“เทปกาวพันล้อมรอบศีรษะเหยื่อทั้งสองคน มือสองข้างถูกมัดแน่นไพล่หลัง รอบข้อเท้าผูกด้วยเทปพลาสติกสีน้ำตาล และตามร่างกายของเขามีบาดแผลจากกระสุนปืน”
เหล่านี้คือคำบรรยายสภาพร่างไร้วิญญาณของ เอฟาริม เอสคูเดโร (Ephraim Escudero) จากปากของ ชีราห์ เอสคูเดโร (Shaeerah Escudero) พี่สาวของเอฟาริม หลังน้องชายของเธอหายตัวไปอย่างลึกลับเป็นเวลา 5 วัน ในปี 2017 กระทั่งถูกพบในฐานะ ‘เหยื่อผู้เสียชีวิต’ จากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้ โรดรีโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) หรือ ‘ดีกง’ (Digong) อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
แม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานถึง 7 ปี และกระบวนการยุติธรรมเพรียกหาผู้กระทำความผิด หลังศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ประกาศเปิดฉากสอบสวนเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2016-2019 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากอดีตผู้นำเรื่อยมา
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ชีราห์และครอบครัวยังคงไม่ได้รับความยุติธรรมจากเหตุการณ์ครั้งนั้นแม้แต่เศษเสี้ยวเดียว เนื่องจากปัญหาการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ และการเตะถ่วงของรัฐบาลฟิลิปปินส์
มิหนำซ้ำ ความหวังอันน้อยนิดแทบจะไม่เหลือ เมื่อปรากฏรายงานจากดาฮาส (Dahas) องค์กรสิทธิมนุษยชนว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากยาเสพติดพุ่งสูงอีกครั้งถึง 175 ราย ทันทีที่ ‘บองบอง’ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Bongbong Marcos Junior) ทายาทผู้นำเผด็จการดำรงตำแหน่งภายในระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เป็นต้นมา
“จะมีปฏิบัติการปราบปรามที่รุนแรง เราต้องการจัดการมันอย่างตรงไปตรงมา”
เบนจามิน อากอร์ดา จูเนียร์ (Benjamin Acorda Junior) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ยอมรับในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังตัวเลขคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดสูงถึง 28 คดีในเดือนมกราคม 2024 พร้อมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไร้เจตนาลงมือ
ฉากทัศน์เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันว่า นโยบายต่อต้านยาเสพติดอันโหดเหี้ยมไม่เคยจางหายไปจากฟิลิปปินส์ พร้อมความผิดในอดีตยังไม่ได้รับการชำระสะสางในรัฐบาลของมาร์กอสจูเนียร์
(1)
“ไม่ มันจะไม่เกิดขึ้น นั่นคือการเคลื่อนไหวทางการเมือง และสิ่งที่เราเป็นอยู่ ฟิลิปปินส์จะไม่เล่นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตอำนาจและอธิปไตยของชาติ”
มาร์กอสจูเนียร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซี (ABC News) ระหว่างการเยือนออสเตรเลียในวันที่ 5 มีนาคม 2024 เขาตอบคำถามถึงสถานการณ์คดีความใน ICC พร้อมยืนกรานดังที่เคยทำมาตลอดว่า เขาจะไม่เชื้อเชิญให้ศาลโลกเข้ามาสอบสวนสิ่งที่ดูเตอร์เตทำไว้
ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ให้เหตุผลว่า การมีอยู่ของ ICC เป็นภัยต่ออธิปไตยของชาติ เพราะถูกสร้างเพื่ออำนวยความยุติธรรมในพื้นที่ปราศจากองคาพยพทางตุลาการ หรือสันติภาพ ก่อนจะเน้นย้ำว่า ที่แห่งนั้นไม่ใช่ฟิลิปปินส์อย่างแน่นอน
ครั้นเมื่อถูกถามถึงความต้องการของเหยื่อนับพันคน ที่สมควรได้รับความยุติธรรมจากสงครามปราบปรามยาเสพติด มาร์กอสจูเนียร์ก็ยังยืนยันว่า ฟิลิปปินส์มีองค์กรตำรวจและกระบวนยุติธรรมที่เพียบพร้อม และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ
“เราดำเนินคดีคืบหน้าไปเยอะมาก ตำรวจหลายรายถูกปลด เพราะพวกเขาต้องรับผิด มีการยื่นฟ้องมากมาย และหลายคนติดคุกแล้ว”
บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของชายผู้ (เคย) เป็นจอมเผด็จการของประเทศตอบคำถาม และยืนยันว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้สังหารเหยื่อที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ประกาศถอนการให้สัตยาบันจากภาคีธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ในปี 2018 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ICC บังคับใช้อำนาจกับรัฐภาคีดังกล่าว พร้อมคำโจมตียาวถึง 15 หน้าว่า ข้อกล่าวหาจากศาลโลกไร้มูลฐานรองรับ จงใจโจมตีฟิลิปปินส์ และไร้กระบวนการทางกฎหมาย หรือการคำนึงถึงหลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์’ (Presumption of Innocence) ในทางคดีอาญา
ปัจจุบัน แม้จะมีแนวคิดการหวนคืนสู่การเป็นรัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรม แต่ ซาราห์ ดูเตอร์เต (Sara Duterte) รองประธานาธิบดีและลูกสาวของดีกง ใช้ข้ออ้างว่า การอนุญาตให้ ICC สอบสวนอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต่อให้ฟิลิปปินส์ให้สัตยาบันอีกครั้ง ศาลอาญาจะไม่มีสิทธิ เพราะเขตอำนาจไม่ต่อเนื่องตั้งแต่การถอนตัวในปี 2019 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ICC ยังยืนยันว่า ฟิลิปปินส์มีภาระผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามธรรมนูญกรุงโรม แม้จะถอนตัวจากการเป็นสมาชิก โดย อันโตนิโอ คาร์ปิโอ (Antonio Carpio) อดีตผู้พิพากษาประจำศาลสูงสุดฟิลิปปินส์ อธิบายสาเหตุไว้ว่า เป็นเพราะอาชญากรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2011 เรื่อยมา
(2)
ในทางตรงกันข้าม ฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch) เผยรายงานในเดือนมกราคม 2023 ว่า สงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ยังไม่จางหายไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทางการเมืองของเขา
ก่อนหน้านี้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี บองบองประกาศว่า เขายังคงจะเดินหน้าต่อสู้กับยาเสพติดเช่นเดิม แต่จะทำให้ทุกอย่างก้าวหน้ากว่าดูเตอร์เตด้วยการ ‘จับปลาตัวใหญ่’ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ค้ารายใหญ่ และเน้นบำบัดผู้เสพเป็นสำคัญ ก่อนจะเน้นย้ำว่า ปัญหาทั้งหมดมาจาก ‘ความยากจน’ ของประเทศ
แต่กลับกลายเป็นว่าทุกอย่างพลิกตาลปัตรจากคำพูดของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ อ้างอิงจากดาฮาส องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 รายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด ตั้งแต่มาร์กอสจูเนียร์เข้ารับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2022
ขณะที่อัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานในเดือนมีนาคม 2024 ว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุสืบเนื่องกับยาเสพติดอยู่ที่ 331 รายในปี 2023 พุ่งสูงกว่าตัวเลขในปี 2022 ที่ 7 ราย
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างรัฐบาลบองบองกับดูเตอร์เต ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลา 6 เดือนจากการดำรงตำแหน่งจะพบว่า ตัวเลขเหยื่อในยุคของมาร์กอสจูเนียร์อยู่ที่ 175 ราย มากกว่าดูเตอร์เตถึง 26 ราย
ยังไม่รวมท่าทีของอาร์กอดาจูเนียร์ที่ออกมา ‘ปฏิเสธกึ่งยอมรับ’ กระแสข่าวลือการปราบปรามยาเสพติดอันนองเลือด และข้อมูลผู้เสียชีวิตจากดาฮาสในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาร์กอดาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ลงมือสังหารผู้ค้าบางส่วนจริง แต่นั่นเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่ถือว่าเป็นการจงใจวิสามัญฆาตกรรม
“ผมขอย้ำอีกครั้ง เราไม่ได้วิสามัญฆาตกรรมหรือกระทำการใดๆ ตามข้อกล่าวหาของดาฮาส ผมยินดีมากหากพวกเขามีชุดข้อมูลที่เป็นความจริงหรือพยานในเหตุการณ์
“ผมยินดีกับพวกเขาตามที่เคยบอก แม้อยากให้ปฏิบัติการมีความเข้มข้น แต่เราก็ต้องยอมรับในสิทธิของปัจเจก” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ยืนยันกับสื่อมวลชน
ขณะที่ โจเอล อาริอาเต (Joel Ariate) หัวหน้าโครงการโปรเจกต์ของดาฮาส เปิดเผยข้อมูลกับอัลจาซีราว่า การสังหารผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดลดลงในเขตเมืองในมะนิลาจริง
ทว่านับตั้งแต่อากอร์ดาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจในปี 2023 ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ดาเบา (Davao) บ้านเกิดของดูเตอร์เต และเมืองที่ เซบาสเตียน ดูเตอร์เต (Sebastian) ลูกชายของอดีตประธานาธิบดีเป็นนายกเทศมนตรีอย่างมีนัยสำคัญ
อาริอาเตตั้งข้อสังเกตว่า แม้แต่ตัวมาร์กอสจูเนียร์ก็เก่งในการทำให้ทุกอย่างกำกวม เพราะถึงยืนยันว่า เขาจะเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจน
นั่นจึงทำให้เขาเชื่อว่า กระบวนการสังหารและปราบปรามในสงครามยาเสพติดยังคงอยู่ต่อไป ตราบใดที่ ‘กลไก’ และ ‘วิธีคิด’ เช่นเดิมยังคงอยู่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (Impunity Culture) ที่มีมาแต่เดิม
(3)
ไม่ใช่แค่สงครามยาเสพติดที่กลับมาอีกครั้ง แต่เสียงของเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งก่อนยังคงถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา
เจน ลี (Jane Lee) ภรรยาของผู้เสียชีวิตจากสงครามยาเสพติดในยุคของดูเตอร์เต เป็นอีกคนหนึ่งที่เฝ้ารอกระบวนการยุติธรรมจากรัฐบาลบองบอง หลัง ไมเคิล (Michael) สามีของเธอเสียชีวิตจากการปราบปรามของตำรวจในปี 2017
เจนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอัลจาซีราว่า ในตอนแรกเธอหวังว่านโยบายปราบปรามยาเสพติดของดูเตอร์เตในคาโลโอคัน (Caloocan) ละแวกบ้านของเธอ จะเป็นไปด้วยดี ทว่าผู้เสียชีวิตกลับไม่ใช่ผู้ค้ารายใหญ่ แต่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่กลายเป็น ‘ลูกหลง’ ของการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งรวมถึงสามีของเธอด้วย
ปัจจุบัน เจนกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเสาหลักของครอบครัว เธออาศัยความช่วยเหลือจาก Rise Up for Life and for Rights หน่วยงานอิสระสนับสนุนผู้หญิงที่สูญเสียญาติจากสงครามปราบปรามยาเสพติด
นอกจากไร้ความช่วยเหลือทั้งในด้านของการเงินและสภาพจิตใจจากรัฐบาล เจนเล่าว่า เธอยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ‘ลองเชิง’ ในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด-19 เมื่อปี 2020 หลังมีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านและถามว่าเธอจะฟ้องร้องหรือไม่ ซึ่งเจนเชื่อว่า นี่คือการเบี่ยงเบนความสนใจจากคดีความใน ICC เพราะลำพังการดำเนินคดีฟ้องร้องในประเทศยังเป็นไปอย่างยากลำบาก
เช่นเดียวกับชีราห์ ทุกวันนี้เธอยังคงเรียกร้องความยุติธรรม โดยมีเพียงรูปถ่ายเก่าของน้องชาย ที่ทำให้ชัดขึ้นด้วยโปรแกรม AI ขณะที่เด็กน้อยสองคนในฐานะหลาน กำลังเติบโตขึ้นมาและเริ่มตั้งคำถามถึงการเสียชีวิตของพ่อตนเอง
“การพึ่งพากระบวนการยุติธรรมในฟิลิปปินส์ เหมือนกับการตั้งเป้าไปดวงจันทร์”
คริสเตียน คอนติ (Kristian Conti) ทนายความประจำสหภาพทนายความเพื่อประชาชน เคยเปรียบเทียบสถานการณ์ของลูกความคนหนึ่งในอดีต หลังคดีการสังหารเด็กอายุ 17 ถูกยกฟ้องในปี 2020 จนทำให้ผู้เป็นแม่ถึงกับเอ่ยปากว่า ‘ความยุติธรรมไม่มีในฟิลิปปินส์’
ซ้ำร้ายกว่านั้น ชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยกลับพึงพอใจนโยบายดังกล่าว หลังมีผลสำรวจจาก Social Weather Stations สถาบันวิจัยทางสังคมในปี 2019 ที่เปิดเผยว่า ประชาชนถึง 82% ให้คะแนนการปราบปรามยาเสพติดของดูเตอร์เตในระดับ ‘ยอดเยี่ยม’ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการทำให้อาชญากรรมในประเทศลดน้อยถอยลง
ยังไม่รวมถึง ‘วัฒนธรรมยกย่องความเป็นชาย’ (Masochism) หรือความนิยมชมชอบภาพลักษณ์ชายผู้มีอำนาจ ดุดันและก้าวร้าวในสังคมฟิลิปปินส์ ที่ฟอกขาวดูเตอร์เต ให้กลายเป็นวีรบุรุษปกป้องสังคมในแบบ ‘ใจถึงพึ่งได้’
นั่นหมายความว่า ภาพของร่างไร้วิญญาณที่นอนจมกองเลือด เสียงปืนสลับกับเสียงกรีดร้องของผู้คนในชุมชนจากการปราบปรามพ่อค้ายาอย่างโจ้งแจ้ง อาจหวนกลับมาอีกครั้งในอนาคต ตราบใดที่ความเห็นชอบของประชาชนและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังอยู่
อ้างอิง
https://time.com/6339873/rodrigo-duterte-drug-war-international-criminal-court-investigation/
https://www.hrw.org/news/2023/01/12/philippines-no-letup-drug-war-under-marcos
https://www.philstar.com/headlines/2024/03/06/2338413/justice-drug-war-victims-judiciary-marcos
https://www.reuters.com/article/us-philippines-duterte-icc-idUSKCN1GQ0MA/
https://www.rappler.com/newsbreak/in-depth/icc-exposes-duterte-desperation-marcos-indecisiveness/
https://tribune.net.ph/2022/09/24/catch-bigger-fish-pbbm
https://foreignpolicy.com/2023/01/11/philippines-drug-war-manila-marcos/
https://www.hrw.org/world-report/2023/country-chapters/philippines
https://www.manilatimes.net/2024/01/04/news/national/acorda-vows-to-crush-drug-menace/1926590
https://opinion.inquirer.net/103323/the-politics-of-macho
https://www.reuters.com/article/idUSKBN1W8039/
Tags: มาร์กอส, การเมืองฟิลิปปินส์, ICC, กฎหมายระหว่างประเทศ, ฟิลิปปินส์, มาร์กอสจูเนียร์, ASEAN, ดูเตอร์เต, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Impunity Culture, ยาเสพติด, Marcos, ศาลอาญาระหว่างประเทศ, สงครามยาเสพติด, โรดรีโก ดูเตอร์เต, Duterte, Analysis