1. ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2022 องค์กรวิจัยด้านเทคโนโลยี ‘OpenAI’ ได้เปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ ที่มีชื่อว่า ‘Generative Pre-trained Transformer’ หรือ ‘ChatGPT’ ให้ผู้คนทั่วโลกได้ใช้งานสาธารณะ หลังซุ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2015 ด้วยงบหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป้าหมายขององค์กรที่มีผู้ก่อตั้งหลักอย่างโปรแกรมเมอร์หนุ่มชาวอเมริกัน แซม อัลต์แมน (Sam Altman) หมายมั่นปั้นมือ คือการสร้างความมั่นใจว่า ‘AI’ จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้ในอนาคต
  1. ผิวเผินคำว่าแชตบอตอาจชวนนึกถึง SIMSIMI, SIRI, Alexa หรือ Google Assistant ที่เป็นคู่สนทนาคลายเหงาและผู้ช่วยสั่งการอุปกรณ์ไอที ทว่าขีดความสามารถของ ChatGPT ดูจะเลยเถิดยิ่งกว่านั้น เพราะสามารถช่วยเขียนบทความ เขียนข่าว ร่างจดหมาย รังสรรค์ประโยคโฆษณา นึกพล็อตนิยาย บันทึกบทสนทนาเป็นตัวอักษร เขียนโปรแกรมภาษา Python หาบั๊กภายใน Souce Code แก้โจทย์สมการ ฯลฯ มากจนหลากอาชีพได้ขนลุกซู่โดยเฉพาะสายงานเขียน เพราะผลลัพธ์ภาษาที่ได้มีความสละสลวย ไวยากรณ์ถูกต้อง แถมไม่ใช่ภาษาหุ่นยนต์แข็งทื่อดั่งเคย
  1. จินตนาการถ้าคุณมี AI จาร์วิส (Jarvis) จากภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ไอรอนแมนเป็นผู้ช่วยใครล่ะจะไม่อยากมี เพียงเปิดตัวได้ราว 1 สัปดาห์ มีผู้ลงทะเบียนแชตบอตดังกล่าวทะลุ 1 ล้านคน และปัจุบันมีผู้ใช้งานเพิ่ม 100 ล้านคนต่อเดือน โดยมีผู้หาญกล้าท้าทาย ChatGPT เช่น กรณีที่โจนาธาน ชเว (Jonathan Choi) อาจารย์สาขาวิชากฎหมายประจำมหาวิทยาลัยมินนิโซตา (Minnesota University) ทดลองให้ทำข้อสอบปรนัย 95 ข้อ และอัตนัย 12 ข้อ ผลปรากฏว่าแชตบอตทำข้อสอบผ่านคาบเส้น แสดงให้เห็นว่าเพียงครั้งเดียวก็สามารถจดจำและเรียนรู้พื้นฐานข้อกฎหมายสบายๆ
  1. ถึงกระนั้น ใช่ว่าปัญญาประดิษฐ์จะไร้จุดอ่อน เพราะ ChatGPT เวอร์ชันพื้นฐาน 3.5 ยังต้องพึ่งพาระบบ Reinforcement Learning from Human Feedback (RLHF) ในการฝึก อธิบายง่ายๆ คือยังต้องพึ่งพาให้มนุษย์ตรวจสอบฟีดแบ็กคำตอบที่ได้ซ้ำๆ ต่อการประมวลผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ แหล่งที่มา จัดโมเดลทางเลือกที่ดีที่สุด ตัดทอนการใช้คำฟุ่มเฟือย การใช้คำที่ส่อถึงการเหยียดเพศและเชื้อชาติ รวมถึงวางแผนพัฒนาไปสู่เวอร์ชัน 4.0 ที่สามารถตอบคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังปี 2021
  1. เมื่อผู้ใช้งานล้นทะลัก OpenAI จึงหาวิธีหาระบายเซิร์ฟเวอร์ พร้อมหากำไรไปในตัวด้วยการนำร่องระบบบริการสมาชิก ‘ChatGPT Plus’ ในสหรัฐฯ ราคาสมาชิกเริ่มต้น 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (650 บาท) สมาชิกจะได้ทดลองเล่นฟีเจอร์ใหม่ก่อนใคร และบริการตอบสนองแชตบอตที่เร็วกว่าเวอร์ชันสาธารณะ
  1. อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีและอดีตผู้ก่อตั้ง OpenAI ได้ออกมาปรามให้ OpenAI หยุดนำฐานข้อมูลจากทวิตเตอร์ไปใช้พัฒนาระบบ ChatGPT แบบฟรีๆ หลังผันตัวจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มาเป็นองค์กรแสวงหาผลกำไร ผิดไปจากเจตจำนงเดิมที่ต้องการเป็น Open Sauce ฉะนั้นถ้าอยากได้ฐานข้อมูลก็จงจ่ายเงินซื้อเสีย
  1. สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ระบุว่าเบื้องหลัง OpenAI มีบริษัท Microsoft หนุนหลังลงขันช่วยงานวิจัย ChatGPT ด้วยเงินจำนวนมหาศาลถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท) รายละเอียดยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า Microsoft จะได้รับผลกำไร 75% จาก OpenAI จนกว่าจะได้รับเงินลงทุนคืน และหลังจากนั้น Microsoft จะเข้าถือหุ้น 49% ส่วนอีก 49% เป็นของผู้ถือหุ้นรายอื่น และอีก 2% เป็นของ OpenAI
  1. ข่าวดังกล่าวดูมีเค้ามูลความจริง 99.99% เมื่อ Microsoft ประกาศเตรียมนำชุดคำสั่ง ChatGPT ผสานเข้ากับ ‘BING’ ผลิตภัณฑ์เสิร์ชเอนจิ้นออริจินัลของบริษัท และเบราเซอร์ ‘Edge’ เพื่อยกระดับการใช้งานให้มีเสถียรภาพ ผลลัพธ์การค้นหาที่มีประสิทธิภาพ และการค้นหาที่ปลอดภัย (แต่ในเวอร์ชันแรกยังเปิดใช้งานแค่บน PC) ภายใต้ชื่อระบบโมเดลสุดเวอร์วังว่า ‘Prometheus Model’ ที่อาจส่งผลให้กำไรสุทธิไตรมาส 3-4 ของบริษัทในปี 2023 ดีดตัวขึ้นทวีคูณ

สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอบริษัท Microsoft กล่าวสั้นๆ ถึงโปรเจกต์ใหม่นี้ว่า “นี่คืออนาคตรูปแบบใหม่แห่งการค้นหา การแข่งขันเริ่มขึ้นในวันนี้ และเราจะก้าวต่อไปอย่างรวดเร็ว” 

  1. การประกาศกร้าวของ Microsoft เสมือนส่งสารท้ารบไปถึง Google ที่ครองตำแหน่งเสิร์ชเอนจิ้นอันดับหนึ่งของโลก จึงไม่น่าแปลกใจหาก สุนทร พิชัย (Sundar Pichai) ผู้บริหารของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google จะส่งสัญญาณรหัสแดงเรียกคณะกรรมการประชุมวางแผนรับมือ ChatGPT เพื่อปรับแผนกลยุทธ์ และนำเทคโนโลยี AI มาผสานยกระดับผลิตภัณฑ์ Google Search 
  1. นอกจากเหตุผลการเดิมพันพื้นที่ตำแหน่งพื้นที่เสิร์ชเอนจิ้นอันดับหนึ่ง เหตุผลที่ Google ต้องรีบจัดการแชตบอตคู่แข่ง เพราะผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของ Microsoft ที่ติดตั้ง ChatGPT มีส่วนปิดกั้นลิงก์โฆษณาจาก Google อู่ข้าวอู่น้ำสำคัญมูลค่าราว 2.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็น 81% จากรายได้รวมของบริษัท Alphabet
  1. กลยุทธ์โต้กลับของ Google คือการเตรียมเปิดตัว ‘Bard’ แชตบอตรูปแบบ Language Model for Dialogue Applications (LaMDA) ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งาน ผ่านตัวอักษรและภาษาในเว็บไซต์ Google 

ทั้งยังมีความพิเศษตรงที่ผลลัพธ์คำตอบจะถูกปรับให้เหมาะสมตามผู้ใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 8 ขวบ เสิร์ชหาสัตว์ชนิดใดใหญ่ที่สุดในโลก คำตอบที่ได้จะถูกอธิบายด้วยภาษาที่เหมาะกับเด็กนั่นเอง และซ่อนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชน 

  1. อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีม้าแค่ 2 ตัวในการแย่งชิงหน้าเค้ก หลัง ‘Baidu’ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากจีน ก็เตรียมเปิดตัวแชตบอตที่มีชื่อว่า ‘ERNIE Bot’ (Enhanced Representation through kNowledge IntEgration) Baidu ระบุว่าแชตบอตของบริษัทเริ่มพัฒนาเมื่อปี 2019 ในรูปแบบ ‘Large Language Mode’ หรือ ‘โมเดลทางภาษาขนาดใหญ่’ ที่เตรียมนำไปผสานกับเสิร์ชเอนจิ้นของ Baidu ง่ายต่อการเสิร์ชหาข้อมูลหลากหลายภาษา และสร้างข้อความเป็นรูปภาพ

การกระโดดเข้ามาร่วมวงของบริษัทไอทีจากจีน แม้ชื่อชั้นจะเป็นรองสองบริษัทก่อนหน้า แต่อาจสื่อเป็นนัยว่ายังมีบริษัทไอทีอีกมากมายที่เตรียมเข้าสู่สมรภูมิเช่นกัน ขณะเดียวกันยังเป็นสัญญาณเตือนว่าไม่ควรมองข้ามและประมาทผู้เล่นจากจีน ที่พร้อมแย่งส่วนแบ่งการตลาดย่านเอเชียตลอดเวลา 

  1. ท่ามกลางข้อถกเถียงอันชุลมุนเคลมว่าปัญญาประดิษฐ์ของใครเจ๋งกว่า อีกมุมหนึ่งคงอดตั้งคำถามถึงเรื่อง ‘จริยธรรม’ ไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีไร้จิตใจ ต่อให้เลียนแบบแค่ไหนคงยากที่จะเหมือนมนุษย์ ทั้งความเห็นใจ สำนึกผิดชอบชั่วดี ศีลธรรม และความจริงกับจินตนาการได้ทันที

บทความฉบับหนึ่งในเว็บไซต์ CNN ยกตัวอย่างกรณีที่เกี่ยวข้องระหว่าง ChatGPT กับวงการแพทย์ในสหรัฐฯ โดยระบุว่าปัญญาประดิษฐ์มีส่วนช่วยในการคิดค้นงานวิจัยใหม่ ภายในระยะเวลาสั้นๆ ทว่าจำเป็นต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบความน่าเชื่อถือควบคุมอีกขั้น เพราะ AI อาจเลือกมองข้ามความเสี่ยงอันตรายของผู้ป่วยเพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย แม้ ChatGPT จะเคยผ่านการทดลองทำข้อสอบใบอนุญาตประกอบวิชาเวชกรรม (ในปี 2022) ก็ตาม

  1. สอดคล้องกับในปี 2020 ที่ อีลอน มัสก์ ทำนายไว้ว่าในปี 2025 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อาจสั่นคลอนความมั่นคงของมนุษยชาติ และทำให้มนุษย์พบกับจุดจบดั่งภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง War Games เมื่อปี 1983 ณ เวลานั้นอาจฟังดูเป็นเรื่องตลกชวนหัวเราะคิกคัก แต่ตอนนี้คงต้องคิดใหม่ เมื่อ AI มีอิทธิพลและกลมกลืนอยู่ในสังคมมนุษย์ พร้อมผลักให้คนจำนวนหนึ่งตกงานได้ เพราะเทคโนโลยีไม่มีข้อจำกัดทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ลาพักร้อน ลาป่วย เรียกร้องสวัสดิการใดๆ หรือนำพวกมันไปใช้เป็นเครื่องจักรทางการทหาร
  1. สุดท้ายคงยังตอบไม่ได้เต็มปากว่าสงครามผู้พัฒนา AI จะเลยเถิดบ้าคลั่งไปถึงขั้นไหน ผู้พัฒนาจะหากฎเกณฑ์ใดมาเป็นหลักประกันความปลอดภัยต่อการใช้งาน คำตอบล้วนขึ้นอยู่กับเวลา 

มองในแง่ดีนี่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของมนุษย์ ที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเข้าถึงผู้คนหลายกลุ่ม หลายระดับ พร้อมทลายกำแพงขีดจำกัดเพื่อเปิดประตูไปสู่วิทยาการสร้างสรรค์ใหม่ที่มีประโยชน์ 

ในฐานะผู้เฝ้ามองได้แต่ภาวนาให้เป็นเช่นนั้น 

.

อ้างอิง:

https://www.nytimes.com/2023/02/07/technology/microsoft-ai-chatgpt-bing.html?smtyp=cur&smid=fb-nytimes&fbclid=IwAR10mtXP-Ad7RcfavPM5PpfOBN2XxB7vnPXBuJ7PZ-v-RCz340vg-hH9I2k

https://openai.com/blog/chatgpt/

https://www.wsj.com/articles/microsoft-adds-chatgpt-ai-technology-to-bing-search-engine-11675793525?mod=e2fb&fbclid=IwAR1Bu20xnPHrzrE0oprvs6B3rFhgdubCacwclzmKAKA0rnbRBGBVKtb3MlQ

https://www.cbsnews.com/news/chatgpt-bot-passes-law-school-exam/

https://www.theverge.com/2023/2/7/23587454/microsoft-bing-edge-chatgpt-ai

https://www.theverge.com/2023/2/8/23590864/google-ai-chatbot-bard-mistake-error-exoplanet-demo

https://www.reuters.com/technology/chinas-baidu-finish-testing-chatgpt-style-project-ernie-bot-march-2023-02-07/

https://edition.cnn.com/2023/02/02/health/artificial-intelligence-medicine/index.html

 

ภาพ: AFP

 

 

Tags: , , , , ,