ช่วงเวลานี้ช่างเป็นห้วงเวลาที่คลุมเครือและยาวนานของการเมืองไทย ต่างจากการเลือกตั้งครั้งไหนๆ ที่เพียงไม่กี่วันก็ได้เห็นหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี และทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างโดยใช้เวลาไม่นานนัก
แต่รอบนี้ทุกอย่างกลับผิดปกติ ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องอึมครึม พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคขั้วอำนาจเดิมของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ประกาศยอมแพ้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หายตัวไปจากหน้าสื่อ ทั้งที่เคยคึกคักในช่วงการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ส.ว.หน้าเดิมๆ ก็เริ่มปล่อยข่าว บรรดานักร้องเรียนก็ล้วนสร้างฉากทัศน์ใหม่ๆ กล่อมสังคมให้กลัวว่าจะตั้งรัฐบาลไม่ได้เข้าไว้
ในเวลาเดียวกัน กระบวนการทางกฎหมายก็เดินหน้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘หุ้นสื่อ’ อย่าง ‘ไอทีวี’ ที่หลายคนไม่รู้ว่าเป็นสื่ออย่างไร ก็เดินหน้าไปพร้อมกัน ทำให้โมเมนตัมของการฟอร์มรัฐบาล 8 พรรค กลายเป็นโมเมนตัมของการ ‘ตั้งการ์ด’ ท่ามกลางความหวาดระแวงว่าเรื่องนี้จะไปต่ออย่างไร แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนเองก็ยังไม่เชื่อว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้จริง
เหตุและปัจจัยสำคัญทั้งหมด คือทุกอย่าง ‘ผิดแผน’ จากที่คาดการณ์ไว้ว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล และเปิดทางให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลพลิกขั้วแบบ ‘ประนีประนอม’ ไปเป็นฝั่งที่ ‘สุดโต่ง’ มากกว่าอย่างพรรคก้าวไกล อีกประการหนึ่งคือบรรดาขั้วอำนาจเดิมเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า พรรคก้าวไกลอันตรายอย่างมากสำหรับองคาพยพของตัวเอง นายทุนที่อยู่ข้างหลัง และบรรดา Deep State ‘รัฐพันลึก’ เป็นอันตรายที่ยากยิ่งกว่าสมัยพรรคอนาคตใหม่ และหากปล่อยไปย่อมส่งผลสะเทือนกับโครงสร้างอำนาจทั้งหมด
แต่ปัญหาสำคัญ คือพรรคก้าวไกลมี 14 ล้านเสียงค้ำคอไว้ หากกระบวนการทางกฎหมายนั้นใช้ได้ไม่ดี ตอบสังคมไม่ได้ ก็คือการใช้กฎหมายเพื่อ ‘กลั่นแกล้ง’ และหากรอบนี้มุ่งกำจัดพรรคก้าวไกลอย่างเห็นได้ชัดว่าต้องการ ‘ทำลายล้าง’ ก็อาจส่งผลเสีย ทำให้คู่ต่อสู้กลายเป็นบรรดา Deep State มากกว่าจะเป็นพรรคก้าวไกลเอง
สิ่งที่เห็นได้ชัดในห้วงเวลานี้ คือพรรคก้าวไกลที่นำโดยพิธาเดินเกมโดยใช้วิธีการเจรจา เข้าหาทุกขั้วอำนาจ ทุกฝ่าย ที่สามารถโน้มน้าวเสียง ส.ว. หรือบรรดา ‘อำมาตย์’ ในสังคมไทยว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด เสียงลือก็คือทีมเจรจาของพรรคก้าวไกลทำได้ดีกว่าที่คิด พาพิธาเข้าหาคนในหลายกลุ่ม หลายองค์กร ทั้งหน้าฉากและหลังฉาก จนหลายคนก็อดเคลิ้มไปกับสไตล์การพูดแบบพิธา และทีมเจรจาของพรรคไม่ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคก้าวไกลในยุคนี้ มีโทนของ ‘นักปฏิวัติ’ ไม่เข้มข้นเท่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้รุนแรงแบบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคก้าวไกลมีบุคลากรระดับนำจำนวนไม่น้อยซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับ ‘ชนชั้นนำ’ ได้ ไม่ว่าจะเป็นพิธา, ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล หรือไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ รวมถึงบรรดากองเชียร์ ‘อีลิต’ ข้างสนามจำนวนไม่น้อยก็ทำหน้าที่ช่วยพูด ช่วยเล่าความให้ว่าภาพของก้าวไกล ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนกังวล
กระนั้นเอง สิ่งที่ยังปกคลุมความรู้สึกของบรรดา Deep State คือพรรคนี้ยังเป็นพรรคที่ ‘ต่อรอง’ ไม่ได้ พรรคนี้หัวรุนแรงเกินไป ซ้ำพิธายังประกาศกร้าว ไม่ปฏิเสธเรื่องการ ‘เช็กบิล’ พลเอกประยุทธ์และเครือข่าย ยิ่งทำให้บรรดาเครือข่ายรัฐประหารเดิมยังต้องสู้ต่อแบบหลังชนฝา
ต้องไม่ลืมว่าที่มาของบรรดา ‘องค์กรอิสระ’ ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลรัฐธรรมนูญ ล้วนมาจากองคาพยพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตำแหน่งเหล่านี้ต้องให้ ส.ว.ที่มาจาก คสช. ให้ความเห็นชอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูก ‘คัดออก’ เพราะ ส.ว.เห็นว่าไม่ได้อยู่ข้างเดียวกัน
ทั้งหมดจึงเป็นไปได้ว่า หากผู้มีพระคุณขององค์กรเหล่านี้ รวมถึงผู้มีพระคุณของ ส.ว.มองเห็นทางเลือกอื่น และตั้งใจจะทุบพิธา ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก
ขณะเดียวกัน การตั้งแง่กับ ‘ทุนผูกขาด’ ของพรรคก้าวไกล ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หากเราเชื่อว่าสังคมไทยมี ‘ทุนเหนือรัฐ’ และเป็น ‘สังคมอุปถัมภ์’ ซึ่งบรรดาเครือข่ายทุนและเครือข่ายอำมาตย์ผนึกกันแน่น เพื่อให้นโยบายรัฐเป็นไปตามความต้องการของทุน พรรคก้าวไกลก็ยังเป็นตัวอันตรายเสมอ และมิอาจปล่อยให้มีอำนาจรัฐสูงสุดได้
บรรยากาศทุกอย่างจึงเป็นความอลหม่าน และอีกเวลาหนึ่งก็อยู่กับ ‘ความเงียบ’ ความเงียบที่น่ากลัว ความเงียบที่ยังไม่มีใครเคาะว่าจะเอาอย่างไรต่อ
เท่าที่จับสัญญาณได้คือองคาพยพทั้งหลายต่าง ‘รอ’ ทิ้งจังหวะให้นานออกไปเรื่อยๆ เพื่อกล่อมเกลาสังคมว่า พิธามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับการเป็นนายกฯ คนต่อไป หากบางทีอาจมีทางออกอื่น ไม่ว่าจะการให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นแทน หรืออาจ ‘สลับขั้ว’ เอาขั้วรัฐบาลเดิมกลับมาได้ ไม่ว่าจะแลกด้วยอะไร
ความไม่ชัดเจนส่งไปถึงตลาดทุน ระบบราชการ และสัญญาณเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีท้ายนี้ ที่ในที่สุดอาจไม่สดใสเท่าไรนัก หากยังปล่อยให้ความคลุมเครือนี้ดำเนินต่อไป และหากปล่อยให้บรรดากระบวนการทางกฎหมายเดินหน้าทำอะไรที่ขัดกับผลการเลือกตั้ง
ประเด็นสุดท้ายคือ ความเชื่อและสิ่งที่เราไม่รู้ ณ วันนี้คือ คสช.มีอำนาจเต็มหรือเปล่า หรือเป็นใครที่มีอำนาจเต็ม คนที่มีอำนาจเต็มเป็นคณะบุคคล กลุ่มองค์กร หรือบุคคลแค่คนเดียวที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายทุกอย่าง
การเลือก ‘ปล่อย’ ในเวลานี้ อาจหมายถึงการให้ทุกคน ‘หงายไพ่’ ในมือออกมาให้หมด อาจหมายถึงการพยายามทิ้งระยะห่างจากการเมืองเพื่อหาจังหวะถอย หรืออาจหมายถึงการพยายามวัดกำลังกับ ‘ก้าวไกล’ ว่าก้าวไกลจะเลือกประนีประนอมหรือสู้ต่อ
ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาแห่งความอึมครึม อาจทิ้งให้บรรดาขั้วต่างๆ จับกันเพื่อหนุนพิธาหรือล้มพิธา อาจทำให้บรรดา ‘นักร้อง’ ต่างๆ มีประเด็นการร้องเรียนมากขึ้น และอาจทำให้เวลาในการกล่อมเกลาสังคมมากพอจะทำให้พิธาเปรอะเปื้อนไปด้วยสารพัดคดีความ เป็นความอึมครึมที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับนายกฯ คนก่อนหน้าอย่างพลเอกประยุทธ์
แต่ไม่ว่าอย่างไร ความอึมครึมเหล่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีกับประเทศ และยิ่งนานเท่าไร อำนาจและเวลาของฝั่งที่อยากย้อนเข็มนาฬิกาก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปมากเท่านั้น
Tags: ส.ว., กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ, ก้าวไกล, The Momentum ANALYSIS, พิธา