เหตุการณ์ ‘กราดยิง’ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน สั่นสะเทือนสังคมไทย เป็นเหตุยิงครั้งใหญ่รอบที่ 7 ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

ทุกครั้งที่เกิดเหตุกราดยิง ‘บทเรียน’ หนึ่ง ที่ถูกถอดเสมอมาก็คือ ‘กฎหมาย’ อาวุธปืนของไทยอ่อนแอไปหรือไม่ เพราะเหตุใดปืนทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ปืนดั้งเดิมและปืนดัดแปลงจึงว่อนไปทั่วประเทศ ทั้งที่ขั้นตอนการขอใบอนุญาตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

The Momentum ชวนสังเกต ‘ช่องโหว่’ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธในประเทศไทย พร้อมเผยสถิติที่น่าสงสัยว่า เพราะอะไรอาชญากรรมเกี่ยวกับอาวุธปืนในไทยถึงสูงลิ่วทั้งที่มีกฎหมายควบคุม

กฎหมายว่าด้วย ‘การครอบครองปืน’ ของไทย

พระราชกฤษฎีการะบุกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธของไทยไว้ใน ‘พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490’ มีสาระสำคัญระบุถึง

มาตรา 8 ทวิ:

ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนสมควรแก่พฤติการณ์

ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด

 

มาตรา 9:

ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ให้ออกแก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์ 

และหนึ่งในที่ระบุไว้ใน มาตรา 13: ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตตามความในหมวดนี้ ได้แก่

(4) บุคคลผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

 

จะเห็นว่า กฎหมายอาวุธปืนทำให้อาวุธปืนควบคุมได้ยาก และบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะล้วนเป็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธอยู่แล้ว

หากมองย้อนกลับไปในกรณีกราดยิงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2563, เหตุกราดยิงที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดปทุมธานี ในปี 2564 และเหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู ในปี 2565 เกือบทุกกรณีมี ‘ช่องโหว่’ จากกฎหมายนี้ทั้งสิ้น เพราะหละหลวมในแง่ของ ‘การออกใบอนุญาต’ โดยเฉพาะเหตุกราดยิงล่าสุดในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการ แต่ไม่มีการริบอาวุธคืน แม้จะขาดอายุราชการไปแล้ว

เมื่อมองย้อนมาถึงการกราดยิงที่พารากอนเมื่อวานนี้ ยิ่งทำให้เห็นเด่นชัดว่า กฎหมายเกี่ยวกับปืนไม่เคยเข้มแข็งขึ้นเลย อาจด้วยเพราะถูกบัญญัติและบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2490 แล้วยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง

แล้วถ้าในส่วนของ ‘ปืนเถื่อน’ ล่ะ?

“ปืนกล็อก 19 แท้ ราคาถูก ซื้อออนไลน์ได้ที่…”

“ปืน glock ราคาพิเศษ ซื้อออนไลน์ได้ที่ … ส่งฟรีทั่วไทย”

“ขายปืน Glock 19 63,000 บ. พร้อมทะเบียน”

และอื่นๆ อีกมากมาย แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนคัดมา จากการเสิร์ชเพียง ‘ปืนกล็อก ราคา’ ลงในกูเกิล สะท้อนว่าการซื้อปืนในไทยไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถเลยจริงๆ

‘แบลงก์กัน’ หรือ ‘ปืนเทียม’ ที่หาซื้อและดัดแปลงง่าย โดยไม่ผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เด็กชายผู้ก่อเหตุใช้ ‘ปืนกล็อก’ ทรงตำรวจ ขนาด 9 มิลลิเมตร เป็นอุปกรณ์ก่อเหตุ หลังจากจับกุมตัวได้ ยังพบคลิปซ้อมการเปลี่ยนกระสุนปืนอยู่ในคลังภาพโทรศัพท์มือถือของเจ้าตัว และหลังจากนั้นมีการค้นบ้านของผู้ก่อเหตุ พบปืนบีบีกันแบบ M4, กระสุนปืน M16, กระสุนปืนลูกซอง และกระสุนปืนขนาด 9 มิลลิเมตร

ขณะเดียวกัน ประเด็นของ ‘แบลงก์กัน’ ยังถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายคนว่ามี ‘ช่องโหว่’ เนื่องจากสามารถตีความได้ว่า หมายถึง ‘ปืนเสียงเปล่า’ หรือ ‘ปืนเทียม’ ที่มีกระสุนเฉพาะของตัวเอง โดยเป็นปืนปลอมที่ทำให้เกิดทั้งแสงและเสียงคล้ายของจริงมาก จึงมักนำมาใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือใช้ยิงขึ้นฟ้าขณะแข่งกีฬา

ดังนั้น ‘แบลงก์กัน’ จึงไม่ผิดกฎหมาย

ความน่ากลัวที่ต่อเนื่องเกิดขึ้น เมื่อปืนเทียมเหล่านี้ถูกนำมา ‘ดัดแปลง’ ผ่านการประกอบและซ่อมแซม ด้วยวิธีไม่ยากที่หาได้ตามการเสิร์ชกูเกิลเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ที่ผ่านมา ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จะระบุว่าพวกเขาเข้มงวดกับการครอบครองและจำหน่ายอาวุธปืนเพียงใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเล็ดลอดออกมาได้อยู่เสมอ แถมมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และเป็นต้นตอในการก่ออาชญากรรมเรื่อยไป

เปิดสถิติ ‘คนไทย’ ถือปืน

ผลการสำรวจจาก Smsll Arms Survey (SAS) องค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา และรวบรวมข้อมูลการซื้อขาย ความโปร่งใสในการครอบครองอาวุธปืน จากสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้ครอบครองปืนถึง 10.3 ล้านกระบอก ซึ่งคิดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเชิงสถิติของ World Population Review ที่ระบุว่า ตัวเลขการครอบครอง 10.3 ล้านกระบอก คิดเป็นสัดส่วน 15.41% ของประชากรเกือบ 67 ล้านคนของไทย

ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เมื่อเทียบกับเหตุการณ์การสูญเสียจากเหตุอาชญากรรมทั้งเล็กและใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อัตราคนไทยที่เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนก็มากเป็นอันดับ 15 ของโลก โดยอยู่ที่ 2,804 รายต่อปี มากเป็นอันดับสองของอาเซียน เป็นรองเพียงฟิลิปปินส์ และหากคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตจะพบว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 3.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

ความเป็นไปได้และก้าวต่อไปในการ ‘ควบคุมอาวุธปืน’ ในไทย

ความคืบหน้าล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าหารือกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตอนหนึ่งมีการระบุถึงเรื่องของการ ‘ยกระดับ’ มาตรการในการควบคุมกฎหมายเกี่ยวกับปืนและอาวุธอันตรายอื่นๆ

คำขาดจากนายกฯ เศรษฐา ก็คือต้องควบคุมการเข้าถึงอาวุธปืนโดยเร็ว และในฐานะที่กำกับดูแลกรมศุลกากรก็จะเน้นย้ำ-เข้มงวด เรื่องการนำเข้าอาวุธปืน

คำถามที่ยังหลงเหลือก็คือ แล้วอาวุธปืนที่ยังอยู่ในระบบทั้งสิ้น 10.3 ล้านกระบอก จะทำอย่างไรต่อ? กฎหมายที่ระบุว่า ‘หละหลวม’ สามารถปล่อยให้ ‘แบลงก์กัน’ เข้ามาในประเทศไทยได้ง่ายดาย จะถูกสังคายนาอย่างไร แล้วรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังขนาดไหนกับการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ หรือจะทำเพียง ‘ลูบหน้าปะจมูก’ ในห้วงเวลาหลังเกิดเหตุทุกครั้งแบบเดียวกับที่ผ่านมา แล้วปีหน้าก็ต้อง ‘นับศพ’ กันต่อไป

Tags: , ,