นับเป็นศึกล้างตาในรอบหลายปี สำหรับการเผชิญหน้ากันอีกครั้งบนเวทีดีเบตเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่าง โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต (Democrats Party) กับโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดี และแคนดิเดตตัวเต็งจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (28 มิถุนายน 2024)

ไม่ใช่แค่ชาวอเมริกัน แต่การลงคะแนนเสียงในสิ้นปีนี้ยังมีความหมายต่อการเมืองระหว่างประเทศในฐานะ ‘การเลือกตั้งโลก’ หากวิเคราะห์ถึงสถานะ ‘มหาอำนาจ’ ของสหรัฐฯ ที่เปรียบดังจุดศูนย์กลางในสงครามและความขัดแย้งมากมาย นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามอิสราเอล-ฮามาส, วิกฤตการณ์มนุษยธรรมในกาซา, ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน, วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี, ข้อพิพาททะเลจีนใต้ หรือแม้แต่ศึกแย่งชิงความเป็นใหญ่กับจีน มหาอำนาจทรงอิทธิพลจากฟากเอเชีย 

อนาคตของโลกอีก 4 ปีข้างหน้า อาจทำนายได้จากดีเบตครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยการถกเถียงประเด็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ โดยมีทั้ง ‘จุดเด่น’ และ ‘จุดสลบ’ ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้ง 2 คนที่อายุร่วม 200 ปี

The Momentum จึงขอสรุปสาระสำคัญในเวทีดีเบตเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 และชวนทุกคนมองเบื้องลึกเบื้องหลังของม่านการเมืองโลกดังต่อไปนี้

ภาพรวมดีเบตรอบแรกประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024

“อาจบอกได้ว่า ดีเบตครั้งนี้คือรอบเผยจุดสลบทางการเมือง หากใครสักคนทำผิดพลาดอย่างสาหัส หรือแสดงพฤติกรรมย่ำแย่ มันอาจเป็นความหวังอันจบเห่ที่คุณจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน”

คำกล่าวข้างต้นเป็นของ อลัน ฟิชเชอร์ (Alan Fisher) ผู้สื่อข่าวจากอัลจาซีรา (Al Jazeera) แสดงให้เห็นความสำคัญว่า การดีเบตรอบแรกคือ หมุดหมายสำคัญในการลงคะแนนเสียงของชาวอเมริกัน ที่ไม่ใช่แค่การพิจารณาเนื้อหาสาระ แต่ยังรวมถึงภาพลักษณ์ของแคนดิเดตทั้ง 2 คนอีกด้วย

เรื่องราวข้างต้นนี้สะท้อนจากการถ่ายทอดสดดีเบตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกในปี 1960 เมื่อ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน ไม่ยอมแต่งเติมสิ่งใดบนใบหน้า เพื่อแสดงความจริงใจต่อประชาชนด้วยการเผยรูปลักษณ์แท้ที่จริง ทว่าเขากลับมีท่าทีประหม่าและเหงื่อออก จนต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าซับใบหน้าระหว่างดีเบต ซึ่งขัดกับ จอห์น เอฟ เคเนดี (John F. Kennedy) แคนดิเดตจากพรรคเดโมเครต ที่เต็มไปด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ และแฝงด้วยเสน่ห์ความเป็นผู้นำที่น่าดึงดูด

เช่นเดียวกับการดีเบตในปี 2024 ผู้นำสหรัฐฯ ในวัย 81 ปี ถูกโหมกระหน่ำจากทั่วสารทิศถึง ‘ความชราภาพ’ เมื่อไบเดนแสดงอาการโรยรา ทั้งน้ำเสียงแหบแห้งราวกับจะขาดอากาศหายใจ พลังความเป็นผู้นำที่หดหาย หรือแม้แต่ท่าทีหลงลืม ‘ช็อตไมค์’ ระหว่างการเผชิญหน้ากับทรัมป์บนเวที จนทำให้ภายในพรรคเดโมแครตปั่นป่วน และเริ่มตั้งคำถามว่า สายไปหรือไม่ที่พวกเขาจะหาผู้ท้าชิงที่อายุน้อยกว่านี้? 

“ทุกคน พรรคเดโมแครตควรส่งคนอื่น (ลงเลือกตั้ง) แทนเถอะ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป” แอนดริว หยาง (Andrew Yang) หนึ่งในผู้ท้าชิงเก้าอี้ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตในปี 2020 แสดงความคิดเห็นบน X ก่อนจะติดแฮชแท็ก #SwapJoeOut (เปลี่ยนไบเดนออกซะ)

“ขอโทษนะ ผมโหวตให้ประธานาธิบดีไบเดน แต่นี่มันหายนะชัดๆ” ไมค์ เมอร์ฟี (Mike Murphy) นักวิเคราะห์จากเอ็นบีซี (NBC) ที่เลื่องชื่อในฐานะผู้ต่อต้านทรัมป์ตัวยง แสดงความคิดเห็น ก่อนเขาจะระบุต่อว่า ให้คะแนน 1/10 และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ความว้าวุ่นภายในพรรคเดโมแครตจะระเบิดออกมา

เหล่านี้ตรงกันข้ามกับอดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน แม้ทรัมป์จะนอกเรื่อง โจมตี หรือตอบไม่ตรงคำถามหลายครั้ง แต่ปรากฏว่า เขาทำได้ดีกว่าที่หลายคนคิดไว้ เต็มไปด้วยความมั่นใจ แสดงให้เห็นบารมีของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะความคิดที่ว่า ตนเองเหนือกว่าอีกฝ่ายด้วยการโจมตีไบเดนให้กระอักกระอ่วน

ดีเบตครั้งนี้จบด้วยการที่ 2 ฝ่าย ‘ไม่จับมือ’ ตามมารยาท ที่เปรียบดังสัญลักษณ์ของการมีน้ำใจนักกีฬา รวมถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้แต่ โจ ฮาเยส (Jo Hayes) ผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลิกภาพ ยังแสดงความคิดเห็นว่า ไบเดนกับทรัมป์ควรจับมือกันเพื่อแสดงวุฒิภาวะทางอารมณ์และความเป็นผู้นำ แม้อุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันก็ตาม

ประเด็นเศรษฐกิจ

ไบเดนเริ่มต้นโจมตีทรัมป์ด้วยประเด็นการบริหารประเทศ ด้วยการระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ย่ำแย่มาก ในระหว่างที่อดีตประธานาธิบดีดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะการลดอัตราภาษีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนและคนร่ำรวยด้วย ทว่าตนเป็นผู้ที่กอบกู้เก็บซากความยุ่งเหยิงดังกล่าว 

“ทันทีที่เขาไป ทุกอย่างยุ่งเหยิงไปหมด แต่พวกเราทำให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง” ไบเดนกล่าวพร้อมย้ำคำว่า ‘ทุกอย่างยุ่งเหยิง’ ถึง 2 รอบด้วยน้ำเสียงแหบแห้ง ก่อนจะกล่าวว่า การขึ้นภาษีมหาเศรษฐีถือเป็นเรื่องดี เพราะรัฐจะได้นำเงินไปใช้ในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาล ซ้ำยังช่วยลดหนี้ของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์โต้กลับว่า รัฐบาลของเขาต่างหากที่ช่วยฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ และการลดอัตราภาษีในกลุ่มผู้ร่ำรวย ซึ่งทำให้เกิดแรงจูงใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ก่อนกล่าวเชิดชูนโยบายปรับกำแพงภาษีสินค้าจากต่างประเทศขึ้น 10% โดยย้ำว่า เป็นมาตรการยุติ ‘การฉกฉวย’ จากประเทศอื่น แม้แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกันพยายามเข้าสู่ประเด็นผู้อพยพ ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่าในช่วงท้าย ไบเดนกลับมาพลิกย้ำว่า ทรัมป์ทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 

“ไม่มีภาวะเงินเฟ้อในสมัยที่ผมดำรงตำแหน่ง ทำไมน่ะเหรอ เพราะเขาทำลายเศรษฐกิจอย่างราบคาบ นี่คือสาเหตุที่ไม่มีเงินเฟ้อ เพราะคนไม่มีงานทำแล้ว” ไบเดนเหน็บแนม

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ทิ้งท้ายว่า ปัญหาทุกอย่างไม่ได้ยากเกินกว่าที่คิด และทางที่ดีไบเดนควร ‘ออกจากประเทศไป’ หากเขาได้ดำรงตำแหน่ง

“เศรษฐกิจเคยสมบูรณ์แบบมาก สิ่งที่ไบเดนควรทำตอนนี้คือการปล่อยให้มันเป็นอย่างที่เคยเป็น” ทรัมป์ระบุ

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า May Poll จากสำนักข่าวเอบีซี (ABC News) ระบุว่า คนอเมริกันเชื่อมือทรัมป์ในการบริหารเศรษฐกิจมากกว่าไบเดน โดยหวังว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้นภายใต้การบริหารของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ขณะที่ฟ็อกซ์นิวส์ (Fox News) รายงานในสัปดาห์ก่อนว่า ไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์ในด้านการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ 50% ต่อ 48%

ประเด็นผู้อพยพ

 เมื่อไบเดนย้ำว่า ผลงานของเขาอย่างประกันสุขภาพ (Medicare) คือเครื่องตอกย้ำความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดิน ทว่าทรัมป์เริ่มแย้งว่า ผู้นำสหรัฐฯ กำลังอภิปรายอย่างเยิ่นเย้อเกินจริง เพราะไบเดนทำลายระบบประกันสุขภาพของประเทศ ด้วยการอนุญาตให้ผู้อพยพเข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารใช้สวัสดิการของชาวอเมริกัน

“เขาทำลายระบบความมั่นคงของสังคม สิ่งที่ชายคนนี้ทำคืออาชญากรรม” ทรัมป์ระบุ

นอกจากนี้ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ยังโจมตีว่า ผู้อพยพเป็นภัยคุกคามของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะต่อผู้หญิง ทั้งก่ออาชญากรรม กระทำชำเรา และเป็นผู้ก่อการร้าย ก่อนจะย้ำว่า ประเทศนี้เหมือนกับ ‘รังหนู’ และคนจากต่างแดนได้อาศัยในโรงแรมสุดหรูใจกลางนิวยอร์ก ขณะที่ทหารอเมริกันต้องนอนข้างถนน

“เรากลายเป็นประเทศที่ไร้อารยธรรมไปแล้ว” แคนดิเดตจากพรรคริพับลิกันกล่าว 

ในช่วงแรกไบเดนแก้ต่างว่า ผู้หญิงทุกคนล้วนมีความเสี่ยงถูกคุกคามจากคนใกล้ตัว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้อพยพจากต่างแดนเท่านั้น แต่ท้ายที่สุด การพูดถึงทหารอเมริกันกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯ หยิบยกวาทะของทรัมป์ในอดีต ที่ด่าทอทหารที่เสียชีวิตในสงครามว่า ‘พวกโง่เง่าและขี้แพ้’ มายอกย้อน

“ลูกผมไม่ใช่พวกโง่เง่าหรือขี้แพ้ นายต่างหากที่ขี้แพ้ นายมันโง่เง่า” ไบเดนด่าทอทรัมป์ โดยอ้างอิงถึง โบ ไบเดน (Beau Biden) ลูกชายของเขา อดีตทหารที่เคยร่วมรบในสงครามอิรัก ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมองในวัย 46 ปี

ก่อนปิดท้าย ทรัมป์เหน็บแนมไบเดนว่า ผู้ชายคนนี้เหมือนนักการเมืองทั่วไป โดยเฉพาะความขี้บ่น และสิ่งที่แคนดิเดตพรรคเดโมแครตทำ คือการทำให้ประเทศไม่ปลอดภัยด้วยการอนุญาตให้คนนับล้านเข้ามาในสหรัฐฯ

ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อถูกถามถึงประเด็นนโยบายด้านต่างประเทศ โดยเริ่มจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทรัมป์กล่าวว่า หากเขาเป็นประธานาธิบดี รัสเซียจะไม่บุกยูเครน โดยระบุว่า การที่สหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานจากคำสั่งของไบเดน เป็นการทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของรัสเซีย จนทำให้ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำเครมลินตัดสินใจกระทำเช่นนั้น

ทรัมป์ยังย้ำต่อว่า เหตุการณ์ฮามาสโจมตีอิสราเอลจะไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะอิหร่านจนตรอกภายใต้เงื้อมมือของเขา แต่ไบเดนเริ่มโต้กลับว่า ปูตินคืออาชญากรสงครามที่ฆ่าผู้คนมากมาย และเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดอย่างมาก หากทรัมป์คิดว่าจะหยุดเขาได้

“ความจริงคือปูตินเป็นอาชญากรสงคราม เขาฆ่าคนนับพันนับหมื่น แล้วนายหวังจะหยุดเขา ตอนเขายึดยูเครนได้แล้ว?” 

ไบเดนท้าทายกลับ ก่อนจะตอบคำถามประเด็นอิสราเอลว่า เขากับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) หรือเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ผู้นำอิสราเอล ต่างเห็นพ้องต้องกันถึงแผนหยุดยิง แต่ฮามาสเป็นฝ่ายเดียวที่ต้องการให้สงครามยืดเยื้อ

ขณะเดียวกัน ทรัมป์แย้งว่า เนทันยาฮูต่างหากเป็นฝ่ายที่ต้องการยื้อสงคราม แต่แน่นอนว่า เขาจะยอมให้ผู้นำอิสราเอลบรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบใดก็ตาม แต่แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกันยอมรับในช่วงท้ายว่า สงครามในยูเครนไม่ควรเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีบางส่วนตั้งข้อสังเกตต่อบทสนทนาครั้งนี้ว่า แคนดิเดตทั้ง 2 คน จงใจเลี่ยงประเด็นทางมนุษยธรรมในฉนวนกาซา โดยไบเดนให้คำตอบว่า ฮามาสเป็นฝ่ายเดียวที่ไม่ได้ทำตามข้อตกลงของทุกฝ่าย ขณะที่ทรัมป์เหน็บแนมไบเดนว่า เป็นพวกเดียวกันกับพวก ‘เลว’ ปาเลสติเนียน และไม่ยอมให้อิสราเอลบรรลุภารกิจ ‘ปิดฉาก’ ในกาซา ซึ่งถือเป็นการเหยียดเชื้อชาติในอีกนัยหนึ่ง 

 

อ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=-v-8wJkmwBY

https://www.tmz.com/2024/06/27/biden-trump-debate-body-language-expert-key-factors-look-out-for/

https://www.politico.com/magazine/story/2016/09/presidential-debates-errors-mistakes-gaffes-biggest-history-214279/

https://www.nytimes.com/2024/06/27/us/politics/biden-debate-democrats.html

https://www.aljazeera.com/news/liveblog/2024/6/27/us-presidential-debate-2024-live-news-biden-and-trump-face-off-in-atlanta

Tags: , , , , , , , , , , ,