การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เลือกใช้วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เป็นการตัดสินใจ ‘เชือด’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นสื่อ ก่อนวันที่ประชุมร่วมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีเพียงวันเดียว นับเป็นการตัดสินใจที่น่าตั้งคำถามเป็นอย่างยิ่ง
ข้อแรก – กระบวนการตัดสินใจนี้เป็นไปอย่างรีบเร่ง สัปดาห์ที่แล้วหรือสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แทบไม่มีเรื่องดังกล่าวอยู่ในที่ประชุมของ กกต. เรื่องดังกล่าวเพิ่งเริ่มมีกระแสข่าวในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในวันที่พิธาและพรรคก้าวไกลปราศรัยใหญ่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ จากนั้นเรื่องก็เข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานชุดย่อยเมื่อวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา แล้วจัดกระบวนการทั้งสิ้นเบ็ดเสร็จภายใน 3 วัน โดยที่พิธายังไม่ได้รับทราบข้อกล่าวหา ยังไม่ได้ชี้แจงต่อ กกต.
กรณีนี้ แม้ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าว คณะกรรมการฯ มีอำนาจเต็มในการเดินเรื่อง แต่ขั้นตอนและกระบวนการอันรีบเร่งผิดปกติ ย่อมสะท้อนว่า มีความน่าสงสัยบางอย่าง
ข้อสอง – ประเด็นหุ้นไอทีวีเต็มไปด้วย ‘คำถาม’ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีความเกี่ยวข้องระหว่างไอทีวีกับเครือ ‘อินทัช’ ในฐานะเจ้าของ ผูกโยงไปถึง ‘กัลฟ์’ เจ้าของทุนสัมปทานโรงไฟฟ้าที่ฟ้อง ส.ส.พรรคก้าวไกล 2 คน และความพยายามในการพลิกฟื้นไอทีวีให้กลับมาเป็นสื่อเพื่อเอาผิดพิธา กรณี ‘รายงานการประชุม’ ไม่ตรงกับสิ่งที่อยู่ในการประชุมจริง และรายงานการประชุมออกก่อนการสมัครเป็น ส.ส.เพียงไม่กี่วัน หรือกรณีการเป็น ‘มรดก’ ที่ถูกตีความหลากหลาย ว่าการเป็นผู้จัดการมรดกของพิธานั้นเท่ากับพิธาถือหุ้นสื่อหรือไม่
ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเหล่านี้ไม่มีใครรู้ว่า กกต.นำไปพิจารณาหรือไม่… แล้วเพราะเหตุใด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แทบไม่มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาสืบสวนหรือหาข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องเลยสักคน ทั้งที่เรื่องนี้มีตัวละครที่เกี่ยวข้องนับสิบ แต่ไม่มีทั้งการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีการสืบสวน มีเพียงการยกเรื่องดังกล่าว แล้วส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญทันที
ในตอนแรก เรื่องไอทีวีค่อยๆ เงียบลงเรื่อยๆ หลังเกิดปฏิบัติการขุดคุ้ยจากอดีตคนไอทีวีว่า เรื่องดังกล่าวเต็มไปด้วยลับลมคมใน ทว่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนโหวต เรื่องไอทีวีก็ถูกหยิบยกขึ้นมา ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยของหลายฝ่ายว่า เรื่องนี้อาจเป็นข้ออ้างให้ ส.ส.ไม่ยอมโหวตใช่หรือไม่
ข้อสาม – ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวถึงการ ‘ล็อบบี้’ ส.ว.อย่างหนักให้ตัดสินใจไม่เลือกพิธา มีทั้งการเสนอตัวเลข ‘กล้วย’ มีทั้งการขู่แบล็กเมล์ กระทั่งการอ้างถึงบุคคลระดับสูงว่าอยู่เบื้องหลังการขอไม่ให้โหวตให้ และทำอย่างไรก็ได้ให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน แล้วเขี่ยพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ไม่ให้ทั้งพิธาเป็นนายกฯ และไม่ให้พรรคก้าวไกลคุมกระทรวงสำคัญ
ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย ข้อความจากบรรดา ส.ว.หลายคนออกมาตรงกันว่า จะไม่โหวตให้พรรคก้าวไกล เพราะพรรคนี้มีนโยบายในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งทุกคนต่างก็รู้กันว่า พรรคนี้เสนอนโยบายนี้มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง
การที่ ส.ว.ใช้เหตุผลเรื่องมาตรา 112 และการ ‘ไม่จงรักภักดี’ อาจส่งผลสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และหากใช้ข้อดังกล่าวเป็นข้ออ้าง ย่อมส่งผลโดยตรงกับสถาบันฯ เท่ากับเป็นการดึง 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล ไปชนกับสถาบันฯ โดยตรง
การดึงข้ออ้างเรื่องอื่น ในการโน้มน้าว ส.ว.ไม่ให้เลือกพิธา โดยใช้ไอทีวีเป็นตัวตั้งจึงอาจฟังดูสมเหตุสมผลกว่าในการ ‘ลดแรงกระแทก’
สุดท้าย – คำถามสำคัญก็คือ การจัดการพิธาเพียงคนเดียวจาก ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน ถือเป็นการ ‘เลือกปฏิบัติ’ หรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีกระแสเรื่องการซื้อเสียงในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน ภาคใต้ ว่ากันถึงเงินสะพัดเป็นหลักพันบาท หรือหลายพันบาท บางพื้นที่ มีความผิดปกติในเรื่องการขนคนไปเลือกตั้ง เก็บบัตรประชาชน หรือการนับคะแนน ที่ทำให้บัตรดีเป็นบัตรเสีย กระทั่งเรื่องของการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่มีข้อผิดพลาดมากมาย เป็นข้อสงสัยว่า อาจทำให้คะแนนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหลายคน ‘ตกน้ำ’ ก็ไม่เคยมีความชัดเจนใดๆ จาก กกต.เท่ากับเรื่องของพิธา
ข้อสงสัยก็คือ ใน 500 คน ไม่ว่าจะเป็นว่าที่ฝ่ายรัฐบาลหรือว่าที่ฝ่ายค้าน ไม่มีใครผิด และเพราะเหตุใดถึงไม่มีใครถูกตั้งข้อสงสัย ถูกสอบสวนในเรื่องใดเลย หรือเป็นเพราะ ส.ส.คนนี้ชื่อ ‘พิธา’ และมีโอกาสจะเป็นนายกฯ เลยถูกจัดหนักดังนี้
เรื่องทั้งหมดคล้ายคลึงกับกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูก กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวกรณีถือหุ้นสื่อ โดยดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางเสียงลือว่า เป็นเพราะผู้มีอำนาจบางคนไม่อยากเห็นหน้าธนาธรในสภาฯ และสั่งสอนในบางเรื่อง บางประเด็น
ถึงที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิธนาธรไม่ให้เป็น ส.ส. ทว่าเมื่อไปถึงขั้นตอนที่ กกต. ต้องยื่นอัยการฟ้องศาลให้ดำเนินคดีอาญากับธนาธร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง อัยการกลับสั่ง ‘ไม่ฟ้อง’ เพราะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
เหตุและปัจจัยทั้งหมดจึงทำให้หน่วยงานที่ควรจะ ‘เป็นกลาง’ อย่าง กกต. ถูกมองว่าทำงานตามใบสั่งของผู้มีอำนาจ ส่วนหนึ่งก็เพราะคณะกรรมการทุกคนล้วนมีที่มาจากองคาพยพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งต้องได้รับการเสนอชื่อโดย ส.ว.ชุดนี้
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กกต.เพิ่งเปลี่ยนสโลแกนใหม่ จาก ‘สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม’ โดยตัดคำว่า ‘โปร่งใส’ ออก ให้กลายเป็นคำว่า ‘สุจริต เที่ยงธรรม ชอบด้วยกฎหมาย’ ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องย้อนแย้งดีว่า การตัดสินใจในกระบวนการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพิธานั้น ‘โปร่งใส’ หรือไม่
หากวันพรุ่งนี้ (13 กรกฎาคม 2566) พิธาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ทุกอย่างก็ดูจะเข้าล็อก ตรงกับที่นักทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายวิเคราะห์ไว้ทันที
เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปในประเทศนี้…
Tags: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, Analysis, The Momentum ANALYSIS