เหตุการณ์การก่อวินาศกรรมระเบิด ‘เขื่อนโนวาคาคอฟกา’ (Nova Kakhokva) ในภูมิภาคเคอร์ซอน (Kherson) ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นใหญ่โตท่ามกลางความดุเดือดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่มีวี่แววสงบลง เพราะนี่คือภัยพิบัติครั้งใหญ่ของทวีปยุโรปในรอบหลายศตวรรษ หลังประชาชนหลายหมื่นชีวิตต้องอพยพบ้านเรือน พื้นที่ทำกินเสียหาย ยังไม่รวมถึงการหาตัว ‘ผู้ก่อการ’ ซึ่งทั้งทางการรัสเซียและยูเครนต่างโยนความผิดให้กันและกัน
แต่ที่มากกว่าผลกระทบต่อผู้คนคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลังหน่วยงานความมั่นคงของยูเครนระบุว่า การก่อวินาศกรรมระเบิดต่อเขื่อนโนวาคาคอฟกา เป็นอาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม (Ecocide) อีกทั้งยังมีความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศในฐานอาชญากรรมสงคราม (War Crimes)
เพื่อจะหาคำตอบว่า อะไรคือผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมจากการพังทลายของเขื่อนโนวาคาคอฟกานับจากนี้ และมีการรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไร
The Momentum ชวนผู้อ่านทุกคนร่วมหาคำตอบกับบทความนี้ไปพร้อมกัน
ประมวลเหตุการณ์การระเบิดของเขื่อนโนวาคาคอฟกา
โนวาคาคอฟกา คือเขื่อนสำคัญของยูเครนที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเคอร์ซอน เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต และตั้งอยู่ริมแม่น้ำดนิโปร (Dnipro) ซึ่งไหลลงสู่ทะเลดำ ปัจจุบัน เขื่อนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการรัสเซีย หลังเข้ายึดเคอร์ซอนบริเวณฝั่งซ้ายหรือทางตอนใต้ของพื้นที่ ขณะที่ยูเครนควบคุมบริเวณฝั่งขวาหรือทางตอนเหนือของภูมิภาค
เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา เขื่อนโนวาคาคอฟกาถูกทำลายอย่างไม่ทราบสาเหตุ มีคลิปวิดีโอเผยให้เห็นรอยแยกของเขื่อน โดยมีน้ำเอ่อล้นและไหลท่วมพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของยูเครน UkrHydroEnergo ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเขื่อน ให้ข้อมูลว่า โนวาคาคอฟกาถูกทำลายอย่างเต็มรูปแบบ และไม่สามารถซ่อมแซมได้
อย่างไรก็ดี ทั้งรัฐบาลยูเครนและรัสเซียต่างโยนความผิดให้กันและกัน ทางการยูเครนระบุว่า รัสเซียเป็นผู้ก่อเหตุ มิโคลา คาลินิน (Mykola Kalinin) หัวหน้าวิศวกรด้านพลังงานน้ำแห่ง UkrHydroEnergo อ้างว่า การระเบิดของโนวาคาคอฟกาเกิดจากรัสเซีย และไม่มีทางที่ยูเครนจะทำลายเขื่อนได้ เพราะเขื่อนนี้สร้างขึ้นโดยมีกลไกต้านทานแรงปะทะจากภายนอก ดังนั้น ข้อสันนิษฐานคือเขื่อนถูกทำลายจากภายใน ซึ่งผู้ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวคือรัสเซีย
ขณะที่ วลาดีมีร์ เลออนเตเยฟ (Vladimir Leontiev) นายกเทศมนตรีของเคอร์ซอนที่ถูกแต่งตั้งโดยรัสเซียอ้างว่า ยูเครนเป็นผู้ก่อเหตุด้วยการยิงจรวดใส่เขื่อน รวมถึง ดมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกแห่งรัฐบาลเครมลิน ออกโรงตำหนิคีฟ และอ้างว่าการกระทำนี้คือการก่อการร้าย ทำให้คาบสมุทรไครเมีย ดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียที่ผนวกเข้าในปี 2014 ขาดน้ำ
ผลกระทบทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นกับการระเบิดของเขื่อนโนวาคาคอฟกา?
แม้ว่าผลกระทบต่อมนุษย์จากการระเบิดของเขื่อนจะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด แต่ประเด็นที่ต้องคำนึงเป็นพิเศษ คือปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาหลังจากนี้
เริ่มจากปัญหาระยะสั้น สัตว์จำนวนมากล้มตายจากเหตุน้ำท่วม เริ่มตั้งแต่สัตว์ในสวนสัตว์ดิโบรวา (Dibrova) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำดนิโปร
วอชิงตันโพสต์ (Washington Post) รายงานว่า สัตว์กว่า 300 ชีวิต ตายเกือบทั้งหมด ยกเว้นหงส์และเป็ด 2-3 ตัว และบรรดาสัตว์ที่เจ้าหน้าที่สามารถพากลับบ้านได้ เช่น หนูตะเภา 46 ตัว นกแก้ว กระรอกบิน และหนูชินชิลล่า
เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ระบุเพิ่มเติมว่า สัตว์บางตัวที่สามารถรอดไปได้ก็อาจกำลังหลงทางและร่อนเร่เพื่อหาทางกลับบ้าน
“สัตว์พวกนี้ตายหมดแล้ว มันถูกฆ่าโดยพวกคนชั่ว พวกรุกราน ผู้ที่พังทำลายเขื่อนพลังงานน้ำโนวาคาคอฟกา
“มันน่ากลัวที่จะต้องจินตนาการว่าสัตว์เหล่านั้นตายจากการกระทำของพวกก่อการร้าย น่าเจ็บปวดเสียจริง” โอลฮา ซัมสกา (Olha Sumska) นักแสดงสาวชาวยูเครนโพสต์ข้อความในอินสตาแกรม
นอกจากนั้น รัฐบาลยูเครนยังประเมินว่า ปลาในเขื่อนพลังงานไฟฟ้าตายนับ 2.8 หมื่นตัว เพราะสภาวะน้ำที่เหือดแห้งจากการระเบิด
แต่นั่นยังถือว่าเล็กน้อยมาก หากต้องเทียบกับผลกระทบในระยะยาว เพราะระบบนิเวศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนจะถูกทำลายหมด ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย การดำรงชีพ พื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเกษตร การเพาะปลูก และแหล่งน้ำ เพราะผู้คนทางตอนใต้ของเคอร์ซอนพึ่งพาการผลิตน้ำของเขื่อนแห่งนี้
ขณะเดียวกัน ทางการยูเครนออกมาเปิดเผยความเสี่ยงการรั่วไหลของน้ำมันราว 150 ตัน ซึ่งถูกเก็บไว้ในโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน รวมถึงทุ่นระเบิดจำนวนมากที่อยู่ในสงคราม อาจไหลไปกับสายน้ำจนกระทบต่อผู้คนและธรรมชาติอีกด้วย
ผลกระทบนี้ส่งผลโดยตรงต่อบริเวณทะเลดำ เพราะมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวตามริมฝั่งแม่น้ำดนิโปร ซึ่งอยู่ทางท้ายน้ำจากเขื่อน จะถูกพัดพาลงสู่ทะเลอย่างไม่มีทางเลือก
ยังไม่รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางแห่งของยูเครนที่จะได้รับผลกระทบ นับตั้งแต่อุทยานแห่งชาติทะเลทรายโอเลชกี (Oleshky Sands National Nature Park) หรือเขตสงวนชีวมณฑลบริเวณทะเลดำ (Black Sea Biosphere Reserve) ที่อยู่ของม้าป่า และแหล่งเพาะพันธุ์ปลาบางส่วน
ร้ายแรงกว่านั้นคือ อุทกภัยครั้งนี้อาจทวีคูณขึ้นอีก หากรังสีอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่จากเหตุการณ์การระเบิดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ถูกชะล้างและปนเปื้อนไปกับการไหลของน้ำ ซึ่ง โมฮัมหมัด เฮดาร์ซาเดฮ์ (Mohammad Heidarzadeh) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโยธาให้เหตุผลประกอบว่า ผู้คนไม่อาจทราบได้เลย เนื่องจากมีซากปรักหักพังจำนวนมากที่ไหลปนไปกับสายน้ำ พร้อมทั้งของเสียต่างๆ
“การระเบิดของเขื่อนนำมาสู่ภัยพิบัติอันใหญ่หลวงต่อธรรมชาติ และเราได้สูญเสียระบบนิเวศบางส่วนไปตลอดกาล” รุสลัน สเตรเล็ตส์ (Ruslan Strilets) รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของยูเครนแถลงกับนักข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด
Ecocide – อาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม คืออะไร?
SDG นิยามความหมายของคำว่า ‘Ecocide’ หรืออาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม คือการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ ซึ่งเกิดจากมนุษย์หรือสาเหตุอื่นๆ จนก่อให้เกิดการสูญเสียระบบนิเวศของพื้นที่แห่งนั้น และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้คน
อันที่จริง แนวคิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1972 ด้วยการเสนอของ สเวน โอล็อฟ โจอาคิม ปาล์ม (Sven Olof Joachim Palme) นายกรัฐมนตรีสวีเดน ในองค์การสหประชาชาติ (United Nations) หลังมีวาระการประชุมถึงความเสียหายในสิ่งแวดล้อมช่วงสงครามเวียดนาม และได้รับการผลักดันในปี 2012 ให้เป็น ‘ความผิดทางอาญา’ ตามกฎหมายระหว่างประเทศภายใต้ธรรมนูญกรุงโรม โดยทนายความด้านสิ่งแวดล้อมชาวสกอตแลนด์ พอลลี ฮิกกินส์ (Polly Higgins)
แม้จะถูกนำเสนอมานาน แต่การผลักดันฐานความผิดนี้เริ่มจริงจังในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านสัญญะการประชุมใน COP 26 เมื่อรัฐมนตรีประเทศตูวาลูยืนกล่าวสุนทรพจน์ท่ามกลางพื้นที่น้ำท่วมเกือบครึ่งตัว เพื่อประกาศถึงวิกฤตสภาวะโลกรวน (Climate Change) ต่อชาวโลก
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของประเด็นอาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากปัญหาข้อถกเถียงทางเทคนิคและการบังคับใช้จริง นับตั้งแต่เนื้อหาทางกฎหมายอย่างแนวคิดเรื่อง ‘เขตอำนาจ’ (Jurisdiction) ที่ไม่ควรพิจารณาแค่รัฐใดรัฐหนึ่ง แต่ต้องขยายไปสู่ระดับระหว่างประเทศภายใต้ ‘เขตอำนาจสากล’ (Universal Jurisdiction)
รวมถึงประเด็นการพิจารณา ‘สภาพความเป็นบุคคล’ (Personhood) ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีลักษณะแตกต่างกับแนวคิดสภาพบุคคลภายในรัฐอย่างสิ้นเชิง เพราะสภาพความเป็นบุคคลจะส่งผลโดยตรงเมื่อต้องดำเนินคดีกับตัวการที่ไม่มีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น บริษัทเอกชน
ความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ผู้ก่ออาชญากรรมระเบิดเขื่อนอาจได้รับ?
แน่นอนว่าการระเบิดของเขื่อนโนวา คาคอฟกายังไม่เป็นความผิดฐานอาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม เพราะยังไม่มีการบัญญัติเนื้อหานี้เป็นความผิดในศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC)
แต่หากบอกว่าการทำลายเขื่อนเป็นความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม นั่นก็เป็นความจริงอย่างไม่มีข้อบิดพริ้ว แม้ว่าในอดีต กลยุทธ์นี้แพร่หลายในสมรภูมิสงคราม นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-20 โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพอังกฤษทำลายเขื่อนของเยอรมนี 3 แห่งในปี 1943 รวมถึงช่วงสงครามเกาหลี หลังกองทัพสหรัฐอเมริการ่วมกับ UN เป็นผู้ริเริ่มการระเบิดโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของเกาหลีเหนือ ฯลฯ
จุดมุ่งหมายการทำลายเขื่อน ก็เพื่อทำให้ศัตรูบุกมาในพื้นที่ยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความคล่องตัวและความเร็วจะถูกลดลง เนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลออกมา นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งในเชิงความได้เปรียบด้านทรัพยากร และการสูญเสียกำลังคนจากภัยพิบัติ
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่สงครามเวียดนามเป็นต้นไป นานาชาติเห็นพ้องต้องกันว่า การทำสงครามด้วยวิธีการอันสกปรกทั้งหลาย ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นข้อห้ามตามพิธีสารเพิ่มเติม I ของอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเหยื่อในสงครามภายใต้หลักมนุษยธรรม ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า การทำสงครามจะต้องคิดคำนึงถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และสถานที่ที่มีพลังงานอันตรายอย่างเขื่อนและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องไม่ตกเป็นเป้าการโจมตี เนื่องจากส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือน
เมื่อพิจารณาฐานความผิดข้างต้น รัสเซียในฐานะฝ่ายที่มีแนวโน้มกระทำการดังกล่าวมากที่สุดอาจอ้างว่า ความผิดนี้ไม่มีผลกับประเทศของตนเอง เพราะไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาของ ICC
แต่ที่จริงแล้ว ภาระผูกพันเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงกฎหมายระหว่างประเทศอีกต่อไป เนื่องจากข้อห้ามตามอนุสัญญาเจนีวา คือจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับทุกประเทศในโลก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่สุด คือ ยังไม่เคยมีประเทศไหนหรือบุคคลใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะก่อเหตุลงมือระเบิดเขื่อน แม้ว่าเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในโลกยุคร่วมสมัย เมื่อกลุ่มก่อการร้ายไอซิส (ISIS) ทิ้งระเบิดทำลายเขื่อนทับกา (Tabqa) ของซีเรียในปี 2017 ก็ตาม
นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป เพราะนี่คือส่วนหนึ่งจากความผิดทั้งหมดของรัสเซียที่ก่ออาชญากรรมสงคราม หลัง ICC ออกหมายจับ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำของเครมลินเป็นที่เรียบร้อย
แม้อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะได้คำตอบ ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็นับว่าคุ้มค่าอย่างมาก หากผู้กระทำความผิดจะได้รับบทลงโทษทางกฎหมาย
เพราะความตายของผู้บริสุทธิ์ และผลกระทบอันใหญ่หลวงจากสงครามต่อผู้คนที่ยังคงอยู่หรือธรรมชาติอีกมากมาย ต่อให้ต้องได้บทสรุปในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็ยังไม่สายเกินไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น
อ้างอิง
https://www.facebook.com/photo/?fbid=715254793934387&set=a.462041962589006
https://www.bbc.com/news/world-europe-65818705
https://www.washingtonpost.com/world/2023/06/07/ukraine-zoo-animals-kakhova-dibrova-dam/
https://edition.cnn.com/2023/06/08/europe/nova-kakhovka-destruction-theories-intl/index.html
https://www.aljazeera.com/opinions/2023/6/8/blowing-up-ukraines-nova-kakhovka-dam-is-a-war-crime
Tags: สงครามรัสเซีย-ยูเครน, Nova Kakhovka, ICC, เขื่อนโนวา คาคอฟกา, เคอร์ซอน, Russia, กฎหมายระหว่างประเทศ, รัสเซีย, เขื่อนแตก, สิ่งแวดล้อม, ศาลอาญาระหว่างประเทศ, ยูเครน, Ukraine