- กลายเป็นเหตุไม่คาดคิด เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอีก 14 คน ต้องระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอย่างรีบเร่ง ด้วยสาเหตุจาก 6 ประเทศในยุโรป ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ลักเซมเบิร์ก และลัตเวีย หยุดใช้วัคซีนยี่ห้อนี้ชั่วคราว เพราะมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเกิดอาการแข็งตัวของหลอดเลือดดำ จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทำให้วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าล็อตนี้ ที่สั่งมา 1.17 แสนโดส ต้องคงค้างอยู่ที่โกดังเช่นเดียวกัน ไม่สามารถแจกจ่ายให้กับทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าตามไปด้วย
- อันที่จริง วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าล็อตดังกล่าวนั้น มาถึงไทยแบบ ‘ลึกลับ’ แรกเริ่มทีเดียว อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า จะมีวัคซีนมาถึงไทยเพียงเจ้าเดียว คือวัคซีนของ ‘ซิโนแวค’ (Sinovac) ที่ไทยสั่งแบบฉุกเฉิน 2 แสนโดส แต่อยู่ดีๆ ก่อนที่ซิโนแวคจะมาถึงเพียงไม่กี่วัน ก็มีรายงานว่า ‘แอสตร้าเซเนก้า’ จะเข้ามาด้วย โดยบริษัทผู้ผลิต ไม่ต้องการให้เปิดเผยว่านำเข้ามาจากประเทศใด เพราะไม่ต้องการไปข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง กระทั่งสืบทราบทีหลังว่ามาจากเกาหลีใต้ และนายกฯ จะฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้ทันที เพราะหมอเตือนไว้ว่า พลเอกประยุทธ์ ซึ่งวันนี้ อายุ 67 ปี ไม่เหมาะที่จะฉีดวัคซีนของซิโนแวค ทำให้เหลือ แอสตร้าเซเนก้า เป็นทางเลือกเดียว สำหรับนายกฯ
- แต่จนแล้วจนรอด นายกฯ ก็ยังไม่สามารถฉีดได้อีก เพราะวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ล็อตเกาหลีใต้นั้น ยังไม่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะตัวที่ อย. ขึ้นทะเบียนก่อนหน้านี้ เป็นล็อตที่ผลิตจากยุโรป ไม่ได้ผลิตจากเกาหลี ทำให้วัคซีนที่ควรจะฉีดให้นายกฯ ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถูกเลื่อนออกไปอีก 3 สัปดาห์ เพื่อให้ อย. ตรวจสอบ กระทั่ง เมื่อได้เวลาที่เหมาะสม นายกฯ พร้อมฉีด ในวันที่ 12 มีนาคม 2564ก็ดันเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกรอบ จากเรื่อง ‘ผลข้างเคียง’ ในยุโรปอีก
- แม้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะยืนยันว่าการเลื่อน ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนมีปัญหา และการชะลอไปก่อน จะไม่มีผลกระทบใดๆ กับประเทศไทย เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ เริ่ม ‘เข้าที่’ ด้วยตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่ค่อนข้างน้อยในแต่ละวัน และตัวเลขผู้ป่วยสะสมที่เหลือเพียงไม่กี่คน แต่คำถามที่ตามมาก็ยังมีอีกหลายข้อ เริ่มจากการเลือกใช้วัคซีนตัวเดียว คือแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งหลังจาก 1.17 แสนโดสแรก และ 2 แสนโดส ของซิโนแวคแล้ว ณ ขณะนี้ ไทยจะมีวัคซีนตัวเดียว สำหรับประชากรทั้งประเทศ นั่นคือวัคซีนยี่ห้อนี้ ยี่ห้อที่กำลังมีปัญหาในยุโรป ซึ่งจะมีการว่าจ้างให้ผลิตในไทยเอง ผ่านบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ ‘ไทม์ไลน์’ เบื้องต้น ระบุว่าจะเริ่มผลิต และแจกจ่ายได้ในเดือนพฤษภาคม รวมถึงจะครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศในปีหน้า
- ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ตอบโต้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน ในการ ‘แทงม้าตัวเดียว’ ด้วยการเลือกวัคซีนยี่ห้อนี้ยี่ห้อเดียวว่า การมีโรงงานผลิตเองภายในประเทศ ถือเป็นเรื่องดี เพราะไม่ต้อง ‘แย่งชิง’ กับประเทศอื่น ซ้ำยังให้ความมั่นใจกับวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้ามากจนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ขณะเดียวกัน ก็แทบจะไม่เหลือช่องว่างให้จัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น ซึ่งขณะนี้ มีด้วยกันหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นของไฟเซอร์, โนวาแวกซ์, ซิโนฟาร์ม, สปุตนิก V หรือ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่ฉีดเข็มเดียว เมื่อ แอสตร้าเซเนก้ามีปัญหา ไทยจึง ‘ลอยเคว้ง’ ไม่สามารถสลับไปใช้วัคซีนอื่น เหมือนกับประเทศที่ ‘แทงม้าหลายตัว’ มีวัคซีนหลายยี่ห้อได้
- นอกจากนี้ ความเชื่อที่ว่าไทยยังไม่ ‘เร่งรีบ’ ในการฉีดวัคซีน เพราะไม่ได้มีสถานการณ์ร้ายแรง ก็น่าจะเป็นความเชื่อที่ผิดเช่นกัน หากถามบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทุกวันนี้ ล้วน ‘ร้องขอ’ ที่จะฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน เพราะต้องไม่ลืมว่ายังคงมีความเสี่ยง ทั้งจากผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้แสดงอาการ ทั้งจากคลัสเตอร์ที่อาจเกิดขึ้นใหม่ได้อย่างไม่มีที่มาที่ไป และที่สำคัญคือจากแรงงานพม่า ที่จะอพยพเข้ามาเรื่อยๆ จากระบบสาธารณสุขที่กำลัง ‘ล่มสลาย’ ปัจจุบัน
- สิ่งที่ทีมแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข อาจยังไม่รู้ก็คือ เมียนมา ในขณะนี้ ไม่สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ และไม่สามารถรักษาคนไข้ได้อีกแล้ว จากสถานการณ์ความวุ่นวายจากการต่อต้านการรัฐประหาร เพราะฉะนั้น ตัวเลขผู้ป่วยที่ขณะนี้ หยุดนิ่งอยู่ที่ 1.4 แสนคน จึงเป็นแค่ ‘ภาพลวงตา’ เท่านั้น และปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า ด้วยสถานการณ์ที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ อาจมีการอพยพครั้งใหญ่ผ่านช่องทางธรรมชาติ เข้ามาในเมืองอย่างแม่สอด จังหวัดตาก หรือสมุทรสาคร ที่ทำให้ประเทศไทย มีความเสี่ยงที่จะเจอกับการระบาดระลอกใหม่ เพราะฉะนั้น วัคซีน จึงจำเป็นอย่างมากในการเตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุไม่คาดฝันหลังจากนี้
- ที่สำคัญก็คือ ภาคการท่องเที่ยวนั้น ‘อ้อนวอน’ ไปยังรัฐบาลหลายรอบ ให้ ‘เปิดประเทศ’ ให้เร็วที่สุด เพื่อนำนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา รวมถึงขอให้ลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่คำถามสำคัญก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเชื่อมั่นในประเทศไทยได้อย่างไร หากคนไทยยังได้รับวัคซีนแค่ 1-2 แสนโดส จากประชากร 65 ล้านคน.. เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่จะมีวัคซีนครบจำนวนประชากรทุกคน ในเดือนพฤษภาคมนี้ เมื่อเทียบกับอังกฤษ ที่วันนี้ฉีดไปแล้ว กว่า 34% และน่าจะครบทุกคน ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปได้สูง ที่นักท่องเที่ยว จะเลือกเดินทางไปประเทศอื่นก่อนอยู่ดี และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว อาจต้องรอไปถึงปี 2565 เพื่อรอให้คนไทย ได้รับวัคซีนจนครบทุกคน
- การเลื่อนฉีดวัคซีน การเลือกวัคซีนยี่ห้อเดียว และการไม่ยอม ‘ยืดหยุ่น’ ในยุทธศาสตร์การจัดการวัคซีน จึงอาจทำให้ไทย อยู่ภายใต้ ‘ความเสี่ยง’ กับการระบาดรอบใหม่โดยไม่จำเป็น และอาจทำให้ผลกระทบของโควิด-19 อยู่ในประเทศนี้ ยาวนานกว่าที่คิด
และเมื่อรู้ตัวอีกทีว่าจะต้องปรับตัว ก็อาจไม่ทันเวลาเสียแล้ว
Tags: โควิด19, วัคซีนโควิด