การเลือกตั้งระดับชาติของสหราชอาณาจักร กำลังมาถึงบทสรุปครั้งสำคัญ หลังวันนี้ (5 มิถุนายน 2024) YouGov เผยผลสำรวจ Exit Poll ว่า พรรคแรงงาน (Labour Party) จะคว้าชัยชนะแบบ ‘แลนด์สไลด์’ ด้วยคะแนนเสียงถึง 410 ที่นั่งจาก 650 ที่นั่ง ขณะที่พรรครัฐบาลเก่าอย่างพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) อาจพ่ายแพ้ย่อยยับในหน้าประวัติศาสตร์ ด้วยคะแนนเสียงเพียง 131 ที่นั่ง
รายงานดังกล่าวตรงกับการนับคะแนนเสียงในปัจจุบัน หลังสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ (New York Times: NYT) เปิดเผยว่า พรรคแรงงานได้รับคะแนนโหวตถึง 9 ล้าน ซึ่งคิดเป็น 410 ที่นั่งในรัฐสภา ด้านพรรคอนุรักษนิยมมีคะแนนเสียงอยู่ที่ 6 ล้าน หรือ 118 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrat) ด้วยคะแนน 3 ล้าน หรือ 69 ที่นั่งตามลำดับ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะข้างต้นเปรียบดังหมุดหมายทางการเมืองยุคใหม่ของพรรคแรงงาน ภายใต้ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 1997 นำโดย โทนี แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดถึง 418 ที่นั่ง หรือคิดเป็นคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภาถึง 179 ที่นั่ง
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง คะแนนเสียงถล่มทลายจากประชาชน สะท้อนให้เห็นความตกต่ำของรัฐบาลเก่าในรอบ 14 ปี หลังถูกโหมกระหน่ำด้วยวิกฤตค่าครองชีพ ข่าวอื้อฉาวของบุคคลในพรรค หรือแม้แต่การเปลี่ยนตัวผู้นำเสมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี ที่แสดงให้เห็นภาวะไร้เสถียรภาพในการเมืองอังกฤษ
แม้แต่กลยุทธ์ ‘เปิดก่อนได้เปรียบ’ ของริชี ซูนัก (Rishi Sunak) ว่าที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยังล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อเขาประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2024 ทันทีที่ผลสำรวจเปิดเผยว่า พรรคอนุรักษนิยมมีคะแนนตามหลังจากพรรคแรงงานถึง 20% โดยวาดฝันว่า เขาจะคว้าประโยชน์จากการเตรียมตัวล่วงหน้าได้ทัน
“เราสมควรจะพ่ายแพ้ พรรคอนุรักษนิยมเหมือนคนที่เหนื่อยล้าและอับจนปัญญา”
เอ็ด คอสเตลโล (Ed Costello) ประธานองค์กรของพรรคอนุรักษนิยมระดับรากหญ้า ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ (Reuters) ถึงบาดแผลของพรรคที่ไม่มีใครทราบว่า จะต้องใช้ระยะเวลาเยียวยามากน้อยเพียงใด
The Momentum ชวนทุกคนย้อนหาคำตอบไปพร้อมกัน
ย้อนดู ‘จุดสลบ’ ของพรรคอนุรักษนิยมตลอด 14 ปีที่ผ่านมา
ในช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมา พรรคอนุรักษนิยมครองหน้าการเมืองอังกฤษอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 2010 ภายใต้นายกรัฐมนตรี 5 คน ได้แก่ เดวิด คาเมรอน (David Cameron), เทเรซา เมย์ (Theresa May), บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson), ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) และริชี
แม้ข้อมูลจากนิวยอร์กไทม์เผยว่า ผลงานที่โดดเด่นของพรรคอนุรักษนิยมคือ การแก้ไขปัญหาการว่างงาน 44%, ปัญหาอาชญากรรม 54% และนโยบายการเสริมสร้างพลังงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้พลังงานฟอสซิลถึง 60% ทว่าบาดแผลที่ใหญ่จนปกปิดไม่มิดในสายตาประชาชนคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ การตัดสวัสดิการสังคม การจัดการผู้อพยพ และการพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) ภายใต้ Brexit ที่เปลี่ยนโฉมหน้าสหราชอาณาจักรในการเมืองโลกไปตลอดกาล
1. ปัญหาเศรษฐกิจ
หากย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองโลก อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญวิกฤตการเงินปี 2008 และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ปัญหาสำคัญคือ หากเทียบกับมหาอำนาจอย่างเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา อังกฤษแทบจะไม่มีพัฒนาการฟื้นตัวจากวิกฤต ภายใต้การบริหารของรัฐบาลอนุรักษนิยม
ผลดังกล่าวสะท้อนจากประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งอยู่ที่ 2% ต่อปีก่อนวิกฤตการเงินปี 2008 แต่เมื่อพรรคอนุรักษนิยมเข้ามามีบทบาททางการเมืองปรากฏว่า ประสิทธิภาพการผลิตของประเทศอยู่ที่ 0.5% ต่อปีมาตลอด สะท้อนจากรายได้เฉลี่ยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเพียง 20 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หากเทียบกับ 14 ปีก่อน
ซ้ำร้ายวิกฤตเศรษฐกิจข้างต้นยิ่งทำให้อังกฤษต้องใช้นโยบาย ‘รัดเข็มขัด’ เพื่อลดงบประมาณขาดดุล ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ สวัสดิการทางสังคม การลงทุนในภาคสาธารณะ หรือแม้แต่การขึ้นภาษี ซึ่งตรงกันข้ามกับคำสัญญาระหว่างการหาเสียงของพรรคตั้งแต่ปี 2010
ปัจจุบันภาษีของอังกฤษเพิ่มขึ้น 20% จาก 17.5% โดยรัฐบาลอนุรักษนิยมอ้างว่า การขึ้นภาษีเป็นสิ่งที่จำเป็นกับประเทศ เพื่อรับมือกับผลพวงจากโรคโควิด-19 และวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นอกจากนี้ การออกจากสหภาพยุโรปยังทำให้ภาคเอกชนหยุดชะงักการลงทุนในอังกฤษ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไร้ความแน่นอน เหล่านี้สะท้อนจากผลสำรวจของ Public Policy Research ว่า อังกฤษมีอัตราดอกเบี้ยการลงทุนต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ G7
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอนุรักษนิยมกลับลดอัตราการว่างงานได้ดี โดยผู้กำหนดนโยบายในพรรคระบุว่า ทางการเน้นการเพิ่มค่าตอบแทนสูง มากกว่าการให้ความสำคัญกับสวัสดิการ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ IFK ว่า นโยบายดังกล่าวดึงดูดให้คนตั้งใจทำงานมากขึ้น
2. ปัญหาด้านสวัสดิการทางสังคมและสาธารณะ
แน่นอนว่า นโยบายเข้มงวดทางการเงินย่อมส่งผลกระทบต่อภาคสาธารณะ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของประชาชน ซึ่งนิวยอร์กไทม์ระบุว่า รัฐบาลพยายามลดค่าใช้จ่ายสาธารณะลงถึง 6,200 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท)
นั่นจึงทำให้อำนาจการใช้จ่ายของสภาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสังคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจำกัดของเสียหรือขยะ ลดลงราว 30% ภายในปี 2019
ที่สำคัญอย่างยิ่ง บริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) ต้องเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่องบประมาณที่มีสวนทางกับผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ มีการคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยกว่า 7.5 ล้านคนกำลังรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ หลัง จอร์จ ออสบอร์น (George Osborn) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ตัดงบประมาณในช่วงดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2010-2016
อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาสวัสดิการด้านสุขภาพถือเป็นปัญหาเร่งด่วนอันดับ 2 ของอังกฤษ และกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยประชาชนเชื่อว่า พรรคแรงงานสามารถจัดการวิกฤตดังกล่าวได้ดีกว่ารัฐบาลเดิม
นอกจากนี้ ความล้มเหลวข้างต้นยังรวมถึงสวัสดิการของเด็ก ผู้พิการ และค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัย เมื่อปรากฏว่า มหาวิทยาลัยกำลังเพิ่มค่าเทอมถึง 3 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยหนี้ทางการศึกษาอยู่ที่ 4.5 หมื่นปอนด์ (ประมาณ 2 ล้านบาท)
อีกหนึ่งวิกฤตที่ละเลยไม่ได้คือ คนไร้บ้าน โดยสถิติเปิดเผยว่า ผู้คนไม่มีที่อยู่อาศัยและต้องนอนข้างถนนถึง 4,000 คน โดยในปี 2024 หากเทียบกับตัวเลขในปี 2010 คือ 1,000 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
3. ปัญหาผู้อพยพ
ผู้อพยพถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศยุโรป สะท้อนจากวิกฤตในฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งพรรคอนุรักษนิยมเคยสัญญาว่า รัฐบาลจะลดจำนวนและจำกัดผู้อพยพ ด้วยการควบคุมเขตแดนของอังกฤษจากประเทศอื่น จนกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายคนตัดสินใจลงคะแนนออกจากสหภาพยุโรปไปโดยปริยาย
ทว่าปัญหาสำหรับคนอังกฤษคือ ตัวเลขผู้อพยพที่ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 มีผู้อพยพถึง 7.64 แสนคนจากยูเครน ฮ่องกง อัฟกานิสถาน ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของผู้ลงคะแนนเสียงในประชามติ Brexit
แม้ริชีพยายามแก้ไขปัญหาในสมัยของตนเอง ด้วยการออกกฎหมายส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศรวันดา ทว่าศาลสูงสุดของอังกฤษ ตัดสินให้แผนการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่รัฐบาลพยายามช่วงชิงความหมาย จากการออกกฎหมายที่เน้นย้ำว่า รวันดาเป็นประเทศปลอดภัย
ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของอังกฤษแสดงความคิดเห็นว่า ผู้อพยพในประเทศมากเกินไป จนกลายเป็นช่องโหว่สำคัญของสำหรับพรรคฝ่ายขวาจัดอย่าง พรรคปฏิรูปอังกฤษ (Reform UK) ที่ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเหนือความคาดหมาย ภายใต้การนำของ ไนเจล ฟาราจ (Nigel Farage) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ตัวยง
4. Brexit
เรื่องที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ แต่กลับกลายเป็นบาดแผลครั้งใหญ่ของอังกฤษ หลังคาเมรอนตัดสินใจทำประชามติ ‘ออกจากสหภาพยุโรป’ หรือ Brexit ในปี 2016
ท่ามกลางวงถกเถียงถึงความเหมาะสมของประชามติครั้งนี้ โดยเฉพาะขั้นตอนและกระบวนการ สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ผลกระทบมหาศาลในภาคเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต เมื่อวิถีชีวิตของชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งผูกอยู่กับประชาคมในยุโรป นับตั้งแต่การขอทุนอีราสมุส (Erasmus) การค้าขายและลงทุนระหว่างประเทศ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยา ที่อังกฤษเคยมีสำนักงานยาแห่งยุโรป (European Medicines Agency) ตั้งอยู่ใจกลางเมือง
ยังไม่รวมถึงปัญหาชวนปวดหัวอย่างการที่เมย์ปฏิเสธประกันสิทธิพลเมืองยุโรป 3.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ หรือข้อพิพาทด่านตรวจชายแดนไอร์แลนด์ หลังกระบวนการประชามติแทบจะ ‘มัดมือชก’ ไอร์แลนด์ให้ต้องปฏิบัติตามผลลัพธ์ที่ออกมา
นอกจากนี้ จอนน์ แอลเลจ (Jonn Elledge) คอลัมน์นิสต์ของเดอะการ์เดียน (The Guardian) แสดงความคิดเห็นว่า Brexit มีพิษภัยมากกว่าที่หลายคนเห็น เพราะทำลายประชาธิปไตยของประเทศ ด้วยการสร้างการเมืองที่ไม่มี ‘หลักนิติธรรม’ ตามรัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลาง ซึ่งภายหลังมักถูกฝ่ายขวาของประเทศฉกฉวยวิธีการดังกล่าว เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง
มองอีกด้าน: ‘ความเบื่อหน่ายของประชาชน’ ตัวแปรสำคัญของการเลือกตั้งอังกฤษ
ไม่ใช่แค่การบริหารราชการแผ่นดิน และข่าวลือที่บ่อนทำลายพรรคอนุรักษนิยมตลอด 14 ปีที่ผ่านมา แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งยังวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ เป็นเพราะ ‘ความเบื่อหน่ายของประชาชน’ จากการอยู่กับสิ่งเดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลง
จอห์น แบร์รี (John Barry) นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีน อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ระยะเวลาที่รัฐบาลอนุรักษนิยมบริหารประเทศถึง 14 ปี ย่อมทำให้เกิดความเหนื่อยล้าภายในวงหรือ ‘ภาวะหมดไฟ’ สะท้อนให้เห็นจากภาพของริชีที่ยืนกลางสายฝนอย่างโดดเดี่ยว จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เขากำลัง ‘หมดหวัง’ อย่างเห็นได้ชัด
เช่นเดียวกันกับความรู้สึกของประชาชน เมื่อคนส่วนใหญ่เริ่มไม่พอใจกับปัญหาที่ขยายตัวแบบห่วงโซ่ ตั้งแต่ Brexit, ปัญหาความยุ่งเหยิงในพรรคที่ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน, พฤติกรรมย่ำแย่ของจอห์นสันในช่วงโควิด-19 หรือความล้มเหลวด้านการบริหารราชการแผ่นดินของทรัสส์
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศอังกฤษ จะพบว่า ไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยที่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันถึง 5 สมัย แม้แต่การครองอำนาจของพรรคแรงงานตั้งแต่ปี 1997-2010 ก็ตาม
เคียร์ สตาร์เมอร์: แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร และความหวังใหม่ของอังกฤษ
“นี่คือชาติที่ยิ่งใหญ่ ด้วยความสามารถที่ไร้ขีดจำกัด คนอังกฤษสมควรมีรัฐบาลที่คู่ควรกับความมุ่งหมายของพวกเขา และวันนี้โอกาสที่จะรื้อฟื้นอังกฤษอยู่กับพรรคแรงงานเป็นที่เรียบร้อย”
ท่ามกลางความมืดมิดและความเบื่อหน่ายทางการเมือง การปรากฏตัวของสตาร์เมอร์ ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคแรงงาน เปรียบเสมือนการจุดประกายความหวังครั้งใหม่ โดยเฉพาะเป้าหมายการพาอังกฤษกลับไปสู่ความเป็นมหาอำนาจในโลก
‘ซับซ้อน’ ‘ไม่ธรรมดา’ และ ‘ต่างจากคนอื่น’ นี่คือคำที่ผู้เชี่ยวชาญอธิบายตัวของสตาร์เมอร์ เมื่อเขามักแสดงพฤติกรรมสวนทางในหลายครั้ง นับตั้งแต่การเป็นทนายฝ่ายซ้ายที่ทำคดีให้กับกลุ่มอนาธิปไตย ขณะที่ฟ้องร้องผู้ก่อการร้ายในนามของกษัตริย์อังกฤษ ทั้งยังเป็นผู้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ตัวยง แต่ก็ได้รับสมญานาม ‘เซอร์’ ที่ต้องพบกษัตริย์แห่งอังกฤษสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
นอกจากสโลแกนคำว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ และนโยบายที่ตรงกันข้ามกับพรรคอนุรักษนิยม บุคลิกส่วนตัวของสตาร์เมอร์ เช่น การไม่ค่อยให้สัมภาษณ์กับสื่อ และการไม่ใช่ดาวเด่นทางการเมืองในระดับ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ดึงดูดใจพลเมืองได้อย่างไม่ยากนัก โดยเฉพาะความสะอิดสะเอียนกับข่าว ‘คาว’ ของนักการเมืองเป็นทุนเดิม
และหากคนที่ไม่ชอบสายสุดโต่งอย่าง เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbin) อดีตผู้นำพรรคแรงงานที่ลงเลือกตั้งในนามอิสระ สตาร์เมอร์อาจคือคำตอบที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่
“ผมคิดว่าเขาค่อนข้างโหดเหี้ยมในแง่ของการเปลี่ยนแปลงพรรค แต่จะโหดเหี้ยมในทางการเมืองไหม เราต้องติดตามดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้” โทนี ทราเวอร์ส (Tony Travers) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน (London School of Economics: LSE) ระบุผ่านนิวยอร์กไทม์ ท่ามกลางมวลคาดหวังจากคนในพรรคว่า เขาจะกลายเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง เหมือนแบลร์ในแบบฉบับสมัยใหม่
อ้างอิง
https://www.reuters.com/world/uk/elections/uk-general-election-2024-live-2024-07-04/
https://www.bbc.com/news/explainers-61782866
https://www.nytimes.com/live/2024/07/04/world/uk-election-results
https://abcnews.go.com/538/voters-mad-hell-uk-france/story?id=111593901
https://www.nytimes.com/interactive/2024/07/03/world/europe/uk-election-better-worse.html
https://www.washingtonpost.com/world/2024/07/03/uk-election-conservatives-labour-extinction/
https://www.washingtonpost.com/world/2024/07/04/keir-starmer-uk-prime-minister/
Tags: ยุโรป, ริชี ซูนัก, EU, เลือกตั้งอังกฤษ, Brexit, Conservative, สหภาพยุโรป, เคียร์ สตาร์เมอร์, พรรคแรงงาน, Keir Starmer, การเมืองอังกฤษ, โทนี แบลร์, อังกฤษ, เลือกตั้งสหราชอาณาจักร, สหราชอาณาจักร, เลือกตั้งอังกฤษ 2024, พรรคอนุรักษนิยม, labour, Analysis