แม้นักรบชาญชัยจะเสียชีวิตมาสองร้อยปีแล้ว แต่ความเคลือบแคลงใจของผู้คนยังคงมีอยู่ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา เริ่มมีการตรวจหาหลักฐานเพื่อระบุความตายที่แน่ชัด นักวิจัยไม่เพียงแต่นำเส้นผมของเขามาพิสูจน์ หากยังตรวจสอบแม้กระทั่งผืนพรม กระดาษปิดผนัง และกางเกง

มีหนังสือมากมายมหาศาลที่เคยเขียนถึง นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) มากมายกว่าเรื่องราวของใครๆ ที่เคยมีคนเขียนถึง และความคิดเห็นของนักเขียนแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน ไม่ว่าเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของเขา หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิต ซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วาระครบรอบการเสียชีวิตปีที่ 200 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2021 เป็นอีกวาระหนึ่งที่ใครต่อใครใช้เป็นโอกาสในการกล่าวถึงความตายของนโปเลียนอีกครั้ง

ข้อโต้เถียงเคยปรากฏขึ้นเมื่อคราวทำการชันสูตรศพ วันที่ 6 พฤษภาคม 1821 ทีมแพทย์ 8 คน ยืนพร้อมหน้ากันภายในโถงบิลเลียดของลองวูดเฮาส์ ในเมืองเซนต์เฮเลนา ซึ่งเป็นที่พักพิงสุดท้ายในชีวิตของโบนาปาร์ต เพื่อทำการชันสูตรศพของเขา 

ฟรานเชสโก อังตองมาร์ชี (Francesco Antommarchi) แพทย์ประจำตัวของเขาเป็นคนใช้มีดผ่าตัดกรีดลงบนทรวงอกของจักรพรรดิผู้สิ้นชีพ และทำการเปิดออก เขาแหวกหัวใจที่มีไขมันเกาะ และกระเพาะที่มีรอยแผล จึงพบว่ามีเนื้อร้ายที่ผนังด้านในของกระเพาะอาหาร ท้ายที่สุด อังตองมาร์ชีวินิจฉัยว่าเป็นความตายที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศในเซนต์เฮเลนาเป็นพิษ แต่นั่นก็ทำให้เกิดข้อพิพาทกับแพทย์ชาวอังกฤษอีกเจ็ดคนที่ร่วมชันสูตรพลิกศพ 

ฮัดสัน โลว์ (Hudson Lowe) ผู้ว่าการประจำเกาะที่อยู่ในการโต้เถียงครั้งนั้น มองว่าการที่แพทย์ประจำตัวจะอ้างถึงสถานที่ว่าเป็นสาเหตุการตายของนโปเลียนอาจทำให้เซนต์เฮเลนาเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงมีคำสั่งให้คณะแพทย์ชาวอังกฤษซึ่งเป็นแพทย์ทหารทำรายงานขึ้นใหม่ และรายงานภาษาอังกฤษทั้งสามฉบับระบุสาเหตุการเสียชีวิตของนโปเลียนอย่างเป็นทางการว่ามาจากมะเร็งในกระเพาะอาหาร อังตองมาร์ชีไม่ยอมลงนามรับรองในรายงานทั้งสามฉบับนั้น แต่มันก็ส่งผลให้นักวิจัยและนักประวัติศาสตร์เชื่อจนถึงปัจจุบันว่า นโปเลียนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร

จะมีก็เพียงแพทย์ชาวสวีเดน สเทน ฟอร์สฮุฟวุด (Sten Forshufvud) ที่กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานใหม่ขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1960s หลังจากมีการตรวจสอบและวิจัยซ้ำอีกครั้ง ซึ่งพบว่า นโปเลียนถูกลอบสังหารด้วยการใช้สารหนูเป็นเวลานาน 

ในศตวรรษที่ 19 สารหนูถูกนำไปใช้เพื่อรักษาเครื่องหนัง ขนสัตว์ และขน รวมทั้งเส้นผมของจักรพรรดิก็ได้รับการบำบัดดูแลด้วยสารหนูเพื่อยับยั้งการหลุดร่วง สมมติฐานนี้พิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ว่า เส้นผมของนโปเลียนจากช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตได้ถูกจัดเก็บและวิเคราะห์จนได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง

ความเข้มข้นของสารพิษที่ค่อนข้างสม่ำเสมอในทุกตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า นโปเลียนไม่ได้รับประทานสารหนู (ผ่านอาหารหรือเครื่องดื่ม) แต่มันถูกใช้ภายนอกเพื่อการเก็บรักษาสิ่งของส่วนใหญ่ และมีความเป็นไปได้ว่ามันอาจแทรกซึมสะสมในร่างกายของนโปเลียน

นักประวัติศาสตร์มักกล่าวถึงนโปเลียน โบนาปาร์ตในสองแง่มุม ในแง่ดี เขาถือเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ยุโรป คนชั้นล่างได้รับการปลดปล่อย และมีกฎหมายรองรับความเสมอภาค นโปเลียนเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำพาความเปลี่ยนแปลง ดำเนินนโยบายเสรีนิยมซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในฝรั่งเศสและยุโรปตะวันตก ประมวลกฎหมายของนโปเลียนมีอิทธิพลต่อระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงกว่า 70 ประเทศ 

นอกจากนี้ เขายังเพิ่มการบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และศิลปะ การยกเลิกระบอบศักดินาและประมวลกฎหมายครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน

ขณะเดียวกันเขาก็ถือครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และการก่อสงครามอย่างไม่หยุดหย่อนของเขาทำให้มีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น คนวัยหนุ่มถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารมากขึ้น ผลที่ตามมาทำให้คะแนนนิยมในตัวเขาค่อยๆ เสื่อมถอย

เบตซี บัลคอมบ์ (Betsy Balcombe) หญิงชาวอังกฤษเคยรายงานเกี่ยวกับนโปเลียน โบนาปาร์ตว่า ขณะเดินทัพในปี 1814 เขายังคงมีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ หรือแม้หลังจากพ่ายแพ้ศึกที่วอเตอร์ลู และถูกเนรเทศไปยังเซนต์เฮเลนา เขาก็ยังอยู่ในสภาพปกติ บัลคอมบ์เดินทางไปที่เซนต์เฮเลนาระหว่างที่นโปเลียนถูกกักขังบริเวณ เธอเคยเล่าว่าสุขภาพของเขาเริ่มถดถอยราวกลางปี 1816 นับตั้งแต่นั้นใบหน้าของนโปเลียนเริ่มดูเยิ้มเหลืองคล้ายหุ่นขี้ผึ้ง 

กระทั่งปี 1818 สภาพร่างกายของนโปเลียนเริ่มทรุด สะโพกย้อยลงเหมือนถุงแป้ง กระดูกข้อเท้าบวมจนปริล้นรองเท้าที่สวม ขาไม่มีเรี่ยวแรง เวลาลุกยืนต้องใช้มือข้างหนึ่งพยุงโต๊ะ มืออีกข้างเกาะไหล่ผู้ดูแล

ก่อนที่เบตซี บัลคอมบ์จะผละออกจากเซนต์เฮเลนา เธอขอปอยผมจากนโปเลียนเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ปอยผมสีน้ำตาลเกาลัดนั้นปัจจุบันยังถูกเก็บรักษาไว้โดยเครือญาติของบัลคอมบ์ในออสเตรเลีย และในช่วงทศวรรษ 1960s สเทน ฟอร์สฮุฟวุดยื่นเรื่องขอปอยผมของนโปเลียนนั้นมาทำการวิจัย จนค้นพบสารหนูดังกล่าว และเขาได้ตั้งคำถามว่า ‘ใครฆ่านโปเลียน?’ ในหนังสือ Who Killed Napoleon? ของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1961 ต่อด้วยหนังสืออีกสองเล่มในช่วงทศวรรษ 1980s ชื่อ The Murder of Napoleon และ Assassination at St. Helena

การวิจัยตรวจสอบสิ่งของที่เคยอยู่ข้างกายนโปเลียนในครั้งนั้นพบว่า มีสารหนูปนเปื้อนอยู่ราว 120 มิลลิกรัมต่อตารางเมตร จากหลักการดังกล่าวทำให้เกิดเป็น ‘ทฤษฎีวอลล์เปเปอร์’ ที่เชื่อว่าสารหนูเข้าสู่ร่างกายของนโปเลียนโดยฝุ่นละอองจากกระดาษปิดผนัง 

ต้นปี 2001 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสได้ทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการอย่างละเอียดอีกครั้ง และพบว่าร้อยละ 97 ของสารหนูในเส้นผมของนโปเลียนเป็นสารหนูจากแร่ ไม่ใช่สารหนูอินทรีย์ที่มีอยู่ในสีของกระดาษปิดผนังในสมัยนั้น

ปี 2008 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพาเวียในอิตาลี ได้ใช้แนวทางในการตรวจสอบเส้นผมของนโปเลียนยุคก่อนปี 1815 กลับพบว่า นโปเลียนเคยสัมผัสกับสารหนูที่มีความเข้มข้นสูงมาก่อนที่เขาจะถูกเนรเทศไปอยู่ที่เซนต์เฮเลนา นอกจากนั้น นักวิจัยชาวอิตาเลียนยังพบด้วยว่า เส้นผมของภรรยาและลูกชายของนโปเลียนก็มีสารหนูที่มีความเข้มข้นปะปนอยู่เหมือนกัน จึงลงความเห็นค้านต่อข้อสันนิษฐานที่ว่านโปเลียนถูกลอบวางยาพิษ

อย่างไรก็ตาม หลักฐานสำคัญอีกอย่างคือ ยาคาโลเมล ซึ่งเป็นสารปรอทคลอไรด์ในปริมาณสูงขึ้นสิบเท่า และมีส่วนทำให้นโปเลียนเสียชีวิต แม้อังตองมาร์ชีจะมีความเห็นคัดค้าน แต่ในวันที่ 3 พฤษภาคม 1821 คณะแพทย์ชาวอังกฤษก็ยังหยิบยื่นคาโลเมลให้นโปเลียน จนสภาพร่างกายที่อ่อนแอไม่อาจต้านฤทธิ์ยา ทำให้เขาชีวิตในสองวันถัดมา

ศพของนโปเลียน โบนาปาร์ตถูกฝังไว้ที่เซนต์เฮเลนา ก่อนจะเคลื่อนย้ายกลับไปที่กรุงปารีสในปี 1840 หลังจากนั้นมีการสร้างโดม Invalides ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บศพของนโปเลียน บรรจุในโลงศพน้ำหนัก 13 ตัน และจนถึงปัจจุบันยังเปิดให้นักท่องเที่ยว ซึ่งปกติต่อปีมีจำนวนถึง 1.2 ล้านคน ได้เข้าไปเที่ยวชม 

อ้างอิง

https://www.nzz.ch/feuilleton/napoleons-tod-die-langen-kontroversen-um-die-todesursache-ld.1612605

https://www.gesundheit.de/wissen/haetten-sie-es-gewusst/persoenlichkeiten-der-medizin/woran-starb-napoleon-bonaparte

https://www.deutschlandfunk.de/200-todestag-von-napoleon-bonaparte-blutrausch-und.1148.de.html?dram:article_id=496474

Tags: ,