นับเป็นการประกาศที่ทำเอาคนไทยตกใจ เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเขียนจดหมาย โพสต์เฟซบุ๊ก ‘วางมือ’ ทางการเมือง ลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และนับจากนี้จะหลุดจากวงโคจร ไม่เป็น ‘ตัวแปร’ ใดๆ และไม่อยู่ในฉากทัศน์ไหนในทางการเมืองอีกต่อไป
ส่วนหนึ่งมาจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ลงทุนไปมหาศาล แต่ได้ผลลัพธ์เพียงแค่ 35 ที่นั่ง แม้ Popular Vote คะแนนของพรรคจะสูงกว่าพรรคอื่นๆ ในซีกรัฐบาลเดิม แต่ในเชิง ส.ส.เขต และเชิงตัวเลขโดยรวม ไม่สามารถนำไปต่อรองอะไรได้เลย พ่ายแม้กระทั่งพรรคของ ‘พี่ชาย’ อย่างพลังประชารัฐ และตามดีลของพี่-น้อง ก็คือ หากพรรคไหนได้ ส.ส.สูงกว่า ก็ต้องให้ตัวแทนจากพรรคนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ว่ากันว่าในวันที่ผลการเลือกตั้งออก บรรดาสปอนเซอร์ทั้ง ‘นายทุน’ ทั้งบรรดา ‘รัฐพันลึก’ Deep State ทั้งหลาย ต่างก็ผิดหวังกับพรรคการเมืองนี้ เพราะมีคีย์แมนบางคนไปเคลมตัวเลข 80 ที่นั่งไว้ว่าได้ชัวร์ๆ แต่เมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่สำเร็จ บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายถึงกับต้องไปคำนวณสูตรพิสดาร ทำให้การเมืองยัง ‘ไม่นิ่ง’ จนถึงวันนี้
กระนั้นเอง ข้อตกลงดังกล่าวได้ปิดทางการ ‘คัมแบ็ก’ ของพลเอกประยุทธ์ ที่เคยเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เป็นอดีตทหารเสือราชินี ผู้รับภารกิจอันหนักอึ้งจากการรัฐประหาร และแบกองคาพยพทั้งหมดจากการรัฐประหารมายาวนานเกือบ 10 ปี
อันที่จริงเมื่อ 9 ปีก่อน พลเอกประยุทธ์มีภาพของ ‘ผู้พิทักษ์’ ผู้ช่วยประเทศหลังจาก กปปส.ชุมนุมชัตดาวน์อย่างยาวนาน และเพื่อ ‘รีเซ็ต’ ประเทศ จากความขัดแย้ง ท่ามกลางการผนึกกำลัง 3 ป. พลเอกประยุทธ์คุมรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ คุมทหาร-ตำรวจ และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา คุมกลไกมหาดไทย เพื่อรักษาอำนาจให้ ‘อยู่นาน’ ที่สุด
จุดเปลี่ยนอันผิดพลาดเกิดจากการพยายามอยู่ต่อในระบบการเมืองอันผิดปกติ พลเอกประยุทธ์ที่เคยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ได้เจอนักการเมืองอย่าง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ฝ่ายเดียวกันเอง เล่นจนงอมพระราม ขณะที่ฝ่ายค้าน ไม่ว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย กลับมีภาพของการ ‘เปลี่ยนประเทศ’ กระทั่งบริหารประเทศได้ดีกว่า
ว่ากันว่าส่วนหนึ่งที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งก็ด้วยสาเหตุสำคัญ คือพิธามีภาพลักษณ์ตรงกันข้ามกับพลเอกประยุทธ์ในทุกด้าน หากพลเอกประยุทธ์ฉุนเฉียว พิธามักจะมาพร้อมรอยยิ้ม หากพลเอกประยุทธ์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไปทำเงอะงะในสายตาต่างประเทศ พิธาก็เป็นโชว์ภาพของการเป็นผู้นำที่พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว และสุดท้าย ‘มีเรา ไม่มีลุง’ ได้กลายเป็นแคมเปญจุดเปลี่ยนที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะถล่มทลาย
ด้วยเหตุนี้ พลเอกประยุทธ์จึงหมดความจำเป็นทางการเมือง และหมดความหมายในทางประวัติศาสตร์ เมื่อแพ้ทั้งในระบบการเมืองที่ตนเองเขียนขึ้นเอง และอยู่ในระบบเอง นอกจากนี้ ยังไม่ใช่แพ้ธรรมดา แต่คือการพ่ายอย่างหมดสภาพ เต็มไปด้วยแผลเหวอะหวะจากทั้งฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายเดียวกัน แม้ในวันที่ส่งคนจากพรรครวมไทยสร้างชาติลงชิงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคในขั้วเดียวกันอย่างพรรคภูมิใจไทยก็ยังไม่ยอมเลือก
แล้วทำไมต้องลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำไมต้องประกาศวางมือทางการเมืองในวันนี้ 2 วันก่อนที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปทำไมถึงไม่เป็นหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า และทำไมจึงไม่เป็นช่วงหลังการเลือกนายกฯ?
เหตุผลสำคัญก็คือ ณ วันนี้ พลเอกประยุทธ์รู้ตัวแล้วว่าถึงที่สุดจะไม่มีใครเสนอชื่อเข้าแข่งขัน และแม้มีใครริอาจส่งชื่อเข้าแข่งขัน ก็จะไม่มีใครเลือก เป็นอันจบความด้วยคำว่า ‘ไม่มีสัญญาณตอบรับ จากหมายเลขที่ท่านเรียก’ ไม่มีใครใช้บริการอีกต่อไป
การหมดความหมายในทางประวัติศาสตร์ก็หมายความว่า 3 ป. ถึงเวลาแยกทาง ตัวใครตัวมัน 3 ป. ไม่เหลือภารกิจอะไรในการรักษา ‘ระบอบเก่า’ อีกต่อไป เป็นการปิดฉากแบบไม่สวยงามนัก เพราะปิดด้วยความสิ้นหวัง ทิ้งพรรคที่สร้างมากับมือให้ตกอยู่ในสภาวะคลุมเครือ ทิ้งบรรดาผู้ลงคะแนนเสียงให้ ‘ลุงตู่’ ไม่มีทางไปต่อ
ขณะเดียวกัน เมื่อ 3 ป. หายไป ก็หมายความว่าต้องมี ‘ทีมงาน’ ใหม่ของฝ่ายอนุรักษนิยมขึ้นมาทดแทน สิ่งสำคัญก็คือ วันนี้ยังอยู่ในสภาพอันอลหม่าน ทุกคนพยายามแสดงตัวขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายนำของกลุ่มนี้ แต่ข้อที่ชัดเจนก็คือไม่มีใครที่มีบารมีถึง ไม่ว่าจะพลเอกประวิตร ไม่ว่าจะอนุทิน ชาญวีรกูล หรือพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ตาม
ภารกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้า ณ นาทีนี้ ก็คือการทิ้งพลเอกประยุทธ์ไว้เบื้องหลัง ไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยวางหลายขั้นตอนไว้ ตั้งแต่การทำให้พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ การวางหมากสองให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาลแทน ตามด้วยการใช้เสียง ส.ว. ‘บังคับ’ ให้พรรคเพื่อไทยต้องยอมเปลี่ยนขั้ว แล้วดึงบรรดาพรรครัฐบาลเดิมไม่ว่าจะภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา มาเข้าร่วมด้วย
ภายใต้โจทย์นี้ นายกรัฐมนตรีอาจเป็นได้ทั้ง เศรษฐา ทวีสิน หรือพลเอกประวิตร ในการเป็นนายกฯ ผู้ ‘ก้าวข้าม’ ความขัดแย้ง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะถูกบีบ และดึงเอากระทรวงดีๆ ออกไปหมด จากบรรดาความ ‘เคี่ยว’ ของพรรคร่วมเหล่านี้ เป็นปัญหาจากการที่ไม่ได้แลนด์สไลด์จริง และกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดที่จะพารัฐบาลให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
แต่ทั้งหมดนี่คือสมการที่ไม่ได้มีประชาชนอยู่ภายใน ไม่ได้คำนึงว่าอำนาจประชาชนมีมากเพียงใด ต้องไม่ลืมว่าอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างพลเอกประยุทธ์ เมื่อถึงเวลาต้องไป ก็ไปด้วยเสียงของประชาชน และเมื่อพวกเขาส่งเสียงแล้วว่าพวกเขาต้องการใคร ก็แปลว่าพวกเขาต้องการให้คนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ต้องการให้พรรค ‘เสียงข้างน้อย’ รวมกับ ส.ว. 250 คน ในการกำหนดเกม ไม่ว่าจะใช้เงื่อนไขใดก็ตาม
ฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นเคยชินกับการกำหนดเกมด้วยตัวเอง และเคยชินกับการใช้ระบบ ใช้กฎหมาย ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อรักษาอำนาจนำบางอย่างไว้
การเมืองไทยกำลังกลับสู่จุดเดิมเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ในวันก่อนมีพลเอกประยุทธ์อีกครั้ง แต่ตัว ‘หัว’ นั้นกำลังเปลี่ยน บริบทสังคมก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปทาง ‘ก้าวหน้า’ มากขึ้น และศัตรูของอนุรักษนิยมนั้นไม่ใช่พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงอีกแล้ว แต่คือพรรคก้าวไกลและมวลชนที่ผสมรวมกันระหว่างสีแดงและสีส้ม
เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนกว่าเดิม และยังไม่เห็นหนทางประนีประนอมได้ง่ายๆ
Tags: Analysis, The Momentum ANALYSIS, ประยุทธ์ จันทร์โอชา