หลังจากโลกได้รับการยืนยันจากสำนักวาติกันว่า พระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) สิ้นพระชนม์ในวัย 88 ปี ด้วยโรคหลอดเลือดในสมองและภาวะหัวใจหยุดเต้น หลายฝ่ายคงจะตั้งคำถามถึงความเป็นไปของนครรัฐวาติกัน ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมโบราณ ขั้นตอนการไว้อาลัย ไปจนถึงเรื่องอนาคตของคริสตจักรนิกายคาทอลิก อย่างการเลือกตั้งประมุของค์ใหม่ และแคนดิเดตพระคาร์ดินัลที่จะมาสานภารกิจทางจิตวิญญาณต่อ
The Momentum ขอสรุปเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงเปิดรายชื่อแคนดิเดตพระสันตะปาปา ที่เป็นดังภาพสะท้อนทางอุดมการณ์การต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม และเสรีนิยมบนพื้นที่ทางศาสนา นับเป็นส่วนสำคัญในการชี้ทิศทางอนาคตของโลกและศาสนจักรนับจากนี้
พิธีกรรมและการไว้อาลัยเป็นอย่างไร
ทันทีที่โป๊ปฟรานซิสจากไป นครรัฐวาติกันจะอยู่ในช่วง ‘Sede Vacante’ โดยอัตโนมัติ แปลว่าเก้าอี้ผู้นำว่างลงในภาษาละติน โดยอำนาจการปกครองของประมุขแห่งรัฐ จะถูกถ่ายโอนไปที่คณะพระคาร์ดินัลเป็นการชั่วคราว แต่จะไม่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประมุของค์ใหม่อย่างเป็นทางการ ขณะที่ทั้งวาติกันมีระยะเวลาไว้อาลัย 9 วัน หรือเรียกว่า ‘Novendiale’ ซึ่งเป็นประเพณีโบราณจากโรมัน โดยมีพิธีสวดภาวนาและพิธีมิสซาในโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ (St.Peter) และทั่วโลก
ในขั้นตอนการทำพิธีศพของโป๊ปฟรานซิส เริ่มจากการที่แพทย์รับรองว่า พระองค์สิ้นพระชนม์จริงๆ และเขียนรายงานสรุป ขณะที่จะมีการนำอวัยวะภายในของประมุขแห่งรัฐวาติกันออกมาฝังในโบสถ์ Santi Vincenzo e Anastasio ที่ตั้งใกล้กับน้ำพุเตรวี (Trevi) ในกรุงโรม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝังหัวใจของพระสันตะปาปามากกว่า 20 คนในแจกันหินอ่อน เปรียบดังสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคริสต์ศาสนิกชน
หลังจากนั้นร่างของพระสันตะปาปาจะสวมชุดสีแดง อยู่ในโลงสีแดงที่ทำด้วยไม้ และบุด้วยสังกะสี โดยที่พระคาร์ดินัลแชมเบอร์เลน (หรือ Camerlengo ในภาษาอิตาเลียน) ซึ่งผู้ครองตำแหน่งนี้ในปัจจุบันคือ เควิน โจเซฟ ฟาร์เรลล์ (Kevin Joseph Farrell) พระคาร์ดินัลชาวอเมริกัน-ไอริช วัย 77 ปี (แต่งตั้งโดยโป๊ปฟรานซิสในปี 2019) รวมถึงเจ้าหน้าที่ในวาติกัน และครอบครัวของโป๊ปฟรานซิสจะมารวมตัว เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาพร้อมกับทำพิธีใช้ค้อนทำลาย ‘แหวนชาวประมง’ หนึ่งในเครื่องสมณะกกุธภัณฑ์ของพระสันตะปาปา ที่ใช้ในการปิดผนึกเอกสาร ไม่ให้มีการปลอมแปลงหรือแอบอ้างขึ้นมาใช้งานอีก
เมื่อพิธีเสร็จสิ้น พระคาร์ดินัลแชมเบอร์เลนจะนำเอกสารที่แพทย์รับรองปิดผนึกในห้องส่วนตัวของโป๊ปฟรานซิส ซึ่งก็คือห้องใหญ่ในชั้น 2 ของเกสต์เฮาส์ Casa Santa Marta ในนครรัฐวาติกันที่พระองค์อาศัยอยู่ตลอดทั้ง 12 ปี
ตามรายงานของ Politico พิธีศพของโป๊ปฟรานซิสจะเรียบง่าย ไม่หรูหรา และลดขั้นตอนตามประเพณีโบราณบางอย่าง สืบเนื่องจากพระองค์เคยเซ็นอนุมัติลดขั้นตอนพิธีการจัดงานในปี 2024 โดยในวันที่ 26 เมษายนที่กำลังจะถึง เวลา 10.00 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ร่างของประมุขแห่งวาติกันจะถูกนำไปไว้ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เพื่อเปิดให้สาธารณชน พระคาร์ดินัล และผู้นำทั่วโลกเข้าสักการะ
หากอ้างอิงพิธีศพของพระสันตะปาปาในอดีต มักจะเริ่มต้นด้วยการมีบาทหลวงถือไม้กางเขนนำ ตามด้วยโลงศพและบาทหลวงคนอื่นๆ หลังจากนั้นจะมีการนำหนังสือพระวรสาร (Gospels) วางทับที่หน้าโลง และทำพิธีมิสซาในขั้นตอนสุดท้าย
ต่อมาคือพิธีการฝังศพ เบื้องต้นมีการเปิดเผยว่า โป๊ปฟรานซิสขอให้ฝังร่างพระองค์ให้มหาวิหารซานตามาเรียมายอเร (Basilica of Santa Maria Maggiore) ในกรุงโรมแทนที่จะเป็นห้องใต้ดินของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เพราะพระองค์ชื่นชอบรูปปั้นพระแม่มารีในวิหารเป็นการส่วนตัว และมักเดินทางไปเยี่ยมเยียนบ่อยที่สุด
โดยปกติแล้ว โลงที่ใช้ในการฝังพระสันตะปาปาจะประกอบด้วย 3 ชั้นคือ โลงไม้สน, โลงสังกะสี และโลงไม้เอลม์ แต่โป๊ปฟรานซิสได้สั่งเสียขอให้ฝังตนในโลง 2 ชั้นคือ โรงไม้สนและสังกะสี อีกทั้งยังไม่ขอให้จัดแสดงพระศพในแท่นยกสูงเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา เพื่อจะให้ผู้คนที่แวะเวียนมาสักการะพบเห็นท่านได้อย่างสะดวก
ประชุมลับเพื่อเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่
ตามกฎเกณฑ์ของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ที่กำหนดการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในปี 1996 หลังจากประมุขแห่งวาติกันสิ้นพระชนม์ คณะพระคาร์ดินัลต้องหารือกันภายในถึงปัญหาและความท้าทายของศาสนจักร นับเป็นการปูลู่ทางและแนวโน้มของผู้นำนับต่อจากนี้
ทั้งนี้ขั้นตอนการประชุมลับ (Conclave) จะเกิดขึ้นภายใน 15-20 วัน หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา จะจัดขึ้นที่โบสถ์ซิสติน (Sistine) ที่มีภาพวาดของมิเกลันเจโล (Michelangelo) ภายใต้เงื่อนไขสำคัญและข้อสังเกตที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1. ผู้ลงคะแนนเสียงเป็นพระสันตะปาปาต่ำกว่าอายุ 80 ปี โดยปัจจุบันมี 135 องค์จาก 252 องค์
2. ตามทฤษฎีแล้ว ชายที่นับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกที่ได้รับบัพติศสามารถเป็นพระสันตะปาปาได้ แต่ใน 700 ปีที่ผ่านมา พระสันตะปาปาเป็นพระคาร์ดินัลเสมอ
3. แคนดิเดตพระสันตะปาปาไม่ได้เปิดเผยโจ่งแจ้ง และหาเสียงเหมือนการแข่งขันทั่วไป แต่เป็นที่รู้กันภายในวงว่า ใครคือตัวเต็งและสมควรได้รับตำแหน่งประมุขแห่งรัฐวาติกันต่อจากนี้
4. สำหรับขั้นตอนการประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ พระคาร์ดินัลราว 135 องค์จะต้องสาบานตนก่อนลงคะแนนเสียงว่าจะรักษาความลับ โดยจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ขั้นตอนการเลือกยาวนาน ขณะที่ใครที่ไม่เกี่ยวข้องต้องออกจากจากพื้นที่
5. พระคาร์ดินัลต้องลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้ง ที่มีคำว่า Eligio in Summum Pontificem (แปลว่าข้าพเจ้าเลือกพระสันตะปาปา) โดยมีช่องว่างให้เขียนรายชื่อแคนดิเดต โดยไม่ต้องระบุตัวตนของตนเอง หลังจากนั้นจึงพับกระดาษปิดเป็น 2 ส่วน และใส่ในถ้วยบนแท่นบูชา
6. ทั้งนี้หากพระสันตะปาปาได้รับเลือก โดยมีคะแนน 2 ใน 3 จากทั้งหมด บัตรลงคะแนนเสียงจะถูกเผา โดยสาธารณชนที่อยู่ภายนอกจะรับรู้จาก ‘ควัน’ จากปล่องไฟในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น ‘สีขาว’ แต่หากไร้ความคืบหน้า ควันจะเป็นสีดำ
7. ในกรณีที่พระคาร์ดินัลเลือกใครไม่ได้ สามารถลงคะแนนเสียงใหม่ได้ทั้งหมด 4 รอบต่อวัน โดยหากย้อนกลับไป การเลือกโป๊ปฟรานซิสใช้การลงคะแนนเสียง 5 ครั้ง เป็นเวลา 1 วันเต็ม ขณะที่การเลือกที่ยาวนานที่สุดเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 13 ซึ่งใช้เวลาถึง 3 ปี
8. หากกรณีที่ผลการเลือกตั้งยังหาข้อสรุปไม่ได้ถึง 3 วัน จะมีการพักโหวตเป็นเวลา 1 วัน เพื่อสวดมนต์ และหารืออย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเรียกว่าขั้นตอน ‘การแนะนำทางจิตวิญญาณ’ โดยพระคาร์ดินัลอาวุโส
9. แต่หากการเลือกตั้งสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปคือการทำเอกสารสรุปผลการโหวต และให้พระสันตะปาปาองค์ใหม่ปิดผนึก โดยจะเปิดได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งจากโป๊ปองค์ใหม่เท่านั้น
10. หลังจากได้ผลสรุปแล้วว่า ใครจะเป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป แคนดิเดตคนดังกล่าวจะถูกถามว่า “ท่านจะยอมรับการเป็นพระสันตะปาปาหรือไม่” หากยินยอมจะถูกถามต่อว่า “ท่านอยากให้เราเรียกชื่อท่านว่าอะไร” และหากพระสันตะปาปาองค์ใหม่ตอบรับ พระคาร์ดินัลจะเข้าเฝ้า และมีการประกาศว่าเป็นภาษาละตินว่า “ข้าพเจ้าของประกาศความยินดีสูงสุดแด่ทุกท่านว่า เรามีพระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว!” (Annuntio vobis gaudium magnum… habemus papam!) โดยที่ประมุของค์ใหม่จะปรากฏตัวและให้โอวาทแก่ชาวโลก
เปิดรายชื่อแคนดิเดตพระสันตะปาปา: การต่อสู้ระหว่างอนุรักษนิยมและเสรีนิยม
เหมือนกับในหน้าการเมืองโลกปัจจุบัน ที่กำลังห้ำหั่นระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยม โลกของศาสนจักรก็เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะบทบาทของประมุขแห่งรัฐวาติกันในการชี้นำทั้งในทางโลกและศาสนา
หากให้ขยายความอย่างเด่นชัดที่สุด คงจะเป็นผลงานของโป๊ปฟรานซิส ที่สร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับฝ่ายอนุรักษนิยม หลังพระองค์พยายามปูแนวทางปฏิรูปศาสนจักรให้เสรีและกว้างหน้ายิ่งขึ้น ไปจนถึงทำลายโครงสร้างระบอบเก่า ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามสื่อมวลชนในปี 2013 ว่า พระองค์ไม่มีสิทธิตัดสินได้ว่า คนรักร่วมเพศสามารถเป็นบาทหลวงได้หรือไม่ การวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม กระจายอำนาจคาทอลิกไปยังกลุ่มประเทศในแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา รวมถึงยังออกโรงเปิดหน้าสู้กับผู้นำที่เป็น ‘อธรรม’ เช่น การตำหนินโยบายขับไล่ผู้อพยพของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ยังกล่าวว่า กระทบ เจ.ดี. แวนซ์ (J.D. Vance) ผู้นำเบอร์สองของชาวอเมริกันว่า ใช้ศัพท์ทางเทววิทยาไปอ้างในบริบททางการเมืองไม่ถูกต้อง
The Momentum ขอเปิดรายชื่อแคนดิเดตที่มีแนวโน้มชิงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ดังต่อไปนี้
1. พระคาร์ดินัล ปีเอโตร ปาโรลิน (Pietro Parolin) จากอิตาลี มีอายุ 70 ปี ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของโป๊ปฟรานซิส ทั้งมีความสนิทสนมและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หลังเคยดำรงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัฐวาติกันในปี 2013 และเป็นกาวใจประสานรอยร้าวด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับวาติกัน อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญคือ การเป็นผู้นำสวดภาวนาเมื่อครั้งโป๊ปฟรานซิสป่วย

ภาพ: AFP
แม้บางคนจะมองว่าปาโรลินก้าวหน้า แต่เขาได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขาดเสน่ห์และประสบการณ์ โดยที่ความก้าวหน้าของเขาอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา ขึ้นอยู่กับว่าเขาเจรจากับใครเท่านั้น ขณะที่ Politico ได้รับข่าวงในจากคนใกล้ตัวของประมุขแห่งวาติกันว่า โป๊ปฟรานซิสมองข้ามแคนดิเดตรายนี้ไปแล้ว
2. พระคาร์ดินัล ปิแอร์บัตติสตา พิซซาบัลลา (Pierbattista Pizzaballa) จากอิตาลี มีอายุ 60 ปี มีความโดดเด่นคืออำนาจทางการเมืองในตะวันออกกลาง หลังเคยอาศัยอยู่ที่อิสราเอลมากกว่า 3 ทศวรรษ สามารถพูดภาษาฮิบรู โดยยอมรับว่า เขาสามารถพูดคุยกับกลุ่มฮามาสได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ

ภาพ: AFP
อย่างไรก็ตาม มีการหมายเหตุไว้ว่า พิซซาบัลลาไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาททางศาสนา ทำให้เขาไม่ได้เป็นที่รู้จัก แต่ก็ไม่ค่อยได้รับเสียงต่อต้านจากฝั่งอนุรักษนิยมเช่นกัน
3. พระคาร์ดินัล มัตเตโอ มาเรีย ซุปปี (Matteo Maria Zuppi) วัย 69 ปี จากอิตาลี เป็นแคนดิเดตคนหนึ่งที่ได้รับการจับตามอง โดยมักช่วยเหลือคนยากจน สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ อีกทั้งยังใกล้ชิดกับคณะพระคาร์ดินัลในฐานะล็อบบีลิสต์ของโป๊ปฟรานซิส ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เขามีโอกาสสูงมากที่จะเป็นประมุขแห่งวาติกัน

ภาพ: AFP
4. พระคาร์ดินัล หลุยส์ อันโตนีโอ เทเกิล (Luis Antonio Tagle) แคนดิเดตจากฟิลิปปินส์วัย 67 ปี ที่หลายคนถึงกับทำนายว่า เขาอาจเป็นโป๊ปคนแรกจากเอเชีย เนื่องจากมีความใกล้ชิดและคล้ายคลึงกับโป๊ปฟรานซิส ที่มีปณิธานให้คาทอลิกกระจายอำนาจออกไปในภูมิภาคอื่นๆ

ภาพ: AFP
เทเกิลเคยร่วมเดินทางทัวร์เอเชีย 11 วัน และออกโรงวิจารณ์ โรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) ผู้นำฟิลิปปินส์จากปมสงครามยาเสพติด อีกทั้งยังสนับสนุนกลุ่มรักร่วมเพศ และเชื่อว่า ควรให้ศีลมหาสนิทกับชาวคริสต์ที่หย่าร้าง หรือแต่งงานใหม่ไปแล้วอีกครั้ง โดยในปี 2013 เขาเคยเป็นแคนดิเดตที่มีสิทธิเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ แต่อายุน้อยเกินไปในเวลานั้น
5. พระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เออร์โด (Peter Erdo) แคนดิเดตจากฮังการีสายอนุรักษนิยมวัย 72 ปี เขาได้รับการจับตามองว่า อาจนำศาสนจักรกลับสู่ยุคที่เหมือนกับโป๊ปจอห์นพอลที่ 2 (John Paul II) และเบเนดิกต์ 16 (Benedict XVI) อีกครั้ง โดยมีบทบาทในฐานะนักการทูตที่เชื่อมสายสัมพันธ์ในลาตินอเมริกาและแอฟริกา แต่ต่อต้านผู้อพยพและไม่ยอมให้ชาวคาทอลิกที่หย่าร้างได้รับศีลมหาสนิท

ภาพ: AFP
ครั้งหนึ่ง วิกเตอร์ โอบาน (Viktor Orbán) นายกรัฐมนตรีฮังการีฝ่ายขวา เคยยกย่องเออร์โดว่า เป็นตัวแทนทางศาสนาที่น่าสนใจสำหรับยุโรป และยึดมั่นในแนวทางดั้งเดิม
6. พระคาร์ดินัล ปีเตอร์ ทูร์กสัน (Peter Turkson) จากกานา วัย 76 ปี เคยเป็นแคนดิเดตตัวเต็งตั้งแต่ปี 2013 โดยจุดเด่นคือ การเป็นผู้นำด้านสันติภาพและความยุติธรรม แต่เคยมีปัญหาบาดหมางระหว่างศาสนาอิลสาม หลังเขาเคยเปิดวิดีโอในการประชุมสมัชชาใหญ่ปี 2022 ที่ชี้ว่า ฝรั่งเศสกำลังกลายเป็นรัฐอิสลามภายใน 39 ปี เพราะการเข้ามาของผู้อพยพมุสลิมที่มีอัตราการเกิดสูง โดยทูร์กสันออกมาขอโทษในภายหลังว่า ไม่ได้ตั้งใจโจมตีเช่นนั้น

ภาพ: AFP
น่าสนใจอย่างยิ่งว่า บทวิเคราะห์ของ The New York Times ทิ้งประเด็นไว้ว่า การทำนายว่าใครจะเป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไปเป็นไปได้ยาก โดยอ้างอิงในปี 2023 บ่อนพนันยังทำนายผิดพลาด เพราะโป๊ปฟรานซิสไม่ใช่ตัวเต็งที่ใครคาดคิด และครั้งนี้อาจซับซ้อนมากกว่าเดิม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ประมุขแห่งรัฐวาติกันแต่งตั้งพระคาร์ดินัลที่มีบทบาทเยอะมาก
ท้ายที่สุดสิ่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษหลังจากนี้คือ บทบาทของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่จะนำพาโลกและศาสนจักร เพราะหลายฝ่ายยังมองว่า โป๊ปฟรานซิสยังไม่สำเร็จในการปฏิรูปศาสนาและทิ้ง ‘ปัญหา’ บางอย่างไว้ เช่น การกีดกันบทบาทของบาทหลวงผู้หญิง หรือการนิ่งเงียบต่ออาชญากรรมของจีนต่อชนกลุ่มน้อย จนถึงการทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมกลายเป็นหัวรุนแรง
อ้างอิง
– https://www.nytimes.com/2025/04/21/world/europe/pope-death-traditions-rituals-funeral.html
– https://www.nytimes.com/2025/04/21/world/europe/how-is-a-new-pope-chosen.html
– https://www.nytimes.com/live/2025/04/21/world/pope-francis-death-news
– https://www.nytimes.com/2025/04/21/world/europe/next-pope-francis-candidates.html
– https://www.bbc.com/news/world-21412589
– https://www.reuters.com/world/cardinals-meet-after-death-pope-francis-plan-funeral-2025-04-22/
Tags: คริสต์, วาติกัน, อิตาลี, ศาสนาคริสต์, โป๊ปฟรานซิส, สันตะปาปา, นครรัฐวาติกัน, คาทอลิก