากเราก็จะไปยุ่งเรื่องการรณรงค์เชิงสังคมต่างๆ แต่ไม่ได้ไปตามติดว่าเรื่องฮ็อตประจำสัปดาห์นี้มีใครคิดเห็นยังไงบ้าง เราไม่ได้มีความสนใจตรงนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปตรวจตราความคิดของคนอื่น สมมติว่าที่เราคุยกันวันนี้ คุณเอาไปตีความแบบไหนผมก็คงไม่ไปตรวจสอบ ที่เรา discuss กันมันได้จบลงแล้ว

คำวิจารณ์งานแสดงส่งผลกับคุณมากน้อยแค่ไหน

ไม่เลย เราเคยเล่นหนังที่คนชมกันเยอะมาก แล้วก็เคยเล่นหนังที่คนด่ากันทั้งประเทศ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะมานิยามตัวเราอยู่แล้ว คือถ้าสมมติว่าเรามีการถกเถียงกับคนที่ทำงานด้วยกันหรือครูบาอาจารย์ ที่จะมาคุยกันเรื่องการทำงาน เช่นในซีนนี้คิดอะไรอยู่ ควรปรับตรงไหนไหม อันนั้นเราจะคุย มันเกิดประโยชน์ แต่การไปเสพคอมเมนต์ว่า เฮ เขาชมเรา หรือ โอ้โห เขาด่าเรา แล้วก็มานั่งเครียด นั่นไม่มีประโยชน์

สิ่งที่ทำให้คุณดีใจ สำหรับการแสดงแต่ละครั้งคืออะไร

ทุกครั้งที่เราเข้าไปเป็นตัวละคร เราจะรู้ว่าเราได้เข้าไปแค่ไหน สิ่งที่พยายามทำคือการทำงานโดยไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง การที่เราได้สร้างชีวิตให้คนคนหนึ่ง เราต้อง appreciate ทุกโมเมนต์ของชีวิตเขาคนนั้น และเราพยายามอยู่กับมันให้ดีที่สุด ส่วนหนังจะออกมาดีหรือไม่ดียังไง เราให้เกียรติกับทีมงาน แต่ส่วนของเรา เราจะต้องไม่กลับบ้านมาแล้วรู้สึกว่าแค่ได้ทำงานไปวันๆ เราคิดง่ายๆ แค่นั้นเลย

_____

ขอขอบคุณร้าน Some Time Blue ที่เอื้อเฟื้อสถานที่

Fact Box

  • อนันดา เอเวอร์ริงแฮม เกิดเมื่อปี 2525 เป็นลูกครึ่งลาว-ออสเตรเลีย พ่อของเขาเป็นช่างภาพข่าวในสงครามเวียดนาม ได้พบรักกับแม่ของเขา แล้วพากันหนีสงครามจากประเทศลาวมาอยู่ฝั่งไทย ความรักของทั้งคู่เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘Love is Forever’ เมื่อปี 2526
  • ในวัยเด็ก อนันดาค่อนข้างเกเร จนเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่ออายุ 14 ปี เขาหันมาตั้งใจเรื่องการแสดงแทน ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาคือคือ ‘อันดากับฟ้าใส’ เคยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากผลงานหลายเรื่องเช่น ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ ‘Me Myself’ ‘Happy Birthday’ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ‘ภวังค์รัก’ ฯลฯ
  • นอกจากผลงานแสดงที่มีอยู่เรื่อยๆ เขายังทำโปรดักชั่นเฮ้าส์ชื่อ Halo Productions รับทำอีเวนท์เกี่ยวกับงานศิลปะ ผลิตรายการโทรทัศน์โดยเฉพาะงานรีเมคซีรี่ย์จากประเทศเกาหลีใต้
  • อนันดามีส่วนร่วมกับการรณรงค์เชิงสังคมอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดเขาร่วมแคมเปญ ‘Don’t Tell Me How To Dress’ ซึ่งนำโดยซินดี้ สิรินยา บิชอพ โดยอนันดาระบุว่า เขาเติบโตมาโดยใกล้ชิดกับแม่ และอยู่ท่ามกลางบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศจึงเป็นเรื่องที่เขาอิน
Tags: