วิกฤตค่าไฟแพงกลางฤดูร้อนก่อนเลือกตั้ง ส่งผลสะเทือนไปถึง ‘รัฐบาล’ ว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ และเป็นแรงส่งไปถึงบรรดาพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอยู่ในขณะนี้ว่าจะจัดการอย่างไรกับปัญหาค่าไฟที่แพงผิดปกติ
อันที่จริง ค่าไฟแพงไม่ได้แพงอย่างไม่มีสาเหตุ ไม่ได้แพงอย่างไม่มีที่มาที่ไป หากแต่มีปัจจัยสำคัญมาจากโครงสร้างราคาพลังงาน การสำรองพลังงานที่ล้นมากเกินไป และหลากความผิดปกติที่อาจมีเบื้องหลังอันสลับซับซ้อน
The Momentum รวบรวมข้อมูลว่าด้วยค่าไฟแพง ที่อาจมีที่มาจากการจัดการอันพิลึกพิลั่น ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่มอย่างผิดปกติ
1. สิ่งที่รัฐอ้างตลอดในปัจจุบันก็คือค่าไฟแพงเพราะเชื้อเพลิงแพงขึ้นจริงหรือ ปัจจุบันประเทศไทยผลิตไฟฟ้าโดยก๊าซธรรมชาติเป็นหลักโดยผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่หนีไม่พ้นรัสเซีย ซึ่งกำลังอยู่ท่ามกลางภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยก็หดหายลงไปเรื่อยๆ
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมองไม่เห็นก็คือ ‘การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง’ ปัจจุบัน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan: PDP) กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) สูงถึง 54% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจะอยู่ราว 15-20% เท่านั้น
นั่นทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า แผนดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนผู้จัดทำโรงไฟฟ้าหรือไม่… ทว่าสิ่งที่รัฐบาล กระทรวงพลังงาน รวมถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานพูดถึงมาตลอด ก็คือเพื่อ ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ และการวางแผนเรื่องโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า ก็ล้วนเป็นการพิจารณาตามการเติบโตเศรษฐกิจ เป็นการวางแผนล่วงหน้า และการระบาดของโรคโควิด-19 ต่างหาก ที่ส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน
2. จริงอยู่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้เซ็นอนุมัติโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ให้กับกัลฟ์ เอเนอร์จี และทำให้ สารัชถ์ รัตนาวะดี แห่งกัลฟ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระนั้นเอง อัตรากำลังสำรองไฟฟ้าที่สูงมากเริ่มต้นตั้งแต่แผน PDP ในปี 2558 ภายหลังการรัฐประหาร คสช.
ขณะเดียวกัน GULF ก็เป็นกลุ่มทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการรัฐประหาร และยังสะสมทุนได้มากขึ้นเรื่อยๆ สามารถสยายปีกไปทำธุรกิจโทรคมนาคม จนทำให้สารัชถ์ร่ำรวยเป็นเศรษฐีไทยอันดับ 1 ได้ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
ข้อสังเกตอีกเรื่องก็คือ นอกจากจะมีอัตรากำลังไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินแล้ว ก็ยังมีไฟฟ้าที่อยู่ในระบบ ซึ่งต้องมีค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) ซึ่งรัฐบาลจ่ายให้กับโรงไฟฟ้า เพื่อให้โรงไฟฟ้ายังคงเดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในส่วนนี้ประชาชนต้องร่วมจ่ายด้วย
ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่การรัฐประหาร คสช.ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
ไม่เพียงเท่านั้น หากพิจารณาโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าทุกวันนี้จะพบว่า ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องซื้อไฟจากเอกชนมากถึง 60% และมีส่วนที่ กฟผ. ผลิตเองเพียง 30% เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าจำนวนมาก และยังต้องจ่ายค่า AP ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนอีกด้วย
แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่เกิดขึ้นส่งผ่านมาถึงประชาชนเช่นกัน
3. เมื่อเดือนกันยายน 2565 เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum พาย้อนกลับไปดูค่าไฟฐานที่เขื่อนหลวงพระบางและเขื่อนปากแบง สองเขื่อนในลาวที่กลุ่มทุนพลังงานไทยเป็นเจ้าของ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุมัติให้ไทยซื้อไฟจากสองเขื่อนนี้ได้ว่า ค่าไฟฐานจากทั้งสองเขื่อนมีราคาที่สูงผิดปกติ โดยเขื่อนหลวงพระบางมีค่าไฟฐานที่ 2.84 สตางค์ต่อหน่วย และเขื่อนปากแบง อยู่ที่ 2.92 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งแพงกว่าค่าไปฐานในประเทศที่อยู่ที่ 2.57 สตางค์ต่อหน่วย การซื้อไฟด้วยค่าไฟฐานที่สูงขึ้นทำให้ค่า FT (การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้) นั้นสูงขึ้นไปด้วย
ก่อนหน้านั้น 1 ปี เบญจาเพิ่งถูกกัลฟ์ฟ้อง เรียกค่าเสียหายในข้อหาหมิ่นประมาท หลังเธอพยายามโยงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบริษัทในห้วงรัฐบาล คสช.
ส่วน กฟผ. นั้น จนถึงเวลานี้ ข้อมูลจาก กกพ. ระบุว่า กฟผ. มีภาระหนี้ทั้งสิ้นกว่า 1.3 แสนล้านบาท เป็นภาระหนี้ที่รับแทนประชาชนในมาตรการที่รัฐช่วยประชาชนไม่ให้ค่าไฟแพงขึ้น และตรึงค่า FT ต่อไป
ปัจจุบัน ภาระหนี้ยังคงอยู่และอยู่ในระหว่างการหาทางจ่ายคืนเจ้าหนี้ โดยที่แน่นอนว่าเป็นภาระของรัฐในการนำงบประมาณมาโปะ
4. แล้วหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? หลังเลือกตั้งมีความหวังว่าค่าไฟจะถูกลงหรือไม่
แน่นอนว่ารัฐบาลปัจจุบันและพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพลังงาน ในวันนี้ หิมาลัย ผิวพรรณ หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของพรรค เพิ่งแชร์ข้อความว่าสาเหตุที่ค่าไฟแพงมาจากการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2557 และเป็นต้นเหตุของการที่ ‘ค่าไฟแพง’ ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าฟังไม่ขึ้นเท่าไรนัก ขณะที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค บอกว่า หากพรรคได้รับเลือกเป็นรัฐบาลอีกรอบ จะมีนโยบายช่วยค่าไฟผู้มีรายได้น้อย
ขณะที่พรรคเพื่อไทย พรรคที่มีแววจะได้คะแนนเสียงสูงสุดโดย พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุว่าจะต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับปริมาณสำรองที่สั่งซื้อจากเอกชน และต้องปรับลดราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง
ส่วนฟากที่ตั้งใจแก้ปัญหาชนกับทุนใหญ่ก็อาทิ พรรคก้าวไกล ที่หาเสียงให้เปิดเสรีไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกซื้อไฟฟ้าได้เอง ไม่ต้องถูกมัดมือชกจาก กฟผ. และจะเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่เพื่อลดต้นทุนค่าความพร้อมจ่ายสำหรับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง และแก้นโยบายเอื้อทุนพลังงาน
พรรคไทยสร้างไทยเสนอให้รีบหยุดโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ลดการต่อใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้าให้เอกชน พรรคเสรีรวมไทยเสนอให้รื้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างโรงไฟฟ้าเอกชนและ กฟผ. ส่วนประชาธิปัตย์เสนอให้ปรับลดกำลังการผลิตระหว่างรัฐกับเอกชนให้เหมาะสม
คำถามก็คือ ในอนาคต รัฐบาลชุดต่อไปจะยอมรื้อระบบ ปรับโครงสร้าง และหากปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่สัญญาอันไม่เป็นธรรมระหว่างรัฐกับนายทุนเอกชน จะมีใครกล้าทำอะไรหรือไม่
ข้อดีของการ ‘เปลี่ยนขั้ว’ ให้ได้จากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลอีกขั้วก็คือจะได้สะสางเรื่องที่ คสช. และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่มาจากการเลือกตั้งได้ทำไว้ทั้งหมด
แต่หากยังเดินหน้าต่อ ทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ ประชาชนก็จะต้องรับภาระค่าไฟแพงต่อไป โดยที่ยังมีคนได้ประโยชน์เรื่องนี้และมีทรัพย์สินงอกเงยมากขึ้นไปอีก
Tags: Analysis, The Momentum ANALYSIS, กระทรวงพลังงาน, ค่าไฟแพง, ค่าไปขึ้นราคา, ราคาพลังงาน