สถานการณ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเริ่มร้อนระอุไม่ต่างจากสภาพอากาศประเทศไทย เมื่อผู้นำหญิงแห่งไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เผยกำหนดการเยือนทวีปอเมริกากลางระหว่างปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน เพื่อพบปะพันธมิตรทางการทูตอย่าง ‘กัวเตมาลา’ และ ‘เบลีซ’ รวมถึงแวะพักในสหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่าการไปเยือนประเทศต่างๆ ของไต้หวันย่อมมีสัญญะสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะความพยายามแสดงตัวตนในฐานะ ‘รัฐอธิปไตย’ ต่อประชาคมโลก หากแต่เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจับตามองเป็นพิเศษ เมื่อไช่ อิงเหวิน ออกเดินทางหลังจากอดีตพันธมิตร ‘ฮอนดูรัส’ เลือกปิดฉากความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไทเป ในทางกลับกัน ฮอนดูรัสและจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ โดยมี ‘ร่างแถลงการณ์ร่วม’ (Joint Communique) อย่างเป็นทางการในวันที่ 26 มีนาคม 2023
นอกเหนือจากแถลงการณ์ของไต้หวัน ที่แสดงความเสียใจถึงการยุติความสัมพันธ์อันยาวนานราว 80 ปีกับฮอนดูรัส ไช่ อิงเหวินยังฝากข้อความต่อจีนอย่างตรงไปตรงมาในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า
“ภัยคุกคามและการกดขี่ของจีนในครั้งนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะยอมเป็นญาติดีต่อกัน… และจีนแผ่นดินใหญ่ไม่สามารถทำลายความพยายามของไต้หวันในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย รวมถึงเจตจำนงประชาคมโลกได้
“แรงกดดันจากภายนอกไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจของเราที่จะติดต่อกับโลกระหว่างประเทศ… เราไม่หวั่นเกรง มั่นใจ แน่วแน่ และไม่ได้ยั่วยุต่อประเทศใด”
ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ตอบโต้พร้อมขู่การเยือนของไช่ อิงเหวิน ว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ไต้หวันจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ตึงเครียด สหรัฐฯ กลับมองว่านี่คือการเดินทางพบปะเป็นปกติ และปักกิ่งไม่ควรตอบโต้เกินจริง “เป็นเรื่องปกติ ประธานาธิบดีของไต้หวันเดินทางมาหาเรานับตั้งแต่อดีต ไม่มีอะไรมากกว่านั้นแน่นอน” จอห์น เคอร์บี (John Kirby) โฆษกของสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวกล่าว
ความขัดแย้งครั้งนี้จึงไม่ได้มีเพียงจีนและไต้หวันเท่านั้น หากแต่สหรัฐฯ ในฐานะผู้นำระเบียบแห่งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกก็เป็นตัวแปรสำคัญที่จะเพิ่มหรือลดความตึงเครียดของสถานการณ์ด้วยเช่นกัน
ทำไมการรับรองรัฐจึงสำคัญสำหรับไต้หวัน? : ย้อนดูการรับรองความเป็นรัฐ (Recognition) ผ่านพันธมิตรทางการทูตของไต้หวันบนเวทีโลก
อันที่จริง การรับรองความเป็นรัฐล้วนสำคัญต่อทุกประเทศในโลก เพราะความรู้เบื้องต้นในวัยเด็กที่หลายคนท่องจำเพื่อไปสอบว่า “การที่ดินแดนหนึ่งสามารถเป็นรัฐได้อย่างสมบูรณ์ต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ ดินแดน รัฐบาล ประชากร และอำนาจอธิปไตย” นั้นไม่เพียงพอต่อความเป็นจริง ดังนั้น การรับรองรัฐเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้รัฐสามารถใช้สิทธิและมีตัวตนในโลกระหว่างประเทศได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งในทางกฎหมายหรือในทางการเมือง เช่น การเป็นสมาชิกในสหประชาชาติ (United Nations) หรือการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอีกรัฐอย่างเป็นทางการ
ลองยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น สมมติว่ามีดินแดน A ประกาศตัวว่าเป็นรัฐอธิปไตย โดยอ้างว่ามีองค์ประกอบของรัฐครบถ้วนตามคุณลักษณะข้างบน หากแต่ไม่ได้ผ่านกระบวนการรับรองตัวตนในประชาคมระหว่างประเทศ หรือประเทศใดประเทศหนึ่งด้วยวิธีการที่เป็นไปได้ เท่ากับว่าทั้งประชากรในดินแดน A รวมถึงรัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินกิจกรรมระหว่างประเทศใดๆ ต่อประเทศที่ไม่รับรองได้เลย เช่น การเดินทางไปอีกประเทศ การถือครองพาสปอร์ต (กรณีไต้หวันนั้นซับซ้อน เพราะใช้สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทำหน้าที่เหมือนสถานทูตในทางความจริง) หรือพูดอย่างตรงไปตรงมา ดินแดน A คือประเทศเถื่อนในโลกระหว่างประเทศนั่นเอง
ความจริงแล้ว หลักการรับรองรัฐนี้เป็นเงื่อนไขตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง ‘สนธิสัญญามอนเตวิดีโอ 1933’ (Montevideo Convention 1933) ซึ่งกำหนดองค์ประกอบของรัฐอย่างสมบูรณ์ ได้แก่
1. ดินแดน
2. รัฐบาล
3. ประชากร
4. ความสามารถติดต่อกับรัฐอื่นๆ
จากสนธิสัญญาเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เงื่อนไขสำคัญของการเป็นรัฐอธิปไตย คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับประชาคมโลก ในอีกนัยหนึ่ง เงื่อนไขนี้ก็สอดคล้องกับหลักการรับรองรัฐข้างต้น เมื่อต้องอาศัยความสัมพันธ์ของสังคมระหว่างประเทศในการยืนยันตัวตนนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์ของไต้หวันยิ่งต้องการพันธมิตรทางการทูต เมื่อไต้หวันกำลังตกอยู่ในสภาวะคลุมเครือว่า ‘เป็นรัฐอธิปไตยหรือไม่?’ จากนโยบายจีนเดียว (One China Policy) ซึ่งทำให้หลายประเทศต้องเลือก ‘จีนที่แท้จริง’ ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่หรือจีนไต้หวัน หลังจากไทเปเสียเก้าอี้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ในปี 1971 รวมถึงการแปรพักตร์ของอดีตพันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจเข้าหาจีนคอมมิวนิสต์ในช่วงศตวรรษ 1970 เป็นต้นมา
ปัจจุบัน ไต้หวันเหลือพันธมิตรทางการทูต ที่ยอมรับไต้หวันในฐานะรัฐอธิปไตยเพียง 13 ประเทศ ได้แก่ กัวเตมาลา เบลีซ ปารากวัย เฮติ เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ นาอูรู ปาเลา ตูวาลู เอสวาตินี หมู่เกาะมาร์แชลล์ และนครรัฐวาติกัน หลังจากในปี 2019 สูญเสียพันธมิตรอย่างประเทศหมู่เกาะโซโลมอน คิริบาส รวมถึงฮอนดูรัสในปี 2023
‘จีนที่แท้จริงมีได้เพียงหนึ่งเดียว’ เข้าใจที่มาของนโยบายจีนเดียว (One China Policy)
จุดเริ่มต้นของนโยบายจีนเดียวต้องย้อนกลับไปในปี 1949 ท่ามกลางสงครามกลางเมืองในจีน พรรคก๊กมินตั๋ง เป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้พรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมา เจ๋อตุง (Mao Zedong) และลี้ภัยทางการเมืองมาสู่เกาะไต้หวัน นับตั้งแต่เหตุการณ์นี้ ต่างฝ่ายต่างยืนยันตัวตนต่อประชาคมโลกว่า ตนเองคือรัฐบาลจีนที่ถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด
แม้ว่าตอนแรก สมาชิกถาวรของ UNSC ทั้ง 4 ประเทศ นำโดยสหรัฐฯ และรัฐบาลส่วนใหญ่ในโลกลงความเห็นว่า จีนไต้หวันเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นราวปี 1960-1970 สหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่จะเป็นประโยชน์กับตนเอง เพราะปักกิ่งกำลังบาดหมางกับสหภาพโซเวียต ศัตรูตัวฉกาจจากโลกคอมมิวนิสต์
ดังนั้น สหรัฐฯ จึงตัดสินใจสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่บนเวทีโลก นับตั้งแต่การเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกถาวรของ UNSC จนถึงการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศอย่างเป็นทางการในปี 1979 อย่างไรก็ตาม วอชิงตันยังคงเป็นหลักประกันความมั่นคงของไทเปอยู่ โดยมีหลักฐานสำคัญ คือ ‘กฎหมายความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไต้หวัน’ (Taiwan Relations Act) มีเนื้อหาว่าสหรัฐฯ จะช่วยคุ้มครองความปลอดภัยของไต้หวัน หากมีเหตุอันตรายเกิดขึ้น อีกทั้งสองฝ่ายยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างไม่เป็นทางการอยู่เสมอมา
แน่นอนว่าในช่วงแรก นิยามอย่างเป็นทางการของนโยบายจีนเดียวยังคงกำกวมอยู่ เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มจาก ‘การประชุมเซี่ยงไฮ้’ (Shanghai Communique) ในปี 1972 สหรัฐฯ เห็นว่า จีนที่แท้จริงควรมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ก็ยังไม่ได้ลงรายละเอียดอย่างชัดเจนนัก จนกระทั่งปี 1992 เกิด ‘ฉันทมติจีนเดียว’ ขึ้นมาว่า จีนควรมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก็คือจีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของเงื่อนไขสำคัญในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตว่า หากประเทศใดต้องการเปิดความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะรัฐอธิปไตย อย่างไรก็ดี ฉันทมติจีนเดียวก็ถูกมองจากนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบางส่วนว่า เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดี รวมถึงสนับสนุนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ
‘การทูตเงินหยวน’ กลยุทธ์ของจีนในการโน้มน้าวประเทศผู้ภักดีไต้หวัน
การทูตดอลลาร์ (Dollar Diplomacy) หรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของทางการทูตของหลายประเทศ เช่น ไต้หวันในช่วงเวลาหนึ่ง เคยใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างพันธมิตรทางการทูตเช่นเดียวกัน แต่หากใช้ในบริบทเฉพาะเจาะจงกับนโยบายจีนเดียว โดยเฉพาะอำนาจทางการเงินของจีนที่สูงถึงอันดับ 2 ของโลก การเปลี่ยนคำศัพท์จากการทูตดอลลาร์สู่ ‘การทูตเงินหยวน’ ก็ย่อมไม่ผิดแปลกนัก
การทูตเงินหยวนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศของปักกิ่ง ทั้งการให้คุณประโยชน์และการลงโทษ นับตั้งแต่จีนได้เสนอกองทุนเพื่อการพัฒนามูลค่า 8.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับหมู่เกาะโซโลมอน หลังจากตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน ในทางตรงกันข้าม ปารากวัย หนึ่งในพันธมิตรใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ถูกจำกัดการส่งออกถั่วเหลืองและเนื้อวัวไปยังประเทศจีน เหล่านี้คือการตอบโต้ของปักกิ่งอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องสงสัย
ถึงแม้จีนอ้างว่า การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮอนดูรัสไม่มีเงื่อนไขพิเศษใดๆ แต่ปัญหาทางการเงินของฮอนดูรัสก็ตอกย้ำความเป็นจริง เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ เอดูอาร์โด เอ็นริเก้ เรย์นา (Eduardo Enrique Reina) เคยออกจดหมายขอกู้เงินจำนวน 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากไต้หวัน เพื่อปลดหนี้และสร้างสาธารณูปโภคในหลายเดือนก่อน แต่ไทเปปฏิเสธ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไต้หวัน โจเซฟ อู๋ (Joseph Wu) แสดงความคิดเห็นว่า ฮอนดูรัสใช้ข้อเรียกร้องที่สูงเพื่อเป็นตัวประกันในการรักษาความสัมพันธ์ทางการทูต
จากเรื่องราวในข้างต้น นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่วนหนึ่งจึงลงความเห็นว่า นี่คือกลยุทธ์อย่าง ‘แยบยล’ ในการทำให้ไต้หวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างไม่ต้องใช้กำลัง และไม่เปลืองระยะเวลาการรอคอยเพื่อตั้งโต๊ะเจรจายืดเยื้อโดยไร้ความคืบหน้า
อย่างไรก็ตาม ‘กลุ่มพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการ’ ของไต้หวัน นำโดยสหรัฐฯ กลุ่มพันธมิตรนาโต (NATO) บางส่วน และกลุ่มประเทศประชาธิปไตย โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ การทหาร และอุดมการณ์ อาจเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้เป้าหมายของจีนในการรวมชาติให้เป็นหนึ่ง ไม่สามารถบรรลุผลง่ายดายอย่างที่หลายคนคิดก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ต้องคอยจับตาดูกันต่อไปในอนาคตอันใกล้
อ้างอิง
https://www.reuters.com/world/asia-pacific/then-there-were-13-taiwans-diplomatic-allies-2023-03-26/
https://www.jus.uio.no/english/services/library/treaties/01/1-02/rights-duties-states.xml
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-38285354
https://thediplomat.com/2022/07/the-1992-consensus-why-it-worked-and-why-it-fell-apart/
https://www.the101.world/taiwan-territorial-dispute/
https://www.aljazeera.com/news/2023/3/27/china-says-no-conditions-on-honduras-diplomatic-deal
https://www.investopedia.com/insights/worlds-top-economies/
Tags: สหรัฐอเมริกา, ไต้หวัน, จีน, ฮอนดูรัส, ข่าวต่างประเทศ, อินโดแปซิฟิก, ไช่อิงเหวิน, การเมืองระหว่างประเทศ