“มันเป็นอาชญากรรมที่สยองขวัญ เป็นอะไรบางอย่างที่สาธารณรัฐเช็กไม่เคยเผชิญ”

วิต ราคูชาน (Vit Rakusan) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงภายใน แสดงความคิดเห็นหลังเกิดเหตุการณ์ ‘กราดยิง’ ที่ร้ายแรงในหน้าประวัติศาสตร์ของเช็ก (Czech) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2023 โดยที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน

จริงอยู่ที่ว่า เหตุก่อการร้ายกราดยิงของเช็กเคยเกิดขึ้นในปี 2015 และ 2019 ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทั้งสองรวมกัน 14 ราย แต่ความร้ายแรงของเหตุการณ์ปี 2023 กลายเป็นเรื่องน่าตกใจของผู้คนทั่วโลกมาก เนื่องจากเช็กเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความสงบและปลอดภัยท่ามกลางประเทศในยุโรป

สมญานามดังกล่าวประจักษ์ผ่านตัวเลขทางสถิติของ GunPolicy โดยในปี 2019 เช็กมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนเพียง 195 ราย หากเทียบกับจำนวนประชากร 10.8 ล้านคน รวมถึงสถิติในปี 2018 มีผู้เสียชีวิตเพียง 170 รายเท่านั้น ขณะที่สหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.5 หมื่นราย สะท้อนให้ถึงเหตุการณ์ที่แตกต่างลิบลับในสองประเทศเป็นอย่างดี

ยังไม่รวมถึงการติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกภายใต้ Global Peace Index (GPI) นับตั้งแต่ปี 2015-2022 ซึ่งมีการระบุว่า เช็กทำคะแนนได้ดีจากอัตราการเสียชีวิตจากอาชญากรรมที่ต่ำ ความขัดแย้งภายในที่น้อยนิด และการเข้าถึงอาวุธร้ายแรงที่ยากลำบาก 

จากประเทศที่สงบสุขสู่การกราดยิงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เกิดอะไรขึ้นกับเช็กกันแน่?

 

สรุปสถานการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้น

เมื่อวานนี้ (21 ธันวาคม 2023) เกิดเหตุกราดยิงในมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ (Charles University) กรุงปราก (Prague) สาธารณรัฐเช็ก ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 15 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 24 ราย นับเป็นเหตุกราดยิงสะเทือนขวัญที่สุดในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานตรงกันว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นที่อาคารคณะอักษรศาสตร์ มือปืนคือนักศึกษาคนหนึ่งวัย 24 ปี เขากราดยิงผู้คนอย่างบ้าคลั่งในระหว่างการบรรยาย ก่อนจะปลิดชีพตนเองจากโลกนี้ 

เบื้องต้น ทางการเช็กระบุว่า ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา คนร้ายก่อเหตุยิงพ่อของตนเองจนเสียชีวิต และอาจรวมถึงชายนิรนามและลูกสาววัย 2 เดือน ด้วยอาวุธปืนที่ถูกกฎหมาย

ภาพ: AFP

นอกจากนี้ ตำรวจไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนร้าย เหยื่อ หรือเหตุในการกราดยิง โดยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงภายในระบุว่า หน่วยสืบสวนไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคนร้ายกับกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง ทว่าเป็นไปได้ที่เขาอาจได้รับแรงจูงใจจากเหตุกราดยิงครั้งหนึ่งในรัสเซียของปี 2023 ซึ่งเป็นการคาดเดาจากแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียของคนร้าย

 

รายละเอียดเหตุการณ์จากพยานที่บอกเล่าผ่านสื่อ

แม้ยังไม่มีรายละเอียดเปิดเผยอย่างชัดเจน แต่มีพยานมากมายที่ต่างออกมาบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุกราดยิงกับสำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังหลายแห่ง

พยานคนแรกคือ จาค็อบ ไวซ์แมน (Jakob Weizman) นักข่าวและนักศึกษาปริญญาโท ที่เล่าเหตุการณ์กับเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่า เหตุอันน่าสยองขวัญเกิดขึ้นระหว่างที่เขาสอบวิชาภาษาแอลเบเนียน แต่ปรากฏว่า ได้ยินเสียงปืนและเสียงกรีดร้องจากนอกห้อง 

นั่นจึงทำให้เขาและอาจารย์ที่อยู่ในห้องเพียง 2 คน หยุดนิ่งไปและไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น กระทั่งได้ยินเสียงตำรวจกำลังเข้าพื้นที่ ทว่าเสียงกรีดร้องและเสียงปืนยิ่งดังขึ้น เขาและอาจารย์จึงล็อกห้องเรียนและพยายามขนย้ายสิ่งของต่างๆ กีดขวางประตู ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งรอบตัวที่ใหญ่พอ เพื่อป้องกันตนเองจากเหตุการณ์ที่รับรู้ได้ผ่านเสียงร้อง

“ผมคิดว่า มือปืนเดินมาจากข้างในของคณะ ก่อนที่จะเดินไปกราดยิงผู้คนตรงระเบียง ตอนนั้นมีแต่ผู้คนพยายามเกาะชานระเบียงหนี” เขาเล่าเหตุการณ์กับเดอะการ์เดียน ซึ่งในเวลาต่อมา ปรากฏภาพของผู้คนหลบซ่อนบริเวณดังกล่าวจริง

ทว่าความระทึกยังไม่จบลง ไวซ์แมนเผยว่า ฆาตกรพยายามเปิดประตูเข้ามา หลังจากที่เคลื่อนย้ายสิ่งของเพียง 5 นาที ซึ่งคาดว่า คนร้ายอาจไปส่องดูห้องเรียนหลายแห่ง เพื่อตรวจสอบว่ามีคนให้ยิงหรือไม่

จาค็อบบอกว่า ตนและอาจารย์อยู่ในห้องประมาณ 1 ชั่วโมง พยายามส่งข้อความหาคนที่รักทั้งแม่และแฟนสาวว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงรวบรวมสติขอความช่วยเหลือให้พวกเขาช่วยแจ้งตำรวจ

อย่างไรก็ตาม เสียงปืนและเสียงกรีดร้องดังขึ้นมาในรอบ 1 ชั่วโมง สลับกับความสงบ ก่อนมีเหตุการณ์ซ้ำวนเช่นนี้อยู่ประมาณ 30 นาที สุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจพาเขาออกมาจากเหตุการณ์ และเห็นอาคารเต็มไปด้วยเลือด

ภาพ: AFP

ขณะที่ โจ ฮีแลนด์ (Joe Hyland) พยานวัย 18 ปีที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี (BBC) ว่า เขาได้ยินปืนเสียงดัง แต่ไม่ได้เอะใจอะไรมาก จนกระทั่งได้ยินเสียงกรี๊ดและเห็นผู้คนวิ่งหนีตายออกมา ตามมาด้วยเสียงไซเรน จึงรับรู้ว่าเกิดเหตุร้ายแรงบางอย่าง ก่อนจะช่วยเพื่อนๆ หนีไปให้เร็วที่สุด

ด้าน อิโว ฮาฟราเนก (Ivo Havranek) พยานอีกรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ (Reuters) ในตอนแรกเขาคิดว่า เสียงปืนเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำภาพยนตร์ หรือมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่จู่ๆ อาจารย์และนักศึกษาวิ่งหนีออกนอกคณะ และตำรวจที่ถือปืนไรเฟิลตะโกนให้เขาวิ่งหนีออกไป 

“ผมยังไม่พร้อมที่จะยอมรับว่า มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในกรุงปราก” ฮาฟราเนกระบุ

นอกจากนี้ ปีเตอร์ เนโดมา (Peter Nedoma) ผู้อำนวยการรูโดไฟนัมแกลเลอรี (Galerie Rudolfinum) เล่าผ่าน Česká Televize สถานีโทรทัศน์ของเช็กว่า เขาเห็นเด็กถืออาวุธในมือ คล้ายกับปืนกลบางอย่าง และกราดยิงไปยังสะพานเมนส์ (Manes) แต่ก็มีหยุดชะงักบางครั้ง วนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเด็กคนดังกล่าวทิ้งอาวุธปืนบนถนน

 

เช็กกับกฎหมายการครอบครองปืนในโลกยุคใหม่: รัฐธรรมนูญรับรอง ไม่ง่ายที่จะครอบครอง แต่อาจหมุนไม่ทันตามพลวัตของสังคม?

หากพิจารณาการเข้าถึงอาวุธของบรรดาประเทศในสหภาพยุโรป (European Union: EU) เช็กเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่เข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายกว่าที่อื่นๆ สืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง นับตั้งแต่สงครามฮุสไซต์ (Hussite) ในช่วงปี 1419 จนถึงการปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) ในปี 1918 มีเพียงช่วงยกเว้นเมื่อครั้งนาซีเยอรมนียึดครอง และรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศเท่านั้น

 ไทม์ (Time) ระบุว่า ชาวเช็ก 1 ล้านคน มีปืนไว้ในครอบครองภายใต้ ‘สิทธิในการเก็บและพกพาอาวุธปืน’ (Right to Bear Arms) ที่รัฐธรรมนูญเช็กยังรับรองตามกฎหมาย ทว่าขั้นตอนที่จะได้มานั้นไม่ง่ายดายและต้องผ่านการทดสอบอย่างถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปูมหลังทางครอบครัว ประวัติด้านอาชญากรรม และผลการตรวจสุขภาพ อีกทั้งตำรวจยังสามารถยึดอาวุธได้ทันที หากผู้ครอบครองมีอาการทางจิต

แม้ยุโรปไม่ปลอดภัยจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในปี 2021 ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ครอบครองอาวุธปืนในเช็ก เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ทว่าเหตุร้ายแรงจากอาวุธปืนก็แทบไม่เกิดขึ้นเลย

กระนั้นก็ตาม เดอะการ์เดียนเผยว่า รัฐบาลเช็กแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวด้วยการเพิ่มเนื้อหาคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในปี 2021 ว่าด้วยการใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิตของตนเองและผู้อื่น หลังมีประชาชนราว 1.02 แสนราย ลงชื่อเพื่อต่อต้านข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) หลังพยายามใช้นโยบายจำกัดการใช้อาวุธปืนกับกลุ่มประเทศ EU

 

บทสรุปทิ้งท้ายของเหตุการณ์

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ โบฮิวสลาฟ สโวโบดา (Bohuslav Svoboda) นายกเทศมนตรีกรุงปราก ระบุทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลง และปัญหาการกราดยิงจากระดับบุคคลกำลังค่อยๆ เกิดขึ้นโดยที่รัฐบาลไม่ทันสังเกต

คำพูดของเขาสะท้อนผ่านเหตุการณ์ทั่วยุโรป เมื่อการก่อการร้ายแบบดั้งเดิมที่เกิดจากกลุ่มก่อการร้ายระดับโลก กำลังเข้าแทนที่ด้วยการก่อการร้ายในระดับปัจเจก หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Lone-Wolf Terrorism’ เมื่อคนธรรมดาเป็นผู้ก่อการร้ายด้วยเหตุผลส่วนตัวและความเจ็บป่วยทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความยากจนหรือการกดทับทางเชื้อชาติก็ตาม

ภาพ: AFP

ไม่แน่ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจจุดประกายวิถีการครอบครองปืนของเช็กในโลกสมัยใหม่ การรับมือกับเหตุก่อการร้าย รวมถึงปัญหาทางโครงสร้างในสังคมที่เกิดขึ้นจากปัจเจก โดยไม่ต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำซาก ตามมาด้วยเสียงก่นด่าของประชาชน จนรัฐต้องแก้ไขปัญหาแบบ ‘ผักชีโรยหน้า’ เหมือนบางประเทศ

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2023/dec/21/witnesses-talk-of-their-narrow-escape-from-prague-gunman

https://www.reuters.com/world/europe/prague-university-shooting-leaves-several-dead-police-say-2023-12-21/

https://apnews.com/article/prague-shooting-dead-injured-9a383bc6919c1b0d929cf06aa4818341

https://www.theguardian.com/world/2023/dec/21/shock-in-prague-shootings-czech-republic

https://time.com/6550026/prague-mass-shooting-gun-laws-czech-republic/

https://www.czechuniversities.com/article/global-peace-index-2020-czechia-among-the-worlds-10-most-peaceful-countries

https://mzv.gov.cz/newdelhi/en/economy/events/czechia_named_6th_most_peaceful_country.html

https://countryeconomy.com/demography/global-peace-index/czech-republic

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,