ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลาออกของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ ‘น้ำตา’ ของ วทันยา บุนนาค ผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่มีโอกาสได้ท้าชิงนั้น อาจเป็นจุดที่ตกต่ำที่สุด และเข้าใกล้ความล่มสลายของพรรคการเมืองอายุ 77 ปี อย่างพรรคประชาธิปัตย์
เป็นจุดที่ตกต่ำกว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคเก่าแก่เหลือ ส.ส.เพียงแค่ 24 คน จากที่เคยมี ส.ส.หลักร้อย และเป็นจุดที่ตกต่ำมากกว่าการที่ ‘องค์ประชุมล่ม’ ไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคมาได้นานกว่าครึ่งปี
เป็นผลสืบเนื่องจากการชุมนุม กปปส. เมื่อปี 2556 เป็นผลสืบเนื่องจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจ ‘บอยคอตต์’ การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการรัฐประหารไม่กี่เดือนนับจากนั้น
เดิม พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในซีก ‘อนุรักษนิยม’ เข้มข้น และในยุคที่การเมืองเกือบเข้าสู่ระบบ 2 พรรค ในปี 2548 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์ก็สะท้อนความเป็นขั้วตรงข้ามของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยอย่างเด่นชัด และแม้ว่าใครจะยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตยเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ แต่ภาพของ ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ เด่นชัดกว่าใคร
ตัดภาพกลับมายังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์โดย ‘อภิสิทธิ์’ รู้ดีว่า เมื่อมีพรรคพลังประชารัฐ และมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคู่แข่ง อภิสิทธิ์ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถสู้กับพลเอกประยุทธ์ได้ด้วยการประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ อภิสิทธิ์เลยต้องออกมาพูดชัดๆ ว่า ไม่เอา ‘ลุงตู่’
และการประกาศครั้งนั้นก็กลายเป็นจุด ‘เว้นวรรค’ ครั้งใหญ่ ที่ทำให้นักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์ต้องหลบไปอยู่หลังฉาก เมื่อเสียง ส.ส.ประชาธิปัตย์หายจากหลัก 100 ไปอยู่ที่ 54 คน
แล้วหลังจากนั้น เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และเกิดเปลี่ยนใจไปร่วมรัฐบาล โดยได้ตำแหน่งใหญ่ ไม่ว่า ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกอย่างก็กู่ไม่กลับ
ประชาธิปัตย์กลายเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองดาดๆ ไม่ได้มีจุดเด่น ไม่ได้มีจุดยืน จุรินทร์ไม่ได้มีคาแรกเตอร์ของผู้นำ และหาก ‘ประธานชวน’ จะโดดเด่น ก็เป็นลักษณะเฉพาะตัวของชวน ไม่ได้ส่งมาถึงพรรคประชาธิปัตย์
เรื่องทั้งหมดจึงมาบรรจบที่ผลการเลือกตั้ง ที่พรรคประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส. 24 คน 21 คน เป็น ส.ส.ภาคใต้ กลายเป็น ‘พรรคภูมิภาค’ ไปโดยปริยาย
ความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์อาจบอกอะไรได้หลายอย่างในการเมืองไทยวันนี้?
1. ความตกต่ำของฝ่ายอนุรักษนิยม – หากผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ตัดพรรคที่ประกาศ ‘ไม่เอาลุง’ ออกไป จะเหลือเสียงประชาชนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนากลมๆ ราว 7-8 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น มีเสียงประชาชนเลือกมากกว่า 24 ล้านคน
ความตกต่ำดังกล่าวยังสะท้อนไปถึง ‘รอยร้าว’ ในพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ ที่ต่างคนต่างก็รวมเสียงขึ้นเป็นใหญ่ รวม ส.ส.ด้วยตัวเอง ขณะที่บรรดา ‘ลุง’ ทั้งหลาย ต่างก็ออกนอกวงโคจรทางการเมืองไปแล้ว คงเหลือเพียงพรรคภูมิใจไทยที่ยังบริหารจัดการ ส.ส.ได้ เพราะมีศูนย์รวม ศูนย์กลางที่เดียว และยัง ‘แอ็กทีฟ’ อยู่
2. ‘จุดยืน’ เป็นเรื่องสำคัญ – ความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์คือการพยายามเอาตัวเองถอยห่างจากหลักการ นับตั้งแต่การร่วมรัฐบาลรอบที่แล้ว เรื่อยมาจนถึงความพยายามในการเข้าร่วมรัฐบาลรอบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดยืนเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ นั้น ไม่อยู่ในความทรงจำของผู้คนอีกแล้ว และหากพรรคประชาธิปัตย์จะชูจุดขายเรื่องความจงรักภักดีเรื่องการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มีพรรคที่อยู่ในเกมนี้อีก 4-5 พรรค
3. คน และการเล่นพรรคเล่นพวก – ปฏิเสธไม่ได้ว่า 20 ปีให้หลัง พรรคนี้กลายเป็นพรรคที่มีศูนย์กลางอำนาจนำอยู่ที่คนบางกลุ่ม 20 ปีก่อน หาก ‘นายหัวชวน’ เลือกใคร อยู่ฝ่ายใคร ฝ่ายนั้นจะโดดเด่น นั่นทำให้อภิสิทธิ์โลดแล่นทางการเมืองจนได้ดำรงตำแหน่งถึงนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน ในบางห้วงเวลา ภาพความ ‘ซื่อสัตย์’ ของชวน ก็ทำให้ภาคใต้กลายเป็น ‘ของตาย’ ของพรรคเก่าแก่พรรคนี้ ทว่าทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถึงจุดหนี่งเมื่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน อยากจะทาบบารมีชวน ด้วยการ ‘ดูแล’ ผ่านอิทธิพลด้านการเงิน-ด้านอำนาจ ชวนก็ถูกท้าทายได้ ผลลัพธ์ก็คือ ส.ส. 21 คน ที่เป็น ส.ส.เขตรอบล่าสุด ไม่ได้มาด้วยบารมีของอดีตนายกฯ ผู้ไม่เคยเลี้ยงกาแฟใครอีกแล้ว แต่มาจากเฉลิมชัย ผู้ยึดหลัก ‘ใจถึง พึ่งได้’ และเมื่อ ‘มาดามเดียร์’ ยากจะทาบบารมีแข่ง ก็ถูกเตะออกไปตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งด้วยซ้ำ
4. การตัดขาดจาก ‘คนรุ่นใหม่’ – ในอดีต สังคมผู้สูงอายุในประเทศนี้เป็นเรื่องสำคัญและอาจมีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้พรรคใดได้เป็นรัฐบาลได้ แต่วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไร้ภาพของคนรุ่นใหม่เข้าร่วมงาน ในเชิงเศรษฐกิจ พวกเขาไม่มีทีมเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับโหวตเตอร์หน้าใหม่ แบบที่อภิสิทธิ์และกรณ์ จาติกวณิช เคยทำหน้าที่นี้ และแม้จะมีคนใหม่อย่าง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เข้ามาทำหน้าที่ แต่ ‘พี่เอ้’ ก็ไม่เคยได้รับบทบาทใหญ่ใดๆ ที่ข้ามหน้าข้ามตาจุรินทร์หรือเฉลิมชัย
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?
อีกไม่นาน หัวหน้าพรรคอย่างเฉลิมชัย คงหนีไม่พ้นการนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นการจับมือสมานฉันท์กันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยก่อตั้งขึ้นในปี 2544 เป็นภาพที่พอเห็นเลือนรางนับตั้งแต่วันที่เลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ หลายเดือนก่อน 21 เสียง อาจเป็นพรรคสำรองได้หากเศรษฐาอยากปรับพรรคใดพรรคหนึ่งออกจากรัฐบาล
ใช่ เป็นฝ่ายค้านอาจแสดงผลงานได้มากกว่าในสภาพการเมืองแบบนี้ แต่ไม่มีอะไรการันตีอีกต่อไปว่า อีก 4 ปีข้างหน้า ทั้ง 21 คน จะได้กลับมาเป็น ส.ส. ฉะนั้น อยู่ร่วมรัฐบาล มีโอกาสเข้าใกล้ศูนย์กลางอำนาจรัฐย่อมดีกว่า เผื่อจะได้เกษียณอายุทางการเมืองได้สบายๆ
ขณะที่บรรดา ‘ผู้เฒ่า’ อย่างชวน ที่อยู่กับพรรคมาตั้งแต่ปี 2512 ก็คงจะเป็นหอกข้างแคร่กับสายเฉลิมชัยต่อไป เป็นไปได้ว่า ส.ส. 3 คนที่มีอยู่น้อยนิด จะตัดสินใจไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารชุดใหม่กับ ‘มีดโกนอาบน้ำผึ้ง’ จะสุมไฟให้พรรคนี้กลายเป็นพรรคที่ร้อนแรงมากขึ้น ระบบภายในจะ ‘พัง’ อย่างไม่มีใครคาดคิด
หากวัดจากสถานการณ์วันนี้ เป็นเรื่องยากยิ่งหากพรรคนี้จะได้ ส.ส.เท่าเดิมในอีก 4 ปีข้างหน้า และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากพรรคจะกลับมายิ่งใหญ่ชนิดมี ส.ส.หลักร้อยคนเหมือนอย่างในอดีต หากมองจากฝีมือบุคลากร หากวัดจากความขัดแย้ง และความแตกละเอียดที่เกิดขึ้นวันนี้
คำตอบง่ายๆ ของคำถามที่ว่า แล้วจุดต่ำสุดของพรรคนี้จะอยู่ที่ไหน
ทุกคนในแวดวงการเมืองพูดตรงกันหมดว่า หากสภาพยังคงเป็นแบบนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้า อาจไม่มีพรรคการเมืองอายุ 77 ปี พรรคนี้เหลืออยู่ ก็เป็นไปได้…
Tags: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ประชาธิปัตย์, Analysis, The Momentum ANALYSIS, เฉลิมชัย ศรีอ่อน