จัสติน บีเบอร์ โพสต์ข้อความให้กำลังใจอิสราเอล แต่รูปภาพเป็นชาวปาเลสติเนียนที่ถูกใช้ความรุนแรง

ฟุตเทจหนังสั้นปาเลสไตน์กลายเป็นเฟกนิวส์ในโลกโซเชียลฯ ว่า ชาวอิสราเอลวางแผน ‘ตายปลอม’ เพื่อตบตาคนทั้งโลก

มูลข่าวนายพลอิสราเอลชั้นสูงถูกจับตัวโดยฮามาส แท้จริงคือวิดีโอที่อดีตผู้นำนากอร์โน-คาราบัค ถูกจับตัว

เอกสารที่โจ ไบเดน ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับยูเครน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกบิดเบือนว่า สหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลืออิสราเอล 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฟุตเทจนักข่าวซีซีเอ็นหลบภัยจากจรวดบริเวณฉนวนกาซาและอิสราเอล คือการใช้เทคนิคระบบปัญญาประดิษฐ์

ท่ามกลางการสูญเสีย ความวิตกกังวล และเสียงกรีดร้องของผู้คนในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ดำเนินเป็นระยะร่วมสัปดาห์ เรื่องราวเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของ ‘ข่าวลวง’ ในโลกโซเซียลมีเดียที่ผสมปนเปกับความจริง จนแทบแยกไม่ออกว่า สิ่งที่กำลังเห็นนั้น ‘จริงหรือเท็จ’ กันแน่ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โซเชียลฯ มอบคุณประโยชน์นานัปการท่ามกลางสงครามและความขัดแย้ง ไม่ใช่แค่เป็นช่องทางรับรู้ความเคลื่อนไหวสำหรับหาทางหนีที่ไล่ของผู้ประสบภัย แต่ยังเป็นเครื่องทุ่นแรงของเหยื่อในการขอความช่วยเหลือ และเปิดโปงให้เห็นความจริงอีกด้าน

ทว่าในอีกมุมหนึ่ง เครื่องมือสื่อสารสุดล้ำสมัยก็เป็น ‘ดาบสองคม’ เพราะผู้คนกำลังถูกบดบังจากม่านหมอกของเฟกนิวส์ในโลกโซเชียลฯ ครั้งใหญ่ เห็นได้ชัดตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ในช่วงต้นปี 2022 โดยสำนักข่าวฟรองซ์ 24 (France 24) รายงานว่า จำนวนข่าวปลอมในสงครามมีถึง 115 รายการตลอดทั้งปี

เช่นเดียวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส หลังฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch) เปิดเผยข้อมูลในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลว่า ข่าวปลอมเกิดขึ้นด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งการตัดต่อ การแปลข้อมูลอันเป็นเท็จ การใช้วิดีโอเกม รวมไปถึงความเข้าใจผิดของสื่อ นักข่าว และประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์

ภาพ: AFP

เพราะความจริงมักตายในความขัดแย้ง เมื่อต่างฝ่ายต้องการความได้เปรียบในหน้าสื่อท่ามกลางความเข้าใจผิดของผู้คน

“เมื่อสงครามปะทุ ความจริงมักจะตายก่อนเสมอ” เฟอร์แมน คูร์นิยาวาน (Firman Kurniawan) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโซเชียลฯ แสดงความคิดเห็นผ่านวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America: VOA) ถึงกระแสข่าวปลอมในโลกแห่งความขัดแย้ง

เขาเผยว่า ข่าวปลอมเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมัน ดังเรื่องราวของการแย่งชิงอำนาจระหว่างคนใกล้ตัวของ จูเลียส ซีซาร์​ (Julius Ceasar) คือมาร์ก แอนโทนี (Marc Antony) แม่ทัพคนสำคัญแห่งจักรวรรดิ และอ็อกเทเวียน (Octavian) บุตรชายบุญธรรมของซีซาร์ 

อ็อกเทเวียนใช้โอกาสใส่สีตีไข่แอนโทนีเพื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ ผ่านโฆษณาชวนเชื่อบนเหรียญกษาปณ์และกระจายไปทั่วดินแดนว่า แอนโทนีคือผู้ทรยศชาติ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุทำให้แม่ทัพแห่งจักรวรรดิโรมันพ่ายแพ้ในสงคราม และหนีตายปลิดชีพไปพร้อมกับคลีโอพัตรา (Cleopatra) อดีตราชินีผู้ทรงศักดิ์แห่งอียิปต์

จากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ข่าวปลอมย่อมมีที่มาที่มาไป แอบแฝงด้วยจุดประสงค์ลึกล้ำเสมอ เสมือนกับความขัดแย้งครั้งนี้ ซึ่งเฟอร์แมนเผยสาเหตุว่า ทำไมข่าวปลอมถึงเกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้มากจนสังเกตเห็นความผิดปกติได้

1. สาธารณชนรับข้อมูลไม่เท่าเทียมกัน และผู้คนก็อยากรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นมากกว่านี้

2. อิสราเอลและฮามาสต้องการการสนับสนุนจากสาธารณชน พวกเขาสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อสาดสีอีกฝ่ายและสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง

3. ใครๆ ก็เป็นผู้สร้างข่าว และเผยแพร่ข้อมูลได้โดยไม่ต้องรอตรวจสอบอะไร

นอกจากนี้ ซาทรีโอ อริสมูนันดาร์ (Satrio Arismunandar) อดีตผู้สื่อข่าวแห่งกอมปัส (Kompas) หนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งอินโดนีเซียยังเผยปัจจัยอื่นๆ คือการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนรวดเร็วและเข้าถึงข้อมูลง่ายดายกว่าเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่า ความรู้สึกร่วมของสาธารณชนก็เกิดขึ้นได้ในพริบตาเช่นเดียวกัน

เขายกตัวอย่างถึงความรู้สึกร่วมของผู้คนในอินโดนีเซียจากหน้าสื่อถึงความขัดแย้งอิสราเอลกับฮามาสเป็นพิเศษ หากเทียบกับกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน สืบเนื่องจากปัจจัยด้านศาสนา เพราะอินโดนีเซียมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามใหญ่ที่สุดในโลก 

ขณะที่​ โซรัน คูโซวัก (Zoran Kusovac) คอลัมนิสต์ของอัลจาซีรา (Al Jazeera) และผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง วิเคราะห์ว่า นี่คือกลยุทธ์ทางทหารฉบับคลาสสิกอีกอย่างหนึ่ง เพื่อข่มขวัญศัตรูด้วย ‘ความคลุมเครือ’ โดยที่ไม่ต้องเปลืองอาวุธยุทโธปกรณ์

เหรียญอีกด้านของข่าวปลอม: ความเกลียดชังและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น

“ฉันกลัวมาก มีข้อมูลมากมายที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ ตามมาด้วยการเรียกร้องให้เกิดความรุนแรงและลดทอนความเป็นมนุษย์อีกฝ่าย” มาร์วา ฟาตาฟตา (Marwa Fatafta) นักวิเคราะห์นโยบายสัญชาติปาเลสติเนียน แสดงความคิดเห็นกับวอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ถึงเหรียญอีกด้านของข่าวปลอม เมื่อผู้บริสุทธิ์อาจได้รับผลกระทบจากข้อมูลเท็จ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงต่อชาวยิวและชาวปาเลสติเนียนผู้บริสุทธิ์

อ้างอิงรายงานจากนิวยอร์กไทม์ (New York Times) ว่า ในช่วงปี 2021 เกิดข่าวลวงมากมายรอบเขตแดนของอิสราเอลและปาเลสไตน์ หนึ่งในนั้นคือข้อมูลเท็จ ‘แผนของชาวปาเลสติเนียนที่จะโจมตีอิสราเอล’

“ชาวปาเลสติเนียนจะมาแล้ว ผู้ปกครองต้องปกป้องเด็กๆ” ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ในพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทลอาวีฟ (Tel Aviv) บ้างมาจากเทเลแกรม (Telegram) บางส่วนได้รับข้อความจากวอตส์แอป (WhatsApp)

ขณะที่ตำรวจอิสราเอลนิ่งเฉยต่อข่าวเท็จดังกล่าว ก่อนจะมีข้อมูลลวงโลกชุดอื่นที่ตามมาอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นการตีตราว่า คนปาเลสติเนียนจัดงานศพปลอม รวมถึงข้อกล่าวหาการปลอมแปลงข้อมูลจำนวนคนตายในความขัดแย้ง

กระทั่งความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ วอชิงตันโพสต์รายงานความรุนแรงของข่าวลวง เมื่อปรากฏแฮชแท็ก #TraitorFromWithin ในแอปพลิเคชัน X เป็นภาษาฮิบรู แปลได้ว่า มีผู้ทรยศจากภายใน เมื่อหลายฝ่ายต่างตั้งทฤษฎีสมคบคิดว่า ฮามาสบุกอิสราเอลได้เพราะมี ‘หนอนบ่อนไส้’ ภายใน หลังปรากฏผู้หญิงคนหนึ่งที่อ้างตัวเป็นอดีตทหารในกาซา (Gaza) ว่า การคุ้มกันเขตแดนของอิสราเอลเข้มงวดมาก แม้แต่แมลงสาบก็เข้าไปไม่ได้

ต่างฝ่ายต่างโยนความผิดให้กันและกัน บ้างแสดงความคิดเห็นว่า ชาวปาเลสติเนียนที่อยู่ชายแดนอาจจงใจให้ความช่วยเหลือ บางส่วนสวนกระแสว่า เป็นเพราะชาวอิสราเอลด้วยกันเอง ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงและการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความแตกแยกทางการเมืองภายในของอิสราเอล

ปัญหาเรื่องการกรองข่าว: อีลอน มัสก์ กับโลกอุดมคติ ‘อาณาจักรแห่งความเสรี’

แน่นอนว่า ปัญหาการบิดเบือนข้อมูลกำลังถูกจับตามอง​ โดยเฉพาะข้อกังขาต่อสื่อตะวันตกถึง ‘ความเป็นกลาง’ ดังการรายงานของสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ที่ใช้คำว่า ‘ตาย’ กับชาวปาเลสติเนียน แต่ใช้คำว่า ‘ถูกฆ่า’ กับชาวอิสราเอล

ทว่าอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการกรองข่าว เมื่อผู้คนต่างเผยแพร่ข้อมูลทั้งจริงและเท็จผ่านแอปพลิเคชัน X เป็นหลัก โดยไม่มีระบบกลั่นกรองเนื้อหาใดๆ หลัง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้าแปรเปลี่ยนอาณาจักรนกสีฟ้าที่เรารู้จักกันในชื่อทวิตเตอร์ (Twitter) อีกทั้งยังเปลี่ยนระบบการกรองข่าวในชื่อ ‘Community Notes’ ด้วยการให้มวลชนคัดกรองข้อมูลเอง แทนที่จะมีหน่วยงานคัดกรองเนื้อหามืออาชีพ

สาเหตุข้างต้นไม่ใช่แค่เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพนักงานเก่าของทีมทวิตเตอร์ แต่ยังรวมถึงความเชื่อ ‘เสรีภาพในการพูดขั้นสุดโต่ง’ ซึ่งหลายครั้งเกินเลยไปสู่ความรุนแรงทางความคิดและการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การใส่ร้ายป้ายสี อคติทางเพศ ทฤษฎีสมคบคิด และการต่อต้านกลุ่มยิว (Anti-Semitism

ปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ออกหนังสือเตือนมัสก์ถึงการบิดเบือนข้อมูลในเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส โดยเรียกร้องให้มีการคัดกรองเนื้อหาและตรวจสอบความถูกต้องตามกระบวนการ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังไม่รวมปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะความผลีผลามของสื่อบางส่วนที่รายงานข้อมูลเท็จ และสร้างเรื่อง ‘เกินความจำเป็น’ จนกระทบต่อจิตใจและความคิดเห็นของสาธารณชน

นับเป็นเรื่องอันน่าเศร้า เมื่อ ‘ยอดไลก์’ และ ‘เอ็นเกจเมนต์’ กลายเป็นตัวกำหนดเนื้อหา มากกว่าความทุกข์และความตายของคนบริสุทธิ์ในความขัดแย้งครั้งนี้

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/60554910

https://www.hrw.org/news/2023/10/11/real-or-fake-verifying-video-evidence-israel-and-palestine

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-67114313

https://www.france24.com/en/tv-shows/truth-or-fake/20230224-ukraine-war-fake-news

https://www.voanews.com/a/in-indonesia-fake-news-about-israel-hamas-war-triggers-concern/7310668.html

https://www.visionofhumanity.org/information-and-misinformation-in-the-russia-ukraine-war/

https://www.ft.com/content/aaf2bb08-dca2-11e6-86ac-f253db7791c6

https://tja.or.th/view/pr-news/1332786

https://www.nytimes.com/2021/05/14/technology/israel-palestine-misinformation-lies-social-media.html

https://www.aljazeera.com/news/2023/10/14/analysis-propaganda-deception-fake-news-and-psychological-warfare

https://www.reuters.com/fact-check/fake-audio-added-cnn-video-israel-hamas-war-coverage-2023-10-11/

https://twitter.com/Moschovidis/status/1711432374355906572

Tags: , , , , , , , , , , , ,